สังคหวัตถุ

วันที่ 02 สค. พ.ศ.2553

 

.....พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเรียกสังคหวัตถุ ๔ ว่า เป็นธรรมเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจคนให้อยู่รวมกันได้ด้วยความรักและสามัคคี ทั้งทรงเปรียบสังคหวัตถุ ๔ ว่า เป็นเสมือนเพลา หรือสลักรถที่เชื่อมล้อทั้ง ๒ ด้านไว้จึงทำให้รถแล่นไปได้ ถ้ารถปราศจากเพลาหรือสลักเสียแล้ว ย่อมแล่นไปไม่ได้ฉันใด ถ้าโลกนี้ขาดสังคหวัตถุธรรมเสียแล้ว ความเคารพนับถือกันระหว่างบุคคล ย่อมไม่เกิดขึ้นฉันนั้น เช่นบุตรธิดาก็ไม่มีความเคารพนับถือมารดา บิดา เป็นต้น

 

โดยเหตุนี้ บัณฑิตทั้งหลายจึงให้ความสำคัญต่อการปฏิบัติสังคหวัตถุธรรมเป็นอย่างยิ่ง และบุคคลใดก็ตามที่มีอริยวินัยประพฤติปฏิบัติสังคหวัตถุธรรมอย่างสม่ำเสมอ ย่อมได้รับการสรรเสริญจากผู้รู้ทั้งหลาย

 


ข้อคิดเกี่ยวกับสังคหวัตถุธรรม

   โดยเหตุที่โลกเรานี้มีทรัพยากรอยู่อย่างจำกัด คนทั่วไปจึงพยายามกอบโกยทรัพย์สมบัติเข้ามาไว้ในครอบครองให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ แม้จะต้องประพฤติทุจริต คนส่วนมากจึงเห็นแก่ตัว ไร้หิริโอตตัปปะ อยู่ร่วมกันในสังคมอย่างชนิดที่มือใครยาวสาวได้สาวเอา หาความเมตตากรุณาต่อกันได้ยาก คนที่ไม่สมปรารถนาในสิ่งที่ตนอยากได้ก็เป็นทุกข์ หรือได้น้อยกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ก็เป็นทุกข์ คนในสังกัดจึงต่างรู้สึกกว่าตนเองอยู่ในโลกของความขาดแคลนสารพัด

 

และความขาดแคลนมีทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม จากสังคหวัตถุธรรม ย่อมมีนัยว่า พระองค์ทรงประจักษ์ว่า ความขาดแคลนอย่างหนักหนาสาหัสของคนเรา มีอยู่ ๔ ประการด้วยกัน คือ

 

  • ขาดแคลนทรัพย์สิ่งของ
  • ขาดแคลนกำลังใจ
  • ขาดแคลนความรู้ความสามารถในการแสวงหาสิ่งที่ตนอยากได้
  • ขาดความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
 
ถ้าปล่อยให้คนในสังคมต่างหวาดผวาว่า ตนมีความทุกข์มีความขาดแคลนและขาดความปลอดภัยอยู่ตลอดเวลาเช่นนี้ การพัฒนาลักษณะนิสัยของคนดีตามวิธีการในทิศ ๖ อาจไม่ประสบผลสำเร็จ พระพุทธองค์จึงทรงแสดงสังคหวัตถุ ๔ เพื่อเป็นบทฝึกพัฒนา ความมีเมตตากรุณาให้เกิดขึ้นในจิตใจของทุกคนก่อน โดยให้ต่างคนต่างตั้งใจสงเคราะห์ในสิ่งที่แต่ละฝ่ายขาดแคลาน คือ

 

๑. ทาน การให้ อาจเป็นการแบ่งปันสิ่งของซึ่งกันและกัน การแลกเปลี่ยนกันด้วยน้ำใจไมตรี การบริจาคสิ่งของให้ผู้ยากไร้ รวมทั้งการบริจาคทานให้แก่พระภิกษุสงฆ์ผู้ที่ยังชีพด้วยการบิณฑบาตตามพุทธวินัย ผู้ที่ให้ทานสม่ำเสมอจนเป็นนิสัย ย่อมมีควาเมตตากรุณาต่อผู้อื่นเสมอ

 

๒. ปิยวาจา การเจรจาไพเราะ ถ้อยคำมุสาวาททุกแบบนอกจากจะบั่นทอนกำลังใจกันแล้ว ยังก่อให้เกิดความอาฆาตพยาบาท และเป็นศัตรูกันอีกด้วยดังนั้นคนเราจึงจำเป็นต้องเจรจากันด้วยถ้อยคำไพเราะ ผู้ที่เจรจาไพเราะได้ ก็เพราะมีใจเมตตากรุณาเป็นพื้นฐานสำคัญ ขณะเดียวกันเจรจาไพเราะย่อมเป็นการให้กำลังใจกัน สร้างความรักสมัครสมานสามัคคีกัน ทำให้มิตรภาพระหว่างกันยืนยาวตลอดไป

 

๓. อัตถจริยา การประพฤติให้เป็นประโยชน์ เป็นการช่วยเหลืออนุเคราะห์ ฝ่ายที่ขาดแคลนความรู้ความสามารถในเรื่องต่างๆ ตามความเหมาะสม เป็นการพัฒนาความเมตตากรุณาและความรับผิดชอบต่อสังคมแบบหนึ่ง ซึ่งจะช่วยให้ผู้คนในสังคมสามารถมีความเป็นอยู่ดีขึ้น สามารถลดปัญหาช่องว่างระหว่างชนชั้นได้มาก

 

๔. สมานนัตตา ความเป็นผู้มีตนเสมอในธรรมทั้งหลาย เป็นการแสดงความจริงใจต่อเพื่อนทุกๆ ทิศ เพื่อแสดงให้ผู้ที่คบหาสมาคมกับเรารู้สึกปลอดภัย ไม่ต้องหวาดระแวงว่า คนที่เป็นเพื่อนกันด้วยดีเสมอมา จะกลับกลายเป็นศัตรูมุ่งทำร้ายทำลายกันเมื่อใดก็ได้ เมื่อต่างฝ่ายต่างมีความจริงใจต่อกัน ย่อมอยู่ร่วมกันได้ด้วยความสามัคคี รักใคร่กลมเกลียวกัน เมตตากรุณาต่อกัน ความรักสามัคคีกันระหว่างคนในสังคม ย่อมนำความมั่นคงปลอดภัย และความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ชาติบ้านเมือง

 

จะเห็นว่าคุณธรรมทั้ง ๓ ข้อคือ อริยวินัย หิริโอตตัปปะ และความเมตตากรุณานี้เป็นสิ่งที่จะเป็นต้องปลูกฝังอบรมให้เกิดขึ้นในจิตใจของทุกคนให้ได้ บุคคลที่สมบูรณ์ด้วยคุณธรรมทั้ง ๓ ข้อนี้เท่านั้น จึงจะสามารถปั้นให้คนดีตามแนวทางในทิศ ๖ ได้อย่างมั่นคง และยั่งยืนตลอดไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องความเมตตากรุณานั้น สามารถส่งเสริมบุคคลให้ปฏิบัติสังคหวัตถุ ๔ ได้สัมฤทธิผลอย่างแท้จริง สังคมที่ขาดสังคหวัตถุธรรมย่อมมีแต่ความแตกแยกร้าวราน ไม่มีทางเจริญรุ่งเรือง ถ้าขาดสังคหถวัตถุธรรมส่งเสริมสนับสนุน ความสำเร็จในการฝึกอบรมเพื่อก่อให้เกิดเครือข่ายคนดีของทิศ ๖ ย่อมไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย
 
 
 
 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.020365067323049 Mins