เยาวชนรุ่นใหม่…ร่วมสร้างกระแส ต้าน “บุหรี่- “สุรา” มหาโทษ

วันที่ 25 กย. พ.ศ.2548

หากสังคมที่ยังมีสิ่งแวดล้อมเป็นอันตรายแอบแฝงอยู่ในอบายมุขรูปแบบต่าง ๆ ถือว่าเป็นความรับผิดชอบของสังคมที่ทุก ๆ คนสามารถร่วมกันทำได้ โดยเฉพาะหากรู้จักคิดได้กันตั้งแต่ในเยาวชน รวมทั้งได้รับการสนับสนุนส่งเสริมจากผู้รับผิดชอบอีกหลายฝ่ายด้วยแล้วละก็ ย่อมกลายเป็นวัคซีนขนานสำคัญได้อีกทางหนึ่งสำหรับสังคมสีขาวที่ต้องการให้เป็น ดังเช่น

 

จากการที่ตัวแทนเยาวชนใน “เครือข่ายโรงเรียนปลอดบุหรี่ 5 โรง” ยื่นรายชื่อจำนวนกว่า 3 หมื่นราย ต่อ ศ.นพ. สุชัย เจริญรัตนกุล รัฐมนตรีว่าการ-กระทรวงสาธารณสุข ร่วมสนับสนุนนโยบายห้ามการตั้งโชว์ขายบุหรี่ ณ จุดขาย ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 24 กันยายน นี้นั้น เขาเหล่านั้นยอมรับและเชื่อว่า จะเป็นอีกทางที่สามารถป้องกันเยาวชนไทยได้เป็นอย่างดีอีกทางหนึ่ง เพราะการตั้งโชว์บุหรี่ที่มีสีสันสดใส สะดุดตา ตามร้านค้ากว่า 500,000 ร้านทั่วประเทศ เสมือนเป็นป้ายโฆษณาที่มีพลังดึงดูดให้เยาวชนอยากลองบุหรี่ นั่นเอง

ซึ่งนอกจากมีตัวแทนจากเยาชนแล้ว แนวร่วมอีกส่วนคือทางด้านของ “เครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ประกอบด้วย แพทยสภา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ทันตแพทยสภา ทันตแพทยสภา แห่งประเทศไทย สมาคมศิษย์เก่าศิริราชพยาบาลในพระบรมราชูปถัมภ์ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทย มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ก็ได้ยื่นหนังสือสนับสนุนกระทรวงสาธารณสุข ในการบังคับใช้กฎหมายห้ามโฆษณาบุหรี่ ณ จุดขาย ถึงนายกรัฐมนตรี โดยผ่านทาง ศ.นพ.สุชัยด้วยเช่นกัน

มีข้อมูลที่น่าสนใจ จาก ศ.พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ ประธานเครือข่ายวิชาชีพฯ ที่กล่าวถึงงานวิจัยหลายชิ้นทั่วโลก ระบุชัดว่าการโฆษณาบุหรี่ ณ จุดขาย กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เด็กเป็นนักสูบหน้าใหม่ การตั้งแสดงบุหรี่ยี่ห้อละหลายซองหรือซองเดียว ผิดกฎหมายมาตรา 8 ของ พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2538 มาตรา 3 และมาตราที่ 8 จึงไม่สามารถอนุโลมให้แสดงบุหรี่ยี่ห้อละ 1 ซองได้ และกระทรวงการคลัง เก็บภาษีบุหรี่ได้ 36,326 ล้านบาท ในปี 2547 แต่การวิจัยพบค่ารักษาโรคมะเร็งปอด หัวใจ และถุงลมโป่งพองมากถึง 46,000 ล้านบาทต่อปี หากคิดค่ารักษาพยาบาลจากโรคที่มีสาเหตุจากบุหรี่ 25 โรค อาจสูงถึง 75,000 ล้านบาทต่อปี และหากไม่มีมาตรการสกัดกั้นการเพิ่มขึ้นของผู้สูบบุหรี่ในประเทศไทย ค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคที่เกิดจากบุหรี่จะเพิ่มขึ้นตลอดเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้รัฐบาลไม่สามารถสู่ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคได้

ข้อมูลดังกล่าวนี้ จึงขอให้ท่านนายกรัฐมนตรีสนับสนุนนโยบายของกระทรวงเพื่อลดจำนวนผู้สูบบุหรี่หน้าใหม่เป็นการสนองพระราชดำรัชพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2547 ที่ทรงแสดงความห่วงใยว่า เยาวชนไทยจะสูบบุหรี่มากขึ้น

และนอกจากนี้ ทาง น.พ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ได้กล่าวยืนยันที่จะให้มีการบังคับใช้กฎหมาย ห้ามโฆษณาบุหรี่ ณ จุดขายต่อไป เพื่อให้การดำเนินการวางผลิตภัณฑ์ยาสูบที่จุดขายเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ให้ปฏิบัติไปในทางเดียวกัน เพื่อประโยชน์สาธารณะในการป้องกัน การริเริ่มหรือลองสูบบุหรี่ ของเยาวชนและประชาชน อันเนื่องมาจากการโฆษณาส่งเสริมการขาย ณ จุดจำหน่ายต่าง ๆ โดยกำหนดให้ใช้แนวทางปฏิบัติ 4 ประการด้วยกัน ดังต่อไปนี้snew480910.jpg

ข้อ 1. ให้ใช้แนวทางนี้ในทุกท้องที่ในราชอาณาจักร รวมทั้งร้านค้าปลอดอากรทุกแห่ง ยกเว้นร้านค้าปลอดอากรซึ่งจำหน่ายสิ้นค้าให้แก่บุคคลเฉพาะที่จะเดินทางออกไปนอกราชอาณาจักรเท่านั้น

ข้อ 2. ผู้ประกอบการค้าที่ได้รับอนุญาตให้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาสูบทุกประเภท จะต้องไม่ดำเนินการใด ๆ ที่เป็นการแสดง ชื่อ ตรา เครื่องหมายการค้า ของผลิตภัณฑ์ยาสูบทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นตู้ ชั้นวางจำหน่ายทุกประเภท หรือสิ่งอื่นใดที่จุดจำหน่าย ทั้งนี้ ให้รวมถึงการกระทำอื่นใดที่ทำให้ประชาชนเห็นชื่อ ตรา เครื่องหมายการค้า ซอง กล่องหรือภาชนะบรรจุผลิตภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ยาสูบนั้นด้วย

ข้อ 3. ผู้ประกอบการค้าที่ได้รับอนุญาตให้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาสูบทุกประเภท อาจจัดให้มีป้ายทำด้วยวัสดุใด ๆ ขนาดพื้นที่ไม่เกินกว่าพื้นที่ของกระดาษขนาด A 4 ตัวอักษรสีดำหรือน้ำเงิน บนพื้นสีขาวติดไว้ที่บริเวณจุดจำหน่ายได้ 1 จุด โดยมีข้อความ “สถานที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาสูบได้รับอนุญาต” หรือ “สถานที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาสูบ “ หรือ “ที่นี่จำหน่ายบุหรี่” หรือ “ที่นี่จำหน่ายบุหรี่/ซิการ์” แล้วแต่กรณี

ข้อที่ 4. ให้ผู้ประกอบการค้าที่ได้รับอนุญาต อาจแสดงราคาจำหน่ายส่งและปลีกผลิตภัณฑ์ยาสูบประเภทผลิตภัณฑ์ยาสูบ โดยการเขียนหรือพิมพ์หรือกระทำให้ปรากฏด้วยวิธีการอื่นใดในบริเวณที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาสูบ ตลอดจนแสดงราคา ให้จัดทำเป็นตัวอักษรขนาดไม่เกิน 20 พอยท์ (ประมาณ 3 มิลลิเมตร) ด้วยสีดำหรือน้ำเงินบนกระดาษหรือวัสดุอื่น ๆ ในที่มีสีขาว

กรมควบคุมโรค ได้จัดทำสติ๊กเกอร์ “ที่นี่จำหน่ายบุหรี่” พื้นขาว ตัวอักษรสีดำ ขนาดกว้าง 10 ซม. ยาว 30 ซม. จำนวน 2 แสนชิ้น ส่งแจกให้ร้ายค้าทั่วประเทศ โดยติดต่อรับฟรีได้ที่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่ง หรือที่สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ โรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศ

โดยการดำเนินการห้ามโฆษณานั้น ในวันที่ 24 กันยายน จะยังไม่ลงโทษในทันที แต่จะใช้มาตรการป้องปราม และตักเตือนกันด้วยวาจาก่อน และให้ผู้ประกอบการผู้ค้าปรับปรุงตามคำแนะนำ หากมีการร้องเรียนจากประชาชนอีก ก็จะใช้การตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร และหากยังฝ่าฝืนอีก ลงโทษตามกฎหมายด้วยมีโทษปรับไม่เกิน 200,000 บาท

นพ. ณรงค์ ชี้ว่าการตั้งบุหรี่ขายที่หน้าร้าน ไม่ว่าจะอยู่ในตู้โชว์หรือชั้นก็ตาม จัดว่าเป็นการโฆษณาประเภทหนึ่ง ยังมีข้อมูลอีกว่า บริษัทบุหรี่ข้ามชาติได้ทุ่มงมประมาณใช้เพื่อส่งเสริมกลยุทธ์การขายที่จุดนี้ โดยเฉพาะที่สหรัฐอเมริกาสูงถึงปีละ 4 ล้านล้านบาท ในส่วนของประเทศไทย พบว่ามีการทำสัญญาเพื่อแสดงยาสูบภายในร้าน แม้ว่าร้านนั้น ๆ ไม่จำเป็นต้องขายบุหรี่เลยก็ตาม โดยจ่ายเงินถึง 3-4 หมื่นบาทต่อตู้ต่อปี ดังนี้กระทรวงสาธารณสุขจึงต้องเดินหน้า เพื่อรณรงค์การลดผู้สูบบุหรี่หน้าใหม่ให้ได้มากที่สุด ในฐานะที่เป็นหน่วยงานเพื่อคุ้มครองสุขภาพของประชาชน

กลุ่มเด็กและเยาวชน คือลูกค้าที่บริษัทบุหรี่เรียกว่า ลูกค้าที่มีศักยภาพในระยาวในอนาคต หากกระทรวงฯ ยังปล่อยให้เป็นไปตามอิทธิพลโฆษณา จะส่งผลเสียต่อเด็กและเยาวชน ซึ่งจะบริโภคบุหรี่มากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยผลสำรวจกลุ่มเยาวชน/ประชาชนในเขตกรุงเทพฯและเขตเทศบาลหัวเมืองใหญ่ ล่าสุดในปีนี้พบว่าการโฆษณาบุหรี่ที่จุดขายมีผลทำให้วัยรุ่นต่ำกว่า 18 ปี อยากซื้อบุหรี่ถึง 60% ในจำนวนนี้ทำให้อยากลองสูบถึง 91% ส่วนในประชาชนทั่วไปพบว่ามีผลถึง 49%

 

วัยมัน รู้ทันแอลกอฮอล์

อีกส่วนที่น่าจับตามองและควรได้รับการสนับสนุน ที่ผ่านมาเมื่อ มีนักศึกษากว่า 13 สถาบัน รวมพลังเครือข่ายวัยมันฯ จัดกิจกรรม” เรื่องเหล้าและเยาวชน “ เนื่องในวันเยาวชนแห่งชาติ (18 กันยายน) โดยใช้พื้นที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เปิดเป็นเวทีเสวนาระดมความคิดเห็นของเยาวชนต่อปัญหาการบริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ของเยาวชน พร้อมทั้งร่วมแสดงความคิดเห็นเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลและสังคม เร่งออกมาตรการเอาจริงเอาจังกับการป้องกันและแก้ไขปัญหา เพื่อเป้าหมายในการสกัดกั้นนักดื่มหน้าใหม่ และลดการบริโภคนักดื่มหน้าเก่า

มีการถ่ายทอดประสบการณ์ในการดื่มฯ ว่าหลังจากที่ได้เข้าร่วมโครงการแล้วนั้น กลับทำให้ทราบว่า อนาคตของเราไม่ได้มีความสุขแค่การได้ร่วมสังสรรค์กับเพื่อน โดยการร่วมดื่มและกินเท่านั้น อนาคตของเราไม่หยุดอยู่เพียงแค่นี้ ยังคงต้องก้าวไปเรื่อย ๆ ดังนั้นควรเอาเวลาที่มีอยู่มาตั้งใจกับการเรียน ให้สมกับวัย สุขภาพก็จะดีกว่าด้วย ที่สำคัญเพราะได้ทราบว่าการดื่มไม่ได้มีประโยชน์อะไร กลับเป็นสิ่งไม่ดี และไม่สมควร เพราะทุกข์โทษรวมทั้งปัญหาต่าง ๆ จะเกิดตามมาอีกมากมายด้วย

ยังมีผู้ขายบุหรี่กล่าวว่า “กำไรน้อย “ / ผู้ซื้อก็เสมือนนำเงินไปจุดไฟเผาทิ้งเสียเปล่า ! ! !

ก็น่าจะเลิกขายไปเลย ? หันไปขายสิ่งที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ และมีกำไรที่ดีกว่ากัน และติดป้าย “ที่นี่ไม่มีบุหรี่จำหน่าย” ลงไปแทน

รวมไปถึง…เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่เจ้าของผู้ผลิตรายใหญ่รายนั้น กำลังจะนำหุ้นอบายมุขเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์เพียงหวังผลเฉพาะตัวให้ได้ เป็นความพยายามที่กำลังเผชิญกระแสต้านอย่างรุนแรง จากพลังของนักเคลื่อนไหวเพื่อความถูกต้อง และเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมที่แท้จริงยังมีอยู่อีกมากมายในสังคม อันสวนกระแสกับกลุ่มผู้พยายามในตรงกันข้ามทุกวิถีทาง

 

สุมินต์ตรา

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0024463852246602 Mins