ข้อคิดสำหรับผู้ที่คิดจะแต่งงาน

วันที่ 30 พย. พ.ศ.2558

ข้อคิดสำหรับผู้ที่คิดจะแต่งงาน


             บรรพบุรุษของไทยชาญฉลาด ท่านผูกคำเอาไว้ดีมากคือคำว่า " แต่งงาน " สังเกตว่ามีสองคำรวมกันคือคำว่า " แต่ง " กับ " งาน " ช่วงกำลังรักใคร่ชอบพอกันเป็นช่วง " แต่ง " ต่างคนก็เสริมแต่งความสวยหล่อมาอวดเพื่อดึงดูดกันว่า ฉันดี ฉันสวย ฉันรับผิดชอบ ฉันรักเธอจริง  ฉันพร้อมจะดูแลเธอไปตลอดชีวิต สารพัดจะแต่งเติมเพื่อมัดใจอีกฝ่ายหนึ่ง


         พอได้แต่งงานกันจริงๆ ก็จะเข้าสู่ภาวะที่ 2 คือภาวะของ " งาน " มันหมดเหตุจำเป็นที่ต้องเสริมแต่งโอ้อวดกัน เพราะตอนนี้กลายเป็นสามีภรรยากันแล้ว เข้าสู่ภาวะของงาน คือภาระในการครองคู่  อย่าไปคิดว่า 
ถ้าเราสองคนได้ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันแล้วเราจะเป็นคู่รักเหมือนในละคร ที่ได้ไปฮันนีมูน ได้ท่องเที่ยวและมีคนมา
คอยเอาใจ เราจะไม่เหงาแล้วเพราะมีคนคอยดูแลเราไปตลอดชีวิต หลังแต่งงานคนส่วนใหญ่คาดหวังแต่ด้านดี
แล้วมักจะ " ผิดหวัง " เพราะว่า " หวังผิด " ต่างฝ่ายต่างหวังให้อีกฝ่ายดูแลเอาใจตนเองไปตลอดชีวิต พอเราเกิดความต้องการเรียกร้องอีกฝ่ายหนึ่ง เราก็มักไม่สมหวัง เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นให้เราตระหนักถึงความจริง 2 ประการเป็นอย่างน้อยว่า

 

ประการแรกคนเราไม่ได้หนุ่มสาวไปตลอดชีวิต ไม่นานก็ต้องแก่เฒ่า ต้องเจ็บต้องตายกันไป ที่ดูสวยงามนั้นเพียงไม่กี่ปี อย่างมากก็ไม่เกิน 20 - 30 ปีพอคนเราอายุได้ 50 - 60 ปีไปแล้ว ความสวยหล่อก็หมดไป พุงพลุ้ยบ้าง ศีรษะล้านบ้าง สภาพร่างกายไม่เหมือนเก่า ดาราที่ว่าหล่อสวยพออายุมากเข้า 60 - 70 ปีก็ยังไม่หลงเหลือความสวยหล่อให้เห็น


        เราอย่าไปคิดว่าความสวย ความงาม หรือความหล่อที่เห็นๆกันอยู่นั้น จะคงอยู่กับเขากับเราไปตลอดชีวิต
มันอยู่กับเราเพียงชั่วคราว แต่ที่ยั่งยืนคือคุณธรรมความดีที่อยู่ในใจต่างหาก  สำหรับฝ่ายหญิง เวลาที่เราดูใครก็อย่าไปดูที่มายาฉาบหน้าว่า เขาดูดี ดูหล่อ หรือเขาปากหวาน แต่ให้เราดูว่าเขามีคุณธรรมความดีในตัวแค่ไหน เขาจะสามารถรับผิดชอบครอบครัวได้ไหม เขาจะเป็นพ่อของลูกเราได้ไหม ส่วนฝ่ายชายก็ให้ดูว่าผู้หญิงคนนี้เหมาะจะเป็นแม่ของลูกเราไหม เธอจะดูแลลูก ดูแลครอบครัวเราได้ดีหรือไม่ให้ดูกันตรงนี้เป็นหลัก เพราะว่าของจริงที่เราต้องเผชิญคือภาวะเรื่อง " งาน " นี้เอง

 

ประการที่สองให้ตระหนักว่า ชีวิตการครองเรือนนั้นมีภาระมากมาย คนเรารับผิดชอบตนเองก็หนักหนาอยู่แล้วพอมีครอบครัวความรับผิดชอบนั้นทวีคูณ ลองคิดดูว่า ขนาดตัวเราเองแท้ๆ มือของเรา เท้าของเรา ปากของเรา ทั้งตัวเป็นของเรา เราสั่งตนเองได้ แต่บางทีเรายังหงุดหงิดตนเองยังรู้สึกขัดใจตนเองเลย แล้วจะให้คนอื่นมาถูกใจเราไปหมดนั้นยิ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น พออยู่กันเป็นครอบครัว ความไม่ได้ดั่งใจจะมากกว่าอยู่คนเดียวหลายเท่าเราไม่ได้ดูแลตนเองเพียงอย่างเดียวแล้ว แต่ยังต้องคอยทำตัวให้ถูกใจเขา และคอยรองรับอารมณ์ตนเองเวลาที่เขาทำไม่ถูกใจเราด้วยเช่นกัน ดังนั้น ความผิดหวังย่อมมีมากกว่าความสมหวัง พึงรู้อีกอย่างว่า คนเรายังไม่หมดกิเลส มันเปลี่ยนได้ตลอดเวลา บางคนประพฤติดีมาโดยตลอด ทั้งขยันขันแข็ง 
ทำงานเก่ง รับผิดชอบครอบครัว เป็นผู้นำที่ประสบความสำเร็จ แต่จู่ๆ กลับมาเสียคนตอนอายุ 60 เพราะเกิดเหงาแอบมีบ้านเล็กบ้านน้อยอย่างนี้ก็มี 

 

    " มากรักก็มากทุกข์ มากรักก็มากโศก หมดรักก็หมดทุกข์ หมดรักก็หมดโศก " ศัพท์บาลีว่า " ปิยโต ชายเตโสโก... " แปลว่า " ความโศกเกิดจากความรัก "  มีความรักเกิดขึ้นเมื่อใดให้เตรียมใจรับความโศก เพราะมันจะมาเยือนเรา เป็นแน่ด้วยเหตุต่างๆ เพราะฉะนั้นถ้าไม่อยากโศกเศร้าให้ตัดใจ อย่าให้เกิดความรักแต่ต้นดีที่สุด หากพิจารณาแล้วว่า ชีวิตหลังแต่งงานนั้นวุ่นวายจะแก้ปัญหาโดยการไม่มีคู่ครอง หรือว่าเลือกที่จะประพฤติพรหมจรรย์นั้นถือว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุด ถ้าสามารถทำได้เราก็จะมีอิสระ และมีเวลาในการทำกิจต่างๆ ได้อย่างเต็มที่ หากเป็นผู้ชายก็ให้มาบวชช่วยกันศึกษาธรรมะ ปฏิบัติธรรม แล้วเผยแผ่ธรรมะนั้นดีที่สุด  ส่วนฝ่ายหญิงก็สามารถประพฤติพรหมจรรย์ได้ แต่จริงๆแล้วคนที่จะตัดใจได้ขนาดนั้นคงมีไม่มาก ก็ไม่ต้องกังวลว่าพระอาจารย์จะชวนให้มาบวชกันหมดทั้งบ้านทั้งเมือง แล้วจะไม่เหลือใครสืบทอดเชื้อสายชาติไทย อย่าไปกลัวขนาดนั้น เพราะว่าบวชไม่กลัว กลัวจะไม่บวชมากกว่า ปัจจุบันคนบวชมีไม่มากจึงเกิดวัดร้างขึ้นมากมาย เพราะฉะนั้น ใครพร้อมบวชก็เข้าวัดได้เลย

 

    ขอฝากข้อคิดไว้ว่า ถึงแม้ว่าเราจะครองเรือน ก็ขอให้มีข้อมูลเบื้องต้นเพื่อตระหนักถึงสิ่งที่รอเราอยู่ข้างหน้าก่อนเราจะได้เตรียมตัวเตรียมใจให้พร้อม หากประสงค์จะครองเรือนแล้ว ก็ให้ครองเรือนด้วยความมีสติ แล้วปฏิบัติตนให้ถูกต้อง เราจะสามารถมีชีวิตการครองเรือนที่พอจะมีความสุขได้ตามสมควรแก่อัตภาพคำว่า " สมรส " ปู่ย่าตายาย ท่านผูกคำแฝงนัยสำคัญไว้ว่า " สม " ภาษาบาลีแปลว่า " เสมอกัน " และ " รส " คือ " รสนิยมความชอบ " ดังนั้น " สมรส " หมายถึง " คนมีรสนิยมหรือความชอบเสมอกันมาอยู่ด้วยกัน ถึงจะยั่งยืนและอยู่รอด " และพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสไว้ว่า คู่ชีวิตจะอยู่ร่วมกันได้ดีถ้าเสมอกันใน 4 ข้อ

-----------------------------------------------------------------

หนังสือ " The Lover รักเป็นจะเห็นใจ "

พระมหาสมชาย ฐานวุฑโฒ

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.010820881525675 Mins