ทำไมพระพุทธศาสนาถึงเสื่อมจากอินเดีย

วันที่ 22 ธค. พ.ศ.2549

 

 

.....ทั้งที่ที่พระพุทธศาสนาเกิดขึ้นในประเทศอินเดีย แต่ต่อมาในขณะที่พระพุทธศาสนาได้ แผ่ขยายและเจริญรุ่งเรืองไปในดินแดนต่างๆ พระพุทธศาสนาในอินเดียเองกลับเสื่อมลง จนในยุคหนึ่งกล่าวได้ว่า แทบไม่มีชาวพุทธหลงเหลืออยู่เลย ที่เป็นเช่นนี้น่าจะมาจาก ๒ สาเหตุหลักต่อไปนี้คือ

 

๑. สาเหตุภายใน พระพุทธศาสนาเป็นศาสนา ซึ่งมีพระภิกษุสงฆ์เป็นผู้นำ โดยมีวัดเป็นศูนย์กลาง ในแง่การปฏิบัติเพื่อมุ่งสู่นิพพานนั้น พระภิกษุสงฆ์คือผู้ที่สละโลก ตั้งใจปฏิบัติธรรมขัดเกลากิเลส ถือเป็นแบบอย่างของชาวพุทธโดยทั่วไป และในแง่การเผยแผ่ศาสนา พระภิกษุสงฆ์ก็อยู่ในฐานะของครูผู้สอน โดยสาธุชนทั่วไปเป็นผู้รับฟังคำสอนแล้วนำไปปฏิบัติ และทำบุญให้การสนับสนุนในการดำรงชีพ และการปฏิบัติศาสนกิจของพระภิกษุสงฆ์

 

.....ในระยะแรกพระภิกษุสงฆ์ที่ บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์มีอยู่เป็นจำนวนมาก ปฏิบัติตนเป็นผู้นำ เป็นแบบอย่างแก่พระภิกษุสงฆ์ อื่นในการเผยแผ่พระศาสนา พระภิกษุสงฆ์ส่วนใหญ่ต่างมีความศรัทธา ในพระพุทธศาสนาอย่างแน่นแฟ้น เป้าหมายการบวชในสมัยนั้น คือบวชเพื่อมุ่งพระนิพพานกันจริงๆ ให้ความสำคัญทั้งพระปริยัติธรรมและ ปฏิบัติธรรมควบคู่กันไป นอกจากนี้ยังทำหน้าที่เผยแผ่ สั่งสอนประชาชนให้ปฏิบัติตาม ต่อไป พระพุทธศาสนา จึงเจริญรุ่งเรืองขึ้นอย่างรวดเร็ว

 

.....ต่อมาผู้ที่บรรลุธรรม เป็นพระอรหันต์มีน้อยลง ในหมู่พระภิกษุสงฆ์ก็มีทั้งผู้ที่มีใจรัก มีความเชี่ยวชาญทางด้านพระปริยัติธรรม และผู้ที่เชี่ยวชาญในด้านธรรมปฏิบัติ แต่เนื่องจากการศึกษาพระปริยัติธรรม เป็นสิ่งที่สามารถวัดความรู้ได้ สามารถจัดการศึกษาเป็นระบบ และให้วุฒิการศึกษาได้ ในขณะที่ธรรมปฏิบัตินั้น เป็นสิ่งที่รู้เฉพาะตน เป็นของละเอียด วัดได้ยาก และเนื่องจากพระภิกษุสงฆ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านธรรมปฏิบัติ มักมีใจโน้มเอียงไปในทางแสวงหาความสงบสงัด มักไม่ชอบการคลุกคลีด้วยหมู่

 

.....เมื่อเป็นเช่นนี้หลังจากเวลาผ่านไป พระภิกษุผู้เชี่ยวชาญด้านปริยัติธรรม จึงขึ้นมาเป็นผู้บริหารการปกครองคณะสงฆ์โดยปริยาย

 

.....เมื่อผู้บริหารการคณะสงฆ์เป็น ผู้เชี่ยวชาญทางพระปริยัติธรรม ก็เป็นธรรมดาอยู่เองที่ใน การส่งเสริมการศึกษาของสงฆ์ จะเน้นหนักในด้านพระปริยัติธรรมเป็นหลัก เพราะเป็นสิ่งที่คุ้นเคยและชำนาญ แม้จะเห็นความสำคัญของธรรมปฏิบัติ แต่เมื่อตนไม่คุ้นเคย ไม่มีความชำนาญ การสนับสนุนก็ทำได้ใน ขอบเขตหนึ่งเท่านั้น พระภิกษุสงฆ์รุ่นใหม่ๆ จึงมักได้รับการฝึกอบรมใน ด้านพระปริยัติธรรมเป็นหลัก ส่วนธรรมปฏิบัติก็ค่อยๆ ลดน้อยถอยลง

 

.....การศึกษาพระปริยัติธรรมนั้น ในยุคแรกๆ ก็ศึกษาเพื่อเน้นให้เข้าใจในพุทธพจน์ คำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อนำมาใช้ในการประพฤติปฏิบัติ แต่ต่อมาเมื่อศึกษามากเข้า ๆ ก็มีพระภิกษุสงฆ์ที่เป็นนักคิด นักทฤษฎีจำนวนหนึ่ง ทนการท้าทายจากนักคิด นักปรัชญาของศาสนาอื่นๆ ไม่ได้ เมื่อถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องอภิปรัชญา เช่น โลกนี้โลกหน้าว่ามีจริงหรือไม่ จิตมีการรับรู้ได้อย่างไร โลกเป็นอยู่อย่างไร มีจริงหรือไม่ เป็นต้น จึงพยายามหาเหตุผลทางทฤษฎี ตามแนวคิดในทางพระพุทธศาสนา และใช้การให้เหตุผลทาง ตรรกศาสตร์มาอธิบายปัญหาเหล่านี้ ทั้งๆ ที่คำถามเหล่านี้เป็นคำถามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงพยากรณ์ เพราะถือว่าไม่เกิดประโยชน์ มีแต่จะเป็นเหตุให้ถกเถียงทะเลาะเบาะแว้งกัน ทรงอบรมสั่งสอนแต่สิ่งที่นำไปสู่การขัดเกลากิเลส มุ่งสู่พระนิพพาน ซึ่งเมื่อถึงจุดนั้นแล้วผู้ปฏิบัติก็ย่อมจะเข้าใจสิ่งเหล่านี้ได้เอง

 

.....หลักธรรมในพระพุทธศาสนา เมื่อปฏิบัติจนเข้าถึงแล้ว ผู้ปฏิบัติย่อมเห็นตรงกัน เป็นภาวนามยปัญญา (ความรู้แจ้งที่เกิดจากความเห็นแจ้ง) แต่เมื่อพยายามพิสูจน์ด้วยความคิดทางตรรกศาสตร์ ด้วยจินตมยปัญญา (ความรู้คิด) ไม่ได้รู้แจ้งด้วยตนเองเพราะไม่เห็นแจ้ง ย่อมมีความคิดแตกต่างหลากหลาย ผลก็คือนักทฤษฎีของพระพุทธศาสนา เองก็มีความเห็นไม่ตรงกัน ทะเลาะถกเถียงกันเอง เกิดเป็นแนวคิดของสำนักต่างๆ และแตกตัวเป็นนิกายต่างๆ ในที่สุด

 

.....มีนักทฤษฎีในพระพุทธศาสนาที่มีชื่อเสียงเกิดขึ้นจำนวนมาก เช่น นาคารชุน อสังคะ วสุพันธุ ทิคนาคะ ภาววิเวก ธรรมกีรติ ศานตรักษิตะ เป็นต้น

 

.....​แนวคิดของพระนักทฤษฎี เหล่านี้มีความลึกซึ้งมาก จนแม้นักวิชาการตะวันตกปัจจุบัน มาเห็นเข้ายังตื่นตะลึง แต่ผลที่เกิดก็คือ เกิดความขัดแย้งแตกแยกในหมู่ชาวพุทธ และพระพุทธศาสนาได้กลาย เป็นศาสนาที่มีหลักคำสอนสลับซับซ้อน จนชาวบ้านฟังไม่เข้าใจ ประหนึ่งว่าพระพุทธศาสนากลายเป็นศาสนา ของพระภิกษุสงฆ์เท่านั้น แต่ก็มีพระภิกษุสงฆ์เพียงจำนวนน้อยที่รู้เรื่อง และก็ยังคิดเห็นไม่ตรงกันอีก ส่วนชาวพุทธทั่วไปกลายเป็นชาวพุทธแต่ในนาม ไปวัดทำบุญตามเทศกาล ตามประเพณีเท่านั้น

 

.....ขณะเดียวกันมีพระภิกษุสงฆ์อีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีจำนวนมากกว่า ได้หันไปปฏิบัติตนตามใจชาวบ้าน ซึ่งต้องการพึ่งพาอำนาจลึกลับ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ จึงมีการเล่นเครื่องรางของขลัง เวทมนตร์คาถาต่างๆ วัตรปฏิบัติย่อหย่อนลง จนถึงจุดหนึ่งเกิดเป็นนิกายตันตระ ซึ่งเลยเถิดไปถึงขนาดถือว่า การเสพกามเป็นหนทางสู่การตรัสรู้ธรรม การดื่มสุราเป็นสิ่งดี เป็นต้น

 

.....เมื่อเกิดความแตกแยก ภายในพระพุทธศาสนา ทั้งในเรื่องของแนวคิดทฤษฎีที่ ทะเลาะเบาะแว้งกันไม่จบสิ้น จนถึงการแตก เป็นกลุ่มเวทมนตร์คาถาซึ่งฉีกแนวทาง

 

๒. สาเหตุจากภายนอก ในอินเดีย นอกจากพระพุทธศาสนา แล้วก็ยังมีศาสนาอื่นๆ อีกมาก ศาสนาพราหมณ์มีอิทธิพลมากที่สุด เมื่อพระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองขึ้น คนหันมานับถือมาก ศาสนาพราหมณ์ก็ลดบทบาทลง ผู้นำในศาสนาพราหมณ์ ก็พยายามหาทางดึงศาสนิก กลับคืนอยู่ตลอดเวลา มีการโจมตีพระพุทธศาสนา บ้าง พยายามหยิบยก เอาคำสอนของพระพุทธศาสนา หลายอย่างไปเป็นของตัวบ้าง ปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมเทพเจ้าที่นับถืออยู่บ้าง จนที่สุดได้กลายเป็นศาสนาฮินดู ดังตำราเรียนเรื่องศาสนา เมื่อกล่าวถึงศาสนาฮินดู ก็มักจะมีคำว่าพราหมณ์ควบคู่กันไปเสมอ

 

.....เมื่อถึงเวลาที่พระพุทธศาสนาเสื่อมลง เนื่องจากความแตกแยกภายในแล้ว ก็ได้มีการเปลี่ยนวิธีการจากการโจมตีพระพุทธศาสนา มาเป็นการผสมกลมกลืน โดยมีปราชญ์ใหญ่ชื่อ ศังกระ (ประมาณ พ.ศ. ๑๒๘๐) เป็นผู้นำในการปฏิรูปศาสนาฮินดู มีการเลียนแบบวัดในพระพุทธศาสนา สร้างที่พักนักบวชในศาสนาฮินดู เรียกว่า มถะ เป็นศูนย์กลางใน การเผยแผ่ศาสนาฮินดูขึ้นเป็นครั้งแรก๕ ทั้งยังมีการปรับเปลี่ยนอื่นๆ อีกมากมาย ถึงขนาดมีการปรับคำสอนบอกว่าพระพุทธเจ้า คือองค์อวตารปางที่ ๙ ของพระวิษณุ๖ แล้วนับเอาผู้ที่เคารพนับถือพระพุทธเจ้า เข้าเป็นชาวฮินดูทั้งหมด ทางด้านของพระพุทธศาสนาเอง เมื่อมีปัญหาความแตกแยกภายใน ประกอบกับชาวพุทธโดย ทั่วไปไม่มีความรู้ในพระธรรมอย่างถ่องแท้ เมื่อพบกับยุทธวิธีของศาสนา ฮินดูเข้าเช่นนี้ ชาวพุทธก็ยิ่งสับสน แยกไม่ออกระหว่างพระพุทธศาสนากับศาสนาอื่น ทั้งที่เป็นชาวพุทธก็เคารพนับถือ กราบไหว้พระพรหม เทพเจ้าต่างๆ เจ้าพ่เจ้าแม่ต่างๆ ด้วย พระภิกษุสงฆ์เองบางส่วนก็ หันไปเอาใจชาวบ้าน เห็นเขานับถือเทพต่างๆ เจ้าแม่ต่างๆ ก็เอารูปปั้นของเทพเหล่านั้นมาไว้ในวัด ให้ชาวบ้านกราบไหว้บูชา

 

.....ที่สุด ชาวบ้านจึงแยกไม่ออก คิดว่าพระพุทธศาสนากับศาสนาฮินดูก็คือสิ่งเดียวกัน ชาวพุทธแต่เดิมก็กลายเป็นชาวฮินดูไปค่อนตัวแล้ว และต่อมาเมื่อเจอเหตุกระทบครั้งใหญ่คือ ตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. ๑๖๐๐ กองทัพมุสลิมบุกเข้ายึดอินเดีย ไล่มาจากทางตอนเหนือและประกาศทำลายพระพุทธศาสนา เผาวัดวาอาราม๗ ฆ่าพระภิกษุสงฆ์ ทั้งมีการให้รางวัลแก่ผู้ที่ตัดศีรษะพระภิกษุสงฆ์มาส่งให้ พระภิกษุสงฆ์จึงต้องสึก มิฉะนั้นก็ต้องอพยพหลบหนีไป พระพุทธศาสนาซึ่งขณะนั้นมีแต่พระภิกษุสงฆ์จำนวนน้อยที่รู้จริงในคำสอนของพระพุทธศาสนา แต่ชาวพุทธทั่วไปนั้นขาดความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้อง ดังนั้นเมื่อพระภิกษุสงฆ์หมด พระพุทธศาสนาก็หมดจากประเทศอินเดียในที่สุด (ติดตามต่อในตอนหน้า)

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.021964053312937 Mins