สถานภาพ บทบาท และปัญหาของสามเณรในสังคมไทย (ตอนที่ ๖)

วันที่ 27 พย. พ.ศ.2547


ผลงานวิจัย คุณสุนทร บุญสถิต สาขาวิชาศาสนาเปรียบเทียบ
บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ.๒๕๔๓

 

..... บทสรุปและวิเคราะห์ “ทัศนคติและสภาพปัญหาของสามเณรในสังคมไทยปัจจุบัน” ใน ๔ ประเด็น คือ ในส่วนของทัศนคติของสามเณรต่อปัญหาโดยทั่วไป พบปัญหาที่น่าจะมีผลกระทบต่อสามเณรที่บวชเรียนในจำนวน ๓ ลักษณะคือ

๑.ปัญหาที่เกิดจากสามเณร ได้แก่ การขาดความอบอุ่น เนื่องจากพบว่าส่วนใหญ่รู้สึกว่า ตนเองได้รับความอบอุ่นด้อยลงกว่าในขณะเป็นฆราวาส แนวทางการแก้ไข เนื่องจากสามเณรยังอยู่ในวัยเด็ก มีวุฒิภาวะทางธรรมไม่เพียงพอ การที่รู้สึกขาดความอบอุ่น หรือได้รับความอบอุ่นในขณะบรรพชาด้อยกว่าในขณะเป็นฆราวาส อาจก่อให้เกิดปัญหาแก่สามเณรได้ เช่น การขาดความรับผิดชอบต่อหน้าที่ การก้าวร้าว การต่อต้าน การมีพฤติกรรมเยี่ยงคฤหัสถ์ เป็นต้น โดยเสนอว่า การให้ความอบอุ่นแก่สามเณร เป็นหน้าที่หลักของเจ้าสำนักและพระเถระผู้ใหญ่ภายในสำนัก ขึ้นอยู่กับการดูแลเอาใจใส่ของเจ้าสำนักแต่ละแห่ง และสะท้อนให้เห็นอีกว่า เจ้าสำนักเป็นผู้มีบทบาทสำคัญมากที่สุด ในการดูแลเอาใจใส่ภิกษุสามเณร ดังจะพบว่า วัดที่เจ้าสำนักให้การดูแลเอาใจใส่ดี จะมีภิกษุสามเณรอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก

ปัญหาความสนใจเพศตรงข้าม พบว่าส่วนใหญ่เห็นว่า เป็นเรื่องปกติธรรมดา เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดแก่สามเณรทั้งด้านจิตใจและด้านพฤติกรรม ซึ่งจะนำความเสื่อมเสียมาสู่พระศาสนา แบ่งประเภทออกเป็น ๕ กลุ่ม ตามความแตกต่างของแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาดังนี้ ไม่ควรเปิดโอกาสให้ใกล้ชิดกับเพศตรงข้ามและควรหมั่นอบรมเพื่อขัดเกลาจิตใจบ่อย ๆ โดยมีเหตุผลว่า การห้ามสามเณรสนใจเพศตรงข้ามคงไม่สำเร็จผล เพราะเป็นธรรมชาติของวัยรุ่นทั่วไป หรือพระผู้ปกครองต้องคอยตรงตราให้รู้เท่าทัน อย่าปล่อยให้แสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เมื่อพบปัญหาควรแนะนำให้เข้าใจถึงวัตถุประสงค์หลักของการบวชเรียน ควรหมั่นอบรมด้วยหลักพระธรรมวินัย หากมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะ ต้องมีมาตรการลงโทษที่ชัดเจน โดยมีเหตุผลว่า ควรคำนึงถึงชื่อเสียงของสำนัก ตลอดจนความมั่นคงของพระศาสนา ไม่ควรปล่อยให้มีการไปมาหาสู่กันบ่อยเกินไป โดยมีเหตุผลว่า การให้ความสนใจในเพศตรงข้าม ถือเป็นธรรมชาติของวัยรุ่น เป็นเรื่องที่ห้ามได้ยาก และพระผู้ปกครองควรประพฤติตนให้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่สามเณร เหตุผลคือ ถ้าพระผู้ปกครองสามารถประพฤติตนให้เป็นแบบอย่างที่ดีได้ ก็ไม่จำเป็นต้องอบรมและว่ากล่าวตักเตือนกันบ่อย ๆ

การที่ผู้ให้สัมภาษณ์ส่วนใหญ่ เห็นว่า การปิดกั้นโอกาสใกล้ชิดกับเพศตรงข้าม เป็นวิธีการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่ได้ผลดีที่สุด สะท้อนให้เห็นว่า การปิดกั้นโอกาสภิกษุสามเณรในด้านใดด้านหนึ่งก็ตาม มีความสัมพันธ์กับการแก้ไขปัญหาภายในของคณะสงฆ์ ตัวอย่างเช่น การปิดกั้นโอกาสศึกษาในระบบการศึกษานอกโรงเรียน มีความสัมพันธ์กับการแก้ไขปัญหาการคลุกคลีใกล้ชิดกับฆราวาสโดยเฉพาะสตรีเพศของภิกษุสามเณร

และปัญหาความซุกซน อันเป็นสาเหตุให้ถูกลงโทษอย่างเฉียบขาด ซึ่งสามเณรส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย บางสำนักได้ใช้วิธีการแก้ไขอย่างเฉียบขาด ด้วยการขับไล่ให้พ้นจากสำนักบ้าง บังคับให้ลาสิกขาไปบ้าง เพื่อให้การบริหารและการปกครองภายในสำนักเป็นไปด้วยความเรียบร้อย สามารถแบ่งประเภทความแตกต่างของทัศนคติและเหตุผลสนับสนุน ดังนี้ การเล่นซุกซนเป็นธรรมชาติเด็ก ควรตักเตือนก่อน ไม่ควรใช้วิธีการลงโทษอย่างเฉียบขาดในทันที หากตักเตือนบ่อยครั้งแล้ว ยังไม่ปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น จึงใช้วิธีการลงโทษอย่างเฉียบขาด สำหรับการเล่นกีฬา เช่น ฟุตบอล ตะกร้อ เป็นต้น ไม่เหมาะสม และไม่น่าเลื่อมใส การออกกำลังกายที่ดีควรอยู่ในที่ลับตา หรือบางทีให้เหตุผลว่า ความซุกซนของสามเณร เป็นปัญหาที่สร้างความหนักใจให้แก่ทุกสำนัก การลงโทษอย่างเฉียบขาด จำเป็นต้องใช้ แต่ไม่ควรลงโทษด้วยการขับไล่ให้ไปอยู่ที่สำนักอื่น เพราะเป็นเพียงการผลักภาระให้พ้นตัวแล้วนำปัญหาไปสู่สำนักอื่นอย่างไม่สิ้นสุด ในกรณีที่ปรับปรุงแก้ไขไม่ได้ ควรให้ลาสิกขาไป

หรือ การลงโทษอย่างเฉียบขาด ไม่เหมาะสม และไม่จำเป็นต้องนำมาใช้ โดยมีเหตุผลสนับสนุนดังนี้ หากขัดไล่ออกจากสำนัก สามเณรซึ่งยังเป็นเด็กจะกลายเป็นผู้เร่ร่อน การแก้ไขปัญหามีอยู่หลายวิธี ควรเลือกวิธีที่ดีที่สุด การที่พระผู้ปกครองในสำนักบางแห่งเลือกใช้วิธีแก้ปัญหาอย่างเฉียบขาดนั้น เป็นการแก้ปัญหาแบบเห็นแก่ตัว หรือไม่เห็นด้วยกับการไล่ออกจากสำนัก หรือการบังคับให้ลาสิกา สามเณรที่ซุกซน ชอบการออกกำลังกาย ทางสำนักควรจัดหาสถานที่ให้ โดยกำหนดรูปแบบการออกกำลังกายที่แน่นอนและชัดเจน เช่น การฝึกโยคะเป็นต้น หรือที่เห็นว่า สามเณรเป็นวัยรุ่นซึ่งมีอารมณ์ที่เปราะบาง การถูกลงโทษขั้นเฉียบขาด เช่น การขัดไล่จากสำนัก เป็นต้น อาจกลายเป็นจุดหักเหของชีวิต พระผู้ปกครองควรให้โอกาสแสดงออกตามธรรมชาติของเด็กบาง โดยไม่ต้องคอยจับผิดอยู่ตลอดเวลา เมื่อเห็นว่าไม่เหมาะสมจึงเข้าไปแก้ไข

การที่ผู้ให้สัมภาษณ์ส่วนใหญ่เห็นว่า การแก้ไขปัญหานี้ด้วยวิธีการลงโทษอย่างเฉียบขาด ยังจำเป็นต้องใช้อีกต่อไป สะท้อนให้เห็นว่าการบวชเรียนในสังคมไทย เหมาะสมสำหรับยาวชนที่มีอุปนิสัยอ่อนโยนและมีพฤติกรรมเรียบร้อย ส่วนเยาวชนซึ่งบวชเรียนอยู่แล้ว หากมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ก็จะถูกผลักดันออกจากวัดกลับมาสู่สังคมมากกว่าจะได้รับการแก้ไขปรับเปลี่ยนพฤติกรรมภายในวัดต่อไป

อ้างอิง สุนทร บุญสถิต .( ๒๕๔๓) สถานภาพ บทบาท และปัญหาของสามเณรในสังคมไทย. วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาศาสนาเปรียบเทียบ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล.

 

 

สุมินต์ตรา

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0071102499961853 Mins