การศึกษาแนวความคิดเรื่องประโยชน์ในพุทธปรัชญาเถรวาท ( ๑ )

วันที่ 12 มิย. พ.ศ.2547


.....ยุคแห่งการศึกษาในสังคมปัจจุบันที่เปิดกว้าง กลายเป็นปัจจัยทางเลือกหรืออาจเป็นทางออกที่ใช้เหตุผลเข้ามาประกอบในการตัดสินใจ ที่น่าเชื่อถือ กับเรื่องราวที่เป็นความน่าสนใจ เพื่อนำมาปฏิบัติได้ต่อไป ในหลาย ๆ กรณี

.....เกี่ยวกับ งานวิจัย หรือผลงานทางการศึกษา มีจำนวนไม่น้อยที่คุณค่าในตัวของเนื้องาน เอื้อเฟื้อในทางปฏิบัติตามมาอยู่มากด้วย เพราะกว่าจะได้มาแต่ละชิ้นงาน หมายถึงความทุ่มเท พากเพียรมาด้วยดีแล้วของเจ้าของผลงานนั้น ๆ เรียกได้ว่า กว่าจะฟันฝ่าเดินสู่เป้าหมาย เพื่อสร้างผลงานออกมานำเสนอในที่สุด

.....และจากผลงานทางวิชาการที่น่าสนใจ ท่านเจ้าของผลงาน คือ พระมหาวิโรจน์ วิโรจโน ( ผาทา ) พุทธศาสตรมหาบัณฑิต ( สาขาปรัชญา ) มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในปี พ . ศ . ๒๕๔๓ นำเสนอวิทยานิพนธ์เรื่องนี้ขึ้น เพื่อศึกษาทรรศนะเรื่องประโยชน์ในพุทธปรัชญาเถรวาทและแนวคิดที่เกี่ยวข้อง ที่จะหาข้อสรุปเกี่ยวกับจุดยืนในด้านหลักประโยชน์หรืออรรถประโยชน์ของตนเอง
และจะตอบปัญหาว่าเมื่อทรรศนะประโยชน์อื่น ๆ ทางฝ่ายตะวันตก เช่น ปรัชญาประโยชน์นิยมได้ให้คำตอบ เรื่องประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาจริยธรรมแก่สังคม เมื่อเป็นเช่นนั้น ทรรศนะด้านประโยชน์ของพุทธปรัชญาเถรวาทจะมีอยู่บ้างหรือไม่ และถ้ามีจะให้คำตอบด้านการแก้ไขปัญหาจริยธรรมได้อย่างไร

.....“ พุทธปรัชญาเถรวาท ” – “ ประโยชน์ ” -- “ สังคม ” มีความไปด้วยกันได้เช่นไรบ้าง น่าติดตามค่ะ

.....โดยในเบื้องต้นมีข้อสรุปที่น่าพิจารณา ก่อนจะหยิบยกประเด็นในเนื้อหา ก็คือ ได้ข้อสรุปอันเป็นประโยชน์เกี่ยวกับหลักประโยชน์ในทรรศนะของพุทธปรัชญาเถรวาท ดังนี้

.....ประการแรก คำว่า
ประโยชน์ในทรรศนะของพุทธปรัชญาเถรวาท หมายถึง ความสุข หรือสิ่งที่จะทำให้ชีวิตดีขึ้น เจริญขึ้น หรือแปลว่า จุดหมายของชีวิตมนุษย์ ซึ่งสามารถสรุปได้เป็น ๒ ประการ คือ ๑ . ประโยชน์ทางวัตถุ ได้แก่ ทรัพย์สิน เกียรติยศ ชื่อเสียง เป็นต้น ๒ . ประโยชน์ทางด้านจิตใจ ได้แก่ การบรรลุคุณธรรม ทั้งมรรคผล นิพพาน หรือระดับขั้นของการพัฒนาจิตใจ เป็นต้น

.....ข้อที่สอง พุทธปรัชญาเถรวาทมีหลักประโยชน์อยู่ที่การทำประโยชน์เพื่อมวลชน และมีรายละเอียดอยู่ที่การคำนึงถึงประโยชน์ตนเองเป็นอันดับแรก จากนั้นจึงจะขยายความพร้อมมูลของตนเองไปช่วยเหลือผู้อื่นให้บรรลุประโยชน์ตนเอง ซึ่งเมื่อทำเช่นนี้ก็จะเกิดประโยชน์ทั้ง ๒ ฝ่ายขึ้น กล่าวคือ ทั้งตนเองและผู้อื่นก็ได้ประโยชน์ร่วมกัน

.....ข้อที่สาม ประโยชน์ในทรรศนะพุทธปรัชญาเถรวาทนั้นแบ่งได้เป็น ๖ ประเภทคือ ประโยชน์ชาตินี้ ประโยชน์ชาติหน้า ประโยชน์สูงสุด ทั้ง ๓ ประการนี้ พุทธปรัชญาเถรวาทเห็นว่ามนุษย์ควรบรรลุประโยชน์ชาตินี้ ชาติหน้าให้ได้ จึงจะได้ชื่อว่าเป็นบัณฑิตเกิดมาไม่ไร้ประโยชน์ นอกจากนั้น ยังมีประโยชน์ที่เหลืออีก คือ ประโยชน์ตน ประโยชน์คนอื่น และประโยชน์สองฝ่าย ซึ่งทั้ง ๓ ประการหลังนี้ มนุษย์จะต้องยึดเอาประโยชน์ตนก่อน กล่าวคือ อันดับแรกมนุษย์จะต้องมีความพร้อมก่อนที่จะไปช่วยเหลือคนอื่น เพราะเมื่อไม่บรรลุประโยชน์ตนเองก็ช่วยเหลือคนอื่นได้ยาก

.....ข้อที่สี่ เมื่อนำหลักประโยชน์ของพุทธปรัชญาเถรวาทไปเปรียบเทียบกับทฤษฎีประโยชน์นิยมของเจเรอมี เบ็นธัม และจอห์น สจ็วต มิลล์ และได้ข้อสรุปว่า หลักประโยชน์ของพุทธปรัชญาเถรวาทนั้นไม่เป็นประโยชน์นิยมแบบตะวันตก เพราะมีความแตกต่างกันทั้งในด้านหลักการและรายละเอียด ๔ ประเด็น คือ ด้านหลักการ ด้านความสุข ด้านแรงจูงใจ และผลของการกระทำ ด้านหลักสัมพัทธนิยม ซึ่งประเด็นที่เป็นข้อขัดแย้งว่า พุทธปรัชญาเถรวาทไม่เป็นประโยชน์นิยมอย่างชัดเจนก็คือ ประเด็นเรื่องแรงจูงใจและผลการกระทำ และประเด็นเรื่องหลักสัมพัทธนิยม

.....ช้อที่ห้า จากการศึกษาวิจัยนี้พบว่า แนวคิดเรื่องประโยชน์ในทรรศนะพุทธปรัชญาเถรวาทนั้น มีอิทธิพลต่อสังคมในหลาย ๆ ด้าน เช่น ด้านการศึกษา เศรษฐกิจ การเมือง การปกครอง เป็นต้น

.....ยังมีสาระในขอบเขตการวิจัยที่ชวนติดตาม เพราะมีทั้งที่เกี่ยวข้องกับทุก ๆ คนโดยตรง หรือผู้ใกล้ชิด รวมได้ถึงสังคม เป็นความใกล้ชิดระหว่างตัวบุคคลและหลักพุทธศาสนา ที่เป็นไปพร้อม ๆ กันได้อย่างไรบ้าง คงต้องติดตามรายละเอียดกันในตอนหน้าค่ะ

.....ตลอดระยะเวลาถึง ๔๕ พรรษา ที่ทรงสั่งสอนเวไนยสัตว์ให้รู้เห็นตามหลักแห่งความเป็นจริง พระองค์ทำได้ทรงละทิ้งหลักการดังกล่าวนั้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่า พระพุทธองค์ได้ทรงเน้นย้ำมาก ในเรื่องการปฏิบัติเพื่อประโยชน์สุขของปวงชน ดังพุทธดำรัสว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงจาริกไปเพื่อประโยชน์สุขแก่คนจำนวนมาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่ทวยเทพและมนุษย์ทั้งหลาย

อ้างอิง … พระมหาวิโรจน์ วิโรจโน , การศึกษาวิเคราะห์แนวความคิด เรื่องประโยชน์ในพุทธปรัชญาเถรวาท , กรุงเทพมหานคร : มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย , ๒๕๔๓ .

สุมินต์ตรา

 

 


ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.013483802477519 Mins