ภูมิสมถะ

วันที่ 24 มค. พ.ศ.2548

special471003.jpg

.....แปดกายข้างต้นกายมนุษย์ไปจนถึงอรูปพรหมละเอียดนั่นเป็นกายขั้นสมถะ ถ้าว่าเข้าไปถึงกายเหล่านั้นเป็นสมถะทั้งนั้น เข้าถึงวิปัสสนาไม่ได้ เพราะกายเหล่านั้นเป็นสมถะ ทำไมรู้ว่าเป็นสมถะ ภูมิสมถะบอกตำรับตำราไว้ ๔๐ กสิณ ๑๐ อสุภ ๑๐ อนุสสติ ๑๐ เป็น ๓๐ ละ อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ กำหนดอาหารเป็นปฏิกูล จตุธาตุววัตถานะ ๑ กำหนดธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม กำหนดธาตุเหล่านี้ ทั้ง ๒ นี้เป็น ๓๒ พรหมวิหาร ๔ เป็น ๓๖ อรูปฌาน ๔ เป็น ๔๐ นี่ภูมิของสมถะ เมื่อเข้ารูปฌานต้องอาศัยกายมนุษย์ กายมนุษย์ละเอียด กายทิพย์ กายทิพย์ละเอียด กายรูปพรหมเข้ารูปฌาน กายอรูปพรหมเข้าอรูปฌาน นี่หลักฐาน ฌานเหล่านี้ยืนยันว่าตั้งแต่คลอดรูปพรหมอรูปพรหมนี่แหละเป็นภูมิสมถะทั้งนั้น ใม่ใช่ภูมิวิปัสสนา

ภูมิวิปัสสนา ยกวิปัสสนาขึ้นข่ม ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ อินทรีย์ ๒๒ อริยสัจ ๔ ปฏิจจสมุปบาทธรรม ๑๒ หกหมวดนี้เป็นภูมิของวิปัสสนา

ขันธ์ ๕ ได้แสดงแล้ว รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ของมนุษย์ มนุษย์ละเอียด กายทิพย์ กายทิพย์ละเอียด กายรูปพรหม กายรูปพรหมละเอียด กายอรูปพรหม กายอรูปพรหมละเอียด แปดกายนี้ขันธ์ ๕ ทั้งนั้น ขันธ์ ๕ เหล่านี้แหละตาธรรมกายเห็นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ไม่ใช่ตัวทั้งนั้น เห็นชัดๆอย่างนี้ นี้เป็นวิปัสสนา

อายตนะ ๑๒ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ๑๒ นี้ก็ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ไม่ใช่ตัวอีกเหมือนกัน เช่นเดียวกันแปรผันไปตามหน้าที่ของมันเห็นชัดๆ

ธาตุ ๑๘ จักขุธาตุ รูปธาตุ จักขุวิญญาณธาตุ โสตธาตุ สัททธาตุ โสตวิญญาณธาตุ ฆานธาตุ คันธธาตุ ฆานวิญญาณธาตุ ชิวหาธาตุ รสธาตุ ชิวหาวิญญาณธาตุ กายเหตุ โผฏฐัพพธาตุ กายวิญญาณธาตุ มโนธาตุ ธรรมธาตุ มโนวิญญาณธาตุ ธาตุ ๑๘ สาม ๖ เป็น ๑๘ อายตนะ ๖ อายตนะหนึ่งแยกออกเป็น ๓ จักขุก็เป็นธาตุ รูปที่มากระทบจักขุก็เป็นธาตุ วิญญาณที่แล่นไปรับรู้รูปที่มากระทบนัยน์ตาก็เป็นธาตุ หูก็เป็นธาตุ เสียงที่มากระทบหูก็เป็นธาตุ วิญญาณที่แล่นไปรับรู้ทางหูนั่นก็เป็นธาตุ จมูกก็เป็นธาตุ กลิ่นก็เป็นธาตุ รู้ที่แล่นไปตามจมูกนั่นก็เรียกว่า ธาตุ ลิ้นก็เป็นธาตุ รสก็เป็นธาตุ ความรู้ที่แล่นไปตามลิ้นนั้นก็เป็นธาตุ กายก็เป็นธาตุ สัมผัสถูกต้องก็เป็นธาตุ วิญญาณก็รู้สัมผัสนั่นก็เป็นธาตุ ใจก็เป็นธาตุ อารมณ์ที่เกิดกับใจก็เป็นธาตุ วิญญาณที่รู้อารมณ์ที่เกิดกับใจนั้นก็เป็นธาตุ ทุกขัง อนัตตา ดังนี้ละก็รู้ชัดๆ เช่นนี้เห็นชัดๆ เช่นนี้ นี้ด้วยตาธรรมกาย ตากายมนุษย์ กายทิพย์ กายรูปพรหม อรูปพรหม ทั้งหยาบทั้งละเอียดเห็นไม่ได้ เห็นได้แต่ตาธรรมกาย ธาตุ ๑๘ นี่ก็เห็นได้ชัดๆ

อินทรีย์ ๒๒ จักขุนทรีย์ นัยน์ตาเป็นใหญ่ โสตินทรีย์ ความได้ยินเป็นใหญ่ ฆานินทรีย์ ความรู้กลิ่นเป็นใหญ่ ชิวหินทรีย์ ความรู้รสเป็นใหญ่ กายอินทรีย์ กายรับถูกต้องเป็นใหญ่ มนินทรีย์ ใจเป็นใหญ่ เป็นใหญ่ตามหน้าที่ที่เรียกว่า อินทรีย์ ๕ ในอินทรีย์ทั้ง ๕ นี้เป็นใหญ่ตามหน้าที่ของมัน อินทรีย์ไม่ใช่มีน้อย มี ๒๒ อิตถินทรีย์ สภาวรูปของหญิงเป็นใหญ่ ปริสินทรีย์ สภาวรูปของชายเป็นใหญ่ ชีวิตินทรีย์ ชีวิตเป็นใหญ่ อยู่ดังนี้ สุขินทรีย์ สุขเป็นใหญ่ ทุกขินทรีย์ ทุกข์เป็นใหญ่ โสมนัสสินทรีย์ ความดีใจเป็นใหญ่ โทมนัสสินทรีย์ เสียใจเป็นใหญ่ อุเบกขินทรีย์ อุเบกขาเป็นใหญ่ สัทธินทรีย์ ความเชื่อเป็นใหญ่ วิริยินทรีย์ ความเพียรเป็นใหญ่ สตินทรีย์ สติเป็นใหญ่ สมาธินทรีย์ สมาธิเป็นใหญ่ ปัญญินทรีย์ ปัญญาเป็นใหญ่ อนัญญตัญญัสสามิตินทรีย์ พระโสดาเป็นใหญ่ เป็นหน้าที่ของพระโสดาปัตติมรรค อัญญินทรีย์ โสดาปัตติผล สกทาคา อนาคาถึงอรหัตตมรรค เป็นใหญ่ของหน้าที่นั้นๆ อัญญาตาวินทรีย์ อรหัตต์เป็นใหญ่ เป็นใหญ่ในหน้าที่ของพระอรหัตตผลนั้นๆ เมื่อว่าอินทรีย์ ๒๒ เหล่านี้ เป็นภูมิของวิปัสสนาแท้ๆ ถ้าไม่มีตาธรรมกาย มองไม่เห็น มีตาธรรมกายมองเห็น อินทรีย์ ๒๒

อริยสัจ ๔ ทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ ความดับทุกข์ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ทุกข์น่ะมีจริงๆ นะ หมดทั้งร่างกายนี้ทุกข์ทั้งก้อน หรือใครว่าสุข ลองเอาสุขมาดู ก็จะไปหยิบเอาทุกข์ให้ดูทั้งนั้น ตลอดจนกระทั่งชาติ เกิดก็เป็นทุกข์ ชาติปิ ทุกขา ความเกิดเป็นทุกข์ เมื่อเกิดแล้วก็มีแก่ มีเจ็บ มีแปรไปตามหน้าที่ ก็ออกจากทุกข์นั่นทั้งนั้น ไม่ใช่ออกจากสุข ต้นนั่นเป็นทุกข์ทั้งนั้น เกิดนั่นแหละเป็นตัวทุกข์ละ ต้องกำหนดรู้มันไว้ ทำอะไรมันก็ไม่ได้ เหตุให้เกิดมีกามตัณหา ภวตัณหา เป็นเหตุให้เกิดชาติ กามตัณหา ภวตัณหา วิภาวตัณหา กามตัณหาอยากได้ เป็นกามตัณหา ภวตัณหา อยากให้มี ให้เป็น เป็นภวตัณหา เมื่อมาเป็นมามีเห็นปรากฎแล้ว ไม่อยากให้แปรไปเป็นอย่างอื่น ให้ดำรงคงที่ นั่นเป็นวิภวตัณหา เป็นเราเป็นหญิงเป็นชาย ไม่มีลูกอยากได้ลูก นั่นเป็นกามตัณหาแล้ว ได้ลูกสมเจตนาเป็นภวตัณหาขึ้นแล้ว ไม่อยากให้ลูกนั้นแปรไปเป็นอย่างอื่น นั่นเป็นวิภวตัณหาอีกแล้ว เห็นไหมล่ะเป็นอยู่อย่างนี้แหละ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหานี่แหละเป็นเหตุให้เกิดชาติ ต้องดับด้วยศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ ดังกล่าวแล้วถอดกันไปเป็นชั้นๆ จนกระทั่งพระอรหัตต์ดับหมด ดับนั่นแหละเป็นตัวนิโรธ ที่เข้าถึงซึ่งความดับนั่นเป็นมรรค สัจจธรรมทั้ง ๔ นี่ต้องมีตาธรรมกายจึงจะมองเห็น ไม่มีตาธรรมกายมองไม่เห็น

ปฏิจจสมุปปาทธรรม ธรรมอาศัยซึ่งกันและกันเป็นแดนเกิดขึ้น อวิชชาความรู้ไม่จริง เป็นเหตุให้เกิดสังขาร สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ วิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป นามรูปเป็นปัจจัยให้เกิดสฬายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สฬายตนะเป็นปัจจัยให้เกิดผัสสะ ผัสสะทั้ง ๖ ผัสสะเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา เวทนาทั้ง ๓ เวทนาทั้ง ๕ เวทนาเป็นปัจจัยทำให้เกิดตัณหา ตัณหาเป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทาน

อุปาทานเป็นปัจจัยให้เกิดภพ ภพเป็นปัจจัยให้เกิดชาติ ความเกิด ชาติก็เป็นปัจจัยให้เกิด ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส อัปปิเยหิ สมปโยโค ทุกโข ยมปิจฉํ น ลภติ ตมปิ ทุกขํ โดยย่อก็ความยึดถือมั่นในปัญจขันธ์ทั้ง ๕ เป็นทุกข์นี่เกิดจากอวิชชาทั้งนั้นไม่ใช่อื่น …

ี้

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.001500415802002 Mins