พุทฺโธ

วันที่ 13 มิย. พ.ศ.2548

 

 

 

 

..........คำว่า พุทฺโธ แปลได้หลายนัย แต่ในที่นี้จะขอแปลในทางที่ว่า เป็นผู้บานแล้วหรือเบิกบานแล้ว ที่ว่าบานนั้นเปรียบด้วยดอกประทุมชาติ คือบานเหมือนดอกบัวที่บานแล้วเต็มที่ การที่พระองค์ทรงประกอบความเพียรอยู่ด้วยประการต่าง ๆ เมื่อยังไม่ได้บรรลุสัมมาสัมโพธิญาณเปรียบเหมือนดอกบัวที่ยังตูมอยู่ ต่อรุ่งอรุณแห่งวันวิสาขปุรณมี พระองค์ได้ตรัสรู้แล้ว จึงเปรียบเสมือนดอกบัวที่บานแล้ว บานในเวลารุ่งอรุณแห่งวันวิสาขปุรณีนั้นเอง นัยว่าที่เบิกบานนั้น หมายความว่า เมื่อพระองค์ได้ทรงตรากตรำเป็นเวลาล่วงถึง ๖ พรรษาแล้ว จึงได้มาตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ได้รับผลเป็นองค์อรหัง และสัมมาสัมพุทโธฯ ดังบรรยายมาข้างต้นแล้ว พระกมลหฤทัยของพระองค์ก็ย่อมผ่องแผ้วเบิกบานเต็มที่ เหตุว่าได้ผลสมปรารถนาที่พระองค์ทรงตั้งปณิธานเพียรบำเพ็ญมา ฉะนี้จึงได้พระนามว่า พุทโธ

 

ขอย้ำอีกหน่อยว่า การนำเอาดอกบัวบานมาเทียบความหมายแห่งคำว่าพุทโธนั้น ก็เพราะเหตุว่าเมื่อปฐมกัลป์เริ่มตั้งศีรษะแผ่นดินขึ้นใหม่ ๆ มีกอบัวขึ้นพร้อมทั้งมีดอก ๕ ดอก ท้าวสุธาวาสหยั่งรู้ว่านี้เป็นนิมิตว่าในกัลป์นี้จะมีพระพุทธเจ้ามาตรัสโปรดเวไนยสัตว์ ๕ พระองค์ จึงปกาสิตคำว่า น, โม, พุท, ธา, ยะ ไว้ ซึ่งมีความหมายว่า นะ คือ พระกกุสันโธ โม คือ พระโกนาคมนะ พุท คือ พระพุทธกัสสปะ ธา คือพระสมณโคดม ยะ คือ พระศรีอาริยเมตไตรย์ ซึ่งได้ปรากฏเป็นที่นับถือกันมาจนบัดนี้

 

ภควา

 

คำว่า ภควา แปลว่าได้หลายนัย แปลว่าหักก็ได้ แจกก็ได้ ที่ว่าหักนั้นหมายความว่าพระองค์หักเสียได้ซึ่งสังสารจักร กล่าวคือ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรมอันเป็นเสมือนตัวจักรอันพัดผันส่งต่อไปยังกันและกัน เป็นกำลังดันให้หมุนเวียนวนว่ายอยู่ในวัฏฏสงสาร มิให้ออกจากภพ ๓ พระองค์หักเสียได้แล้ว พระองค์จึงพ้นไปจากภพทั้ง ๓ คือ กามภพ รูปภพ อรูปภพ เสด็จออกสู่นิพพานไป

 

ที่ว่า แจก นั้นมีความหมายว่า เมื่อพระองค์ได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว พระองค์เป็นสัพพัญญู ทรงรู้แจ้งธาตุธรรมทั้งปวงหมด จึงทรงสามารถจำแนกแยกแยะธรรมส่วนที่ละเอียด ๆ ให้เห็นเช่น ทรงจำแนกขันธ์ ธาตุ อายตนะ จิต เจตสิก รูป นิพพาน ดังนี้เป็นต้น ตลอดจนหลักธรรมอื่น ๆ ทั้งมวลให้สาวกได้รู้เห็นรับปฏิบัติสืบ ๆ กันมา

 

ธรรมคุณ

 

สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม

 

ต่อไปเป็นเรื่องธรรมคุณ ธรรมในที่นี้จะกล่าวเฉพาะพระสัทธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่าสวากขาโต แปลว่าพระองค์กล่าวแล้วดีนั้น ก็คือว่าธรรมที่พระองค์ตรัสสอนนั้น ล้วนแต่จะเป็นผลส่งให้ผู้ประพฤติปฏิบัติตามได้รับความร่มเย็นเป็นสุขทั้งสิ้น จึงได้ชื่อว่าเป็นธรรมที่พระองค์กล่าวแล้วดี ดีก็คือไม่มีเสีย คือคำสอนของพระองค์ไม่ให้ทุกข์แก่ผู้ปฏิบัติเลย มีแต่จะนำไปสู่สุขอย่างเดียว มีอริยมรรคเป็นข้อสาธกที่ทรงสอนไว้ว่า ความเห็นชอบ ๑, ความดำริชอบ ๑, กล่าววาจาชอบ ๑, ประกอบการงานชอบ ๑, หาเลี้ยงชีพโดยชอบ ๑, ทำความเพียรชอบ ๑, ตั้งสติไว้ชอบ ๑, สมาธิชอบ ๑, พิจารณาดูให้ดีจะเห็นธรรมเหล่านี้ ผู้ใดประพฤติได้จะให้ผลไม่เฉพาะแต่ทางธรรม แม้ในทางโลกก็อำนวยผลดีให้แก่ผู้ปฏิบัติเหมือนกัน ดังนี้ธรรมที่พระองค์ตรัสสั่งสอนไว้ได้ชื่อว่า “ สาวกขาตธรรม”

 

พระสัทธรรมของพระองค์ แบ่งเป็นหมวดใหญ่ ๆ ได้ ๓ หมวดคือ ปริยัติธรรม ๑, ปฏิบัติธรรม ๑, ปฏิเวธธรรม ๑,

 

ปริยัติธรรมนั้น ได้แก่คำสั่งสอนอันเป็นแนวนำไปสู่ปฏิบัติธรรม ส่วนปฏิบัติธรรมนั้นเป็นคำสอนที่บ่งวิธีการปฏิบัติโดยตรง ซึ่งจะมีผลส่งให้ถึงปฏิเวธธรรม คือการรู้แจ้งแทงตลอดสภาวะความเป็นจริงทั้งมวล

 

สนฺทิฏฺโก

 

แปลว่า ธรรมดาคำสอนของพระองค์นั้นไม่เหมือนสิ่งของอื่น ๆ ซึ่งคนหนึ่งแลเห็นแล้วชี้ไป อีกคนหนึ่งจะแลเห็นได้ด้วยกันอย่างนั้น หามิได้ ผู้ใดปฏิบัติตามผู้นั้นจะเห็นผลได้ด้วยตนเองว่าเป็นอย่างไร

 

อกาลิโก

 

ผู้ใดปฏิบัติ ผู้นั้นย่อมได้รับผลเสมอโดยไม่มีจำกัดเวลาว่ามีเขตเพียงนั้นเพียงนี้

 

เอหิปสฺสิโก

 

เพราะเหตุว่าเป็นของดี ของจริง เมื่อผู้ใดปฏิบัติได้แล้วจึงเป็นเสมือนสิ่งที่น่าจะเรียกบอกคนอื่นมาดูว่า นี่ ดีจริง อย่างนี้

 

โอปนยิโก

 

เพราะเหตุว่าการปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์พบของดีของจริงดังกล่าวมาแล้วนั้น ควรจะน้อมนำเอาของดีจริงที่พบแล้วนั้นเข้ามาไว้ในตน คือยิ่งถือปฏิบัติเรื่อยไปไม่ละวางเสีย

 

ปจฺจตฺตํ เวติตพฺโพ วิญฺญูหิ


แปลว่า ธรรมของพระองค์นั้น วิญญูชนจะพึงรู้ได้เฉพาะด้วยตนเอง ข้อนี้ก็คลายกับสันทิฏฐิโกที่กล่าวข้างต้น ต่างแต่ว่าข้อนั้นกล่าวถึงอาการเห็น ส่วนข้อนี้กล่าวถึงอาการรู้ กล่าวคือผู้ปฏิบัติตามธรรมของพระองค์ จะรู้ว่าธรรมของพระองค์ดีจริงอย่างไร และเมื่อปฏิบัติตามแล้วได้ผลเป็นอย่างไร ดังนี้ย่อมเกิดจากการปฏิบัติของตนเอง ด้วยใจของตนเอง ผู้อื่นจึงพลอยรู้ด้วยไม่ได้ มันเป็นรสทางใจ หากใจผู้ปฏิบัติเขาเยือกเย็นเป็นสุขสักปานใด แม้เขาจะเอามาเล่าให้เราฟัง ใจเราก็จะไม่เย็นอย่างเขา ตามคำที่เขาเล่าบอกนั้นได้ จะไม่ผิดอะไรกับคนหนึ่งได้กินแกงชนิดหนึ่งมาเล่าให้เราฟังว่ามันอร่อยอย่างนั้นอย่างนี้ ก็จะไม่ทำให้เราเปิบข้าวเปล่า ๆ โดยนึกเอารสแกงที่เขาว่านั้นมาประสมให้ได้รสอร่อยอย่างเขาว่านั้นได้

 

 

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0011353532473246 Mins