วารุณิชาดก ชาดกว่าด้วยความสู่รู้อวดฉลาด

วันที่ 06 ธค. พ.ศ.2565

ข้อคิดจากชาดก  วารุณิชาดก  ชาดกว่าด้วยความสู่รู้อวดฉลาด

 

ข้อคิดจากชาดก

วารุณิชาดก

ชาดกว่าด้วยความสู่รู้อวดฉลาด
 

สถานที่ตรัสชาดก

.....เชตวันมหาวิหาร นครสาวัตถี



สาเหตุที่ตรัสชาดก

        เพื่อนคนหนึ่งของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เป็นพ่อค้าเหล้า มีฝีมือเป็นเลิศในการผสมเหล้า เป็นที่ติดอกติดใจของบรรดาคอเหล้าทั้งหลาย แต่ละวันจะมีลูกค้ามานั่งดื่มที่ร้าน อย่างอุ่นหนาฝาคั่งตลอด

วันหนึ่ง อากาศร้อนอบอ้าว เขาผสมเหล้าขายจนเหงื่อไหลไคลย้อย เหนียวตัวไปหมด จึงใช้ให้ลูกจ้างขายแทน แล้วไปอาบน้ำ

        ขณะที่ลูกจ้างรินเหล้าขายอยู่นั้น เขาสังเกตเห็นว่า พวกคอเหล้าทั้งหลาย มักจะไปล้วงเกลือในไหที่ตั้งไว้ มาเคี้ยวกินอยู่เรื่อยๆ เขาคิดว่า เหล้าคงมีรสอ่อนเกินไป จึงเทเกลือทะนานหนึ่งลงไปในไหเหล้า แล้วรินไปให้ลูกค้าที่สั่ง เมื่อลูกค้าเหล่านั้นดื่มเข้าไปแล้วต่างพากันบ้วนทิ้ง เอะอะโวยวายว่าเหล้าเสีย บ้างก็มาตะคอกถาม บ้างก็ตรงเข้ามาจะทำร้าย หาว่าลูกจ้างนี้คิดจะแกล้ง แต่เมื่อลูกจ้างนั้นบอกสาเหตุที่ตนผสมเกลือเข้าไป พวกคอเหล้าทั้งหลายจึงรุมด่าว่าเป็นการใหญ่ แล้วพากันลุกเดินออกจากร้านไปหมด

        เมื่อพ่อค้าเจ้าของร้านกลับมาเห็นร้านว่างเปล่า ไม่มีลูกค้าอยู่เลย ก็รู้สึกแปลกใจมาก ครั้นสอบถามได้ความจริงแล้ว จึงได้แต่ตำหนิในความโง่เขลาของลูกจ้าง แล้วเดินออกจากร้านไปด้วยอารมณ์ขุ่นมัว พลันนึกถึงท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี จึงแวะเข้าไปพูดคุยระบายอารมณ์กับท่าน

        ท่านเศรษฐีจึงปลอบใจไปตามสมควร ครั้นเพื่อนกลับไปแล้ว ท่านจึงไปเฝ้าพระบรมศาสดา ณ เชตวันมหาวิหาร กราบทูลเรื่องทั้งหมดให้ทรงทราบ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงระลึกชาติแต่หนหลัง ด้วยบุพเพนิวาสานุสติญาณ แล้วตรัสว่า

        “ มิใช่แต่ชาตินี้เท่านั้น ที่ชายคนนี้ทำเหล้าเสีย แม้ในชาติก่อนก็ทำให้เหล้าเสียมาแล้วเหมือนกัน”

        แล้วทรงนำ วารุณิชาดก มาตรัสเล่า ดังนี้

 

เนื้อหาชาดก

        ณ กรุงพาราณสี มีพ่อค้าคนหนึ่งมีฝีมือในการปรุงเหล้าเป็นที่ติดอกติดใจของบรรดาคอเหล้าทั้งหลายเป็นอย่างมาก

        ทุกๆ วัน จะมีลูกค้ามานั่งดื่มที่ร้าน ตั้งแต่เริ่มบ่ายไปจนถึงเย็น ครั้นแดดร่มลมตก คนก็ยิ่งแน่น ขึ้นชื่อว่าคอเหล้าแล้ว ใครไม่มานั่งดื่มเหล้าที่ร้านนี้เป็นไม่มี

        วันหนึ่ง พ่อค้าขายเหล้าให้ลูกค้ามาตั้งแต่บ่าย รู้สึกร้อนและเหนียวตัวเป็นกำลัง จึงร้องสั่งให้ลูกจ้างคนหนึ่งว่า

        “ นี่แนะ โกณทัญญะ เดี๋ยวข้าจะไปอาบน้ำสักหน่อย ร้อนจริงๆ เอ็งมาขายแทนข้าสักประเดี๋ยวเถอะ”

        เมื่อพ่อค้าเดินไปแล้ว นายโกณทัญญะก็ยกเหล้าไปบริการลูกค้า ตามที่สั่ง

        ลูกค้าคนนั้น เห็นนายโกณทัญญะซึ่งเป็นลูกจ้าง ยกเหล้ามาจึงสั่งว่า

        “ นี่ ไอ้น้อง!! เอ็งช่วยหยิบเกลือให้สักกำมือเถอะ”

        ลูกค้าคนอื่นๆ ก็พลอยสั่งตามด้วย

        “ เออ นี่ เอาให้ข้ากำมือนึงด้วยนะ”

        “ ข้าด้วยๆ แหม!! ดื่มเหล้าต้องเคี้ยวเกลือ ถึงจะมัน”

        ขณะที่หยิบเกลือไปให้ลูกค้า เขาคิดว่าเหล้าที่ขาย คงมีรสอ่อนไป จึงเทเกลือทั้งทะนาน ลงไปในถังเหล้า แล้วรินไปให้ลูกค้าที่สั่ง

        “ มาแล้วจ๊ะ เหล้าสูตรใหม่ รสกำลังพอดี กินแล้วรับรองว่าจะติดใจไปนาน”

        เมื่อลูกค้าดื่มเข้าไป ก็ถึงกับลุกพรวดขึ้นทันที

        “ เฮ้ย!! ไอ้เบื๊อก เอ็งเอาอะไรใส่ลงไปวะ???”

        “ ถุย!!! นี่หรือวะ เหล้าสูตรใหม่ อยากจะอ้วก”

        บางคน เมื่อดื่มแล้วก็บ้วนทิ้ง จนพื้นร้านเลอะเทอะเปรอะเปื้อนไปหมด บ้างก็ตรงเข้ามารกะชากคอเสื้อนายโกณฑัญญะ แล้วตะคอกถามเสียงเขียวว่า

        “ เอ็งคิดจะแกล้งข้า หรือไงวะ?”

        “ เปล่าจ๊ะพี่ ฉัน.. เอ้อ…” นายโกณฑัญญะตอบอ้อมแอ้มด้วยความกลัว

        “ ก็ฉันเห็นพวกพี่ขอเกลือไปเคี้ยวกัน ฉันคิดว่าเหล้าคงจะจืดไป ก็เลยเติมเกลือลงไปจ๊ะ ขอได้โปรด..” นายโกณทัญญะร้องอ้อนวอนให้ชายคนนั้นปล่อยตัว

        “ โธ่เอ๋ย ไอ้โง่ ไอ้เวร ไอ้สู่รู้ กูไม่เคยเห็นใครโง่เท่าเอ็งเลย หนอย.. เสือกเอาเกลือมาใส่เหล้า ถุย”

        ลูกค้าทั้งหลายต่างพากันบ่นว่าต่างๆ นาน แล้วเดินออกจากร้านไปจนหมด เมื่อพ่อค้ากลับมา เห็นดังนั้นก็ตกใจ ครั้นสอบถามได้ความแล้ว ก็ได้แต่ด่าว่านายโกณทัญญะ แล้วนำเรื่องนี้ไปปรับทุกข์กับเศรษฐีที่เป็นเพื่อนกันฟัง เศรษฐีจึงปลอบโยน แล้วกล่าวว่า

        “ การประพฤติประโยชน์โดยคนที่ไม่ฉลาดในประโยชน์ ย่อมไม่นำความสุขมาให้เลย คนมีปัญญาทรามย่อมทำประโยชน์ให้เสียไป เหมือนนายโกณทัญญะทำเหล้าดีๆ ให้เสีย ฉะนั้น”

 

ประชุมชาดก

 

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประชุมชาดกว่า

นายโกณทัญญะ     ได้มาเป็น       ลูกจ้างผู้ทำเหล้าเสียในครั้งนี้

เศรษฐีเพื่อนพ่อค้าเหล้า               พระองค์เอง                 

 

ข้อคิดจากชาดก

        ๑ . คนที่ขาดความรอบรู้ คิดว่าตนฉลาด มักคาดคะเน และกระทำการตามความเข้าใจของตน ย่อมเป็นเหตุให้เกิดความสูญเสียอยู่เสมอ

        ๒. คนที่ตั้งใจทำดี แต่ไม่ได้ดี เพราะ

                ๑. ทำไม่ถูกดี เหมือนคนโง่ แต่ขยัน ตัวอย่างเช่น คนซักเสื้อ แทนที่จะขยี้ตรงจุดที่สกปรก ก็มัวแต่ไปขยี้ที่อื่น ขยี้ไม่ถูกที่สักที ถึงจะเสียเวลาซักนาน เสื้อก็ไม่สะอาด

                ๒. ทำไม่ถึงดี เหมือนคนฉลาด แต่ขี้เกียจ ตัวอย่างเช่น คนซักเสื้อ รู้ว่าควรจะซักตรงไหน ขยี้นานแค่ไหน แต่ก็ไม่ทำอย่างนั้น กลับทำเพียงสักแต่ว่าซัก ขยี้สองสามที พอได้ซื้อว่าซักแล้ว เสื้อก็ไม่สะอาด

                ๓. ทำไม่พอดี เหมือนคนฉลาด , ขยัน แต่ไม่รู้ประมาณ ตัวอย่างเช่น คนซักเสื้อ ขยี้เสื้อสะอาดแล้ว ก็ยังขยี้ตรงนั้นต่อไปอีก ในที่สุด เสื้อก็เลยขาด

        ๓. ในขณะที่เราทำความดีแล้ว แต่ผลแห่งความดียังไม่ปรากฏชัดเจนนั้น มิได้หมายความว่าเราจะยังไม่ได้ดีเสียทีเดียว แต่เราจะได้รับผลในระดับดังนี้ คือ

                ๑. ระดับจิตใจ จะได้รับความชื่นใจทันที เพราะรู้ตัวว่าตนทำความดีแล้ว

                ๒. ระดับบุคลิก เมื่อทำความดีบ่อยๆ จนเคยชินแล้ว ก็จะคิดแต่เรื่องดีๆ พูดดีๆ การแสดงออกจะเปลี่ยนไปในทางที่ดียิ่งขึ้น

                ๓. ระดับวิถีชีวิต จะเปลี่ยนไปในทางที่ดี ที่เคยทำชั่วบ้าง แม้เล็กๆ น้อยๆ ก็จะไม่ทำ จะเลือกคบคน และไปมาหาสู่กันในหมู่คนดี ผู้หลักผู้ใหญ่ที่มีคุณธรรม จะเมตตา

                ๔. ระดับสังคม บุคคลรอบข้าง จะยอมรับว่าเป็นคนดีจริงๆ ให้ความเชื่อถือ ให้ความเคารพยำเกรง

 

 

ข้อคิดจากชาดก วารุณิชาดก ชาดกว่าด้วยความสู่รู้อวดฉลาด

ข้อคิดจากชาดก
วารุณิชาดก
ชาดกว่าด้วยความสู่รู้อวดฉลาด

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0011532306671143 Mins