สร้างบุญอย่างไร ให้ได้ลักษณะมหาบุรุษ ประการที่ ๑

วันที่ 15 กพ. พ.ศ.2554

590120_y09.jpg

ลักษณะมหาบุรุษ ประการที่ ๑ มีพื้นเท้าสม่ำเสมอ

             พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในพระไตรปิฎกว่า “ภิกษุทั้งหลาย เมื่อตถาคตเกิดเป็นมนุษย์ในชาติก่อน ในภพที่อยู่อาศัยก่อน ได้เป็นผู้บากบั่นในกุศล ถือมั่นในกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ในการบริจาคทาน การสมาทานศีล การรักษาอุโบสถ การปฏิบัติมารดาบิดา สมณพราหมณ์ การอ่อนน้อมต่อผู้เจริญในตระกูล ในอธิกุศลธรรมอื่น เพราะได้กระทำได้สร้างสม ได้พอกพูนได้มั่วสุมกรรมดีนั้นๆ ไว้ ภายหลังแต่การตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ตถาคตนั้น ถือเอายิ่งกว่าในเทพเหล่าอื่นโดยฐานะ ๑๐ คือ อายุทิพย์ วรรณะทิพย์ สุขทิพย์ ยศทิพย์ อธิบดีทิพย์ รูปทิพย์ เสียงทิพย์ กลิ่นทิพย์ รสทิพย์ สัมผัสทิพย์ ครั้นจุติจากภพนั้นมาสู่ความเป็นมนุษย์อย่างนี้ จึงได้มหาปุริสลักษณะข้อนี้ คือ มีฝ่าเท้าเสมอ จรดลงก็เสมอ ยกขึ้นก็เสมอ ฝ่าเท้าถูกต้องพื้นพร้อมกัน ย่อมเป็นผู้ไม่หวาดหวั่นต่อข้าศึกทั้งภายในและภายนอก คือ ราคะ โทสะ โมหะ ก็ตาม สมณพราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใครๆ ก็ตามในโลกที่เป็นศัตรู”

 

            ขอให้ทำความเข้าใจให้ถูกต้องด้วย พระองค์ตรัสไว้ชัดเจนว่า มีชาติที่แล้ว ใครที่เคยได้อ่านหรือเคยได้รับฟังคำวิพากษ์วิจารณ์ของพระอาจารย์บางท่านว่าไม่มีอดีตชาติ ขอให้ทำความเข้าใจเสียใหม่ให้ถูกในเรื่องการบริจาคทาน มีบางคนให้ทานแต่ไม่มีความบริสุทธิ์ทั้งกาย วาจา ใจ ตัวอย่างเช่น ส.ส. บางคนเมื่อใกล้จะเลือกตั้ง เขาให้ทานเพื่อหวังคุณ คือ เพื่อให้ประชาชนรักเขา แล้วไปลงคะแนนเลือกตัวเขา เขาต้องการคะแนนเสียง ไม่ใช่บุญ อย่างนี้ไม่เป็นบุญ เขาจะเอาคะแนน จะให้ประชาชนรัก จึงเอาเงินนิดๆ หน่อยๆ มาให้ทาน การให้ทานของเขาจึงเป็นการกระทำที่ใจไม่บริสุทธิ์นัก]

 

            การรักษาศีลต้องทำด้วยความบริสุทธิ์ทั้งกาย วาจา ใจ จึงจะได้บุญ บางคนมาถือศีล ๘ ที่วัด ลองถามเขาว่า ต้องการบุญหรืออย่างไร เขาตอบว่า เขาได้บนบานเอาไว้จึงต้องมาถือศีล อย่างนี้เรียกว่า พวกถือศีลแก้บน มิใช่ถือเอาบุญ บางคนก็ตั้งใจมาถือศีลที่วัด ถามว่าถือทำไม มีอะไรดลใจให้มาถือศีล ก็ได้คำตอบว่า “ก็แฟนเขามา ฉันก็เลยต้องมาด้วย” อย่างนี้ไม่ได้ถือด้วยความบริสุทธิ์กาย วาจา ใจส่วนพระพุทธองค์ทรงถือศีลด้วยความบริสุทธิ์กาย วาจา ใจ ทั้งศีล ๕ ทั้งอุโบสถศีล (ซึ่งได้แก่ การรักษาศีล ๘ ในวันพระ) ก็ตั้งใจทำมาอย่างดีด้วยความบริสุทธิ์ แล้วก็มีความบริสุทธิ์กาย วาจา ใจ ในการปฏิบัติเลี้ยงดูบิดามารดา

 

* * โปรดติดตามวิธีสร้างบุญอย่างไรให้ได้ลักษณะมหาบุรุษ ประการที่ ๑ ตอนที่ ๒ ในตอนต่อไป * *
 

 

ขอขอบคุณ หนังสือ “ลักษณะมหาบุรุษ”
ปาฐกถาธรรมของพระเดชพระคุณพระภาวนาวิริยคุณ หลวงพ่อทตฺตชีโว
สงวนลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗
ห้ามนำไปใช้ประโยชน์ทางการค้าหรือหากำไร ผู้ฝ่าฝืนมีความผิดและต้องรับโทษตามกฎหมาย

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.015244932969411 Mins