โลกวิทู ๓

วันที่ 02 สค. พ.ศ.2548

 

 

 

 
 

..........ธาตุเหล่านี้ ความจริงเป็นเพียงธาตุส่วนที่เรียกว่าโอกาสโลก สำหรับธาตุที่เป็นส่วนขันธโลกนั้นละเอียดลงไปยิ่งกว่านี้หลายเท่าพันทวี เพราะขันธ์นั้นเป็นธาตุที่กลั่นมาจากธาตุอีกทีหนึ่ง

 

เครื่องกลั่นธาตุนี้ ตั้งอยู่ในศูนย์กลางธาตุทั้ง ๖ ปริมาณความใหญ่โตของเครื่องก็เต็มธาตุนั้น เมื่อเครื่องแรกกลั่นธาตุเหล่านี้แล้ว ก็เอาแต่ส่วนที่ละเอียดที่สุดไปเก็บเข้าเครื่องกลั่นที่ ๒- ๓- ๔- ๕- ๖- ๗ ต่อไปเป็นลำดับ เมื่อเครื่องที่ ๗ กลั่นเสร็จแล้วก็ทำการส่งธาตุที่ถูกกลั่นนั้นเข้ามาที่เครื่องศูนย์กลางของภพ ๓ นี้ เมื่อเครื่องในภพ ๓ นี้รับธาตุมาแล้วก็จะเอามาเข้าเครื่องสำเร็จเก็บไว้ เป็นเซพทะเล เซพทะเลเวลาที่ได้ธาตุมาแล้วเครื่องที่ศูนย์กลางภพ ๓ ก็จะทำหน้าที่ประกอบเป็นขันธ์ ๕ ขึ้น ประกอบได้สำเร็จพอกับปฐมวิญญาณ ขันธุ์ที่ประกอบไว้แล้วนั้นเป็นส่วนเฉพาะกายหนึ่ง ๆ ไม่มีปนเปกัน ส่วนดี ส่วนชั่ว ส่วนไม่ดี ไม่ชั่วก็มีผู้ควบคุมไว้เป็นส่วน ๆ

 

เวลาที่จะส่งมาเป็นกายนั้น อาศัยกายทิพย์ที่มาถึงศูนย์กลางภพนั้น เข้าเครื่องประกอบพร้อมกับธาตุที่สำเร็จเป็นขันธุ์ ประจำภพแล้ว ก็จะส่งเข้ายังเครื่องที่ศูนย์กลางกายพ่อธาตุสำเร็จที่ส่งเข้าไปในศูนย์กลางกายของพ่อนั้น ขนาดเล็กเพียงเท่าเมล็ดโพธิ์เมล็ดไทยเท่านั้น เป็นชายก็ส่งผ่านเข้าโดยทางจมูกขวาหญิงเข้าทางซ้าย เวลาที่จะออกจากศูนย์กลางกายพ่อไปอยู่ในศูนย์กลางกายแม่ก็อาศัยความดึงดูดของอายตะของเครื่องที่มีอยู่ในศูนย์กลางกายแม่ รับเอามาจากศูนย์ของพ่อมาไว้ที่ขั้วมดลูกของแม่ ต่อจากนั้นก็อาศัยธาตุส่วนหยาบรักษาหล่อเลี้ยงกันต่อไป

 

เวลาที่กายดับ เครื่องในศูนย์กลางภพก็ดูดเอาธาตุเหล่านี้ไปเก็บไว้ตามเดิม

 

สำหรับขันธ์ของทิพย์ ก็กลั่นเอาไปจากขันธ์ของมนุษย์ ขันธ์ของทิพย์ก็กลั่นต่อไป เป็นของรูปพรหม, อรูปพรหม, ธรรมกาย, ต่อ ๆ กันขึ้นไปเป็นลำดับ

 

อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ

พระคุณข้อนี้หมายความว่า พระองค์ก็เปรียบเหมือนสารถีผู้ฝึกสอนคนเป็นอย่างดี หาผู้อื่นเสมอเหมือนมิได้ ว่าโดยย่อก็คือ พระองค์มีพระปรีชาญาณเฉลียวฉลาดในอันที่จะฝึกสอนคนให้เป็นคนดีได้ ว่าโดยที่สุดก็คือให้สามารถบรรลุมรรคผลนิพพานได้ ย่อคำสอนของพระองค์ก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญา แต่พระองค์มีอุบายสอนต่าง ๆ นานา สุดแล้วแต่จะทรงพิจารณาเห็นว่าบุคคลจำพวกใดมีนิสัยอย่างไร ก็ทรงใช้อุบายสอนให้ต้องกับนิสัย เช่นพระนันทกุมารมีนิสัยหนักไปในทางราคจริต พระองค์ทรงเนรมิตเป็นรูปนางฟ้าเข้าล่อ จนพระนันทกุมารเห็นว่าสวยกว่านางคู่รักของเธอ แล้วก็ทรงยักเยื้องวิธีจนพระนันทกุมารเบื่อหน่ายในรูป

 

ในบางกรณี เพื่อการเผยแพร่พระพุทธศาสนา พระองค์ทรงใช้อิทธิปาฏิหาริย์มากมาย ดังเช่นเรื่องอุรุเวลกัสสปะเป็นต้น ซึ่งมีเรื่องว่าครั้งเมื่อพระองค์คิดจะทรงปลูกฝังพระศาสนาให้เป็นปึกแผ่นในกรุงราชคฤห์ แต่มีคณาจารย์คนสำคัญอยู่ที่นั่นชื่ออุรุเวลกัสสปะ ซึ่งมีคนนับถือมาก ถ้าปราบอุรุเวลกัสสปะเสียได้พระพุทธศาสนาจึงจะรุ่งเรือง พระองค์จึงเสด็จไปยังอาศรมแห่งอุรุเวลากัสสปะตรัสขออาศัยพักสักราตรีหนึ่งที่โรงเพลิง อุรุเวลากัสสปะว่าที่นั่นมีพระยานาคพิษร้ายอยู่ตัวหนึ่ง พระองค์ว่าไม่เป็นไรก็เสด็จประทับอยู่ที่นั่น ครั้นตกเวลากลางดึกพระยานาคสำแดงพิษ หรือเรียกว่าพ่นพิษทำร้ายพระองค์ แต่พระองค์ทรงดำรงพระสติเฉพาะหน้าต่อพระกัมมัฏฐานภาวนานุโยค ประมวลมาซึ่งอิทธาภิสังขาร สำแดงเตโชกสิณสมาบัติบันดาลให้เป็นเปลงเพลิง ยังพระยานาคให้พ่ายแพ้ด้วยฤทธิ์ของพระองค์ แล้วให้ขดตัวอยู่ในบาตรเอาไปให้อุรุเวลกัสสปะกับบริวารดู แต่อุรุเวลกัสสปะก็ยังไม่เลื่อมใส ยังถือทิฏฐิว่าตนเป็นอรหันต์อยู่ พระองค์ก็ทรงแสดงอีกหลายประการ ตลอดจนแสดงจงกรม คือเดินอยู่บนน้ำแล้วเหาะขึ้นบนอากาศ แล้วเลื่อนลอยลงมาสู่เรือของอุรุเวลกัสสปะและบริวารที่ไปดูอยู่นั้น แล้วในที่สุดจึงชี้แจงให้พวกอุรุเวลกัสสปะรู้ตัวว่า ทางที่พวกเธอปฏิบัติอยู่นั้นมิใช่ทางที่จะบรรลุมรรคผล พวกเธอยังไม่ใช่พระอรหันต์อุรุเวลกัสสปะได้สดับพระพุทธฎีกาก็ละทิฏฐิซบเศียรลงแทบฝ่าพระบาทพระองค์ ขอบรรพชาอุปสมบทในสำนักพระองค์ลำดับนั้น แล้ว นทีกัสสปะและคยากัสสปะผู้เป็นน้องของอุรุเวลกัสสปะ ซึ่งตางก็มีบริวารและเป็นคณาจารย์ตั้งอาศรมอยู่ถัด ๆ กันไปตามลำดับของลำน้ำเนรัญชราทางใต้ทราบเรื่องราวขึ้นก็พากันเลื่อมใส มาขอบรรพชาอุปสมบทในสำนักพระองค์หมดสิ้น ดังนี้พระองค์จึงเป็นผู้ฝึกสอนอย่างดีเลิศ ไม่มีผู้ใดเสมอเหมือน จึงได้พระนามว่า อนุตฺถโร ปุริสทมฺมสารถิ

 

สตฺถา เทวมนุสฺสานํ

 

แปลว่า พระองค์เป็นบรมครูแห่งเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ข้อนี้สาธกได้ด้วยพุทธกิจ ๕ ประการ ซึ่งว่า ๑ เวลาเช้าบิณฑบาต ๒ เย็นทรงแสดงธรรม ๓ พลบค่ำทรงให้โอวาทภิกษุ ๔ เที่ยงคืนแก้ปัญหาเทวดา ๕ ย่ำรุ่งพิจารณาดูเวไนยสัตว์ที่พึงจะโปรด จะเห็นได้ว่าในข้อ ๒- ๓ นั้นทรงเป็นครูมนุษย์ ข้อ ๔ นั้นทรงเป็นครูเทวดา และยังมีมงคลสูตรเป็นข้อยืนยันอีก เพราะเหตุที่พระองค์จะทรงแสดงมงคลสูตรนั้นก็เนื่องจากเหตุว่าเทวดาลงมาเฝ้าและยกปัญหาขึ้นทูลถามว่าอะไรเป็นมงคล พระองค์จึงทรงประทานเทศนามงคลสูตร ซึ่งเริ่มต้นด้วยบทพระคาถาว่า “ อเสวนา จ พาลานํ” เป็นอาทิ ซึ่งแปลว่า อย่าคบคนพาลเป็นต้นตลอดจนถึงนิพพานสัจฉิกิริยา การทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพานฯ ซึ่งพระองค์ตรัสว่าสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นมงคลทั้งสิ้น ดังนี้จึงได้พระนามว่า สัตถา เทวมนุสสานัง พระองค์เป็นบรมครูทั้งเทวดาและมนุษย์
 
 
 
 
 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0061747471491496 Mins