บุญผลถวายดวงประทีป

วันที่ 28 กพ. พ.ศ.2550

พระอนุรุทธเถระภิกษุ ผู้เป็นเอตทัคคะด้านการมีทิพยจักษุ (ตาทิพย์)

เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน ณ กรุงกุสินารา ครั้งนั้น พระอนุรุทธเถระ หนึ่งในอสีติมหาสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุใดด้านมีตาทิพย์ ได้ติดตามรู้ตามเห็นการเสด็จสู่ปรินิพพานของพระพุทธองค์ตลอดเวลา นับเป็นพยานสำคัญการดับขันธปรินิพพานของพระพุทธองค์ ที่จารึกไว้ในพระไตรปิฎกในกาลต่อมา
บุญและผลแห่งบุญ เป็นเรื่องของเหตุและผลว่า ประกอบเหตุเช่นไรย่อมได้ผลเช่นนั้น เกิดขึ้นพอเหมาะกับเหตุ หากเรามีความปรารถนาอย่างไรจึงจะสามารถสั่งสมบุญเพื่อให้ได้ผลตามที่ต้องการได้ แต่บางครั้งเราไม่มีโอกาสที่จะทราบเช่นนั้น หากมีบุคคลหนึ่งที่ได้สั่งสมบารมีข้ามภพข้ามชาติอย่างต่อเนื่อง อย่างตรงเป้าหมายที่ตนปรารถนา แล้วในที่สุดท่านก็ได้บรรลุคุณวิเศษตามที่ต้องการ ท่านเป็นผู้มีบุญญาธิการมาก จึงมีโอกาสได้ทราบแนวทางของการสร้างบารมีจากพระสงฆ์ผู้มีคุณวิเศษในอดีตกาลโดยตรง และไม่ละเลยที่จะปฏิบัติตาม เรื่องมีอยู่ว่า
ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า “ปทุมุตตระ” พระอนุรุทธเถระได้บังเกิดเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติ วันหนึ่งเข้าไปวิหารเพื่อฟังธรรมในสำนักของพระศาสดา ในวันนั้นพระศาสดาทรงสถาปนาพระภิกษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้มีจักษุทิพย์ จึงคิดว่า พระภิกษุรูปนี้มีคุณความดีมาก จนพระผู้มีพระภาคเจ้าตั้งไว้ในตำแหน่งอันเลิศฝ่ายทิพยจักษุ แม้ตัวเราก็ควรได้เป็นผู้เลิศด้านทิพยจักษุในพระศาสนา ของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคตกาลบ้าง
คิดได้ดังนั้น ก็แทรกแหวกกลุ่มชนเข้าไปกราบทูลนิมนต์พระปทุมุตตรทศพล พร้อมทั้งพระภิกษุสงฆ์นับแสนรูป เพื่อทูลนิมนต์ฉันภัตตาหารที่บ้านของตน เขาได้ถวายมหาทานอย่างนั้นติดต่อกัน ๗ วัน และในวันที่ ๗ ก็ถวายผ้าอย่างดี พร้อมด้วยเครื่องเย็บและเครื่องย้อม แด่พระปทุมุตตรพุทธเจ้าและพระภิกษุสงฆ์แสนรูป แล้วตั้งความปรารถนาเฉพาะพระพักตร์ว่า
“ข้าพระองค์ได้กระทำการสักการบูชาในคราวนี้ มิพึงประสงค์ทิพยสมบัติหรือมนุษยสมบัติอื่นใดเลย พระองค์ทรงตั้งภิกษุใดไว้ในตำแหน่งอันเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายด้านทิพยจักษุ ๗ วันก่อนหน้านี้ ขอให้ข้าพระองค์ได้เป็นผู้เลิศเช่นนั้นในพระศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่ง ในอนาคตกาลเถิดพระเจ้าข้า”
พระปทุมุตตรพุทธเจ้า ผู้ประเสริฐด้วยอนาคตังสญาณ คือความรู้เหตุการณ์ในภายหน้า ทรงเห็นว่าความปรารถนาของอนุรุทธะนั้นจักสำเร็จแน่นอน ไม่มีอุปสรรคขัดขวาง จึงทรงพยากรณ์ว่า “เมื่อสิ้นเวลาแสนกัปในอนาคต จักมีพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งทรงพระนามว่า โคดม อนุรุทธะนี้จะได้เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายฝ่ายทิพยจักษุและมีชื่อว่าอนุรุทธะ” จากนั้นทรงกระทำภัตตานุโมทนาแล้วเสด็จกลับพระวิหาร เขาได้กระทำบุญกุศลตลอดพระชนมายุแห่งพระพุทธองค์
กาลต่อมาเมื่อพระปทุมุตตรพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว คนทั้งหลายได้ช่วยกันสร้างสุวรรณเจดีย์สูงถึง ๗ โยชน์ อนุรุทธะนั้นเกิดศรัทธาต้องการจะกระทำบุญกุศลเกี่ยวกับองค์พระเจดีย์ทองนั้นบ้าง จึงเข้าไปถามพระภิกษุสงฆ์ว่า
“ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ การกระทำบุญกุศลเพื่อให้เกิดผลเป็นทิพยจักษุนั้น จะต้องกระทำเช่นไรขอรับ”
เมื่อทราบวิธีการแล้ว อนุรุทธะได้จัดต้นประทีปใหญ่หนึ่งพันต้น นำไปตั้งไว้รอบ ๆ พระสุวรรณเจดีย์ และมีดวงประทีปเล็ก ๆ คั่นอยู่ในระหว่างกลางของต้นประทีปดวงใหญ่ ๆ นั้น แล้วจุดบูชาพระสุวรรณเจดีย์ ด้วยตั้งใจบูชาพระปทุมุตตรพุทธเจ้า เมื่อรวมประทีปทั้งปวงที่มีผู้อื่นนำมาจุดบูชาพระเจดีย์ในครั้งนั้นมีหลายพันดวง แสงประทีปทำให้ปริมณฑลของพระเจดีย์ทองแลดูโชติช่วงชัชวาลปานประหนึ่งเวลากลางวัน
นอกจากจะบูชาเจดีย์แล้ว อนุรุทธะยังไม่ละเลยการกระทำบุญกุศลอื่น ๆ จนตลอดชีวิต เมื่อสิ้นชีวิตแล้วได้ท่องเที่ยวเสวยทิพยสมบัติอยู่ใน ๒ โลก คือเทวโลกและมนุษยโลกเท่านั้นตลอดกาลนาน
การบูชาพระพุทธเจ้าด้วยประทีปนั้น พระอนุรุทธเถระมิได้สร้างกุศลนี้เพียงในชาตินี้ชาติเดียว หากได้สร้างอย่างต่อเนื่อง ดังครั้งที่ท่านเกิดในสมัยของพระสุเมธสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เช่นเดียวกัน ครั้งนั้นท่านจุดประทีปบูชาพระสุเมธศาสดา ซึ่งทรงเข้าฌานอยู่ที่โคนต้นไม้ต้นหนึ่งเป็นเวลา ๗ วันด้วยกัน อานิสงส์ครั้งนั้นจะนับจะประมาณมิได้ อาทิเช่น
เมื่อละโลกแล้วได้ไปเกิดเป็นเทวดามีวิมานสว่างไสว มีรัศมีกายสว่างกว่าเทวดาทั้งหลายอยู่เป็นนิตย์ ทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน
ได้ถือกำเนิดเป็นพระเจ้าจักรพรรดิถึง ๒๘ ครั้ง และมีดวงตามที่มีประสิทธิภาพในการเห็น สามารถเห็นได้ไกลถึง ๑ โยชน์
ได้กำเนิดในเทวโลก เป็นเทวดาผู้มีศักดิ์ใหญ่อมรินทราธิราชอยู่ ๓๐ กัป
เมื่อผ่านมาอีกหนึ่งแสนกัป ได้กลับมาเกิดเป็นอนุรุทธะอยู่ในเมือง ซึ่งตรงกับสมัยของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า มีโอกาสสร้างคุณความดีเกี่ยวกับการบูชาพระพุทธเจ้าด้วยประทีปเพิ่มขึ้นอีกเป็นบุญสนับสนุนการมีทิพยจักษุของท่านอีกครั้งหนึ่ง

ครั้งนั้น เมื่อพระกัสสปพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว มหาชนได้สร้างพระเจดีย์สูงได้ ๑ โยชน์ เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุสำเร็จแล้ว จึงให้สร้างถาดสัมริดเป็นจำนวนมาก ใส่เนยใสจนเต็ม กระทำไส้ใส่แล้วจุดบูชาไว้รอบพระเจดีย์นั้น
ส่วนอนุรุทธะนั้นจะบูชาบ้าง จึงให้ทำถาดสัมริดใหญ่กว่าถาดทั้งปวง ใส่เนยใสจนเต็ม กระทำไส้พันไส้วางไว้รอบขอบปาก กระทำไส้ใหญ่ไว้ตรงกลาง จุดให้ลุกโพลง แล้วทูนถาดขึ้นบนศีรษะเดินเวียนรอบพระเจดีย์ ตั้งใจจะทำเป็นพุทธบูชา
จะสังเกตเห็นว่า ไม่ว่าในพุทธสมัยไหน การบูชาด้วยประทีปโคมไฟเป็นพุทธประเพณี ที่กระทำสืบมาด้วยความเคารพเลื่อมใสจนเป็นปกติ และมักจะทำไว้โดยรอบของพระเจดีย์ด้วย ซึ่งอานิสงส์ผลบุญครั้งนั้นของอนุรุทธะ ส่งผลให้ท่านได้ไปเกิดในเทวโลก เสวยทิพยสมบัติอย่างต่อเนื่องหลายภพหลายชาติ
นั่นคือบุพกรรมทั้งหลายของพระอนุรุทธเถระ ผู้มีความปรารถนาจะเป็นภิกษุผู้เลิศด้านทิพยจักษุ และในภพชาติปัจจุบันเมื่อมาพบพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านก็ได้เป็นหนึ่งในอสีติมหาสาวกผู้เลิศกว่าภิกษุใดด้านมีทิพยจักษุ สมความปรารถนาที่ตั้งไว้ ทั้งยังได้เข้าถึงคุณวิเศษคือปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ สามารถทำให้แจ้งแทงตลอด ในคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้
นี้คืออานิสงส์แห่งความตั้งใจจริง และบำเพ็ญกุศลอย่างต่อเนื่อง ถูกต้องตามประเภทของบุญและการเกิดผลานิสงส์ ดังที่พระสงฆ์สาวกขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้กล่าวรับรองไว้ว่า การถวายประทีปเป็นพุทธบูชานั้น ทำให้ได้ทิพยจักษุ ดังอานิสงส์ที่พระอนุรุทธเถระได้รับในชาตินี้นั่นเอง

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.019074467817942 Mins