สถานภาพ บทบาท และปัญหาของสามเณรในสังคมไทย (ตอนที่ ๑)

วันที่ 02 ตค. พ.ศ.2547



ผลงานวิจัย คุณสุนทร บุญสถิต สาขาวิชาศาสนาเปรียบเทียบ
บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ.๒๕๔๓

 

..... ในบทคัดย่อของวิทยานิพนธ์ผู้วิจัยได้สรุปไว้ว่า พุทธบริษัท ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก และอุบาสิกา สามเณรเป็นส่วนหนึ่งในภิกษุบริษัท เป็นบรรพชิตุร่นเยาว์ซึ่งเตรียมจะอุปสมบทเป็นภิกษุในเมื่อมีอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ มีบทบาทในการศึกษา ปฏิบัติ และเผยแผ่พระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเคียงข้างกับพุทธบริษัทอื่น ๆ ตั้งแต่ครั้งพุทธกาลจนกระทั่งถึงปัจจุบัน

ผลการวิจัยภาคเอกสารพบว่า สามเณรมีสถานภาพที่ด้อยกว่าภิกษุ เนื่องจากในที่สุดสามเณรต้องอุปสมบทเป็นภิกษุในเวลาต่อมา ในสมัยพุทธกาล ปัญหาข้อด้อยทางสถานภาพของสามเณร ได้รับการแก้ไขโดยบทพุทธบัญญัติ พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้นำของเหล่าพุทธบริษัทในการยกย่องเชิดชูเกียรติสามเณร ทรงประทานการอุปสมบทแก่สามเณรที่อายุยังน้อยแต่สามารถบรรลุคุณธรรมพิเศษ นับแต่สมัยหลังพุทธกาลเรื่อยมาจนถึงกระทั่งพระพุทธศาสนาได้แพร่เข้ามายังดินแดนสุวรรณภูมิ ซึ่งรวมถึงประเทศไทยในปัจจุบันด้วย สถาบันพระมหากษัตริย์ได้เข้ามามีส่วนในการยกย่องสถานภาพและบทบาทของสามเณรเพิ่มมากขึ้น ตัวอย่างเช่น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระราชโอรสผนวชเป็นสามเณร ทรงถวายการอุปถัมภ์แก่สามเณรที่มีความรู้ในปริยัติธรรมเป็นพิเศษ ประชาชนชาวไทย นิยมให้บุตรหลานบวชเรียนเป็นสามเณรในวัด จนกลายเป็นประเพณีการบวชเรียนในที่สุด ผลของการบวชเรียนตั้งแต่เป็นสามเณรนี้เอง ทำให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองคู่กับสังคมไทยมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ผลการวิจัยภาคสนามพบว่า ส่วนใหญ่ของสามเณรและชาวพุทธกลุ่มตัวอย่าง มีทัศนคติที่ดีต่อการบวชเรียน ปัญหาการลดจำนวนลงของสามเณรไทยในปัจจุบัน มีสาเหตุจากการไม่นิยมส่งเสริมให้บุตรหลานบวชเรียนเป็นสามเณรของกลุ่มชาวพุทธ ที่มีความพร้อมด้านฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม สำหรับกลุ่มชาวพุทธที่มีแนวโน้มส่งเสริมให้บุตรหลานบวชเรียนเป็นสามเณรมากที่สุดคือ กลุ่มชาวพุทธที่ประสบปัญหาทางด้านเศรษฐกิจและปัญหาทางสังคม ในครอบครัวที่หัวหน้าครอบครัวมีสถานภาพเป็นหม้าย หย่าร้าง หรือเป็นผู้ปกครองของเด็กชายที่บิดามารดาเสียชีวิตหรือหย่าร้าง

มีรายละเอียดที่น่าสนใจและน่าศึกษาจากบทสรุปของงานวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์ของการวิจัยอยู่ ๒ ประการ คือ เพื่อศึกษาวิเคราะห์สถานภาพและบทบาทของสามเณรในพระพุทธศาสนาจากอดีตถึงปัจจุบันโดยสังเขป และเพื่อทราบปัญหาและแนวทางการแก้ไขปัญหาของสามเณรในสังคมไทยปัจจุบัน

มีวิธีการดำเนินการวิจัย ๒ ลักษณะ คือ การวิจัยภาคเอกสาร โดยศึกษาข้อมูลทั้งจากเอกสารขั้นปฐมภูมิ และจากเอกสารขั้นทุติยภูมิ และการวิจัยภาคสนาม โดยการออกแบบสอบถามและการสัมภาษณ์

ส่วนของสรุปผลการวิจัยภาคเอกสาร พบว่า สามเณรคือบรรพชิตรุ่นเยาว์ในพระพุทธศาสนา ซึ่งเตรียมจะอุปสมบทเป็นภิกษุต่อไป การถือกำเนิดขึ้นแก่งสามเณรเป็นพระพุทธประสงค์ นับแต่ราหุลราชกุมารได้รับการบรรพชาเป็นสามเณรรูปแรกแล้ว การบรรพชาเป็นสามเณร ก็ได้รับการสืบต่อเรื่อยมาจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้

ในสมัยพุทธกาล สามเณรได้รับการยกย่องและห่วงใยจากพระพุทธเจ้าเป็นอย่างมาก เห็นได้จากบทพุทธบัญญัติต่าง ๆ ที่ทรงบัญญัติแก่สามเณร ล้วนแต่มีความเหมาะสมกับวัยและวุฒิภาวะของสามเณร เมื่อถูกข่มเหงหรือถูกรังแกจากภิกษุที่ขาดศีลาจารวัตร ก็ทรงบัญญัติสิกขาบทเพื่อปกป้องสามเณร พร้อมกับทรงยกย่องเชิดชูเกียรติสามเณรที่บรรลุคุณธรรมสูงสุดให้ได้รับการอุปสมบทเป็นภิกษุตั้งแต่อายุยังน้อยอีกด้วย

ในสมัยหลังพุทธกาล หมู่พระอริยสงฆ์สาวก ต่างเห็นความสำคัญของสามเณรมากขึ้น เห็นได้จากการพยายามจัดเตรียมสามเณรไว้สำหรับเป็นกำลังสำคัญของพระพุทธศาสนาในอนาคต ดังนั้น บทบาทของสามเณรที่พบเป็นหลักฐานส่วนใหญ่ จึงมีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา เช่น การบรรพชาเป็นสามเณรเพื่อศึกษาพระไตรปิฎกของสามเณรโมคคัลลีบุตรติสสะ มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สังคายนาพระธรรมวินัยครั้งที่ ๒ และครั้งที่ ๓ การแสดงธรรมโปรดพระเจ้าอโศกมหาราชให้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาของสามเณรนิโครธเป็นปฐมเหตุให้ พระพุทธศาสนาได้รับการเผยแผ่ไปไกลจากชมพูทวีปในเวลาต่อมา เป็นต้น

ในประวัติศาสตร์ไทย ประชาชนนิยมส่งเสริมให้บุตรหลานบวชเรียนเป็นสามเณรจนเกิดเป็นประเพณีการบวชเรียน ขณะเดียวกันพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ทรงผนวชในพระพุทธศาสนาจนถึงเป็นขัตติยราชประเพณี พร้อมกับทรงอุปถัมภ์และยกย่องผู้ที่บวชเรียน เช่น ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ผู้ที่บวชเป็นภิกษุสามเณรพ้นจากการเป็นทาสและการถูกเกณฑ์เป็นทหาร สามเณรที่สามารถสอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค จะได้รับพระราชทานให้อุปสมบทเป็นนาคหลวง ซึ่งได้ยึดถือเป็นขัตติยราชประเพณีสืบมาจนถึงปัจจุบัน

ในปัจจุบัน แม้สถานภาพของสามเณรในสังคมไทยยังอยู่ในระดับที่ไม่น่าพึงพอใจมากนัก แต่สามเณรก็ยังมีบทบาทที่โดดเด่นมาโดยตลอด โดยเฉพาะบทบาทด้านการศึกษาพระธรรมวินัยเพื่อสืบต่อพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นบทบาทโดยตรง ส่วนบทบาทโดยอ้อม ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการบวชเรียนเป็นสามเณรของเยาวชน ได้แก่ การช่วยลดปัญหาของสังคม เช่น ปัญหาความยากจน ปัญหาความด้อยโอกาสทางการศึกษา ปัญหาอาชญากรรม ปัญหายาเสพติด และปัญหาช่องว่างทางสังคม เป็นต้น

 

อ้างอิง สุนทร บุญสถิต .( ๒๕๔๓) สถานภาพ บทบาท และปัญหาของสามเณรในสังคมไทย. วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาศาสนาเปรียบเทียบ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล.

 

 

สุมินต์ตรา

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0012905478477478 Mins