ปรากฎการณ์อินเทรนด์

วันที่ 12 ตค. พ.ศ.2550

     ศูนย์ปฏิบัติธรรมเคปทาวน์ (แอฟริกาใต้) ในวันที่มีสายรุ้งทอดยาวมาสู่หลังคา และจานรับสัญญาณ DMC เป็นสัญญาณว่า เป็นการเปิดต้อนรับสมาชิกโดยไม่จำกัดเชื้อชาติ ศาสนา และสีผิว มาร่วมปฏิบัติธรรมทุกวัน เพื่อศึกษาวิชชาที่แท้จริงของชีวิต

ศูนย์ปฏิบัติธรรมเคปทาวน์ ประเทศแอฟริกาใต้ ได้โด่งดังเป็นพลุแตกไปทั่วทั้งเมืองอีกครั้ง เมื่อกระแสตอบรับในการทำสมาธิได้ขยายตัว มากขึ้นๆ ไปตามลำดับ จากกระแสปากต่อปาก หูต่อหู ใจต่อใจ และในที่สุด ก็ไม่มีอะไรมาขวางกั้น สมาธิกับชาวเคปทาวน์ได้อีกต่อไป ผู้คนที่นี่ หมุนเวียนกันมานั่งสมาธิเป็นประจำสม่ำเสมอทุกๆวัน จนหัวบันไดของศูนย์ปฏิบัติธรรมไม่เคยเหือดแห้ง

เมื่อเร็วๆนี้ กระแสแห่งสมาธิได้เข้าถึงหูของสื่อมวลชนคุณภาพคับแก้วประจำเมืองเคปทาวน์ ชื่อว่า “แอตแลนติก ซัน (Atlantic Sun)” หนังสือพิมพ์ฉบับรายสัปดาห์ชื่อดังที่มียอดพิมพ์กว่าแสนฉบับ ซึ่งทุกสัปดาห์จะถูกส่งตรงถึงประตูบ้านทั่วเมืองเคปทาวน์ ผู้สื่อข่าวของหนังสือพิมพ์แอตแลนติค ซัน ได้มาขอสัมภาษณ์พระอาจารย์ประจำศูนย์ปฏิบัติธรรมเคปทาวน์ เพื่อนำไปตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ดังกล่าว เป็นบทความพิเศษที่เล่าขานถึงความสำคัญและคุณค่าจากสมาธิ

ผลจากเรื่องราวของสมาธิในพระพุทธศาสนา ที่ได้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ แอตแลนติค ซัน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2550 ทำให้มีชาวเคปทาวน์ที่สนใจการค้นหาความสุขที่แท้จริง ได้โทรศัพท์สอบถามเข้ามาที่ศูนย์ปฏิบัติธรรมเคปทาวน์มากมายเป็นประวัติการณ์ ทุกสายที่โทรมา ต่างสอบถามถึงตารางเวลาการฝึกสมาธิและตำแหน่งที่ตั้งของศูนย์ฯ พร้อมทั้งนัดหมายวันเวลาที่จะเดินทางมาอีกด้วย ถึงกับทำให้พระอาจารย์ประจำศูนย์ฯ ที่มีอยู่จำกัดเพียงแค่สองรูป รับโทรศัพท์กันไม่หวาดไม่ไหว จนสายโทรศัพท์เกือบไหม้กันเลยทีเดียว

มีคุณป้าท่านหนึ่ง อายุ 75 ปีแล้ว โทรศัพท์มาถามว่า “ดิฉันแก่เกินไปที่จะมาฝึกสมาธิไหม” พระอาจารย์จึงตอบว่า “It’s not too late for meditation” (ไม่มีคำว่าสายเกินไป สำหรับการฝึกสมาธิ) แม้อายุจะมากหรือน้อย แต่ถ้ายังไม่ได้เริ่มฝึกสมาธิ ก็ถือว่า ชีวิตนั้นยังไม่ได้เริ่มต้น

 

เนื้อข่าวที่ลงหนังสือพิมพ์ แอตแลนติก ซัน โดยย่อ

ฉบับประจำวันพฤหัสบดี ที่ 27 ก.ย. พ.ศ.2550

Meditating on Main Road

สัมภาษณ์โดย คอลัมนิสต์ คุณเมกั้น บัดจีส์

ศูนย์ปฏิบัติธรรมเคปทาวน์ ตั้งอยู่ทางฝั่งขวาของย่านซีพอยท์ บนถนนเมนโรด ถนนที่มีความคึกคักสายหนึ่งของเมืองเคปทาวน์ ศูนย์ปฏิบัติธรรมเคปทาวน์ ถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อเป็นแหล่งพักพิงใจให้กับประชาชนที่รู้สึกเหน็ดเหนื่อย และเคร่งเครียด จากการตรากตรำทำงานมาตลอดทั้งวัน ได้มาหย่อนใจ

พระกฤตสกล และ พระเกียรติศักดิ์ พระภิกษุ 2 รูปจากวัดพระธรรมกาย จังหวัดปทุมธานี ประเทศไทย ได้มาถึงประเทศแอฟริกาใต้ เมื่อปีที่แล้ว และเปิดศูนย์ปฏิบัติธรรม โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ชาวเคปทาวน์ทุกคนได้มีชีวิตอยู่อย่างไม่เคร่งเครียด และมีจิตใจที่เป็นสุข ท่านกล่าวว่า “บ่อยครั้งที่ผู้คนในเคปทาวน์มักจะจ้องมองแสดงความสนใจมาที่ท่าน พวกเขามักแสดงท่าทีว่าอยากรู้จักว่า ท่านเป็นใคร และมาทำภารกิจอะไรที่นี่”

ส่วน คุณแมรี่ แจ๊กสัน ผู้อาศัยอยู่ในย่านซีพอยท์ เมืองเคปทาวน์ หนึ่งในสมาชิกประจำที่ได้ร่วมโครงการฝึกสมาธิอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 6 เดือน เธอกล่าวว่า “ดิฉันได้ค้นพบหนทางที่จะทำให้ใจสงบอย่างแท้จริงแล้ว” เธอปรารถนาจะให้ทุกๆคนได้มีประสบการณ์ที่มีค่าจากการฝึกสมาธิ และเธอยังได้เชิญชวนทุกคนให้มาเป็นส่วนหนึ่ง ในโปรแกรมฝึกสมาธิประจำวันของศูนย์ปฏิบัติธรรม เธอกล่าวว่า “การเรียนสมาธิของเรานั้น…ไม่ต้องมีค่าใช้จ่าย แต่หากท่านใด ต้องการบริจาคทรัพย์เพื่อสนับสนุนศูนย์ปฏิบัติธรรมเคปทาวน์ ก็ทำได้ ที่ผ่านมา ร้านอาหารและชุมชนคนไทยในเมืองเคปทาวน์ ก็ได้สนับสนุนพระอาจารย์ของเรา”

จากนั้น พระอาจารย์เปิดโอกาสให้ผู้สื่อข่าวตัวแทน นสพ.แอตแลนติก ซัน ได้ทดลองทำสมาธิหลักสูตรสั้นๆ และภายหลังจากนำนั่งสมาธิแล้ว พระอาจารย์ได้กล่าวให้ข้อคิดว่า “กุญแจสำคัญที่จะไขไปสู่จิตใจที่ผ่อนคลายอย่างสมบูรณ์ และปลอดกังวลจากพันธนาการ นั่นคือ การวางใจไว้ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ 7 อย่างสบายๆ สมาธิ คือ คำตอบของทุกๆสิ่ง และหากทุกคนมีโอกาสฝึกสมาธิอย่างถูกต้องและต่อเนื่อง ก็จะทำให้พวกเราเข้าถึงความสุขที่แท้จริงได้”

ศูนย์ปฏิบัติธรรมเคปทาวน์เปิดสอนสมาธิทุกวัน โดยวันจันทร์-วันเสาร์ วันละ 3 รอบ ส่วนวันอาทิตย์ มี 3 รอบ

กัลยาณมิตร เมกั้น บัดจีส์
คอลัมนิสต์ ผู้สื่อข่าวประจำ หนังสือพิมพ์แอตแลนติก ซัน เจ้าของบทความพิเศษ

“หลังจากสัมภาษณ์พระอาจารย์ เพื่อเตรียมข้อมูลนำไปเขียนบทความแล้ว ดิฉันก็ได้มีโอกาสทดลองทำสมาธิเป็นครั้งแรก เริ่มต้นดิฉันก็เพียงทำร่างกายให้สบายๆ ปล่อยวางจากเรื่องราวต่างๆ และก็วางใจไว้ในกลางท้องเท่านั้น แต่แม้ทำเพียงแค่นี้ ก็ทำให้ดิฉันรู้สึกถึงความผ่อนคลายได้อย่างมหัศจรรย์ รู้สึกว่าสมาธิทำให้ดิฉันเกิดพลัง (Energy) มากกว่าที่คิดไว้...ใครก็ทำได้ไม่ยากเลย นี่แหละคือสิ่งที่ทุกคนแสวงหา...ดิฉันดีใจที่เมืองเคปทาวน์ได้มีโอกาสต้อนรับพระสงฆ์จากประเทศไทย ดิฉันจะช่วยประชาสัมพันธ์ให้ชาวเคปทาวน์ได้รู้จักสมาธิ และคุณค่ามหาศาลของสมาธิจากศูนย์ปฏิบัติธรรมแห่งนี้ค่ะ”

ทันทีที่ผู้คนทราบข่าวจากหนังสือพิมพ์ เสียงโทรศัพท์ก็ดังขึ้นเป็นระยะๆอย่างต่อเนื่อง

จากนั้นไม่นาน ถนนทุกสายก็มุ่งหน้ามา ศูนย์ปฏิบัติธรรมเคปทาวน์ ราวกับนัดหมายกัน ทยอยกันมาเป็นกลุ่ม รอบแล้วรอบเล่า จนคลาสที่เราเปิดสอนสมาธิ เต็มแน่นทั้ง 3 รอบ ตอนนี้ห้องปฏิบัติธรรมของเราแคบลงไปในทันที ไม่พูดพล่ามทำเพลง มาถึงก็ทักทายกันพอหอมปากหอมคอ

จากนั้นก็นั่งสมาธิด้วยความเบิกบาน จากการสอบถามพบว่าสมาชิกใหม่ที่มาปฏิบัติธรรม

มีทั้ง เจ้าของกิจการ นักธุรกิจ นักจัดรายการวิทยุ นักเขียน และนักศึกษามหาวิทยาลัย
ซึ่งทราบข่าวมาจากบทความ Meditating on Main Road ในหนังสือพิมพ์ทั้งสิ้น

ทุกคนที่มาถึงศูนย์ปฏิบัติธรรม บอกเหมือนกันว่า “เหมือนได้พักผ่อนหย่อนใจ”

ท่ามกลางบรรยากาศที่เย็นสบาย ในปลายฤดูใบไม้ผลิ ทุกคนในภาพ แม้ว่าจะมาจากหลากหลายความเชื่อ แต่ไม่ว่าจะมาจากศาสนาไหนๆ จะเป็นคริสต์ อิสลาม หรือยิว ทุกคนต่างก็มีโอกาสดี ๆ ที่จะเข้าถึงความสุขภายในได้

Jerome Ajissa (เจโรม อะจิสซ่า)
นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ จากสถาบัน Cape Technicon ในเมืองเคปทาวน์

หนึ่งในสมาชิกที่เดินทางมาปฏิบัติธรรมด้วยเช่นกัน หลังจากนั่งสมาธิเสร็จแล้ว บอกว่า

"เป็นประสบการณ์ที่วิเศษ และ Blissful (เต็มไปด้วยความสุข)"

หลักสูตรสมาธิสำหรับผู้เริ่มต้น ในเมืองเคปทาวน์ เปิดสอนวันละ 3 รอบ

ใช้เวลาเพียงรอบละหนึ่งชั่วโมง เริ่มต้นจากการบรรยายสรุปเรื่องสมาธิใช้เวลา 10 นาที

และฝึกปฏิบัติอีกเพียงคลาสละครึ่งชั่วโมง จากนั้นก็เป็นการซักถามผลการปฏิบัติธรรม

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0010785182317098 Mins