ทุราชานชาดก...ชาดกว่าด้วยความรู้ได้ยากของหญิง

วันที่ 22 ธค. พ.ศ.2565

ข้อคิดจากชาดก  ทุราชานชาดก  ชาดกว่าด้วยความรู้ได้ยากของหญิง

ข้อคิดจากชาดก

ทุราชานชาดก

ชาดกว่าด้วยความรู้ได้ยากของหญิง

 

 

สถานที่ตรัสชาดก

.....เชตวันมหาวิหาร นครสาวัตถี



สาเหตุที่ตรัสชาดก

       อุบาสกผู้หนึ่ง ได้ฟังพระธรรมเทศนาจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว บังเกิดความเลื่อมใสในพระรัตนตรัยยิ่งนัก ทุกๆ วันเขาจะนำเครื่องไทยธรรมอันประณีตไปถวายพระพุทธองค์และพระภิกษุ ณ เชตวันมหาวิหาร และตั้งใจฟังธรรมด้วยความซาบซึ้งดื่มด่ำในรสพระธรรมเสมอ

       แม้อุบาสกจะเป็นผู้ใฝ่ธรรมะถึงเพียงนั้น แต่ภรรยาของเขากลับตรงกันข้าม นางไม่สนใจเลย มิหนำซ้ำยังประพฤตินอกลู่นอกทางด้วยการคบชู้สู่ชายอีกด้วย

       การที่นางต้องหลบๆ ซ่อนๆ ไม่ให้ใครรู้เห็นการกระทำของนาง ทำให้นางพะวักพะวน และมักจะอารมณ์เสีย หน้าตาบูดบึ้ง บ่นว่า พูดจากระทบกระเทียบอุบาสกเสมอ แต่บางคราวที่นางสบอารมณ์ นางก็จะพูดจาอ่อนหวาน ปรนนิบัติเอาใจอุบาสกอย่างดีเยี่ยม

       อุบาสกรู้สึกประหลาดใจและไม่เข้าใจจิตใจของนางเลย เขากลับคิดว่าการที่ภรรยาบึ้งตึงโกรธเขานั้น คงเป็นเพราะเขาทำอะไรให้เธอไม่พอใจ แต่คราวใดที่เธอดีต่อเขาอย่างมากเล่า เขาก็ไม่ได้ทำอะไรให้นางเป็นพิเศษเลย อุบาสกรู้สึกสงสัยยิ่งนัก ครั้นเอ่ยถามนาง นางกลับตวาดใส่ให้เสียอีก อุบาสกเฝ้าครุ่นคิดจนไม่เป็นอันทำอะไร เขาวุ่นวายใจจนถึงขนาดขาดการไปเชตวันมหาวิหารเสียหลายวัน

       วันหนึ่งเมื่ออุบาสกรู้สึกสบายใจขึ้นบ้างแล้ว เขาจึงออกจากบ้านไปกราบพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธองค์จึงทรงซักถามถึงสาเหตุที่เขาหายไปหลายวัน เมื่ออุบาสกเล่าความเป็นไปในบ้านให้ทรงทราบแล้ว พระพุทธองค์จึงทรงระลึกชาติแต่หนหลังด้วยบุพเพนิวาสนุสติญาณ แล้วตรัสว่า

       “ ดูก่อนอุบาสก ขึ้นชื่อว่าหญิงแล้ว อ่านนางได้ยากจริงๆ ในชาติก่อนนั้น บัณฑิตทั้งหลายเคยบอกเรื่องนี้กับเธอมาแล้วแต่เธอจำไม่ได้เอง เพราะต้องเวียนว่ายตายเกิดหลายภพหลายชาติ เธอจึงลืมเรื่องในทำนองนี้เสียสนิท”

       อุบาสกได้ฟังดังนั้น จึงกราบทูลอารธนาให้พระพุทธองค์ทรงเล่าเรื่องราวในอดีตชาติให้ฟัง พระพุทธองค์จึงตรัสเล่า ทุราชาน ชาดก ดังมีเนื้อความดังนี้

 

เนื้อหาชาดก

       ครั้งหนึ่งในอดีต สมัยพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติ ณ กรุงพาราณสี ในครั้งนั้นมีเด็กหนุ่มชาวบ้านคนหนึ่ง เข้ามาเรียนศิลปวิทยากับอาจารย์ทิศาปาโมกข์โดยมีศิษย์ร่วมสำนักประมาณ ๕๐๐ คน

       เนื่องจากศิษย์ผู้นี้เป็นผู้ที่มีความวิริยะอุตสาหะ ใฝ่ใจในการเรียนรู้ และช่างปรนนิบัติเอาใจอาจารย์อย่างดีเยี่ยม และสม่ำเสมอมิได้ขาด อาจารย์จึงเอ็นดูเขามาก แต่อยู่ๆ ลูกศิษย์คนนี้ก็หายหน้าไปจากสำนักคราวละหลายๆ วัน เมื่อสืบถามก็ได้ความว่า ไปรักใคร่หลงใหลสาวสวยชาวเมืองคนหนึ่งเข้า จนได้นางเป็นภรรยาอยู่ในเมืองพาราณสีนั่นเอง

       เมื่อมีภรรยาแล้ว ความตั้งใจในการศึกษาเล่าเรียนก็หย่อนไป ไม่มาปรนนิบัติรับใช้อาจารย์อย่างสม่ำเสมอเช่นเคย ท่านอาจารย์จึงได้แต่จับตาดูอยู่เงียบๆ

       นับเป็นความโชคร้ายอย่างยิ่งของเขา ที่บังเอิญได้ภรรยาเป็นหญิงเจ้าชู้ แม้จะมีสามีหนุ่มแน่น มีวิชาความรู้ นางก็ยังคบชู้สู่ชาย ความมักมากในกามคุณ ทำให้นางพะวักพะวน สองฝักสองฝ่ายอยู่อย่างนั้นเรื่อยไป

       วันใดที่นางสามารถหลบเลี่ยงสามีออกไปหาชายชู้ได้ นางจะกลับมาบ้านด้วยอารมณ์แจ่มใส สดชื่น เอาอกเอาใจ ปรนนิบัติรับใช้สามีสารพัด นางจะอ่อนน้อมราวกับทาสที่เขาไถ่มาจากขื่อคา ดูช่างน่าตื่นตันใจ

       แต่หากวันใดนางปรารถนาจะประกอบกรรมอันลามก แต่ติดขัดด้วยเหตุใดก็ตาม อารมณ์นางจะขุ่นมัว เกรี้ยวกราด หาเรื่องทะเละเบาะแว้งกับสามีเอาดื้อๆ ครั้นเขายอมอ่อนข้อให้ นางก็กลับได้ใจ คราวต่อๆ มาก็ยิ่งเพิ่มความหยาบคายร้ายกายขึ้นตามลำดับ ทำตัวเป็นนายสามี

       ชายหนุ่มผู้เป็นสามีเป็นคนรักสงบ ใฝ่ใจในทางธรรมไม่อยากให้เรื่องในบ้านร้าวฉานบานปลายใหญ่โต อีกทั้งเขาไม่เคยระแคะระคายถึงความประพฤติอันเสียหายของภรรยาเลย จึงอุตส่าห์อดทนและพยายามปรับปรุงตัวเองให้ถูกใจภรรยา

       แต่เนื่องจากอารมณ์ของนางแปรปรวน ไม่อยู่กับร่องกับรอย โดยสาเหตุจากความเจ้าชู้ของนางเอง เขาจึงไม่อาจเอาใจนางได้ถูก เมื่อถูกรังควานบ่อยๆ เขาก็หงุดหงิด ใจคอเศร้าหมอง ไม่มีกะจิตกะใจจะร่ำเรียน ดังนั้นเขาจึงไม่ไปสำนักอาจารย์เป็นเวลาหลายวัน ได้แต่นอนก่ายหน้าผาก กลัดกลุ้มอัดอั้นตันใจออยู่ที่บ้าน

       ในที่สุด วันหนึ่งเมื่อเหตุการณ์ในบ้านไม่ตึงเครียดนัก เขาก็หวนคิดถึงท่านอาจารย์ นึกเสียดายวิชาความรู้ที่ร่ำเรียนมาแล้ว มาด่วนทอดทิ้งเสียครึ่งๆ กลางๆ และคิดถึงศิษย์ร่วมสำนักทั้ง ๕๐๐ ขึ้นมาอย่างจับใจ จึงรีบออกจากบ้าน ไปสู่สำนักท่านอาจารย์แต่เช้า

       อาจารย์เห็นลูกศิษย์กลับมาเรียนตามเดิมก็ดีใจ จึงร้องทักขึ้นว่า “ เออ.. หายหน้าไปตั้ง ๗- ๘ วัน เป็นอะไรไปล่ะ พ่อเอ๊ย..”
ลูกศิษย์หนุ่มทอดถอนใจใหญ่ แล้วกราบเรียนท่านอาจารย์ตามตรงด้วยน้ำเสียงเศร้าสร้อยว่า

       “ ท่านอาจารย์ขอรับ กระผมเหลวไหล ทอดทิ้งการเรียนไปมีภรรยาเสียกลางคัน บัดนี้ ภรรยาของกระผมไม่รู้เป็นอย่างไร บางวันนางก็ดีเหลือเกิน เฝ้าพะเน้าพะนอเอาใจ ปรนนิบัติกระผมอย่างดีราวกับนางสี แต่บางวัน นางกลับทำตัวราวกับเจ้านาย ดุร้าย เกรี้ยวกราด จนกระผมเข้าหน้าไม่ติด เหมือนเสือแม่ลูกอ่อนก็ไม่ปาน

       กระผมเอาใจนางไม่ถูก อ่านใจนางไม่ออก รู้สึกหงุดหงิดเศร้าหมองจนคิดว่าถึงมาเรียนก็ไม่รู้เรื่อง จึงไม่ได้มารับใช้ท่านอาจารย์ขอรับ ”

       ท่านอาจารย์ฟังคำสารภาพของลูกศิษย์แล้ว จึงกล่าวปลอบโยน โดยอธิบายสภาพธรรมดาของหญิงเจ้าชู้ว่า

       “ นี่แหละหนา… ธรรมดาของหญิงเจ้าชู้ เป็นอย่างนี้เอง วันใดนางประพฤตินอกลู่นอกทางได้ นางก็อารมณ์ดี ยอมตามใจสามีทุกอย่าง เหมือนนางทาสี แต่วันใดนางประพฤตินอกลู่นอกทางไม่ได้ นางก็จะตีรวน เกรี้ยวกราด ถือดี ดุร้าย ไม่คิดว่าเราเป็นสามี… ขึ้นชื่อว่าผู้หญิงแล้ว ดูนางออกยาก ดังนั้นไม่ว่านางจะทำดีกับเรานักหนาก็อย่ายินดีเลยว่านางปรารถนาเรา แม้เมื่อนางดุด่าว่าเรา ก็อย่าเสียใจว่านางไม่ปรารถนาเรา เพราะสภาพของหญิงรู้ได้อยาก เหมือนการไปในน้ำของปลา ฉะนั้นจงวางตัวเป็นกลางทำเฉยๆ ไว้ อย่ายินดียินร้าย”

       ศิษย์ฟังโอวาทของอาจารย์แล้ว ก็คิดได้ ตั้งใจจะไม่ยินดียินร้ายกับการกระทำของภรรยาอีกต่อไป

       ดังนั้น ในวันต่อมา แม้นางจะเกรี้ยวกราดเข้าใส่หนักหนาอย่างไร เขาก็ทำเฉยเมยเสีย และแม้ในวันที่นางอารมณ์ดี เข้ามายั่วยวน เคล้าเคลีย เอาใจ เขาก็คงทำเฉยๆ เสียเช่นกัน

       หญิงผู้เป็นภรรยารู้สึกไม่ชอบมาพากล ในท่าทีที่เปลี่ยนไปของสามี นึกหวาดระแวงว่าสามีคงล่วงรู้ความลับของนางเสียแล้ว ยิ่งรู้ว่าสามีกลับไปสำนักอาจารย์ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนอย่าง ขะมักขะเม้นเหมือนเดิม ก็ยิ่งไม่สบายใจ คิดไปว่าท่านอาจารย์คงล่วงรู้ความประพฤติของนางด้วย นางจึงนึกหวั่นวิตกอยู่ครามครัน

       แต่โดยที่นางมีความเฉลียวฉลาดอยู่บ้าง รู้จักพิจารณามองเห็นคุณค่าของสามีที่เหนือกว่าชายชู้ทุกประการ จึงตัดใจเลิกประพฤตินอกใจสามี หันมาเอาใจใส่กิจการบ้านเรือนเยี่ยงภรรยาที่ดีทั้งหลาย

       นับแต่นั้นมา ครอบครัวนี้จึงมีความปกติสุข ชายผู้เป็นสามีก็สามารถศึกษาศิลปศาสตร์ได้สำเร็จ ตามที่ตั้งใจไว้ทุกประการ

 

ประชุมชาดก

       เมื่อพระบรมศาสดา ทรงแสดงพระธรรมเทศนานี้จบแล้ว จึงตรัสอริยสัจสี่โดยอเนกปริยาย อุบาสกผู้ซึ่งบัดนี้คลายความขุ่นข้องหมองใจแล้วโดยสิ้นเชิงก็สามารถทำใจให้ผ่องใส สำรวมใจให้มีสมาธิแน่วแน่ บรรลุถึงธรรมกายพระโสดา สำเร็จเป็นพระโสดาบันอยู่ ณ ที่นั้นเอง


จากนั้นทรงประชุมชาดกว่า

สามีภรรยา ในครั้งนั้น ได้มาเป็นอุบาสกและภรรยาในครั้งนี้

ท่านอาจารย์ ได้มาเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง

 

ข้อคิดจากชาดก

       ๑ . สามีภรรยาควรเอาใจใส่ดูแลความประพฤติของกันแลกัน ให้อยู่ในกรอบของศีลธรรม เพราะคนเราต่างก็ยังไม่หมดกิเลสด้วยกัน หากไม่มีศีลธรรมคอยเหนี่ยวรั้ง ก็อาจจะพลั้งพลาดไปได้ แต่ในขณะเดียวกันก็อย่าระแวงระวังจนเกินขอบเขต เพราะจะกลายเป็นการจ้องจับผิด ทำให้คู่ครองรู้สึกว่า ไม่ได้รับความไว้วางใจ ไม่ให้เกียรติกัน ทำให้เกิดหมางใจกันได้

       ๒. ผู้ที่อยู่ในวัยกำลังศึกษาเล่าเรียน อย่าด่วนมีคู่ครองก่อน ศึกษาเล่าเรียนให้สำเร็จ เพราะชีวิตการครองเรือนมักจะมีปัญหาที่เราคาดไม่ถึงอยู่เสมอ ทำให้เสียการเรียนได้ง่ายๆ

 

นิทานชาดก  ทุราชานชาดก ชาดกว่าด้วยความรู้ได้ยากของหญิง

นิทานชาดก
ทุราชานชาดก

ชาดกว่าด้วยความรู้ได้ยากของหญิง

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0015933156013489 Mins