ช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากพายุ

วันที่ 15 กค. พ.ศ.2551

      มูลนิธิธรรมกายร่วมกับองค์กรพุทธนานาชาติ จากประเทศไต้หวัน สิงคโปร์ ศรีลังกา และออสเตรเลีย นำเครื่องอุปโภคบริโภคไปช่วยเหลือพระภิกษุสามเณร และประชาชนที่ประสบภัยจากพายุไซโคลนนากีสในสหภาพเมียนม่าเป็นครั้งที่5 ระหว่างวันที่ 18-20 มิถุนายน พ.ศ. 2551 ซึ่ง เครื่องอุปโภคบริโภคที่นำไปช่วยเหลือในครั้งนี้ ประกอบด้วยสังกะสีจำนวน 6,500 แผ่น จีวร 2,000 ชุด ข้าวสาร 5.5 ตัน พร้อมด้วยถุงยังชีพ เวชภัณฑ์และขนมขบเคี้ยวอีกกว่าครึ่งตัน

พิธีมองสิ่งของมีขึ้นในเวลา 9.30 น.ของวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2551 ณ ห้องรับรองของมหาวิทยาลัยสงฆ์เมืองย่างกุ้ง โดยตัวแทนฝ่ายมอบประกอบด้วย พระปลัดสุธรรม สุธัมโม ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย และประธานสหพันธ์ชาวพุทธในประเทศออสเตรเลีย พลอากาศเอกวีรวุธ ลวะเปารยะ พระธรรมาจารย์จันหวินจากประเทศสิงคโปร์ คุณเกาจัน จื่อฮวย จากมูลนิธิ Life Education ของไตหวัน คุณหลิน ซูเอี่ยน จากมูลนิธิศรีโพธิราชา ประเทศศรีลังกา และผู้ช่วยฑูตทหารบก ทหารอากาศของไทยประจำสหภาพเมียนม่า เป็นต้น ส่วนตัวแทนฝ่ายผู้รับมอบประกอบด้วย หลวงพ่อพระทันตะกุมาระ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งชาติเมืองย่างกุ้ง ฯพณฯ ท่านตุระ อองโก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการศาสนา ศาสาตราจารย์ ดร.มิ้น คยี อธิการบดีมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาเถรวาทนานาชาติสหภาพเมียนม่า เป็นต้น

หลังจากพิธีมอบสิ่งของเสร็จสิ้นลง ทางกระทรวงการศาสนาได้นำคณะเดินทางไปมอบถุงยังชีพและปัจจัยช่วยเหลือโรงเรียนวัดแห่งหนึ่งที่ประสบภัยในเขตเมืองย่างกุ้งอีกด้วย

ภาคบ่ายคณะผู้มอบความช่วยเหลือ มีโอกาสเข้าไปชมสถานที่สำคัญต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งชาติและวัดกาบะเอ้ เมืองย่างกุ้ง อาทิ มหาปาสานะคูหา ซึ่งลักษณะคล้ายถ้ำเพื่อใช้เป็นสถานที่ทำสังฆยานาพระไตรปิฎกครั้งที่ 6 ของพม่า เมื่อคราวฉลอง 25 พุทธศตวรรษ ปัจจุบันใช้เป็นสนามสอบบาลีชั้นสูง และประกอบพิธีแต่งตั้งสมณศักดิ์ของคณะสงฆ์ จุผู้คนได้กว่า 3,000 คน และสถานที่ที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่งซึ่งคนทั่วไปไม่มีโอกาสได้เข้าชม คือหอเก็บพระคัมภีร์ ที่มีการเก็บรักษาพระไตรปิฎกและคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาไว้มากมาย จากนั้นได้เดินทางไปนมัสการพระมหาเจดีย์ชะเวดากอง และร่วมบริจาคเงินเพื่อซ่อมแซมบำรุงพระเจดีย์กว่า 3 แสนจั๊ด

เช้าวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2551 เดินทางไปดูช้างเผือก 3 เชือกที่ปางช้าง ชานเมืองย่างกุ้งต่อด้วยการขึ้นเหนือไปอีกราว 80 กิโลเมตร สู่กรุงหงสาวดี และได้ร่วมกันตักบาตรพระภิกษุสามเณรกว่า 600 รูป ที่วัดจักรคะว่าย รวมทั้งมอบถวายถุงยังชีพและปัจจัยบำรุงวัดอีกกว่า 3 แสนจั๊ด มีโอกาสนมัสการพระธาตุมุเตาหรือชะเวมอดอ ซึ่งเป็นพระธาตุคู่บ้านคู่เมืองหงสาวดี พระราชวังบุเรงนองและพระนอนองค์ใหญ่ที่วัดชะเวตาเลียง

จากนั้นได้นมัสการพระพุทธรูปหินอ่อนองค์ใหญ่ที่สุดของพม่าที่วัดเต้าต่อจี และปิดท้ายรายการที่เจดีย์พระเคี้ยวแก้ว ซึ่งเป็นเจดีย์ที่สร้างขึ้นใหม่เมื่อ 10 กว่าปีมานี้ โดยจำลองรูปแบบมาจากเจดีย์อนันดา เมืองพุกาม ที่มีความงดงามทางสถาปัตยกรรมเป็นเลิศ

วันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2551 ทางคณะซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากมูลนิธิธรรมกาย ตัวแทนจากสหพันธ์ชาวพุทธในประเทศออสเตรเลียและตัวแทนจากมูลนิธิ Life Education ของไต้หวัน เดินทางกลับประเทศไทย โดยสายการบิน แอร์เอเชีย ส่วนตัวแทนองค์กรพุทธจากประเทศสิงคโปร์และศรีลังกาขออยู่ต่อที่สหภาพเมียนม่าอีกหนึ่งวัน

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0017094016075134 Mins