การสร้างความมั่นคง

วันที่ 26 มค. พ.ศ.2550

 

ในการสร้างความมั่นคงของพระพุทธศาสนานั้น มีเรื่องที่ต้องทำอยู่ ๒ ประการเป็นสำคัญ คือ

 

 ๑. การอบรมศีลธรรมแก่ประชาชน เศรษฐกิจกับจิตใจจะต้องไปคู่กัน จึงจะเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน หากผู้คนในสังคมขาดการพัฒนาจิตใจ ไม่มีศีลธรรม เห็นแก่ตัว อยู่แบบตัวใครตัวมัน ครอบครัวแตกแยก ประชาชนไม่มีความสุข สังคมไร้เสถียรภาพ การพัฒนาทางเศรษฐกิจก็จะไม่ยั่งยืนและไร้ความหมาย สภาพสังคมที่มั่นคง สงบร่มเย็นเท่านั้น จึงจะเป็นรากฐานที่แข็งแกร่งรองรับความเจริญรุดหน้าทางเศรษฐกิจได้ ซึ่งในการอบรมศีลธรรมนี้ เราอาจแบ่งประชาชนออกเป็นกลุ่มใหญ่ๆ คือ

 

      นักเรียน นิสิต นักศึกษา เยาวชนซึ่งอยู่ในระบบการศึกษา รวมจำนวนประมาณสิบกว่าล้านคนเหล่านี้ คืออนาคตของชาติ และอยู่รวมกันเป็นกลุ่มก้อนในสถานศึกษาต่างๆ อยู่ในภาวะพร้อมจะเรียนรู้อยู่แล้ว ดังนั้นการจัดทำหลักสูตรวิชาศีลธรรมที่ดีมีคุณภาพ การจัดอบรมธรรมะภาคฤดูร้อนแก่เยาวชนของชาติ หากรัฐบาลประกาศเป็นนโยบายและให้การสนับสนุนแก่กลุ่มองค์กรชาวพุทธต่างๆ ให้ช่วยกันดำเนินการ ก็จะส่งผลดีต่อพระพุทธศาสนาและประเทศชาติในระยะยาวอย่างมาก

 

      ข้าราชการ ข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ รวมประมาณ ๔ ล้านคน จัดเป็นประชาชนกลุ่มใหญ่อีกกลุ่มหนึ่งในสังคมไทย การที่คณะรัฐมนตรีได้มีอนุมัติให้ข้าราชการและพนักงานของรัฐสามารถลาไปปฏิบัติธรรมเพื่อเพิ่มพูนประสิทธิภาพในการทำงานได้ปีละ ๓-๔ วัน โดยไม่ถือเป็นวันลานั้น เป็นนโยบายที่ดีมาก และจะดียิ่งขึ้น หากได้สนับสนุนให้ข้าราชการระดับสูงได้กระทำให้ดูเป็นตัวอย่าง กระตุ้นให้ข้าราชการเข้าร่วมโครงการอย่างกว้างขวาง รวมทั้งขยายแนวคิดนี้ไปสู่ภาคเอกชน พนักงานบริษัท ห้างร้านต่างๆ ด้วย

 

      ประชาชนทั่วไป รัฐบาลควรประกาศเป็นนโยบาย ให้การสนับสนุนการเผยแผ่ธรรมะ อบรมศีลธรรมแก่ประชาชนตามสื่อต่างๆ ทุกประเภท เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ศึกษาธรรมะตลอดชีวิต และประชาสัมพันธ์ฟื้นฟูธรรมเนียมการบวชพระช่วงเข้าพรรษาให้ครบพรรษาจนกระทั่งรับกฐินเสร็จเรียบร้อย รวมเวลาประมาณ ๔ เดือน เพื่อผู้บวชจะได้มีเวลาศึกษาธรรมะเพียงพอ

 

      นอกจากนี้อบายมุขทุกประเภท ไม่ว่าเหล้าเบียร์ของมึนเมาหรือการพนัน เป็นสิ่งบ่อนทำลายคุณภาพของประชาชนอย่างแรง เป็นภัยต่อความรุ่งเรืองมั่นคงของชาติในระยะยาว รายได้จากภาษีอากร ค่าธรรมเนียมจากอบายมุขเหล่านี้ไม่คุ้มค่ากับคุณภาพของคนและศีลธรรมของสังคมที่เสียไป เหมือนบริษัทใหญ่ๆ ที่มีพนักงานจำนวนมาก แม้ในหมู่พนักงานจะมีผู้ที่ชอบเล่นการพนัน เจ้าของบริษัทก็คงไม่คิดตั้งบ่อนภายในบริษัทเพื่อป้องกันรายได้รั่วไหล เพราะได้ไม่คุ้มเสีย แต่ควรรณรงค์อย่างต่อเนื่องด้วยมาตรการต่างๆ เพื่อให้พนักงานที่ลุ่มหลงในอบายมุขเหล่านี้มีจำนวนลดน้อยลงและเลิกไปในที่สุด ดังนั้นรัฐบาลควรเป็นผู้นำในการรณรงค์ให้ประชาชนเลิกอบายมุข ดังโครงการงดเหล้าในเทศกาลต่างๆ ซึ่งดีมาก และควรเชิดชูเกียรติคุณแก่บุคคลหรือองค์กรที่มีผลงานการรณรงค์ให้เลิกอบายมุข และปลูกฝังศีลธรรมแก่ประชาชนที่ได้ผลเป็นรูปธรรมจริง (ติดตามต่อในตอนหน้า)

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.014428301652273 Mins