เคารพในการปฏิสันถารต้อนรับ

วันที่ 28 ตค. พ.ศ.2554

 

 

      สิ่งที่ควรเคารพที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสรรเสริญอีกอย่างหนึ่ง คือ การปฏิสันถารต้อนรับ วัดพระธรรมกายตั้งแต่แรกมาเลย หลวงพ่อพยายามฝึกให้เจ้าหน้าที่ทุกคนเอาใจใส่ปฏิสันถารต้อนรับญาติโยมที่มาวัดให้ดี เพราะว่าใครก็ตามที่มาถึงบ้านของเราวัดของเรา ทีแรกเขาก็มาด้วยความปรารถนาดีอยู่หรอกแต่ว่าเมื่อมาแล้ว ถ้าไม่ได้รับความอบอุ่น เขาก็จะเก้อเขินเมื่อเก้อเขินเสียแล้ว ความที่จะสนใจฟังธรรมปฏิบัติธรรมมันก็หย่อนลงไป

 

      หลวงพ่อได้เคี่ยวเข็ญเรื่องนี้มาตลอดชีวิตในการสร้างวัดเมื่อ ๒ อาทิตย์ที่แล้ว พอมีเวลาว่างหน่อยหลวงพ่อก็พาพวกเด็กๆ ที่มาเป็นเจ้าหน้าที่ใหม่ของวัดไปฝึก

 

     “มาลูก วันนี้หลวงพ่อจะพาไปฝึกทำหน้าที่ปฏิสันถารต้อนรับ เดินตามหลวงพ่อมา”

 

      ขั้นต้นหลวงพ่อก็พาเดินไปชี้ว่า สองข้างทางมีอะไรขาดตกบกพร่องบ้าง โต๊ะเก้าอี้บางตัววางไว้ยังไม่เป็นระเบียบ กระถางต้นไม้ที่วางไว้ยังไม่ได้ระยะ ยังไม่สวยงามพอเวลารดน้ำก็ยังกระฉอก เปียกเป็นดวงๆ ด่างๆ แบบนี้จัดเป็นไม่เคารพในปฏิสันถารต้อนรับอย่างหนึ่งนะ

 

      เพราะว่าญาติโยมที่มาถึง แทนที่จะสบายตา กลับมาเห็นของที่รกๆ เปื้อนๆ ไม่สบายตา เมื่อไม่สบายตายังงี้ก็เลยพาไม่สบายใจ หงุดหงิดขึ้นมาเดี๋ยวก็พาลไม่อยากฟังเทศน์ กลายเป็นว่าเราไม่เต็มใจต้อนรับสาธุชน

 

      นี่หลวงพ่อยกตัวอย่างให้เขาดูอย่างนี้ เสร็จแล้วก็พาไปดูตรงที่เชิงสะพาน เวลาที่รถสาธุชนมาส่ง หลวงพ่อก็บอกเขา

 

     “เอ้า สังเกตให้ดีนะ ดูซิเวลาคนลงรถมานี่ รถคันหนึ่งก็มีคนลงมา ๕๐-๖๐ คน ลูกดูนะ มีใครบ้างที่ลงจากรถบัสนี่แล้ว หน้าตายิ้มแย้มลงมา”

 

     เชื่อไหม ในจำนวน ๕๐-๖๐ คนน่ะ เดินหน้ายิ้มลงมาไม่ถึง ๑๐ คนหรอกนอกนั้นหน้าเฉยๆ กับหน้ามุ่ย นี่ขนาดมาวัดนะ ตั้งใจมาวัดเลย มีปิ่นโตมีอาหารที่จะมาถวายพระ แต่มี่ไม่ถึง ๒๐ เปอร์เซ็นต์ต่อ ๑ คันรถ ที่ยิ้มลงมา

 

     หลวงพ่อก็ถามเขา “ลูกรู้ไหมเพราะอะไร” เขาตอบหลวงพ่อไม่ได้ ต้องเฉลยแล้วชี้แจงให้เขาฟัง แล้วให้เขาตามไปดู

 

     พวกเราที่นั่งกันอยู่นี่ หลวงพ่อให้คนสะกดรอยตามดูไม่รู้กี่หนมาแล้ว แต่คงไม่มีใครรู้ตัวกันหรอกนะ หลวงพ่อไม่ใช่สันติบาลเก่า แต่ต้องการสอนลูกๆ ทั้งลูกสาวลูกชายที่ทำงานยังไม่ค่อยเป็นให้เข้าจิตเข้าใจกัน

 

     เหตุที่ทำให้คนหน้ามุ่ย ยิ้มไม่ออกลงจากรถที่มาวัด มีอะไรบ้างลองเช็คดูนะตรงกับที่หลวงพ่อว่าไหม ที่หน้ามุ่ยหน้าหงิกกันน่ะเพราะมันหงุดหงิด หงุดหงิดอะไรล่ะ โอ๊ย เยอะเลยตั้งแต่

     ๑. โซเฟอร์ขับรถเร็วไป หงุดหงิดไหม หงุดหงิด ขับช้าเกินไปหงุดหงิดไหม หงุดหงิด หนึ่งละ

     ๒. คนที่มานั่งข้างๆ เรา นั่งหลุกหลิกๆ มาตลอดทางหงุดหงิดไหม หงุดหงิด

     ๓. คนที่นั่งข้างเราไม่หลุกหลิกละ นั่งเฉยเรียบร้อยเชียวแต่แหม กลิ่นตัวแรงจัง หงุดหงิดไหม หงุดหงิด

     ๔. บางคนตั้งใจมาแต่เช้าเลย แต่ว่ารถมันออกสาย นั่งคอยตั้งนาน หงุดหงิดไหม หงุดหงิด

     ๕. นัดกับเพื่อนมา ไม่เจอกันหงุดหงิดไหม หงุดหงิดอีก

     ๖. นั่งมาในรถ ก่อนขึ้นรถก็เข้าห้องน้ำห้องส้วมมาเรียบร้อยแล้ว หนอยแน่ะรถติด กลั้นปัสสาวะนานเป็นชั่วโมง หงุดหงิดไหม หงุดหงิด

     ๗. นั่งมาในรถ เพื่อนที่นั่งข้างๆ หลับสัปหงก เอนตัวมาเบียด เอาหัวมาโขกเราอีก หงุดหงิดไหม หงุดหงิด

     สารพัดจะมีเรื่องให้หงุดหงิด หลวงพ่อก็ชี้ให้เขาดู มันเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ๕๐-๖๐ คนที่เดินลงมาจากรถบัส มาวัดนะ หน้าหงิกไปเสียตั้ง ๓๐-๔๐ คน การให้การต้อนรับจึงต้องทำให้ดี เพื่อจะได้รักษาใจเขาไว้

 

     แล้วหลวงพ่อก็สอนต่อ “ไป ลูกไปช่วยเขา เขาถือปิ่นโตมาหนักไปช่วยเขาถือ” ถ้าไม่ได้เอาปิ่นโตมา เดินมือเปล่าก็ให้ไปทักเขา ไปสนทนากับเขา แต่เวลาสนทนา หลวงพ่อก็สั่งอีก “ลูกอย่าคุยกับเขานานนัก ดูหน้าเขามุ่ยๆ แล้วต้องหยุด รีบจบเรื่องพูด” แต่ไม่ใช่สะบัดหน้าหนีเลยนะ เชิญเขาไปกราบพระ ไปดูร้านขายหนังสือแล้วก็ปล่อยเขาไป ถ้าสังเกตดูรู้ว่าเป็นคนใหม่ เพิ่งมาวัดครั้งแรก บอกเขาเลยห้องน้ำอยู่ตรงโน้น จุดแจกอาหารอยู่ตรงนี้ ถ้าเขายังเงอะงะก็พาไปเลย พอใกล้ไปเองได้แล้วก็ปล่อยเขาไป เขาจะได้รีบไปอย่าไปรบกวนเวลาชวนคุย แต่ถ้าเขาสบายๆ ดีมีเวลามากก็คุยไป แนะนำไป ถ้าเรามีธุระรับผิดชอบเฉพาะจุดก็ส่งลูกต่อให้เพื่อนที่ว่าง ดูแลต่อไป ข้อสำคัญ หมั่นสังเกตดูนะอย่าให้เขารำคาญเรา

 

     เรื่องความพอดีอยู่ตรงไหนนี่บอกกันยากนะ ต้องอาศัยความช่างสังเกตและประสบการณ์ ถ้าเจ้าหน้าที่ฝึกใหม่ของหลวงพ่อทำอะไรไม่เหมาะไม่ควรก็ให้อภัยแกเถอะนะ เพราะแกกำลังฝึกตัว ยังอ่อนหัดอยู่

 

     ทีนี้พวกเราอยู่ที่บ้าน มีลูกมีหลาน ถ้าใครมาที่บ้านฝึกเถอะ ฝึกเด็กของเราให้รู้จักต้อนรับให้เป็น บรรเทาความหงุดหงิดของแขกให้ได้ แล้วอีกหน่อยลูกของเราเด็กของเราจะดีวิเศษเลยแกจะเข้าอกเข้าใจคนอื่น เข้าใจคุณพ่อคุณแม่ เข้าใจตัวเองได้เร็ว

 

     เรื่องที่จะฝึกมีอะไรบ้าง ก็ง่ายๆ ให้ตักน้ำตักท่ามาให้แขกดื่ม คุยกับแขก รอเวลาคุณพ่อคุณแม่จะออกมา เรื่องที่คุยก็สอนให้พูดเรื่องที่เหมาะที่ควรประสาเด็ก “คุณป้าเดินทางมาเหนื่อยไหม ร้อนไหม” หาพัด หาพัดลมมาให้ เดี๋ยวเถอะผู้ใหญ่เขาก็เอ็นดู ซักเรื่องนั้นเรื่องนี้ ต้องสอนให้ลูกรู้จักรายงานตัวด้วย ผมชื่อนั้นชี่อนี้ เป็นลูกคนที่เท่าไหร่ คุณป้า คุณลุง มีลูกมีหลานอายุเท่าผมไหม ฯลฯ ความช่างเจรจา มารยาทดีๆ ของลูกเรา อาจทำให้เรื่องร้อนที่แขกมากลายเป็นเรื่องเย็นไปได้เหมือนกัน

 

     สิ่งที่แถมมาอย่างหนึ่งในการทำหน้าที่ต้อนรับคือ ปฏิภาณใครว่าปฏิภาณฝึกไม่ได้ ไม่จริง ฝึกอย่างนี้แหละปฏิภาณมันจะเกิด หลวงพ่อเองก็ถูกฝึกมาอย่างนี้ อยู่บ้านตอนเด็กๆ เวลามีแขกมาบ้านโยมพ่อจะเรียกมาต้อนรับ ให้ยกน้ำมาให้แขกดื่มให้มาไหว้มารายงานตัว แล้วโยมพ่อจะแนะนำแขกคนนั้นว่าเป็นลุง เป็นป้า เก่งอย่างโน้น ดีอย่างนี้ แล้วก็ถือโอกาสฝากฝังหลวงพ่อให้อยู่ในความดูแลของญาติคนนั้นๆ ด้วย ถ้าเห็นไปเกเรที่ไหน อนุญาตเสร็จให้ตีได้เลย ตกลงหลวงพ่อมีคนดูแลทั้งหมู่บ้านเกเรไม่ได้ มีเหมือนกันที่แขกบางคนของโยมพ่อเป็นคนไม่ดี เป็นนักเลง คนแบบนี้แม้หลวงพ่อนั่งอยู่ก่อนก็จะถูกไล่ให้ไปนั่งที่อื่น อ้างว่าผู้ใหญ่จะคุยกัน แบบนี้หลวงพ่อจะนึกรู้ทันทีว่าคนนี้ไม่ดี ไม่นานปฏิภาณก็เกิด แค่เห็นรูปร่างท่าทางก็ดูออกแลวว่าเป็นคนดีไม่ดี แล้วหลวงพ่อก็รู้จักวิธีทำให้แขกพอใจมากตั้งแต่เด็ก

 

     เวลาอยู่ที่โรงเรียน เนื่องจากหลวงพ่อคล่องเรื่องนี้มาแต่บ้าน ครูบาอาจารย์ก็เลยใช้ให้ต้อนรับแขกเป็นประจำ ก็ได้ปฏิภาณเรื่องอื่นๆ เพิ่มขึ้นอีก พอมาบวช คุณยาย (อุบาสิกา จันทร์ ขนนกยูง) หลวงพ่อธัมมชโย ก็ใช้ให้รับแขกอีก เพราะฉะนั้น จึงได้บทฝึกปฏิภาณมาตลอดทาง ก็ฝากเอาไว้ด้วย อยากได้ลูกแก้วให้ฝึกอย่างนี้

 

     อย่างไรก็ตามนะ คนที่จะปฏิสันถารต้อนรับเก่ง ก็ต้องเป็นคนอดทน เพราะคนที่มาหานั้นมีหลายรูปแบบ หลายอารมณ์ ถ้าอดทนได้ตลอดรอดฝั่ง รักษาอารมณ์ได้ดี เราก็จะได้ข่าวสารข้อมูลที่มีประโยชน์จากคนที่มาเยี่ยมเรา ได้ค้นหาความดีในตัวของคนอื่นหลายๆ รูปแบบ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้เราเป็นคนฉลาดและมีปฏิภาณสูง

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0018732825915019 Mins