มหาวิบัติของสังคมจากทิศเบื้องหลัง (ตอนที่ ๑)

วันที่ 28 กค. พ.ศ.2547


 

๑. สามี/ภรรยาขาดความสำนึกรับผิดชอบต่อศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของตนเอง

ถ้าสามีหรือภรรยาขาดอริยวินัย ไม่ปฏิบัติหน้าที่ของตนๆ ให้สมบูรณ์ ตามที่พระพุทธองค์ทรงกำหนดไว้เป็นอย่างน้อยนั้น ผลเสียที่จะเกิดขึ้นประการแรก ก็คือ สามี หรือภรรยาทั้งหลายจะไม่มีความสำนึกรับผิดชอบต่อศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของตนเอง เพราะประพฤติกรรมกิเลส ๔ เนืองๆ ซึ่งจะเกิดเป็นลักษณะนิสัยและแสดงพฤติกรรมออกมาให้เห็นได้อย่างน้อย ๓ ประการ คือ

๑) หมดกำลังใจในการสร้างสรรค์ครอบครัว ในปัจจุบันชายหญิงที่ตกลงใจร่วมหอลงโรงกัน ก็เพราะมีความรักใคร่เห็นอกเห็นใจกัน ฝันหวานร่วมกันในอันที่จะสร้างครอบครัวให้เป็นปึกแผ่น และมีบุตรธิดาไว้สืบสกุล

แต่หลังจากที่ร่วมเรียงเคียงหมอนกันไปไม่ช้าไม่นาน ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่าย ขาดอริยวินัย ไม่ปฏิบัติหน้าที่ของตนๆ ตามที่พระพุทธองค์ทรงกำหนดไว้เป็นอย่างน้อยนั้น เพียงบางข้อ แต่ละฝ่ายก็พอจะให้อภัยกันได้ แต่ถ้าฝ่ายใดปฏิบัติผิดเพียงข้อเดียว คือการประพฤตินอกใจ นอกจากอีกฝ่ายหนึ่งจะไม่ยอมให้อภัยแล้ว ยังจะทำให้หมดความไว้วางใจและความเคารพนับถือกัน อยู่ด้วยกันด้วยความหวาดระแวงซึ่งกันและกัน หมดกำลังใจที่จะช่วยกันสร้างความเป็นปึกแผ่นให้แก่ครอบครัว และวงศ์ตระกูล บางคู่อาจถึงกับโกรธเกลียดกันอย่างรุนแรง จนไม่สามารถอยู่ร่วมกันอีกต่อไป ต้องแยกทางกันไปด้วยการหย่าร้าง บางรายที่มีมิจฉาทิฏฐิหนัก ก็อาจจะก่อปัญหารุนแรงถึงขนาดเอาชีวิตกัน

๒) ครอบครัวหมดความสงบ เพราะเหตุที่สามีภรรยาอยู่ร่วมกันด้วยความระวงกัน เมื่ออยู่บ้านพร้อมหน้ากันก็มักจะมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกันเป็นประจำ เมื่อต่างฝ่ายต่างบันดาลโทสะ ก็จะใช้ถ้อยคำรุนแรงหยาบคาย ด่าทอกัน ปรามาสกัน ทำให้ครอบครัวหมดความสงบ ยิ่งกว่านั้นทั้ง ๒ ฝ่าย ยังแสดงความเป็นศัตรูกันมากขึ้น

๓) บ้านแตก สามีภรรยาที่ทะเลาะเบาะแว้งกันเป็นประจำ เมื่อบันดาลโทสะมากขึ้นก็จะกลายเป็นทะเลาะวิวาทกัน ซึ่งนอกจากจะเป็นปัญหาที่ทำให้เจ็บใจแล้ว ยังต้องเจ็บกายกันอีก ในที่สุดสามีภรรยาก็อาจจะต้องแยกทางกัน

ครอบครัวใดก็ตาม ที่สามีภรรยาทะเลาเบาะแว้งกันเป็นประจำ และลุกลามไปเป็นการทะเลาะวิวาท ย่อมถือได้ว่าสามีภรรยาในครอบครัวนั้นมีลักษณะนิสัยและพฤติกรรมเยี่ยงคนทุศีล ย่อมหาความสุขสงบไม่ได้

นอกจากนี้ผู้ที่ต้องพลอยได้รับความทุกข์และความเดือดร้อนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือบุตรธิดาที่ยังเยาว์อยู่ สภาพที่เลวร้ายในครอบครัวย่อมมีอำนาจผลักดันให้เยาวชนเหล่านี้ กลายเป็นเยาวชนที่เป็นปัญหาของสังคมต่อไปอีก

๒. สามี / ภรรยาขาดความสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม หรือต่อศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของผู้อื่นที่ร่วมสังคม

ถ้าสามีหรือภรรยาขาดอริยวินัย ไม่ปฏิบัติหน้าที่ของตนๆ ให้สมบูรณ์ ผลเสียที่จะเกิดขึ้นประการที่ ๒ ก็คือ สามีหรือภรรยาทั้งหลายจะไม่มีความสำนึกผิดชอบต่อสังคม หรือต่อศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของผู้อื่นที่ร่วมสังคม เพราะอคติที่ครอบงำใจของเรา ซึ่งจะเกิดเป็นลักษณะนิสัยและแสดงพฤติกรรมออกมาให้เห็นอย่างน้อย ๓ ประการ คือ

๑) เป็นคนอคติ ครอบครัวที่สามีหรือภรรยา หรือทั้ง ๒ ฝ่ายไม่ปฏิบัติหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์ ก็เพราะมีความคิดมิจฉาทิฏฐิอยู่ในจิตใจ เนื่องจากไม่ได้รับการอบรมมาจากทิศเบื้องหน้า และเบื้องขวา ให้รู้จัก ผิด-ชอบ ชั่ว-ดี บุญ-บาป ควร-ไม่ควร

ครอบครัวของคนมิจฉาทิฏฐิจึงขาดความสงบสุข แต่ละฝ่ายต่างก็รู้สึกขาดความปลอดภัย มองโลกในแง่ร้ายอยู่เสมอ ไม่เชื่อว่าความยุติธรรมจะมีอยู่ในโลกนี้ เพราะแม้แต่ตนเองยังไม่ได้รับความเป็นธรรมจากสามีหรือภรรยาของตน ดังนั้นเขาหรือเธอจึงเป็นคนอคติไปโดยปริยาย แม้แต่ลูกในไส้ของตน เขาหรือเธอก็ยังรักไม่เท่ากัน

๒) เข้าข้างฝ่ายที่ตนรักใคร่พอใจ ในฐานะที่เป็นพ่อหรือแม่ของลูกๆ มากกว่า ๑ คน สามีหรือภรรยาที่เป็นคนอคติ จะไม่ตระหนักถึงความยุติธรรมที่ตนพึงมีต่อลูกๆ คือจะรักลูกไม่เท่ากัน โดยแสดงพฤติกรรมออกมาให้เห็นอย่างชัดเจนครั้งแล้วครั้งเล่า เช่น คอยกล่าวปกป้องหรือแก้ตัวให้แก่ลูกหัวแก้วหัวแหวนของตนเมื่อทำผิด คอยกล่าวให้ท้ายลูกหัวแก้วหัวแหวนของตนให้กระทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม ขณะเดียวกันก็คอยกล่าวตำหนิติเตียนอย่างรุนแรง ต่อลูกที่ไม่ใช่คนโปรดของตน แม้ทำผิดเพียงเล็กน้อย หรือทำไม่ถูกใจตน หรือเมื่อลูกคนนี้ทำความดี นอกจากจะไม่ยกย่องสรรเสริญแล้วยังจะประชดประชันเหน็บแนมให้ท้อใจ ยิ่งกว่านั้นในบางครั้งยังคอยจับผิดลูกคนนี้อีกด้วย

พ่อแม่ที่มีความลำเอียง ต่างฝ่ายต่างก็จะมีลูกหัวแก้วหัวแหวนของตน ต่างฝ่ายต่างก็จะคอยถือหางลูกที่ตนรักมาก เข้าทำนองคนนั้นเป็นลูกพ่อ คนนี้เป็นลูกแม่ สถานการณ์เช่นนี้ย่อมก่อให้เกิดความแตกแยกขึ้นในครอบครัวอย่างไม่ต้องสงสัย นั่นคือจะมีการทะเลาะเบาะแว้งกันระหว่างพ่อแม่ลูกอยู่เสมอ จึงยากที่จะหาความรักใคร่ปรองดองกันภายในครอบครัว

 

๓. สามี/ภรรยาขาดความสำนึกรับผิดชอบต่อศีลธรรมทางเศรษฐกิจ

ถ้ามีสามีหรือภรรยาขาดอริยวินัย ไม่ปฏิบัติหน้าที่ของตนๆ ให้สมบูรณ์ ผลเสียที่จะเกิดขึ้นประการที่ ๓ คือ สามีหรือภรรยาทั้งหลายจะไม่มีความสำนึกรับผิดชอบต่อศีลธรรมทางเศรษฐกิจ เพราะไปเกี่ยวข้องพัวพันกับอบายมุข ซึ่งจะเกิดเป็นลักษณ์นิสัยและแสดงพฤติกรรมออกมาให้เห็นอย่างน้อย ๓ ประการ คือ

๑) คลายเครียดด้วยอบายมุข สามีภรรยาที่ไม่ปฏิบัติหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์ ย่อมจะมีปัญหาขัดแย้งและทะเลาะเบาะแว้งกันอยู่เสมอ ทำให้ต่างฝ่ายต่างเครียด และเบื่อหน่ายซึ่งกันและกัน จึงหาทางคลายเครียดตามความนิยมของผู้คนส่วนใหญ่ คืออบายมุขต่างๆ เช่น ฝ่ายสามีอาจไปดื่มสุรายาเมากับเพื่อนฝูง ครั้นแล้วก็ไปเที่ยวต่อตามบาร์หรือไนท์คลับ หรือสถานที่เที่ยวกลางคืนซึ่งมีชื่อเรียกต่างๆ กันไป สามีบางคนอาจไปเที่ยวอาบอบนวด แล้วไปจบลงที่โรงแรมม่านรูด สามีบางคนอาจนิยมเข้าไปคลายเครียดอยู่ในบ่อนการพนัน เป็นต้น

ส่วนภรรยาบางคนอาจไปหาเพื่อนฝูง ชวนกันไปดูหนังฟังเพลง ไปซื้อของตามศูนย์การค้า ไปรับประทานอาหารตามภัตตาคารชื่อดัง เมื่อรวมกลุ่มกันได้หลายคน ก็อาจจะตั้งวงเล่นไพ่กัน หรือมิฉะนั้นก็อาจจะชักชวนกันไปเล่นการพนันตามบ่อนเถื่อนซึ่งหาได้ไม่ยากนัก

ไม่ว่าฝ่ายภรรยาหรือสามี เมื่อเข้าไปพัวพันกับอบายมุขบ่อยเข้าก็จะติดเป็นนิสัยจนเลิกไม่ได้ ขณะเดียวกันก็จะมีปัญหาขาดแคลนเงินทอง ต้องหันไปพึ่งโรงรับจำนำบ้าง หรือกู้หนี้ยืมสินมาใช้บ้าง บางคนใช้วิธีซื้อของเงินผ่อนราคาแพงมาขายราคาถูก การกระทำดังกล่าวล้วนก่อให้เกิดภาระหนี้สินขึ้นมาอีกปัญหาหนึ่ง

 


ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0010364492734273 Mins