โมรนัจจชาดก ชาดกว่าด้วยความไม่รู้จักละอายต่อบาป

วันที่ 12 ตค. พ.ศ.2565

นิทานชาดก  โมรนัจจชาดก ชาดกว่าด้วยความไม่รู้จักละอายต่อบาป

ข้อคิดจากชาดก

โมรนัจจชาดก

ชาดกว่าด้วยความไม่รู้จักละอายต่อบาป

 

สถานที่ตรัสชาดก

เชตวันมหาวิหาร นครสาวัตถี

 

สาเหตุที่ตรัสชาดก

       ในสมัยพุทธกาล มีพระภิกษุรูปหนึ่งซึ่งเมื่อยังเป็นฆราวาสมีฐานะดี เมื่อได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เกิดความเลื่อมใสศรัทธา ครั้นเมื่อภรรยาตายจึงออกบวช แต่ด้วยนิสัยกลัวความลำบาก ก่อนบวชจึงได้จัดเตรียมเครื่องอำนวยความสะดวกสำหรับตน คือจัดการสร้างกุฏิไว้อย่างดี มีโรงครัวและโรงอบสมุนไพรไว้ใช้เป็นการส่วนตัว สะสมของกินของใช้ เครื่องนุ่งห่มไว้มากมาย และยังเรียกคนรับใช้มาคอยปรนนิบัติเมื่อท่านบวชแล้ว

       เพื่อนพระภิกษุเห็นท่านสะสมบริขารไว้มากผิดวิสัยสมณะ ซึ่งจำกัดให้มีเพียงอัฐบริขาร เท่านั้น ก็พากันตำหนิและตักเตือนแต่โดยดี แต่ท่านกลับโกรธและโต้เถียงไม่ลดละ พระภิกษุเหล่านั้นเห็นว่าถ้าปล่อยไว้จะนำความเสื่อมเสียมาแก่หมู่สงฆ์ จึงพากันฉุดรั้งตัวท่านไปเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

       พระบรมศาสดาทรงซักถามได้ความโดยตลอดแล้ว ทรงตำหนิและตรัสเตือน พระภิกษุรูปนั้นแทนที่จะได้คิด กลับโกรธพลุ่งพล่านพร้อมกับผลุดลุกขึ้นยืน กระชากจีวรเครื่องนุ่งห่มออกจากตัวจนหมดสิ้น ยืนเปลือยกายอยู่ต่อหน้าพระบรมศาสดา ท่ามกลางหมู่สงฆ์ และอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย คนทั้งหลายเห็นกิริยาหยาบคาย ที่พระภิกษุรูปนั้นแสดงต่อหน้าพระบรมศาสดา ก็พากันกล่าวบริภาษขึ้นด้วยความเกลียดชัง พระภิกษุผู้ไม่มีหิริ โอตตัปปะ ไม่อาจทนสู้หน้าอยู่ได้ก็สึกเสียในวันนั้น แล้วเดินเปลือยกายออกจากพระเชตวันมหาวิหาร

       หลังจากวันนั้น พระภิกษุยังคงสนทนาติเตียนพระภิกษุผู้นั้นด้วยความสลดใจ ขณะนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมายังที่ประชุม ทรงถามถึงเรื่องพระภิกษุกำลังสนทนากันอยู่ ครั้นทรงทราบความแล้วจึงทรงระลึกชาติด้วยบุพเพนิวาสานุสติญาณ พระพุทธองค์ทรงนำ โมรนัจจชาดก มาตรัสดังนี้

 

เนื้อหาชาดก

       ในอดีตกาลเมื่อครั้งต้นๆ กัป โลกนี้มีแต่ความร่มรื่น สวยสดงดงาม อุดมไปด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหาร หมู่สัตว์อยู่ร่วมกันอย่างมีระเบียบวินัย มีความเคารพซึ่งกันและกัน ในครั้งนั้นราชสีห์เป็นหัวหน้าของสัตว์สี่เท้าทั้งหลาย ปลาอานนท์เป็นหัวหน้าของปลาทั้งหลาย และพญาหงส์เป็นหัวหน้าของบรรดานกทั้งหลาย

       พญาหงส์ทองนั้นมีลูกสาวอยู่ตัวหนึ่ง รูปร่างและสีสันของนางสาวงามเป็นที่เลื่องลือ กิริยามารยาทอ่อนช้อย เรียบร้อยและสง่างามสมเป็นธิดาพญาหงส์ เมื่อนางเจริญวัยสมควรจะมีคู่ได้แล้ว พญาหงส์จึงประกาศป่าวร้องให้บรรดานกทั้งหลายมาประชุมกันยังลานอันร่มรื่นงดงามแห่งหนึ่งในป่า เพื่อให้นางเลือกคู่ครองตามใจชอบ

       บรรดานกหนุ่มๆ ทั้งหลายที่มาประชุมกัน ต่างใฝ่ฝันที่จะได้ครองใจธิดาพญาหงส์ แต่นางมีความพอใจนกยูงหนุ่มผู้สง่างามตัวหนึ่ง จึงกล่าวกับบิดาว่าตนเลือกนกยูงหนุ่มตัวนั้น

       พญาหงส์จึงประกาศเรียกนกยูงหนุ่มออกมากลางลานประชุม นกทั้งหลายจึงพากันรุมล้อมนกยูงหนุ่มเพื่อแสดงความยินดี นกยูงหนุ่มรู้สึกลำพองใจมาก จึงรำแพนหางกางปีกรำอยู่ท่ามกลางฝูงนก พญาหงส์เห็นดังนั้น รู้สึกขัดเคืองใจยิ่งนัก นึกตำหนิว่า นกยูงตัวนี้ขาดหิริ คือไม่มีความละอายใจแม้แต่น้อย และยังขาดโอตตัปปะ ไม่เกรงคำนินทา กล้ารำอวดตัวท่ามกลางที่ประชุมชนเช่นนี้ แล้วกล่าวกับนกยูงหนุ่มว่าจะไม่ยกลูกสาวให้ แล้วประกาศยกธิดาของตนให้หงษ์ผู้เป็นหลาน

       เมื่อนกยูงหนุ่มไม่ได้ธิดาหงษ์มาเป็นคู่ ก็รู้สึกอับอายขายหน้ายิ่งนัก จึงบินหนีไปจากที่นั่นทันที

 

ประชุมชาดก

เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัส โมรนัจจชาดก จบแล้วยทรงประชุมชาดกว่า

นกยูง ในครั้งนั้น ได้มาเป็นภิกษุผู้ขาดความละอายรูปนี้

พญาหงส์ ได้มาเป็นพระองค์เอง

 

ข้อคิดจากชาดก

       ๑. ผู้ใดที่รู้ตัวว่านิสัยไม่ดี เช่น เกียจคร้าน เห็นแก่ความสะดวกสบายเกินเหตุ ไม่ยอมรับระเบียบวินัย หรือมักแสดงกิริยาวาจาหยาบคายอยู่เสมอ ควรรีบปรับปรุงตัวเสียใหม่ เพื่อแก้นิสัยไม่ดีให้หมดไป อย่าปล่อยให้เคยชิน มิฉะนั้น นิสัยดังกล่าวจะติดตัวข้ามภพข้ามชาติไปด้วย

       ๒. เมื่ออยู่ในที่ประชุมใดก็ตาม จะต้องสำรวมกริยามารยาทให้เรียบร้อย ไม่แสดงท่าทีเย่อหยิ่ง โอ้อวด เพราะเป็นรังเกียจแก่ผู้พบเห็น ผู้ที่มีความอ่อนน้อมถ่อมตนอยู่เสมอ ย่อมได้รับความเอ็นดูจากผู้ใหญ่ แม้ในหมู่คนที่เสมอกันก็ให้ความรักใคร่สนิทสนม

       ๓. ผู้ที่ฝึกสมาธิอยู่สม่ำเสมอ จะมีความสำรวมกาย วาจา ใจ เพราะมีสติคอยกำกับการกระทำอยู่ตลอดเวลา

นิทานชาดก  โมรนัจจชาดก ชาดกว่าด้วยความไม่รู้จักละอายต่อบาป

นิทานชาดก
โมรนัจจชาดก

ชาดกว่าด้วยความไม่รู้จักละอายต่อบาป

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0013952334721883 Mins