เหตุการณ์สำคัญบางตอนในพระพุทธกิจทั่วไป (ตอนจบ )

วันที่ 23 กค. พ.ศ.2547

 

 

..... พระโอวาทที่บ้านภัณฑุคาม

สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเทศนาที่บ้านภัณฑุคาม เรื่อง ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ เป็นอริยสัจธรรม ๔ ประการ มากกว่าตรัสสอนอย่างอื่น

“ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุที่เราไม่ตรัสรู้ (รู้แจ้ง) ไม่แทงตลอดในธรรมทั้ง ๔ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ นี้ เราทั้งหลายคือทั้งตถาคตและสาวกทั้งหมด จึงต้องท่องเที่ยวเวียนว่ายตายเกิดในกำเนิดต่างๆ สิ้นเวลาช้านานนัก โมหะ อันเป็นความโง่ หลงเป็นความมืด ปกปิดไม่ให้เกิดปัญญาตรัสรู้ธรรมทั้ง ๔ นี่เอง เป็นเหตุให้เราทั้งหลายต้องตกอยู่ในสังสารทุกข์อันวิจิตรเป็นอเนกประการ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มาบัดนี้ ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ ซึ่งเป็นอริยธรรมเหล่านั้น เราทั้งหลายได้ตรัสรู้แจ้งแล้ว ได้แทงตลอดแล้ว ตัณหาที่จะก่อภพให้เราเกิด เราตัดทิ้งไปหมดแล้ว ตัณหาอันเป็นบ่วงร้อยรัดเราให้ติดอยู่ในภพ เหมือนเชือกผูกเท้ากา ทำให้บินหนีไปไหนไม่ได้ หลุดจากเราแล้ว ตัณหาไม่สามารถทำภพอะไรให้เราต้องเกิดอีก ต่อไปนี้เราตถาคตและพวกท่านทั้งหลายจะไม่เกิดอีก ”

พระบรมศาสดาตรัสแสดงอานิสงส์ของอริยธรรมทั้ง ๔ นี้ว่า

“ ศีล เป็นที่ตั้งพื้นฐานอันสำคัญยิ่งของคุณธรรมเบื้องสูง เหมือนผืนแผ่นดินเป็นฐานสำหรับอาศัยทำกิจการทั้งปวงที่ต้องทำด้วยเรี่ยวแรง(ทำด้วยกาย) เมื่ออบรมศีลได้บริสุทธิ์บริบูรณ์ดี จะอบรมสมาธิได้ดี สมาธิเมื่ออบรมได้ดีแล้ว มีอานิสงส์ใหญ่ เพราะสมาธิจะอบรมให้เกิดปัญญา เมื่อปัญญาอบรมดีแล้ว จิตจะมีวิมุตติหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลายที่ดองอยู่ในสันดาน มีดองด้วยกาม(รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส) ดองด้วยภพ (เกิดในที่ต่างๆ ) ดองด้วยอวิชชา (คือความไม่รู้อะไรตามความเป็นจริง)

เมื่อจิตหลุดพ้นจากอาสวะทั้งปวงแล้ว ย่อมพ้นจากสังสารทุกข์ทั้งสิ้น

สิกขาทั้ง ๓ นี้ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นหนทางให้ถึงวิมุตติ (ความหลุดพ้น) เป็นแก่นของพระธรรมวินัย สาวกจะบรรลุวิมุตตินี้ได้ ก็ด้วยทำไตรสิกขาให้บริบูรณ์

 

พระโอวาทที่โภคนคร

เมื่อเสด็จถึงโภคนคร ตรัสสอนเหล่าภิกษุสงฆ์ด้วยเรื่อง มหาปเทส ๔ เพื่อเป็นหลักสำหรับที่ภิกษุสงฆ์จะใช้ตัดสินว่า สิ่งใดเป็นธรรม เป็นวินัย เป็นพระพุทธพจน์หรือมิใช่ โดยตรัสว่า “ ถ้าจะมีภิกษุใดมาอ้างว่า สิ่งเหล่านี้เป็นธรรม เป็นวินัย เป็นพระพุทธพจน์ ที่พระศาสดาทรงสอนไว้ ที่สงฆ์บัญญัติไว้ ที่คณะต่างๆ กล่าวไว้ หรืออ้างบุคคลใดก็ดี พวกเธออย่ารีบด่วนเชื่อถือ ยินดีรับคำพูดเหล่านั้น แต่อย่าเพิ่งปฏิเสธ ให้สอบทานคำสอนเหล่านั้นให้ถี่ถ้วนแน่นอน เทียบดูในพระสูตร (พระธรรมเทศนาที่ทรงแสดงไว้ในที่ต่างๆ) เทียบดูในพระวินัย (ข้อห้ามต่างๆ ที่ทรงกำหนดไว้)

ถ้าถ้อยคำเหล่านั้นเทียบในพระสูตรก็ไม่ตรง เทียบในพระวินัยก็ไม่ตรง ให้เข้าใจได้ว่าไม่ใช่คำพูดของตถาคต ผู้บอกรับมาผิด จำมาคลาดเคลื่อน แต่ถ้าเทียบดูแล้ว เข้ากันได้ทังพระสูตรและพระวินัย ไม่มีสิ่งใดคลาดเคลื่อน ให้สันนิษฐานได้ว่าเป็นคำสอนของพระผู้มีพระภาคแน่แล้ว ผู้บอกรับฟังมาด้วยดี ไม่วิปริต ”

มหาปเทส ๔ หลักอ้างอิงเทียบเคียงเกี่ยวกับพระวินัย ๔ ประการ

๑. สิ่งใดไม่ทรงห้าม ว่าเป็นสิ่งไม่ควร แต่สิ่งนั้นเข้ากันได้กับสิ่งไม่สมควรต่อสมณะ สิ่งนั้นไม่สมควร

๒. สิ่งใดไม่ทรงห้าม ว่าเป็นสิ่งไม่ควร แต่สิ่งนั้นเข้ากันได้กับสิ่งที่ควรต่อสมณะ สิ่งนั้นควร

๓. สิ่งใดไม่ทรงอนุญาตว่าเป็นสิ่งสมควร แต่สิ่งนั้นเข้ากันได้กับสิ่งไม่สมควร สิ่งนั้นไม่สมควร

๔. สิ่งใดไม่ทรงอนุญาตว่าเป็นสิ่งสมควร แต่สิ่งนั้นเข้ากันได้กับสิ่งสมควร สิ่งนั้นควร

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0060442646344503 Mins