วิสาขามหาอุบาสิกา ตอนที่ ๕ พบหญิงงาม

วันที่ 08 กค. พ.ศ.2547

วิสาขามหาอุบาสิกา
ตอนที่ ๕ พบหญิงงาม


วิสาขามหาอุบาสิกา  ตอนที่ ๕ พบหญิงงาม


......ขณะที่พราหมณ์ทั้ง ๘ คน เดินทางมาถึงเมืองสาเกตเป็นเวลาจวบสิ้นทิวากาล แดดยามเย็นอ่อนแสงลง เบื้องบนมีกลุ่มเมฆเป็นคลื่นซ้อนซับสลับกันเป็นทิวแถว สะท้อนแสงสุรีย์เป็นเงาระยับดังทรายทองโปรยปรายเรี่ยรายจดขอบฟ้า ต้อนรับฝูงชนผู้เดินดุ่มตรงมายังแม่น้ำเบื้องหน้า ในงานประจำปีของชาวเมือง ที่เรียกกันว่า งานนักขัตฤกษ์เปิดเผย

เป็นช่วงเทศกาลแสดงถึงความเคารพต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยชาวเมืองทุกคนจะเปิดผ้าคลุมหน้าออก แล้วเดินเท้าไปยังแม่น้ำ เพื่อชำระมลทินให้บริสุทธิ์ด้วยการสรงสนานกายตามความเชื่อของบรรพบุรุษ

ในกาลนั้น แม้ตระกูลที่ไม่เคยออกไปนอกบ้าน จำต้องออกจากเรือนพร้อมด้วยบริวาร มีใบหน้าไม่ได้ปกคลุม เดินไปที่ริมแม่น้ำเช่นเดียวกัน โอกาสพิเศษเช่นนี้ พวกบุตรทั้งหลายจากเหล่าตระกูล

ขัตติยมหาศาล ต่างยืนแอบข้างทางด้วยหวังใจว่า

“ พวกเราคงได้พบสตรีผู้มีชาติตระกูลเสมอกันสักคนหนึ่ง เมื่อชอบใจแล้วจักคล้องพวงมาลัยนี้แก่นาง ”

เป็นธรรมเนียมของคนอินเดียโบราณ การแสวงหาหญิงมาเป็นภรรยา ฝ่ายชายหรือผู้แทนของฝ่ายชายจักเป็นผู้แสดงความจำนงด้วยการคล้องพวงมาลัยแก่หญิงที่เห็นว่าเหมาะสม แสดงถึงการจับจองเป็นเจ้าของ จากนั้นจึงจะเดินทางไปสู่ขอกับบิดามารดาตามประเพณีต่อไป ส่วนใหญ่จะกระทำกันในงานนักขัตฤกษ์เปิดเผย ที่ทั้งสองฝ่ายต่างมองเห็นหน้าซึ่งกันและกัน

ฝ่ายพราหมณ์ทั้ง ๘ คน ได้เข้าไปยืนอยู่ในศาลาหลังหนึ่งริมฝั่งแม่น้ำ ทอดทัศนาความเป็นไปแห่งชาวเมือง อุทยานนี้งดงามมาก มีต้นไม้ใหญ่ใบครึ้ม ศาลาที่พักอาศัยมีซุ้มมะลิเลื้อยอยู่ทั่วไป ส่งกลิ่นหอมเย็นลอยมาตามลม เหล่าประชาชนต่างเที่ยวชมหาความสำราญใจกันเกลื่อนกล่น

เมืองสาเกต มีชื่อว่าเป็นเมืองแห่งหญิงงามเมืองหนึ่ง พราหมณ์ทั้งหลายเห็นจริงตามนั้น ด้วยนางแน่งน้อยแต่ละคนทรงโฉมควรพิศวง สวมพัสตราภรณ์เต็มยศดังประชันขันแข่ง ล้วนแพรพรรณพริ้งเพราด้วยเครื่องถนิมอลังการแลลานตา จะป่วยกล่าวไปไยถึงกิริยาอ่อนช้อย อีกท่วงท่าอันงอนงามนั้นเล่า หากผสานดวงเนตรดำขลับดังเนื้อทรายยามชายตามองบุรุษ ประดุจจะฉุดให้ผู้เขลาหลงอยู่ในภวังค์ก็ไม่ปาน

ยามนั้น นางวิสาขามีอายุย่างเข้า ๑๕ - ๑๖ ปี ประดับตกแต่งร่างกายด้วยอาภรณ์ครบทุกอย่าง แวดล้อมด้วยกุมารีผู้มีวัยเดียวกัน ๕๐๐ คน ได้ไปถึงยังริมฝั่งน้ำด้วยคิดว่า “ เราจะไปอาบน้ำที่แม่น้ำ ”

ในยามที่นางวิสาขาและบริวารเดินทางไปถึงสถานที่นั้น เมฆฝนได้ตั้งเค้าขึ้น นภากาศพยับล้วนอับแสง เกิดพายุแรงฟ้าคะนอง เสียงก้องสะท้านซ่านด้วยเม็ดฝน เด็กหญิงทั้ง ๕๐๐ คน ให้นึกตกใจกลัวเป็นกำลัง รีบวิ่งเข้าไปในศาลาโดยเร็วด้วยกลัวเปียกฝน ต่างส่งเสียงร้องกันสับสนอลหม่าน

พวกพราหมณ์ทั้ง ๘ คน พิจารณาดูหญิงเหล่านั้น ไม่เห็นตรงกับลักษณะเบญจกัลยาณีสักคนเดียว

นางวิสาขาเดินตามปรกติ ด้วยกิริยาสุภาพเรียบร้อยเข้าไปสู่ศาลา เครื่องประดับของนางเปียกฝนโชก นางไปถึงศาลาหลังนั้นเป็นคนสุดท้าย โดยไม่ได้แสดงอาการหวั่นวิตก หรือเกรงจะเปียกฝนเลยแม้แต่น้อย

ดูก่อนท่านอาคันตุกะผู้เจริญ ทันทีที่พราหมณ์ทั้ง ๘ คนแลเห็นนางวิสาขาในระยะใกล้ ให้นึกสงสัยยังเข้าใจไม่ได้ว่า ทำไมจึงไม่แดยันล้มลงขาดใจเสียแต่ขณะนั้น จะได้ไปเกิดในสวรรค์ ? หรือจะเห็นเพราะบุญกรรมหน่วงเหนี่ยวไว้ สู้มีชีวิตรอดพ้นภัยต่างๆ ตามหนทางไกลมาได้จนบัดนี้

ด้วยนางวิสาขามีความงามเป็นเลิศกว่าหญิงทั้งหลาย พวกพราหมณ์เหล่านั้นพากันคิดว่า

“ หญิงสาวอื่นๆ ที่มีรูปร่างสวยงาม เห็นจะไม่มีใครเกินไปกว่าหญิงผู้นี้ แต่ทว่ารูปร่างนี้เป็นสิ่งที่หญิงบางพวกตกแต่งได้เหมือนช่างรถตกแต่งล้อรถให้งามฉะนั้น เห็นควรต้องพิจารณาให้รอบคอบ ”

ดังนั้น เมื่อพวกพราหมณ์ได้ประจักษ์ถึงบุญลักษณะของเบญจกัลยาณี ๔ ประการที่ปรากฏแก่นางแล้ว ประสงค์จะเห็นฟัน จึงคิดอุบายกล่าวกับกันและกันเป็นที่กระทบนางว่า

“ แน่ะสหาย ธิดาของพวกเราเป็นหญิงเฉื่อยชา ช่างน่าสงสารนัก ชะรอยสามีของนางนี้เห็นทีจะไม่ได้บริโภคแม้แต่ปลายข้าว ”

นางวิสาขาได้ยินคำกระทบกระเทียบเช่นนั้น จึงค่อยๆ หันกายไปมอง ถามพราหมณ์เหล่านั้นว่า

“ ท่านผู้เจริญทั้งหลาย พวกท่านว่าใครกัน เจ้าคะ ”

พวกพราหมณ์ตอบว่า “ ว่าเธอนั่นแหละจ๊ะ ”

ยามนั้น พราหมณ์ทั้งหลายได้ยินเสียงนางวิสาขาที่เปล่งออกมามีความไพเราะก้องกังวาลราวกับเสียงกังสดาล ให้รู้สึกประทับใจยิ่งขึ้น นางวิสาขาได้ถามพราหมณ์เหล่านั้นด้วยเสียงอันไพเราะอีกว่า

“ เพราะเหตุไร พวกท่านจึงว่าดิฉันเจ้าคะ ”

พวกพราหมณ์กล่าวชี้แจงว่า

“ หญิงบริวารของเธอ ไม่ยอมให้ผ้าและเครื่องแต่งตัวเปียกฝน รีบวิ่งเข้าสู่ศาลา กิจแม้เพียงแต่การรีบมาถึงที่นี่ เธอยังไม่อาจทำได้ เธอปล่อยให้เสื้อผ้าและเครื่องแต่งตัวเปียกปอนหมด ดังนั้น พวกเราจึงว่าเธอเช่นนั้น ”

นางวิสาขากล่าวว่า “ ข้าแต่พ่อทั้งหลาย พวกท่านอย่าพูดอย่างนี้ ดิฉันมีกำลังแข็งแรงมากกว่าหญิงเหล่านั้น แต่ดิฉันกำหนดเหตุการณ์แล้ว จึงไม่รีบวิ่งมาโดยเร็ว เจ้าคะ ”

พวกพราหมณ์ฟังคำตอบแล้วให้นึกสนใจ ถามต่อว่า “ มีเหตุการณ์อะไรจ๊ะ แม่หนู ”

“ ข้าแต่พ่อทั้งหลาย ชน ๔ จำพวก เหล่าไหนเมื่อวิ่งไปย่อมไม่งาม ”

“ นี่แน่ะ แม่หนู ชน ๔ จำพวก เหล่าไหนเมื่อวิ่งไปย่อมไม่งาม ”

นางวิสาขาชี้แจงว่า “ ข้าแต่พ่อทั้งหลาย พระราชา ผู้ได้อภิเษกแล้ว ประดับประดาด้วยอลังการทั้งปวงแล้ว เมื่อพระราชาทรงถกเขมรวิ่งไปบนพระลานหลวงย่อมไม่งาม มักจะได้รับความครหานินทาอย่างแน่นอนว่า เหตุไฉนพระราชาพระองค์นี้จึงวิ่งไปเหมือนคฤหบดี แต่เมื่อพระราชาค่อยๆ เสด็จไปจึงดูงาม

ช้างมงคล ของพระราชา ประดับแล้ววิ่งไปก็ไม่งาม ต่อเมื่อเดินไปด้วยลีลาของช้างจึงดูงาม

บรรพชิต เมื่อวิ่งไปย่อมไม่งาม ย่อมได้รับการติเตียนอย่างเดียวเท่านั้นว่า ทำไมสมณะรูปนี้จึงวิ่งไป

เหมือนคฤหัสถ์ แต่สมณะย่อมดูงามด้วยอาการเดินไปอย่างสงบเสงี่ยม

สตรี เมื่อวิ่งไปย่อมไม่งาม ย่อมถูกติเตียนว่า ทำไมหนอ หญิงคนนี้จึงวิ่งไปเหมือนผู้ชาย ผู้หญิงย่อมดูงามด้วยการก้าวเดินเยื้องย่างอย่างธรรมดา

ข้าแต่พ่อทั้งหลาย ชน ๔ พวกเหล่านี้ เมื่อวิ่งไปย่อมไม่งาม เจ้าคะ ”

พวกพราหมณ์ถามว่า “ นี่แนะแม่หนู แล้วที่เธอกล่าวว่ามีเหตุสำคัญอีกอย่างหนึ่ง ได้แก่อะไรจ๊ะ ”

นางวิสาขายิ้มน้อยๆ ก่อนตอบว่า “ ข้าแต่พ่อทั้งหลาย ธรรมดาบิดามารดาเลี้ยงดูบุตรสาว ระวังอวัยวะน้อยใหญ่ไว้ เพราะพวกดิฉันเชื่อว่า เป็นสิ่งของที่มารดาบิดาพึงขายไป บุพการีเลี้ยงดูดิฉันมาเพื่อต้องการจะส่งไปอยู่ตระกูลอื่น ถ้าในเวลาที่พวกดิฉันวิ่งไปเหยียบชายผ้านุ่ง หรือบังเอิญลื่นล้มลงบนพื้นดิน ทำให้มือหรือเท้าหัก พวกดิฉันก็ต้องตกเป็นภาระเลี้ยงดูอยู่ในตระกูลของตนนั่นเอง ส่วนเครื่องแต่งตัวเปียกแล้วกลับแห้งได้ ความปลอดภัยสำคัญกว่า ดิฉันกำหนดเหตุอย่างนี้แล้ว จึงไม่วิ่งไปเจ้าค่ะ ”

พวกพราหมณ์ได้เห็นความงามของฟันในเวลาที่นางพูดแล้ว ช่างเหมือนกับระเบียบของไข่มุกที่นายช่างยกขึ้นตั้งไว้ อีกทั้งได้ฟังข้อธรรมอันประกอบด้วยปัญญาแห่งนาง จึงกล่าวชื่นชมว่า

“ สมบัติเช่นนี้ พวกเรายังไม่เคยเห็นเลย นี่แน่ะแม่หนู พวงมาลัยนี้สมควรแก่เธอเท่านั้น ”

ว่าดังนี้แล้ว จึงคล้องพวงมาลัยมีค่าหนึ่งแสนกหาปณะให้แก่นางวิสาขา

 

…………………( จบตอนที่ ๕ )…………………

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0013649861017863 Mins