ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ฐานะของศาสนาในปัจจุบัน

วันที่ 28 มิย. พ.ศ.2559

ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู
ฐานะของศาสนาในปัจจุบัน

ฐานะของศาสนาในปัจจุบัน10)

      นับตั้งแต่อินเดียถูกจักรพรรดิอิสลามปกครอง ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 13 ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู จึงไม่ได้รับการอุปถัมภ์ และขาดการปรับปรุงพัฒนา จนเกือบจะล่มสลาย สาเหตุหลักเนื่องจากคนวรรณะพราหมณ์ ลุ่มหลงในอำนาจและผลประโยชน์ และต่อมาอินเดียตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษในปี ค.ศ. 1857 เป็นเวลา 200 ปี ยิ่งทำให้ศาสนาพราหมณ์-ฮินดูขาดเอกภาพ เพราะถูกผู้ปกครองกดขี่ ดูไปแล้วศาสนาพราหมณ์-ฮินดูแทบจะไม่มีบทบาทเหมือนเดิม ทำการปรับปรุงจุดบกพร่องต่างๆ จนเกิดมีขบวนการปฏิรูปศาสนาขึ้นมา โดยประยุกต์คำสอนในคัมภีร์พระเวทให้ใช้ได้กับชีวิตประจำวันอย่างกลมกลืน ขบวนการต่อสู้นำไปสู่ทางการเมือง เพื่อเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ ขบวนการปฏิรูปศาสนาเหล่านี้ ได้แก่

1. ขบวนการพรหมสมาช

    สมาคมนี้เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2371 โดย รามโมหัน รอย เป็นผู้ก่อตั้ง ณ เมืองกัลกัตตา หลักการใหญ่ของสมาคมพรหมสมาช คือ

    1.    เป็นเอกเทวนิยม ถือว่าเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่มีองค์เดียวคือ พระพรหม พระองค์ทรงมีตัวตนและไม่เคยอวตารลงมาเป็นอะไรเลย

       2.    เชื่อว่าอาตมัน ไม่ตาย

       3.    เชื่อว่าในความหลุดพ้น โดยการสำนึกผิดและทำความดี

       4.    ปฏิเสธคำสอนเรื่องสังสาร ประเพณีกุมารสมรสและระบบวรรณะ

     5.    สนับสนุนให้หญิงหม้ายแต่งงานได้ และออกกฎหมายห้ามชายมีภรรยาหลายคน  และห้ามทำพิธีสตี (พิธีหญิงหม้ายต้องกระโดดเข้ากองไฟตายตามสามี)

      ในปี พ.ศ. 2408 สมาคมนี้ได้แตกแยกเป็น 2 สาย คือ อาทิพรหมสมาช โดยมี ระพินทร์นาถตะกอร์ เป็นผู้นำ สาขานี้มุ่งรักษาหลักการดั้งเดิมของสมาคมไว้และอีกสาขาหนึ่งคือ สาธารณ-พรหมสมาช ภายใต้การนำของเกษับจันทรเสน สาขานี้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงบ้าง อย่างเช่น เกษับจันทรเสนได้ประดิษฐ์สัญลักษณ์ของนิกายนี้ขึ้นมาใหม่ เป็นรูปตรีศูล ไม้กางเขนและ ดวงจันทร์เสี้ยว เป็นเชิงรวม 3 ศาสนา คือ พราหมณ์-ฮินดู คริสต์ อิสลาม เข้าด้วยกัน และบางครั้ง เกษับจันทรเสนก็แสดงตนว่าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระเยซูคริสต์ แต่เมื่อถึงแก่กรรมได้ ออกพระนามพระเจ้าจนวาระสุดท้าย

 

2. ขบวนการอารยสมาช

      สวามีทะยานัน สรัสวดีเป็นผู้ตั้งขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2418 ณ เมืองบอมเบย์ หลักการใหญ่ของสมาคมนี้ ถือคำสอนในคัมภีร์พระเวทเป็นพื้นฐานของการปฏิบัติ ได้นำเอาพระเวทขึ้นมาศึกษาอย่างจริงจัง และได้นำศาสนาขึ้นมาเป็นอุดมการณ์ของชาติ เทพเจ้ามีลักษณะเป็นเอกนิยม ให้ความเคารพพระพรหม ปฏิเสธระบบวรรณะ ทฤษฎีอวตาร และกุมารสมรส อนุญาตให้หญิงหม้ายแต่งงานใหม่ได้

 

3. ขบวนการกฤษณะมิชชั่น

    สมาคมนี้มีศรีรามกฤษณะ สวามีวิเวกานันทะ เป็นผู้ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2440 ยึดหลักการประนีประนอม ยอมรับคำสอนของทุกศาสนาที่มีผู้นับถือในอินเดียว่าไม่มีความขัดแย้งกัน เป็นศาสนาแห่งความนิรันดร เน้นการเข้าถึงคัมภีร์อุปนิษัท หรือเวทานตะ และเน้นหลักอธิบายพระเวท โดยมีจุดประสงค์เพื่อสร้างความสามัคคีในชาติ ความเสมอภาคทางสังคม เศรษฐกิจ การบริการสังคม และเพื่อเข้าถึงพระเจ้า

 

4. ขบวนการสรโวทัย

       นำโดย มหาตมะ คานธี ได้นำหลักอหิงสามาเป็นอุดมการณ์ ให้ปรากฏในบุคคลและสังคม ขบวนการเหล่านี้นอกจากปฏิรูปศาสนาพราหมณ์-ฮินดูแล้ว ยังได้นำการต่อสู้เพื่อเรียกร้อง เอกราชกลับคืนมาจนสำเร็จ ทำให้ประเทศอินเดียได้รัฐบาลที่มาจากคนในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูเป็นผู้บริหารประเทศ แต่เนื่องจากคำสอนอุดมคติและรูปแบบการดำเนินชีวิต รวมทั้งความเชื่อถือแตกต่างกันของศาสนาต่างๆ ที่มีอยู่ในอินเดีย เช่น ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ศาสนาอิสลาม ศาสนาซิกข์ เป็นต้น จึงเกิดปัญหาความขัดแย้งลุกลามเป็นการปะทะกันอย่างกว้างขวางอยู่เสมอ เช่น กรณีมัสยิดปาปรี ระหว่างอิสลามกับพราหมณ์-ฮินดู กรณีการบุกรุกวิหารทองคำ เมืองอมฤตสระ ระหว่างซิกข์กับพราหมณ์-ฮินดู เป็นต้น

      ในด้านการเผยแผ่ศาสนาพราหมณ์-ฮินดูไปยังนานาประเทศนั้น สมาคมพระเวท คีตาอาศรม และสมาคมหะเสกฤษณะ เป็นต้น ได้ทำกิจกรรมและมีสมาชิกอยู่ทั่วโลก ปัจจุบันศาสนาพราหมณ์-ฮินดูมีศาสนิกอยู่ประมาณ 790 ล้านคน ประชากรอินเดียมากกว่า 80% นับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และยังมีชาวฮินดูในประเทศอื่นๆ เช่น ปากีสถาน บังกลาเทศ เป็นต้น

 

 


10) สุชีพ ปุญญานุภาพ. ประวัติศาสนา, 2511 หน้า 489-496.


หนังสือ DF 404 ศาสนศึกษา
กลุ่มวิชาการทำหน้าที่กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0081010182698568 Mins