การพัฒนาประเทศของญี่ปุ่น (๒)

วันที่ 01 กย. พ.ศ.2549

kk490901.jpg

              นอกจากปัจจัยพื้นฐานที่เอื้ออำนวยให้แล้ว สาเหตุที่ทำให้ญี่ปุ่น พัฒนาประเทศได้เร็วยังมีอีกหลายประการ อาตมภาพขอยกไว้ในที่นี้ ๕ ประการ คือ

๑. มีความเชื่อมั่นและมีอุดมการณ์ที่มั่นคงชัดเจน เมื่อประมาณ ๑๕๐ ปีที่ผ่านมา เป็นยุคที่ชาวผิวขาวออกล่าอาณานิคม ยึดดินแดนส่วนต่างๆ ของโลกเป็นเมืองขึ้น ด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัย เทคโนโลยีที่ก้าวหน้ากว่ากันอย่างเทียบไม่ได้ โลกเกือบทั้งโลกตกอยู่ในอุ้งมือของคนผิวขาว ในยุคนั้นชนชาติต่างๆ ในเอเชียและอัฟริกา ส่วนใหญ่แล้วมีความรู้สึกในใจลึกๆ ว่า ตนสู้คนผิวขาวไม่ได้ มีความยำเกรงคนผิวขาว คิดว่าตนนั้นต่ำต้อยกว่า... ในขณะที่ชาวญี่ปุ่นไม่ได้คิดอย่างนั้นเลย เขามีความภูมิใจในเชื้อชาติของเขา มั่นใจว่าชาติของตนต้องเป็นหนึ่งในโลกได้ จึงไม่เคยท้อถอย ไม่ยอมแพ้ตั้งแต่ต้น เมื่อรู้ตัวว่าขณะนั้นยังมีความสามารถน้อยกว่า มีความพร้อมน้อยกว่าก็ทุ่มเททำงานหนักเต็มที่

สโลแกนที่ว่า โอยซึคิ โอยโคะเซะ ซึ่งแปลว่า ไล่ให้ทัน (ฝรั่ง) และแซงให้ได้ ยังฝังแน่นอยู่ในใจของทุกคน ถือเป็นอุดมการณ์ร่วมกันของคนทั้งชาติ

๒. สนใจแก่นมากกว่าเปลือก คนส่วนใหญ่ชอบเรียนลัด ติดที่เปลือกมากกว่าแก่น แต่ญี่ปุ่นเขาสนใจที่แก่นมากกว่าเปลือก เช่น เห็นฝรั่งมีรถขับ คนญี่ปุ่นก็คิดว่า ทำอย่างไรตนจึงจะผลิตรถได้อย่าง ฝรั่ง พูดง่ายๆ เขาคิดว่าความเจริญก้าวหน้าไม่ได้อยู่ที่ประเทศของตนสามารถซื้อรถสวยๆ มาใช้ได้ แต่อยู่ที่สามารถผลิตรถออกมาสู่ตลาดได้ เรื่องอื่นๆ ก็ในทำนองเดียวกัน ลักษณะติดเปลือกมากกว่าแก่นนี้ ปัจุจบันก็ยังเห็นได้ชัด เป็นที่น่าประหลาดใจว่าในขณะที่ประเทศญี่ปุ่นร่ำรวย และประเทศไทยเรามีรายได้ประชาชาติต่ำกว่าเขาเกือบยี่สิบเท่า แต่ประเทศไทยของเรากลับมียอดขายรถยนต์ต่างประเทศราคาแพงติดอันดับต้นๆ ของโลก คิดเป็นเปอร์เซ็นต์แล้วสูงกว่าญี่ปุ่นหลายสิบเท่า... ถ้าเราได้หันมาพิจารณาเรื่องเปลือกกับแก่นกันให้มากกว่านี้ บางทีประเทศของเราจะมีสภาพทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นก็ได้

๓. มีขั้นตอนการทำงานที่ดี คนญี่ปุ่นมีจุดเด่นเรื่องการมอง ขั้นตอนของงานออกชัดเจน และทำงานตามลำดับขั้นด้วยประสิทธิ-ภาพสูงสุด อาตมาเคยคุยกับคนญี่ปุ่นที่เคยไปเที่ยวเมืองไทย เขาบอก ว่า กรุงเทพฯ รถติดจังเลยนะ ทำไมไม่สร้างรถไฟขนส่งมวลชนล่ะ อาตมาตอบไปว่า เรากำลังเตรียมสร้างอยู่ คิดกันมาได้เกือบยี่สิบปีแล้ว ตอนนี้กำลังถกเถียงกันอยู่ว่าจะสร้างลอยฟ้าดีหรือขุดลงใต้ดินดี เขาหัวเราะ เพราะญี่ปุ่นเขาสร้างรถไฟใต้ดินสายแรก คือ สายกินซ่า เมื่อเกือบร้อยปีมาแล้ว ขั้นตอนการทำงานของเขาก็คือส่งทีมผู้เชี่ยวชาญไปศึกษาดูว่า มหานครใหญ่ๆ ในโลกที่มีระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน เขาใช้ระบบรถแบบไหน แต่ละแห่งมีสภาพภูมิประเทศและเงื่อนไขอื่นๆ ต่างกันอย่างไร เมื่อได้ข้อมูลชัดก็สรุปได้ว่า สำหรับประเทศญี่ปุ่นควรใช้ระบบรถไฟฟ้าแบบใด พอตกลงกันเสร็จเรียบร้อย ถึงมีการเปิดประมูลจ้างบริษัทต่างๆ มาสร้าง งานก็ลุล่วงไปด้วยดี ถ้าไปลัดขั้นตอนไม่ศึกษาให้ดี ตัดสินใจเรื่องระบบรถ เส้น ทาง เทคนิคต่างๆ ไม่ชัดเจน แต่เปิดประมูลสัมปทานกันก่อน แล้วมาแก้กันทีหลัง ก็จะมีเรื่องผลประโยชน์ต่างๆ มาเกี่ยวข้อง ทำให้การตัดสินใจยิ่งยากขึ้นอีกหลายเท่า เสียเวลาไปโดยใช่เหตุ

๔. มีการวางแผนระยะยาว ในญี่ปุ่นการตัดสินใจจะมาจากกระบวนการกลุ่ม ทำกันเป็นทีม มีการรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ปัญหา กำหนดแนวทางการพัฒนาอย่างชัดเจน เพราะแผนงานที่วางเอาไว้ตั้งอยู่บนฐานข้อมูลที่มั่นคงถูกต้อง จึงได้รับการปฏิบัติตามอย่างสืบเนื่อง แม้ผู้บริหารจะเปลี่ยนแปลงไปก็ตาม ส่วนของไทยเรา การตัดสินใจมักมาจากผู้มีอำนาจ ตัดสินใจกันรวดเร็วแต่ก็เปลี่ยน แปลงง่ายเช่นกัน พอรัฐบาลเปลี่ยนชุดไปทีก็รื้อแก้กันที เหมือนทำตามอารมณ์ความคิดของผู้มีอำนาจ เราจึงมักถนัดทำงานเฉพาะหน้า กันเป็นส่วนใหญ่ คนไม่ค่อยคิดมองอะไรไกลๆ เพราะคิดว่าคิดไปก็ป่วยการ เดี๋ยวก็เปลี่ยนอีก แผนระยะยาวจึงไม่ค่อยมี ทิศทางการพัฒนาไม่ชัดเจน ต่างคนต่างคิดต่างคนต่างทำไปในทิศทางที่ตนคิดว่าถูกต้อง ซึ่งบางทีก็ขัดกันเอง พลังไม่รวมเป็นหนึ่ง หลายสิ่งหลายอย่างจึงขาดความยั่งยืน ดุจไม้ล้มลุกกระนั้น...

๕. ให้ความสำคัญกับการศึกษา เมื่อเริ่มพัฒนาประเทศ สิ่ง ที่คนญี่ปุ่นให้ความสำคัญอย่างยิ่งก็คือ การศึกษา เริ่มประกาศใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษาแห่งชาติภายใน ๕ ปี สโลแกนว่า โยมิ คะขิ โซโรบัง แปลว่า อ่านออก เขียนได้ คำนวณเป็น คือความรู้พื้นฐานต่ำสุดที่คนญี่ปุ่นต้องมี ส่วนความรู้ชั้นสูงขึ้นไปนั้น วิธีสร้างคน เขาก็ใช้วิธีการคล้ายๆ กับไทย เรา คือส่งคนไปศึกษายังต่างประเทศ แต่ต่างกันที่ว่า ก่อนส่งไปเขาศึกษาก่อนว่า วิชาการแต่ละสาขามีกี่แขนงย่อย ถ้าจะให้ใช้งานจริงได้ดีต้องมีคนไปศึกษากี่คน จากนั้นก็หาคนที่มีคุณสมบัติเหมาะสมส่งไปเรียนยังประเทศที่เก่งที่สุดในสาขานั้นๆ เช่น การแพทย์และทหารบก ต้องเยอรมัน กฎหมายต้องฝรั่งเศส ทหารเรือต้องอังกฤษ การค้าต้องอเมริกา เป็นต้น เรียกว่าไปเรียนกันแบบเป็นทีม ทุกคนรู้ หน้าที่ของตนเองชัดเจน ทุ่มเทเรียนอย่างจริงจัง ระหว่างเรียนก็มีการปรึกษาหารือ ติดตามความคืบหน้า ถ้ามีปัญหาอุปสรรคอะไรที่จะทำให้กลับมาแล้วทำงานไม่ได้ผลเต็มที่ ก็หาทางแก้ไขแต่เนิ่นๆ เรียกว่า พอเรียนจบกลับมาก็ทำงานได้ทันที และยังสามารถสอนคนอื่นๆ ต่อได้ด้วย

        การวางแผนการสร้างคนที่ดีเช่นนี้ ทำให้ญี่ปุ่นสามารถพัฒนาประเทศได้อย่างรวดเร็ว จากประเทศที่ด้อยพัฒนาล้าหลังอย่างยิ่ง ขนาดที่ว่าเมื่อเปิดประเทศใหม่ๆ เจ้าของโรงงานทอผ้าที่ซื้อเครื่องทอผ้ามาจากต่างประเทศ หาคนมาทำงานไม่ได้ เพราะมีข่าวลือว่า เครื่องจักรทอผ้ากินคนได้ คนเลยไม่กล้ามาทำงานด้วย แต่ภายในเวลา ๓๐ ปี ญี่ปุ่นมีโรงงานอุตสาหกรรมเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด มีโรงงานถลุงเหล็ก ต่อเรือรบได้เอง มีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า สามารถสร้างกองเรือรบที่ทรงอานุภาพ รบชนะรัสเซียซึ่งเป็นมหา อำนาจตะวันตกชาติหนึ่งในยุคนั้นได้ ทำให้โลกต้องตะลึงในความเป็นชาติเอเชียเพียงชาติเดียว ที่สามารถก้าวขึ้นมายืนเคียงบ่าเคียงไหล่กับมหาอำนาจตะวันตกได้อย่างเต็มภาคภูมิ ภายในเวลาเพียง ๓๐ ปี

   กาลเวลาหมุนเวียนผ่านไป ประวัติศาสตร์ยังคงคลี่เปิดหน้าใหม่อยู่เสมอ สิ่งที่เราทำในวันนี้ ก็จะเป็นประวัติศาสตร์ในวันต่อไป เราควรศึกษาบทเรียนจากประวัติศาสตร์ แล้วตั้งใจปรับปรุงการทำงานของตัวเรา หน่วยงานของเรา ประเทศชาติเราให้เกิดประ-สิทธิภาพ เพื่อประวัติศาสตร์ที่เราร่วมกันสร้างในวันนี้ จะได้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่อนุชนรุ่นหลัง ให้พวกเขาได้รำลึกถึงด้วยความชื่นชมภาคภูมิต่อไป

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0011590997378031 Mins