กรรมกถา (ตอน ๑)

วันที่ 21 กพ. พ.ศ.2547

special470209.jpg

 

.....พระธรรมเทศนา แสดงโดย พระธรรมคุณาภรณ์ (ไพบูลย์ กตปุญโญ ป.ธ. ๘) อดีตเจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรี เจ้าอาวาสวัดไชยชุมพลชนะสงคราม แสดงไว้ ณ ศาลาการเปรียญวัดใหญ่พิบูลย์ผล อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี เมื่อวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๔๓

 

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ ฯ
พะลัญจะ ภิกขูนะมะนุปปะทินนัง

คือการทำบุญกุศลนี้ เป็นการเพิ่มกำลังให้แก่พระภิกษุสามเณร


.....วัดวาอารามที่ว่าเป็นการเพิ่มกำลังให้แก่พระเณรนั้น เพราะว่า พระพุทธศาสนาจะเป็นอยู่ได้ จะดำรงอยู่ จะเจริญต่อไปก็ต้องอาศัยพระ อาศัยเณรเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งพระธรรมวินัย ถ้าหากว่ามีแต่วัดเปล่า ๆ ไม่มีพระ ไม่มีเณร ไม่ช้าก็หมด พระพุทธศาสนาก็เสื่อม แต่ที่ยังเป็นไปได้ ยังเป็นไปและจะเจริญต่อไป ก็เพราะพวกเราทำบุญทำกุศลนี่แหละ

.....เพราะฉะนั้น การทำบุญกุศลนี้ จึงชื่อว่า เป็นประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา คนเราทุกคนที่เกิดมานี้ จะเป็นใครก็ตาม ยากดีมีจน หรือว่ามีตระกูลสูงเป็นเศรษฐี เป็นพ่อค้ามหากษัตริย์ เป็นยาจกวณิพกคนขอทาน ก็มีความตายเป็นที่ไปในเบื้องหน้าทุกคน ไม่ได้เว้น ทำกรรมชนิดใดไว้ ต้องได้รับผลแห่งกรรมนั้น กรรมคือการกระทำ เมื่อทำแล้วย่อมได้รับผล อันจัดเป็นเวรานุเวร คือสิ่งที่สำเร็จประโยชน์อันเกิดแต่การกระทำของตน ๆ ทำกรรมดี ก็ย่อมได้รับผลดี ทำกรรมชั่ว ก็ยอมได้รับผลชั่ว ดีก็ส่วนดี ชั่วก็ส่วนชั่ว แล้วก็ติดตามเราไปทุกขณะเหมือนเงา เรานั่งอยู่ที่นี่ เงาเราก็มี แต่ที่มองไม่เห็น เพราะว่าไม่มีแสงสว่าง แต่ว่ามี เงานี่เรานั่ง เงานั่ง เรายืน เงายืน เราเดิน เงาเดิน เราจะบอกว่า เจ้าเงาอย่าตามฉันมาเลย เจ้ากลับเถิด มันก็ไม่กลับ ไปทางไหนก็ติดตามไปทุกแห่งทุกหนฉันใด ความดีความชั่วที่เรากระทำไว้ก็เป็นของเฉพาะตน ติดตามเราไปในที่ทุกสถานในกาลทุกเมื่อ ให้ผลทันเมื่อไรก็ให้เมื่อนั้น ถ้ายังไม่ทันก็ติดตามไปเรื่อย ๆ การที่กรรมดีหรือกรรมชั่วติดตามนี้ อย่าว่าแต่เรา แม้แต่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้ากระทำกรรมไว้ไม่มาก นิดหน่อย ด้วยจิตดี แต่ว่ามันเป็นการฝืนใจ ยังติดตามไปจนวาระสุดท้ายคือ

.....ครั้งหนึ่ง เมื่อพระพุทธเจ้าพระองค์นั้นเป็นพระโพธิสัตว์ เป็นลูกของพราหมณ์ เป็นลูกคนเดียวของพ่อแม่ มีอาชีพตัดฟืนขาย มีวัวอยู่ ๒ ตัว พ่อแม่นั้นลุกขึ้นแต่เช้า ก็นำวัว ๒ ตัวไปเทียมเกวียน แล้วก็ไปตัดฟืนในป่า เอาไปขายยังตลาด ทางที่จะไปตลาดนั้นมีห้วงน้ำอยู่ ๓ ห้วง ๒ ห้วงข้างต้นขุ่น แต่ห้วงหนึ่งใส ธรรมดานั้นเมื่อตื่นแต่เช้ามืดตัดฟืนเต็มแล้วก็ขับเกวียนมา ไปถึงห้วงที่ ๓ ก็ปลดให้วัวได้ดื่มน้ำแล้วก็ขับต่อไป เมื่อพระโพธิสัตว์เติบโตก็ปฏิบัติเช่นพ่อแม่ได้ทำนา แทนพ่อแทนแม่ วันหนึ่งมันตื่นสาย เมื่อตื่นแล้วก็รีบคว้าเชือก นำโคจูงโคเทียมเกวียนไปตัดฟืนในป่า ก่อนจะเสร็จก็บ่าย ทำให้โคนั้นอยากน้ำกระหายน้ำเต็มที เมื่อขับเกวียนมาถึงห้วงแรก โคก็รีบตรงรี่ไปจะดื่ม พระโพธิสัตว์คิดว่า เรามีวัวอยู่ ๒ ตัว ถ้าหากว่าให้ดื่มน้ำที่ขุ่น เดี๋ยวเกิดเป็นอะไรตายขึ้นก็จะลำบาก แล้วโคที่จะเกิดโรคไม่ดี ไปดื่มน้ำตามที่เคยดีกว่า ก็ชักเชือกให้ตึง โคดิ้นก็เอาปฎักแทง ดิ้นเท่าไรก็ไม่หลุด ก็ขับเลยไปถึงห้วงที่สองก็เช่นกัน โคจะดื่มอีก พระโพธิสัตว์ก็คิดเหมือนเดิม แล้วก็รั้งเชือกให้ตึง ให้หน้าโคหน้าหงาย แล้วก็ขับเอาปฎักแทงขับเกวียนไป เลยไปถึงห้วงน้ำที่สาม เมื่อถึงห้วงน้ำที่สาม ก็ลงมาจากเกวียน ปลดโคให้ดื่มน้ำตามสบาย เมื่อเรียบร้อยแล้วก็ขับเกวียนไปสู่ตลาดขายฟืน แล้วก็กลับบ้านเหมือนเช่นเคย

.....กรรมที่ฝืนใจโคสองครั้งนั้นเป็นกรรมน้อย เป็นกรรมที่ทำด้วยความปรารถนาดีของพระโพธิสัตว์ติดตามมา แต่ไม่มีโอกาสให้ผล ติดตามเรื่อยมาเหมือนเงาจนถึงเมื่อองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้อนุตตสัมมาสัมโพธิญาณ ทรงประกาศพระพุทธศาสนาอยู่ ๔๕ ปี กรรมนั้นก็ยังตาม ตามอีก จนถึงวันสุดท้ายที่พระองค์จะปรินิพพาน ตอนเช้าก็ทรงฉันภัตตาหารของนายจุนทะ แล้วก็พอดีกับเป็นลมพระโลหิต คือลมท้องอย่างแรง

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.00324920018514 Mins