บทวิเคราะห์ความผันผวนทางธุรกิจของ “เบียร์ช้าง”

วันที่ 20 กย. พ.ศ.2548

ตามที่ บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด(มหาชน) ได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (Filing) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตั้งแต่วันที่ ๒ กันยายน ๒๕๔๘ โดยได้รายงานความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัทฯ ข้อ ๑.๑.๔ ในส่วนที่ ๒ หน้า ๔ ว่า “การขึ้นภาษีหรือการเปลี่ยนแปลงวิธีการคำนวณภาษี อาจส่งผลกระทบต่อปริมาณความต้องการการบริโภคผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ ซึ่งอาจส่งผลกระทบในทางลบต่อธุรกิจ ฐานะการเงิน ผลการดำเนินงานและโอกาสในทางธุรกิจของบริษัทฯ” และ “บริษัทฯอาจต้องรับภาระภาษีที่เพิ่มขึ้นทั้งหมด หรือบางส่วนจากกรณีดังกล่าว” นั้น

จากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๖ กันยายน ๒๕๔๘ ข้อที่ ๒๒ เรื่อง มาตรการปรับปรุงภาษีสุรา ซึ่งมีมติให้กำหนดอัตราภาษีสุราใหม่โดยมีผลบังคับใช้ทันที ดังนี้

๑. สุรากลั่นชนิดปรุงพิเศษ อัตราภาษีตามมูลค่าร้อยละ ๕๐ อัตราภาษีตามปริมาณ ๔๐๐ บาท(อัตราภาษีตามปริมาณเดิม ๒๔๐ บาท) ต่อลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ ฯลฯ ส่งผลทำให้อัตราการเสียภาษีสุราดังกล่าวอาทิ แสงโสม เพิ่มขึ้นจากขวดละ ๖๗ บาท เป็น ๑๑๒ บาท(เพิ่มขึ้น ๔๕ บาท) และแม่โขง เพิ่มขึ้นจากขวดละ ๖๓ บาทเป็น ๑๐๕ บาท(เพิ่มขึ้น ๔๒ บาท) เป็นต้น

จากการที่บริษัทฯ ขายสุราสี ในแต่ละปีสูงถึง ๑๐๓.๒ ล้านลิตรในปี พ.ศ.๒๕๔๗ และ ๕๘.๔ ล้านลิตรในงวดครึ่งปีพ.ศ.๒๕๔๘ นั้น ผลกระทบจะเกิดขึ้นอย่างรุนแรงต่อการดำเนินงาน หากอัตราภาษีใหม่ มีผลบังคับใช้ในปี ๒๕๔๗ เป็นต้นมา จะทำให้บริษัทมีภาระภาษีเพิ่มขึ้นถึงกว่า ๖,๕๐๐ ล้านบาท ในปี๒๕๔๗ และกว่า ๓,๕๐๐ ล้านบาทในครึ่งปี ๒๕๔๘ เมื่อเปรียบเทียบกับกำไรสุทธิในปีพ.ศ.๒๕๔๗ เท่ากับ ๑๐,๓๔๙ ล้านบาท และงวดครึ่งปี ๒๕๔๘ เท่ากับ ๕,๑๗๒.๖ ล้านบาท

หากบริษัทฯ ผลักภาระให้กับผู้บริโภคด้วยการขึ้นราคาย่อมมีผลต่อยอดขายอย่างมีนัยสำคัญ อันจะส่งผลให้อัตราการผลิตเทียบกับกำลังการผลิตลดลง จากข้อมูลของบริษัทฯ (ส่วนที่ ๒ หน้า ๑๖๘) ใช้กำลังการผลิตสุราเพียง ๖๑.๐ % และ ๖๑.๔% ในปีพ.ศ.๒๕๔๗ และครึ่งปี พ.ศ.๒๕๔๘ ตามลำดับ

และยังกล่าวด้วยว่า อัตราการใช้กำลังการผลิตมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อผลกำไรของบริษัทฯ หากบริษัทฯยังดำเนินการโรงงานสุราด้วยกำลังการผลิตในระดับต่ำต่อไป ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารของบริษัทฯจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการใช้กำลังการผลิตไม่เต็มที่ (Idle Cost) นอกจากนี้บริษัทฯ อาจต้องตัดมูลค่าของสินทรัพย์เหล่านี้ออก ทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นลดลงอีกด้วย (ส่วนที่ ๒ หน้า ๑๖๙)

ข้อมูลข้างต้นเป็นเพียงผลกระทบประการเดียวที่เกิดขึ้น หากเอานโยบายรัฐบาลเรื่องสุขภาพของประชาชนเป็นที่ตั้ง และมีการใช้นโยบายภาษีสรรพสามิตดังกล่าวสำหรับเบียร์ ซึ่งมียอดจำหน่ายประมาณครึ่งหนึ่งของยอดขายรวม จะทำให้บริษัทฯ ต้องชำระภาษีสูงกว่าผลิตภัณฑ์เบียร์บางผลิตภัณฑ์ของคู่แข่ง เนื่องจากผลิตภัณฑ์เบียร์ของบริษัทฯ มีปริมาณแอลกอฮอล์สูงกว่าผลิตภัณฑ์เบียร์ต่างๆ ของคู่แข่ง(ส่วนที่ ๒ หน้า ๔)

จะเห็นได้ว่า บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด(มหาชน) เป็นบริษัทที่มีความผันผวนทางธุรกิจสูงมาก และยิ่งมีขนาดของบริษัท (Market Capitalization) ที่สูงในระดับแสนล้านบาท หากมีการพิจารณาให้กระจายหุ้นสู่ประชาชนและอนุญาตเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แล้ว จะสร้างความผันผวนและส่งผลต่อตลาดทุนในทางลบอย่างแน่นอน

 

 

ฝ่ายวิชาการ

ศาสนิกชน ๖๗ องค์กรและ๑๗๒ องค์กรเครือข่ายงดเหล้า

๑๕ กันยายน ๒๕๔๘

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.012688648700714 Mins