ธรรมทายาท…บทฝึกของลูกผู้ชาย

วันที่ 08 เมย. พ.ศ.2547

 


.....ท่ามกลางเปลวแดดแผดเผา ผิวกายรู้สึกแสบร้อนเพราะความแรงแห่งแสงตะวัน เหงื่อไหลชโลมกายจนเปียกชุ่ม ทั้งเหนื่อยและทดท้อเกินกว่าจะกล่าว เขานั่งลงพักเหนื่อยอย่างอ่อนแรงใต้ร่มไม้ ครั้นเห็นแววตาของเพื่อนรอบข้าง ผู้อยู่ในชุดขาวและปลงผมอย่างเดียวกัน ให้รู้สึกมี กำลังใจขึ้นมาบ้าง หวนนึกถึงคำบางคำที่ไม่เคยเลือนหายไปจากใจ



 “ ลูกผู้ชายที่ฝึกตน เธอจงอย่าได้เป็นเช่นช้างอมงวงเลย ”

และเพราะคำนั้น ที่ทำให้เขาตัดสินใจมาอยู่ ณ ที่นี้ มาหาความหมายของคำว่า

ธรรมทายาท…บทฝึกของลูกผู้ชาย
 



.....ท่ามกลางสนามรบ เมื่อยามสองทัพเข้าประจัญบาน เท้าทั้งสี่ของพญาช้างสารย่อมใช้กระทืบและเหยียบย่ำข้าศึก แม้แต่ปลายหางยังใช้ปัดป้องธนูที่พุ่งมาจากสี่ทิศ อีกทั้งหอกซัดซึ่งแล่นมาจากเบื้องบน ทั่วทั้งนภากาศเนืองแน่นด้วยนานายุทโธปกรณ์ สีข้างของพญาช้างย่อมใช้เบียดสิ่งกีดขวางให้พังพินาศ งาย่อมใช้ทิ่มแทงข้าศึก หัวย่อมใช้ยันกำแพง หูย่อมปัดป้องธนูและหอกหลาว ที่สำคัญที่สุด งวงจะต้องยื้อแย่งกระชากแม้หอกดาบที่อยู่ในมือข้าศึกศัตรู แล้วซัดกลับไปทำลายล้างฝ่ายตรงข้ามให้แพ้พ่าย

.....ช้างตัวประเสริฐ แกล้วกล้าอาจหาญเช่นนี้ จึงได้ชื่อว่า ช้างแก้ว เป็นสุดยอดปรารถนาของจอมทัพผู้เกรียงไกร 

.....ชายหนุ่มนึกถึงความตั้งใจของตนเอง ดูเถิด…ช้างแก้ว เช่นนี้ แม้เพียงหนึ่งเชือก อาจจะสามารถทำลายล้างกองทัพช้างจำนวนมากให้สิ้นไปได้ ตรงข้ามกับช้างชั้นเลวทั้งหลาย เมื่อถึงคราวประจัญบานต่างเอางวงไว้ในปาก อมไว้ด้วยกลัวเจ็บ ทั้งนี้เพราะงวงเป็นจุดอ่อนและเปราะบางที่สุดของช้าง ถูกกระทบเล็กน้อยก็เจ็บปวดมาก แม้จะรักษาความอยู่รอดของตนไว้ได้ แต่จะเหลือความภาคภูมิใจอันใดไว้เล่า ในเมื่อ ช้างชนิดนี้ไม่มีใครปรารถนา ต่างพากันรังเกียจว่าเป็นช้างอัปมงคล จะมีแต่ฆ่าทิ้ง เพราะมันเป็น ช้างอมงวง

.....เขาลุกขึ้นยืนอย่างเข้มแข็ง สลัดความง่วงงุนให้หมดไป ดวงตาเป็นประกายแจ่มใสอีกครั้ง บอกตัวเองว่า เขาต้องอดทน และอดทนตลอดไป เขาจะไม่ยอมเป็นช้างอมงวงที่คอยแต่จะหวาดกลัวภัย แต่จะเป็นช้างอาชาไนย ที่มีความสุขสำเร็จเป็นรางวัล

 

.....และนี่คือบทฝึกที่เป็นดังการทดสอบกำลังใจ ของหนึ่งในธรรมทายาทผู้เข้ารับการอบรม โครงการบรรพชาอุปสมบทหมู่ภาคฤดูร้อน รุ่นที่ ๓๒ ประจำปี ๒๕๔๗ ณ วัดพระธรรมกาย ต.คลองสาม อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี

.....ย่างก้าวแรกที่เหยียบลงบนผืนแผ่นดินแห่งนี้ เขารู้สึกถึงความอบอุ่นอย่างประหลาด เป็นความรู้สึกอบอุ่นและดีใจ เสมือนหนึ่งได้กลับคืนสู่บ้านอันแสนอบอุ่นที่ห่างหายกันไปนานหลายปี

.....ลานกัลปพฤกษ์ ต้นไม้ที่เป็นสัญลักษณ์ แห่งความสามัคคี ดอกสีชมพูสวยสด ปลูกอยู่บนพื้นดินที่ปรับให้ดูราบเรียบ บ้างต้นเล็ก บ้างต้นใหญ่ มีทางเดินเป็นหลักเป็นเกณฑ์เฉพาะไม่กี่ที่

.....ระหว่างเต็นท์หลังใหญ่ที่มองเห็นกับลานแห่งนี้มีคูคลองกั้นอยู่ เมื่อมองไปโดยรอบ ปรากฎแต่อาคารมุงจากซึ่งสร้างขึ้นอย่างเรียบง่าย หน้าต่าง และประตูใช้ระบบเชือกดึงปิดเปิด

.....ที่นี่หรือ… สถานที่ที่เขาจะต้องพักอาศัยอยู่ถึง ๒ เดือนเต็ม มองไปโดยรอบพบแต่ความโล่งว่าง ทั้งความรู้สึกดีใจ และแฝงไว้ด้วยความหวั่นใจลึกๆ

.....ที่ว่าดีใจ เพราะสถานที่แห่งนี้ทำให้มีความมั่นใจว่า จะสามารถหล่อหลอมตัวเขาให้กลาย เป็นเพชรที่แข็งแกร่ง สามารถฝึกตัวเองให้เป็นผู้มีความรู้คู่คุณธรรมได้ ที่ว่าหวาดหวั่น เพราะเขากลัวต่อความยากลำบาก ไม่มีเครื่องอำนวยความสะดวกใดๆ ที่นี่คือมหาวิทยาลัยสอนศีลธรรมกลางแจ้งที่คัดเพชรออกจากกรวดจริงๆ

.....แต่มั่นใจว่า ไม่มีอะไรทำไม่ได้สำหรับคนที่หมั่นฝึกใจ นั่นคือ การปฏิบัติธรรม ขอให้มีใจจดจ่อ ตั้งมั่นอยู่ทีศูนย์กลางกาย นึกถึงบุญให้ได้ตลอดเวลา ทุกนาทีที่ผ่านไปจึงนับเป็นเวลาอันทรงคุณค่าในชีวิตทีเดียว

.....คืนนั้นทุกคนเข้านอนในกลดหลังน้อย อยู่ธุดงควัตรใต้ร่มไม้กันทุกคน เนื่องจากความสงัดของยามค่ำคืน ประกอบกับความเย็นสบายที่มากกว่าตอนกลางวัน เมื่อนั่งเจริญสมาธิภาวนาภายในกลด รู้สึกใจดำดิ่งลงที่ศูนย์กลางกาย เข้าถึงความสว่างภายในที่สว่างยิ่งกว่าดวงอาทิตย์ยามเที่ยงวัน แต่เย็นกายเย็นใจ ไม่ได้ร้อนแรงเช่นแสงดวงอาทิตย์เลย เป็นความสุขมากอย่างที่ไม่เคยได้รับมาก่อน ใจเบิกบาน เป็นอิสระ โล่งว่าง กว้างขวาง เบาสบาย ใจขยายออกไปไม่มีที่สิ้นสุด

.....เขาค่อยๆ ลืมตาขึ้น พร้อมกับน้ำตาที่เอ่อล้นโดยไม่รู้ตัว เป็นน้ำตาเย็นแห่งความปีติ นี่เอง…ธรรมะเป็นของลึกซึ้ง รู้เห็นได้เฉพาะตน …เป็นเช่นนี้เอง

.....อีกไม่กี่วันแล้วสินะ จะถึงวันบวช แม่คงรอวันนี้ด้วยใจจดจ่อ อยากเห็นชายผ้าเหลืองลูกชายผู้เป็นดังแก้วตาดวงใจ การบวชครั้งนี้จะต้องเป็นการบวชทั้งกายภายนอกและใจภายใน ขอให้ทุกคนผู้สนับสนุนงานบวชครั้งนี้ได้บุญมากทุกท่านด้วยเถิด

.....
เชิญสาธุชนทุกท่านร่วมอนุโมทนาในพิธีบรรพชาอุปสมบทหมู่ ภาคฤดูร้อน รุ่นที่ ๓๒ ประจำปี ๒๕๔๗ ในวันเสาร์ที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๔๗ ณ อุโบสถวัดพระธรรมกาย ต.คลองสาม อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ตั้งแต่เวลา ๐๖.๐๐ -๑๖.๐๐ น
 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.035621233781179 Mins