สรุป และ ภาษิตหมวดปัญญาบารมีที่มีมาในชาดก

วันที่ 21 ธค. พ.ศ.2558

สรุป และ ภาษิตหมวดปัญญาบารมีที่มีมาในชาดก

 

    ความเป็นไปทั้งหมดของชีวิตล้วนเริ่มต้นที่ความคิด เหตุนี้ปัญญาบารมีจึงประเสริฐสูงสุดปัญญาเป็นสิ่งกำหนดทิศทางชีวิตของสรรพสัตว์ บารมีอื่นๆ จะมากน้อยก็ด้วยปัญญาเป็นสำคัญ แต่มนุษย์เป็นอันมากใช้ชีวิตอยู่ด้วยศรัทธามากกว่าใช้ปัญญา ใครที่ตนศรัทธาจะพูดอะไรให้ฟังย่อมจะเชื่อมากกว่าผู้ที่ตนไม่มีศรัทธามาพูด แม้จะพูดด้วยเหตุผลอันดีก็ตาม

 

    ผู้มีปัญญาย่อมขวนขวายแสวงหาปัญญา หลักการแสวงหาปัญญาจำต้องออกห่างพาลเข้าหาบัณฑิตด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน ลดตนให้ต่ำเหมือนไม่มีค่า เหมือนงูพิษเขี้ยวหลุด พญาครุฑปีกหัก ดังที่พระสารีบุตรผู้เลิศทางปัญญาได้กล่าวไว้ว่า..

    "เรามีมานะและความเขลา(กระด้าง)วางเสียแล้ว ดุจงูถูกถอนเขี้ยว ดุจโคอุสภราชถูกตัดเขาเข้าไปหาหมู่คณะด้วยคารวะหนัก ..บุคคลผู้มีความปรารถนาลามก เกียจคร้าน ละความเพียร ผู้สดับน้อยและไม่มีมารยาท อย่าได้มาสมาคมกับเราในที่ไหนๆสักครั้งเลยส่วนผู้มีการสดับมาก ผู้มีปัญญาตั้งมั่นดีในศีลทั้งหลายและประกอบด้วยสมถะทางใจ ขอจงตั้งอยู่บนกระหม่อมของเราเถิด ..ก็ท่านพระสาวกนามว่าอัสสชิเป็นอาจารย์ของเราอยู่ในทิศใด เราย่อมทำท่านไว้เหนือศีรษะในทิศนั้น(นอนหันศีรษะไปทางทิศนั้น)"

 

    การเข้าหาบัณฑิตย่อมได้ปัญญามาจากความอ่อนน้อมถ่อมตนส่วนปัญญาที่ได้มาด้วยความอดทนโดยมิต้องไปแสวงหา แต่มีผู้ชี้ขุมทรัพย์ให้ นับเป็นปัญญาที่ดียิ่งเพราะเหมาะสำหรับการแก้ไขตัวเอง โดยเฉพาะผู้ที่ถูกยกไว้สำหรับคำเตือน (ไม่รับฟังคำตักเตือน) จึงเข้าสู่หนทางหายนะโดยสิ้นเชิง เพราะผู้ที่ยังไม่หมดกิเลสต้องมีข้อผิดข้อพลาดแน่นอน เมื่อถูกยกจากคำเตือนเสียแล้ว บุคคลเช่นนี้จะได้อะไรจากการมีชีวิตอยู่ คนเช่นนี้หากอยู่โรงเรียนจะได้อะไรจากการมาอยู่ในโรงเรียน เมื่อมิได้คำเตือนจากครูในจุดผิดพลาด จะเป็นเด็กเกเรโตขึ้นเป็นอันธพาล! หากแต่งงานมีครอบครัวจะได้อะไรจากการแต่งงาน จะเอาแต่ใจตัว บ้านแตก! หากมาอยู่วัดจะได้อะไรจากการมาอยู่วัด นอกจากแก่วัดไปเปล่าๆ กลวงๆ ทั้งหมดเพราะถูกปิดหูปิดตาจากคำเตือน เมื่อผู้อื่น
ยังเตือนไม่ได้แสดงว่าตนก็เตือนตนไม่ได้พึงเห็นคนคอยสะกิดผิดใหญ่น้อย เหมือนคนคอยบอกหลุมขุมทรัพย์ให้ควรคบคนฉลาดดีปรีชาไว พูดแคะให้ข้อคิดอย่างศิษย์ครูเมื่อคบหารู้เห็นผู้เช่นนั้นสารพันความดีมีมากอยู่ความเลวทรามต่ำช้ามิน่าดู ไม่มาสู่ผู้นั้นเป็นมั่นคงตนควรต้องเตือนตนให้พ้นผิด ตนเตือนจิตตนได้ใครจะเหมือนตนเตือนตนไม่ได้ใครจะเตือน ตนแชเชือนใครจะช่วยให้ป่วยการ

 

    ในเรื่องการติติงกัน การอยู่ร่วมย่อมต้องกระทบกระทั่งกันเป็นธรรมดา เนื่องเพราะความบริสุทธิ์ของศีลและทิฏฐิต่างกัน หากติมากไปก็เหมือน "ไม่ถนอมน้ำใจ" หากปล่อยไปไม่ติเลยก็เหมือน"ไม่มีน้ำใจ" ดั่งฝนตกมากไปก็ไม่ดี ไม่ตกเลยก็ไม่ดี อยู่ไม่มีสุข การชี้ขุมทรัพย์ใน ภาพไม่เหมาะสมอาจทำใจผู้ฟังที่ใสให้กลายเป็นขุ่น หลุมขุมทรัพย์ก็อาจกลายเป็นหลุมศพกลบฝังผู้ฟัง มิใช่หลุมสมบัติอีกต่อไปส่วนการอยู่ใกล้คนโง่มีแต่โทษ มีแต่จะเสียหาย เสียงาน เสียความก้าวหน้า และเสียใจ

 

    ผู้ชื่อว่ามีปัญญา แต่หากแก้ไขตนเองยังมิได้ ยังไม่เรียกว่ามีปัญญา เพราะไม่มีปัญญาแก้ไขตนเองสอนตนเองยังมิได้ เมื่อสอนตนเองไม่ได้ก็ต้องตกอยู่ในอำนาจกิเลสไม่ชาติใดชาติหนึ่งก็ต้องหลุดไปจากวิถีการสร้างบารมีที่ตั้งใจไว้อย่างแน่นอน

 

    ผู้มีปัญญาจะไม่ประมาท พึงระลึกเสมอว่าในโลกไม่มีใครเก่งทุกอย่าง ล้วนเกิดจากผลบุญบารมีที่ทำมาทั้งสิ้น เป็นอำนาจบุญบันดาล และอำนาจบารมีที่ตนฝึกฝนสะสมมา ไม่มีอะไรพิเศษเฉพาะแก่ใครๆ จึงไม่มีสิ่งใดน่าน้อยใจ ประกอบเหตุทางไหนก็ได้ผลไปแนวนั้น

 

    ผู้มีปัญญาพึงสังวรว่า เมื่อมีความรู้ความสามารถ กิเลสมารก็สบโอกาสส่งทิฏฐิมานะมาพร้อมกับความรู้ความสามารถนั้นๆ ทำให้ทะนงตน หลงตัวเองคิดว่าตนเหนือกว่าผู้อื่น จนมองข้ามผู้อื่นไป ทำลายเส้นทางบุญของตนให้ตกต่ำ บุญจะถดถอย บาปจะแทรกแซง ถ้าคุณธรรมหดหายการสร้างบารมีก็เสื่อมทราม

 

    ผู้มีปัญญาจะไม่หัวเราะเยาะเย้ยใคร แต่จะถนอมน้ำใจกันไว้ ไม่ดูหมิ่นแม้ใครเป็นศัตรูก็ตามปัญญาเป็นของละเอียด ผู้มีใจละเอียดเท่าใด ปัญญาก็มากเท่านั้น กิเลสเป็นของหยาบ ผู้ถูกกิเลสครอบงำใจให้หยาบเท่าใด ปัญญาก็หยาบเท่านั้น เมื่อปัญญาอ่อนกำลัง ความรู้ที่ทำตนให้สูงส่งขึ้นก็หมดไป

 

    ปัญญาบารมี คือ ความรู้ที่ทำตนให้ประเสริฐสูงส่งขึ้นส่วนความรู้ที่ทำตนให้ตกต่ำนำไปทำอกุศลนั้นอยู่ในสภาพที่กิเลสกำกับให้กระทำ ลักษณะนี้ไม่นับว่าเป็นปัญญา เพราะมีกิเลสชักพาให้คิดดังนั้น ผู้นำความรู้ไปใช้ในทางดีเรียกว่าคนมีปัญญาส่วนผู้นำความรู้ไปใช้ทำชั่ว เรียกว่า คนโง่เขลาเบาปัญญา เพราะถูกกิเลสหลอกให้คิดและตกอยู่ในอำนาจครอบงำ ผู้ตามใจกิเลสจนเป็นนิสัยจะกลายเป็นทาสที่อ่อนแอไร้เรี่ยวแรง ถูกมารชักจูงได้อย่างสบาย และอยู่ในความควบคุมดูแลของมารอย่างใกล้ชิดไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อมารอีกต่อไป

 

    ความคิดเจ้าเล่ห์มิใช่ปัญญาบารมี แต่เป็นปัญญาทึบ เพราะกิเลสพาให้คิด คนพาลย่อมคิดได้ทุกคน ยิ่งพาลมากยิ่งคิดเจ้าเล่ห์ได้มาก ไม่ต้องสร้างขึ้นมา แต่บารมีเป็นสิ่งต้องสร้าง เป็นความคิดที่นำความสว่างให้จิตใจเท่านั้น ความคิดที่นำความมืดให้จิตใจเป็นการทำลายปัญญาบารมี

 

    ภาษิตในชาดก
    ผู้มีปัญญาดังไฟไปอยู่ในถิ่นไกล พึงอดทนแม้คำขู่ตะคอกของทา เก็บคำหยาบคายไว้ในใจแล้วทำกิจที่ควรในเวลาเหมาะแก่ตน ในที่ใดที่คนทั้งหลายไม่รู้จักตนว่าเราเป็นกษัตริย์ พราหมณ์เป็นผู้มีศีล เป็นพหูสูต เป็นผู้เพียบพร้อมคุณธรรม อย่าไปถือตัวว่า เขาเรียกเราผู้เยี่ยมปานนี้ด้วยคำลามก ไม่ยอมสักการะและเคารพเรา

    บัณฑิตรังเกียจสิ่งควรรังเกียจ ป้องกันภัยที่ยังไม่มาถึงตัว พิจารณาดูโลกให้เห็นภัยในอนาคต
    คนเขลาไม่ทันถึงความล่วงรู้ มักเชื่อตามเสียงผู้อื่น ถือการเล่าลือเป็นสำคัญส่วนผู้ใดสมบูรณ์ด้วยศีล ยินดีในความสงบ ระงับได้ด้วยปัญญา ชนเหล่านั้นนับว่าเป็นปราชญ์ งดเว้นความชั่ว ไม่เชื่อต่อผู้อื่น แท้ที่จริงศีรษะ มือ เท้า หรือกำลังกายไม่มีกำลังมากในโลก วิจารณปัญญาเท่านั้นประเสริฐสุด ชนใดมักเชื่อตามเสียงคนอื่น ชนนั้นนับว่าเป็นพาล มีความประมาทอย่างยิ่ง ดีแต่เชื่อผู้อื่น

 

    ผู้จองเวรอยู่ที่ใด บัณฑิตไม่ควรอยู่ที่นั้น อยู่คืนเดียวหรือสองคืนก็เป็นทุกข์ คนพาลสำคัญตนว่าเป็นบัณฑิตแล้วบริหารหมู่คณะโดยลุอำนาจแก่ความคิดของตน คนโง่แต่มีกำลังบริหารหมู่คณะไม่ดี ไม่เป็นประโยชน์แก่เหล่าญาติ เหมือนนกต่อไม่เป็นประโยชน์แก่นกทั้งหลาย คนฉลาดมีกำลังบริหารหมู่คณะดี เป็นประโยชน์แก่เหล่าญาติ เหมือนท้าววาสวะเป็นประโยชน์แก่ทวยเทพชั้นไตรทศผู้ใดเห็นศีล ปัญญาสุตตะมีในตน ผู้นั้นย่อมประพฤติประโยชน์แก่คนสองฝ่ายคือทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น ธีรชนควรชั่งใจดูตัวเองเหมือนชั่งใจดูศีล ปัญญาสุตตะ จึงบริหารหมู่คณะบ้าง เว้นการบริหารบ้างมาอยู่คนเดียวบ้าง

 

    กิเลส4 อย่างเหล่านี้คือ ราค โท โมห มท เป็นของมีกำลังกล้าหยาบคายในโลก เมื่อกิเลสใดรึงรัดแล้ว ปัญญาก็หยั่งไม่ถึง

    ศัตรูที่มีความรู้ยังประเสริฐกว่ามิตรโง่ ผู้ฉลาดในสิ่งไม่เป็นประโยชน์ ถึงจะทำความเจริญก็ไม่นำความสุขมาให้ ผู้มีปัญญาทรามมักจะทำประโยชน์ให้เสียหาย การประพฤติประโยชน์โดยผู้ไม่ฉลาดในประโยชน์ ไม่นำความสุขมาให้ บัณฑิตเป็นศัตรูก็ดีกว่าคนโง่ที่มีใจเอ็นดูตั้งร้อยเท่าพันเท่า

 

    คนพาลแย้มพรายเมื่อใด คนไม่น่าถูกจองก็ถูกจองจำได้ บัณฑิตแย้มพรายออกมากาลใดแม้คนถูกจองจำแล้วก็รอดพ้นได้

    การงานย่อมเผาผู้มิได้พิจารณาแล้วรีบร้อนจะทำให้สำเร็จ เหมือนของร้อนที่ไม่พิจารณาก่อนแล้วใส่เข้าปาก ฉะนั้น

    บุคคลเรียนศิลปะเพื่อความสุขแก่ตน แต่บางคนเรียนแล้วกลับนำความพินาศมาสู่ตน ดุจรองเท้าที่ทำไม่ดีกัดเท้าของผู้นั้นนั่นแหละ ผู้ใดไม่ใช่อารยชน เรียนวิชาและศิลปะจากสำนักอาจารย์ได้แล้ว ผู้นั้นย่อมฆ่าตนเองด้วยศิลปะนั้น

 

    ผู้มีปัญญากว้างขวาง แทงตลอดประโยชน์ในอนาคต ย่อมไม่ให้ประโยชน์นั้นผ่านพ้นไปได้แม้แต่น้อยส่วนคนพาลมัวหมกมุ่นอยู่ในโมหะ ไม่เห็นประโยชน์ในอนาคต เมื่อความต้องการเกิดขึ้นเฉพาะหน้าก็พากันล่มจม บัณฑิตรีบทำกิจที่ควรทำเสียก่อน อย่าให้กิจที่ต้องทำเบียดเบียนตนได้

    กษัตริย์พระองค์ใดยังไม่ทันพิจารณาแล้วทรงลงพระราชอาชญา ชื่อว่ากลืนกินพระกระยาหารพร้อมด้วยหนาม เหมือนคนตาบอดกลืนกินอาหารพร้อมด้วยแมลงวัน ฉะนั้น จะได้ทุกข์ใหญ่ในมหานรก ในอบายทั้ง 4 กษัตริย์มีพระทัยอ่อนโยนอย่างเดียวหรือมีพระทัยกล้าอย่างเดียวก็ไม่อาจดำรงพระองค์ไว้ในอิสริยยศที่สูงใหญ่ได้ กษัตริย์ผู้มีพระทัยอ่อนก็ถูกประชาราษฎร์ดูหมิ่น ไม่อาจทำราชสมบัติให้ปราศโจรได้ กษัตริย์ผู้มีพระทัยแข็งนักก็มีเวร กษัตริย์ควรทราบเหตุทั้งสองอย่างแล้วประพฤติเป็นกลางๆ

 

    กรรมที่ทำโดยไม่พิจารณาให้ถี่ถ้วนเสียก่อนแล้วทำลงไป ผลชั่วร้ายย่อมมีแก่บุคคลนั้นเหมือนความวิบัติแห่งยาแก้โรค ฉะนั้นส่วนกรรมที่พิจารณาถี่ถ้วนก่อนแล้วจึงทำ ผลอันเจริญย่อมมีแก่บุคคลนั้นเหมือนความพร้อมของยาแก้โรค ฉะนั้น

    ชีวิตนี้ถูกความชราครอบงำ เป็นของน้อยนิดดุจน้ำในโคลน พวกคนพาลพากันประมาทมีตัณหาผูกไว้ย่อมยังนรกสัตว์เดียรัจฉาน เปรตวิสัย และอสุรกายให้เจริญ

 

    ท่านผู้ฉลาดกล่าวว่าปัญญานั่นแหละประเสริฐสุด ดุจพระจันทร์ประเสริฐกว่าดาวทั้งหลายศีลสิริ และธรรมของสัตบุรุษย่อมเป็นไปตามบุคคลผู้มีปัญญา บุคคลควรคบหาท่านผู้รู้ละเอียดลออเป็นพหูสูตควรเป็นนักเรียน นักสอบถาม พึงตั้งใจเงี่ยโสตลงสดับคำสุภาษิตโดยเคารพดุจจารึกลงบนแผ่นหิน นรชนทำอย่างนี้จึงเป็นผู้มีปัญญา ผู้มีปัญญานั้นย่อมพิจารณาเห็นกามคุณทั้งหลายโดยความเป็นของไม่เที่ยง โดยความเป็นทุกข์ และโดยความเป็นโรค ผู้เห็นแจ้งอย่างนี้ ย่อมละความพอใจในกามทั้งหลายอันเป็นทุกข์ มีภัยใหญ่หลวงเสียได้ การละกามอย่างเดียวเท่านั้นเป็นสุข

 

    ภิกษุรูปใดคิดว่า ไฉนคนทั้งหลายฟังธรรมของเราแล้วจะเลื่อมใสธรรมของเรา และแสดงความเลื่อมใสต่อเรา จึงแสดงธรรมต่อมหาชน ธรรมเทศนาของภิกษุเช่นนี้ไม่บริสุทธิ์ หากเธออาศัยความที่พระธรรมเป็นธรรมดี จึงแสดงธรรมแก่ชนเหล่าอื่นโดยอาศัยความกรุณา เอ็นดู อนุเคราะห์ ธรรมเทศนาของภิกษุเช่นนี้แลชื่อว่าบริสุทธิ์

 

    ผู้ใดไม่รู้ทันเหตุการณ์โดยฉับพลัน ผู้นั้นต้องตกอยู่ในอำนาจศัตรู ต้องเดือดร้อนใจภายหลัง
    ม้าดี รู้ได้ด้วยฝีเท้า โคถึก รู้ได้คราวลากเข็ญ แม่โคนม รู้ได้ในคราวรีดนม บัณฑิต รู้ได้เมื่อเจรจา

-----------------------------------------------

SB 405 ชาดก วิถีนักสร้างบารมี

กลุ่มวิชาพุทธวิธีในการพัฒนานิสัย

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0046483357747396 Mins