จักรวาล คือ กรงขังสัตว์ ๓

วันที่ 08 กค. พ.ศ.2548

 

 

.....หลักคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เป็นหัวใจดังที่กล่าวนี้ก็จริง แต่วิธีการสอนพระองค์ทรงมีหลายวิธีตามความเหมาะสม เช่น

 

สำหรับผู้ที่มีคุณงามความดีเป็นพื้นฐานของใจอยู่แล้ว ทรงสอนเรื่องการปฏิบัติทำความเพียรทางจิตเลย และการสอนเรื่องภาวนา ทรงสอนให้พอเหมาะพอดีกับอุปนิสัยและวาสนาบารมีทั้งชาตินี้และชาติก่อนของผู้นั้น

 

สำหรับผู้ที่ยังมีข้อข้องใจสงสัย ทรงมีพุทธานุญาตให้ไต่ถามจนสิ้นสงสัยแล้วจึงตรัสสอน

 

สำหรับผู้มีทุกข์ร้อนเศร้าโศกไม่ว่าเรื่องอะไร ทรงสอนหรือมีอุบายวิธีให้ผู้นั้นปลงได้เสียก่อนจึงตรัสสอน

 

สำหรับผู้มีอินทรีย์ยังไม่แก่กล้า คือยังมีบุญน้อยอยู่ ไม่สามารถเป็นพระอริยบุคคลในชาตินี้ ทรงสอนให้สะสมความดี สร้างบารมีด้านต่าง ๆ เพื่อประสบความสำเร็จในชีวิตและพ้นทุกข์ในอนาคตเบื้องหน้า

 

ถ้าสอนรวมกันในที่ผู้คนมีหลายชนิด มักตรัสสอนเรียงลำดับจากง่ายไปหายากที่เรียกว่า อนุปุพพิกถา ฟอกหรือขัดเกลาอัธยาศัยให้หมดจดเป็นชั้น ๆ เพื่อเตรียมจิตของผู้ฟังให้พร้อมที่จะรับฟัง ชั้นแรกทีเดียว สอนเรื่องทาน ชั้นที่สอง สอนเรื่องศีล ชั้นที่สาม อธิบายเรื่องสวรรค์ คือผลของการทำความดีจะมีความสุขที่พรั่งพร้อมด้วยกาม ชั้นที่สี่ พรรณนาโทษของกามคุณ ชั้นที่ห้า พรรณนาอานิสงส์ของการออกจากกาม

 

คำตรัสสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ไม่ว่าจะขึ้นต้นด้วยเรื่องใด ๆ ก็ตาม จะทรงสรุปท้ายด้วยเรื่องอริยสัจ ๔ เสมอไป เพราะเรื่องนี้เป็นความจำเป็นอันยิ่งยวดที่มนุษย์ควรทราบและปฏิบัติตาม เพื่อความสิ้นทุกข์ เลิกเวียนว่ายตายเกิด

 

อริยสัจ ๔ คือความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการนั้น พระพุทธองค์ทรงสอนให้รู้ดังนี้

 

๑ . ความทุกข์ ซึ่งเป็นสภาพที่ทนได้ยาก มีทุกข์กาย ทุกข์ใจ เป็นต้น

 

๒ . เหตุให้ทุกข์เกิด คือ ตัณหา ความทะยานอยาก ความดิ้นรนเป็นอำนาจของโลภะบีบคั้น

 

๓ . สภาพความปลอดทุกข์ คือพระนิพพาน ดับตัณหาสิ้นเชิง เรียกว่า นิโรธ

 

๔ . ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ต้องทำพร้อมกันทั้ง ๘ ประการ เรียกว่า อริยมรรคมีองค์ ๘ คือทำถูกต้องเรื่องความคิดเห็น ความดำริ วาจา การงานทางกาย การเลี้ยงชีพ ความเพียร มีสติระลึกได้ มีสมาธิจิตตั้งมั่น

 

นี่คือคำตรัสสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ ไม่ว่าจักรวาลใด กัปใด ทรงสอนเหมือนกันหมดทั้งสิ้น

 

ความคิดเห็นถูกต้อง คือ เห็นถูกต้องในอริยสัจ ๔ เห็นตามหลักกฎของกรรม ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว มารดาบิดามีคุณ การทำบุญมีผลดี ชาตินี้ชาติหน้ามี ตายแล้วต้องเกิด ถ้ายังไม่หมดกิเลส สัตว์ที่เกิดโดยโตเป็นตัวเต็มที่ เช่น สัตว์นรก เปรต เทวดา พรหม มีจริง สมณพราหมณ์ที่รู้แจ้งโลกหน้ามีอยู่ ขันธ์ ๕ คือ ร่างกายและจิตใจไม่เที่ยงแท้แน่นอน เป็นต้น

 

ความดำริถูกต้อง คือ ดำริออกจากกาม ออกจากความโลภ ดำริออกจากความพยาบาท ดำริไม่เบียดเบียนใคร

 

วาจาถูกต้อง คือ เว้นจากการพูดปด พูดส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อ พูดคำหยาบ

 

การงานถูกต้อง คือ เว้นจากการฆ่าหรือเบียดเบียน การลักขโมยคดโกง การประพฤติผิดในกาม

 

อาชีพถูกต้อง คือ ประกอบอาชีพที่เว้นจากวจีทุจริต และการงานทุจริต

 

ความเพียรถูกต้อง คือ เพียรกำจัดความชั่วที่มี ไม่ให้ความชั่วใหม่เกิด รักษาความดีที่มี ทำความดีเพิ่มขึ้น

 

มีสติถูกต้อง คือ ระลึกในการปฏิบัติภาวนา เห็นกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต และธรรมในธรรม

 

สมาธิถูกต้อง คือ ตั้งใจมั่นในการให้อารมณ์เป็นหนึ่ง จนเกิดฌานจิตตั้งแต่ขั้นที่ ๑ - ๔

 

ความดีต่าง ๆ เหล่านี้ แม้จะลงมือกระทำจนเต็มความสามารถในชาตินี้แล้ว ก็ยังไม่สามารถบรรลุคุณวิเศษเป็นพระอริยบุคคล แต่จะเป็นการสั่งสมบุญ เมื่อบุญมากเข้า บุญก็จะกลั่นเป็นบารมีทั้งสิบ บารมีสิบมีเต็มเปี่ยมบริบูรณ์ในภพชาติใด เมื่อนั้นฟังคำตรัสสอนหรือคำสอนของพระพุทธศาสนา ก็สามารถปฏิบัติตามบรรลุเป็นพระอริยบุคคลทันที บารมีทั้งสิบได้แก่

 

ทาน ศีล เนกขัมมะ ( ออกจากกาม) ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน เมตตา อุเบกขา

 

บารมี มี ๓ ระดับ ขึ้นต้น ขั้นกลาง ขั้นสูงสุด

 

ถ้ามนุษย์ธรรมดา สะสมบารมีขั้นธรรมดาครบสิบ เพียงพอต่อการบรรลุธรรม


แต่ถ้าเป็นการสร้างสมบารมีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องสร้าง ทั้ง ๓ ระดับ เรียกว่า บารมีสามสิบทัศ และมหาบริจาค ๕ อย่าง

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0015014131863912 Mins