วิสาขามหาอุบาสิกา ตอนที่ ๑๓ ยอดกัลยาณมิตร

วันที่ 16 กย. พ.ศ.2547

วิสาขามหาอุบาสิกา
ตอนที่ ๑๓ ยอดกัลยาณมิตร

 

วิสาขามหาอุบาสิกา  ตอนที่ ๑๓ ยอดกัลยาณมิตร

    ครั้นพวกนักบวชชีเปลือยเหล่านั้นเห็นท่านเศรษฐีมีท่าทางไม่สบายใจ จึงเกิดความเกรงใจ พากันอนุโลมตามให้ว่าท่านเศรษฐีจะไปฟังธรรมก็ได้ แต่ต้องกั้นม่านเอาไว้ไม่ให้มองเห็นพระสมณโคดม ว่าแล้วพวกอาชีวกทั้งหลายได้ล่วงหน้าไปขึงม่านไว้ก่อนที่ท่านมิคารเศรษฐีจะไปถึง
 

วิสาขามหาอุบาสิกา  ตอนที่ ๑๓ ยอดกัลยาณมิตร

       ท่านเศรษฐีได้นั่งอยู่ภายนอกม่านตามความต้องการของนักบวชอาชีวก
 

วิสาขามหาอุบาสิกา  ตอนที่ ๑๓ ยอดกัลยาณมิตร

       พระบรมศาสดาผู้มีอานุภาพไม่มีประมาณ ทรงทราบอุปนิสัยและความรู้สึกของท่านเศรษฐีดีอยู่แล้ว จึงตรัสว่า “ท่านจะนั่งอยู่นอกม่านหรือนอกฝาเรือนคนอื่นก็ตาม ที่ฟากภูเขาหินข้างโน้นหรือนอกจักรวาลก็ตาม ตถาคตชื่อว่าเป็นพระพุทธเจ้าย่อมสามารถทำให้ท่านได้ยินเสียงตถาคตได้ ”

     แล้วพระพุทธองค์ทรงเริ่มแสดง อนุปุพพิกถา ว่าด้วยเรื่องของ ผลของทาน นรก สวรรค์ และโทษของกาม เป็นต้น ทรงหลั่งพระธรรมเทศนาอันประกอบไปด้วยเหตุผล เหมาะสมตามอัธยาศัยของบุคคลนั้นๆ ประดุจทรงจับต้นหว้าใหญ่เขย่า กิเลสที่เกาะกุมใจให้หลุดร่อน หรือประดุจการทำให้ฝน คือ อมตธรรม ได้ตกลงมารินรดใจให้ชุ่มเย็น

    เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมอยู่ บุคคลทั้งหลายที่ยืนอยู่ข้างหน้า ยืนอยู่ข้างหลัง หรือแม้แต่ยืนอยู่เลยฟากจักรวาลตั้งร้อยตั้งพัน หรือยืนอยู่ที่ถึงชั้นพรหมโลกก็ดี ย่อมรู้สึกเหมือนดังว่า “ พระบรมศาสดาย่อมทอดพระเนตรดูเราคนเดียว ทรงเทศนาโปรดเราคนเดียว ”

    ดังได้ยินมาว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลาย อุปมาเหมือนพระจันทร์ ธรรมดาพระจันทร์ซึ่งตั้งอยู่ท่ามกลางท้องฟ้าย่อมปรากฎแก่สัตว์ทั้งปวงว่า “พระจันทร์อยู่บนศรีษะของเรา ฉันใด พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมปรากฎเหมือนกับประทับยืนอยู่ตรงหน้าแห่งสัตว์โลกทั้งหลาย ผู้อยู่ไม่ว่าที่ใดที่หนึ่ง ฉันนั้น ”

      พระพุทธองค์ทรงหลั่งพระธรรมเทศนาอันแพรวพราวไปด้วยเทศนาโวหารและอุทาหรณ์ ตรัสว่า        “ข้าวเปลือก ทรัพย์ เงินทอง หรือของที่บุคคลหวงแหนอย่างใดอย่างหนึ่ง รวมทั้งทาสกรรมกร คนใช้และผู้อาศัยอื่นๆ ทั้งหมดนี้บุคคลนำไปไม่ได้ ต้องทอดทิ้งไว้ทั้งหมด แต่สิ่งที่บุคคลทำด้วยกาย วาจา หรือด้วยใจ นั่นแหละที่จะเป็นของเขา เป็นสิ่งที่เขาต้องนำไปเหมือนเงาตามตัว เพราะฉะนั้น ผู้ฉลาดพึงสั่งสมกัลยาณกรรมอันจะนำติดตัวไปสู่สัมปรายภพได้ เพราะ บุญ ย่อมเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ”

  “เมื่อไฟไหม้บ้าน ภาชนะเครื่องใช้อันใดที่เจ้าของนำออกไปได้ ของนั้นย่อมเป็นประโยชน์แก่เจ้าของ ไม่ได้ถูกไฟไหม้วอดวาย ณ ที่นั้นเอง ฉันใด เมื่อโลกนี้ถูกไฟ คือ ความแก่ ความตาย ไหม้อยู่ ก็ฉันนั้น คือผู้ฉลาดย่อมนำของออกด้วยการให้ทาน ของที่บุคคลให้แล้ว ชื่อว่านำออกดีแล้ว มีความสุขเป็นผล ส่วนของที่ยังไม่ได้ให้ หาเป็นเช่นนั้นไม่ แต่โจรอาจขโมยเสียบ้าง ไฟอาจจะไหม้เสียบ้าง อีกอย่างหนึ่ง เมื่อความตายมาถึงเข้า บุคคลย่อมละทรัพย์สมบัติและแม้สรีระของตนไว้ นำติดตัวไปไม่ได้เลย ผู้มีปัญญารู้ความจริงข้อนี้แล้ว พึงบริโภคใช้สอย พึงให้เพื่อสงเคราะห์ผู้อื่น เมื่อได้ให้ ได้บริโภคตามสมควรแล้ว เป็นผู้ไม่ถูกติเตียน ย่อมเข้าถึงฐานะอันประเสริฐ ”

      "ดูก่อนท่านทั้งหลาย ” พระศาสดาตรัสต่อไป" นกมัยหกะชอบเที่ยวไปตามซอกเขาและที่ต่างๆ มาจับต้นเลียบที่มีผลสุกแล้วร้องว่า ของกู ของกู ในขณะที่มันร้องอยู่นั่นเอง หมู่นกเหล่าอื่นบินมากินผลเลียบตามต้องการแล้วจากไป นกมัยหกะก็ยังคงร้องว่า ของกู ของกู อยู่นั่นเอง ข้อนี้ฉันใด บุคคลบางคนในโลกนี้ก็ฉันนั้น รวบรวมสะสมทรัพย์ไว้มากมาย แต่ไม่สงเคราะห์ญาติตามที่ควร ทั้งมิได้ใช้สอยเองให้ผาสุก มัวเฝ้ารักษาและภูมิใจว่า ของเรามี ของเรามี ดังนี้ เมื่อเขาประพฤติอยู่เช่นนี้ ทรัพย์สมบัติย่อมเสียหายไป ทรุดโทรมไปด้วยเหตุต่างๆ มากหลาย เขาก็คงคร่ำครวญอยู่อย่างเดิมนั่นเอง และต้องเสียใจในของที่เสียไปแล้ว เพราะฉะนั้น ผู้ฉลาดหาทรัพย์ได้แล้ว พึงสงเคราะห์คนที่ควรสงเคราะห์ มีญาติเป็นต้น ”

    “ทรัพย์ของคนไม่ดีนั้น ไม่สู้อำนวยประโยชน์แก่ใคร เหมือนสระโบกขรณีตั้งอยู่ในที่ที่ไม่มีมนุษย์ แม้จะใสสะอาดจืดสนิทเย็นดี มีท่าลงสะดวกน่ารื่นรมย์ แต่มหาชนก็หาได้ดื่ม อาบ หรือใช้สอยตามต้องการไม่ น้ำนั้นมีอยู่อย่างไร้ประโยชน์ ทรัพย์ของคนตระหนี่ก็ฉันนั้น ไม่อำนวยประโยชน์สุขแก่ใครๆ เลย รวมทั้งตัวเขาเองด้วย ส่วนคนดี เมื่อมีทรัพย์แล้ว ย่อมบำรุงบิดา มารดา บุตร ภรรยา บ่าวไพร่ให้เป็นสุข บำรุงสมณพราหมณาจารย์ให้เป็นสุข เปรียบเสมือนสระโบกขรณีอันอยู่ไม่ไกลหมู่บ้านหรือนิคม มีท่าลงเรียบร้อย สะอาด เยือกเย็น น่ารื่นรมย์ มหาชนย่อมได้อาศัย นำไปอาบ ดื่ม หรือใช้สอยตามต้องการ โภคะของคนดีย่อมเป็นดังนี้ หาหมดไปโดยเปล่าประโยชน์ไม่ ”

       พระศาสดา ยังพระธรรมเทศนาให้จบลงด้วยปัจฉิมพจน์ว่า

     “เพราะฉะนั้น บุคคลไม่ควรประมาทว่าบุญหรือบาปเพียงเล็กน้อยจะไม่ให้ผล หยาดน้ำไหลลงทีละหยดยังทำให้หม้อน้ำเต็มได้ ฉันใด การสั่งสมบุญหรือบาปแม้ทีละน้อยก็ฉันนั้น ”

 

วิสาขามหาอุบาสิกา  ตอนที่ ๑๓ ยอดกัลยาณมิตร

      พระธรรมเทศนา เป็นเสมือนจุดแสงสว่างให้โพลงในดวงใจของท่านเศรษฐีผู้นั่งอยู่นอกม่านนั้น ได้ตั้งอยู่ใน “ โสดาปัตติผล ” มีความศรัทธาตั้งมั่นไม่หวั่นไหว เป็นผู้มีความไม่สงสัยในพระรัตนตรัย
 

วิสาขามหาอุบาสิกา  ตอนที่ ๑๓ ยอดกัลยาณมิตร

    จึงยกผ้าม่านขึ้น แล้วเข้าไปขอบคุณนางวิสาขาลูกสะใภ้ ยกย่องว่ามีอุปการะมากต่อตนและกล่าวว่า “เจ้าจงเป็นมารดาของฉันตั้งแต่วันนี้ไป”
 

วิสาขามหาอุบาสิกา  ตอนที่ ๑๓ ยอดกัลยาณมิตร

 จากนั้นจึงคลานเข้าไปหมอบกราบแทบพระบาทของพระบรมศาสดา บีบนวดพระบาทด้วยมือและจุมพิตพระบาท พลางประกาศชื่อของตน ๓ ครั้ง อันแสดงถึงความเคารพอย่างสูงว่า “ข้าพระองค์ คือ มิคาระ พระเจ้าข้า” พรรณาคุณของพระบรมศาสดาเป็นเอนกประการด้วยความปีติใจ

     ตั้งแต่บัดนั้นมา มิคารเศรษฐีนับถือนางวิสาขาอยู่ใน ๒ ฐานะ คือ ฐานะสะใภ้ และ ฐานะมารดา คนทั้งหลายจึงเรียกขานนางวิสาขา ว่า มิคารมาตา อยู่ต่อมาภายหลัง นางวิสาขาได้มีบุตรชาย จึงได้ตั้งชื่อบุตรว่า “ มิคาระ ” ตามชื่อปู่ เพื่อแก้ความขวยอายเมื่อมีผู้เรียกว่า มิคารมาตา จะได้หมายถึง บุตรชายของนางนั่นเอง

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0012241005897522 Mins