พระพุทธเจ้าต้นแบบแห่งปัญญา

วันที่ 25 พค. พ.ศ.2560

พระพุทธเจ้าต้นแบบแห่งปัญญา
 

หลักการสร้างความสุขในครอบครัว , Pre-Degree , วัดพระธรรมกาย , DOU , ธรรมกาย , ปริญญาตรี , พรีดีกรี , พระพุทธศาสนา , พุทธศาสตร์ , พระไตรปิฎก , พระพุทธเจ้าต้นแบบแห่งปัญญา

     เมื่อเราผ่านโลกผ่านชีวิตมาได้ระดับหนึ่ง เราก็คงเข้าใจคำว่า ชีวิตมีขึ้นมีลงได้อย่างชัดเจน นั่นก็หมายความว่า ไม่มีใครโชคร้ายไปตลอด และไม่มีใครโชคดีไปตลอดชีวิตมีสุขและมีทุกข์ปนกันไป แต่ประเด็นสำคัญที่เราจะต้องไม่ลืมก็คือ ทำอย่างไรในยามที่มีสุขเราก็ไม่หลงระเริงลืมตนจนกลายเป็นการสร้างทุกข์ให้คนอื่น และทำอย่างไรในยามที่มีทุกข์ก็ไม่ใช่จมดิ่งอยู่กับทุกข์อย่างไม่รู้วันไม่รู้คืน แต่รู้จักสร้างกำลังใจึดสู้กับปัญหาต่อไปจนกระทั่งปัญหาพ่ายแพ้ให้แก่เรา

         เมื่อชีวิตต้องพึ่งปัญญาเพื่อนำพาตนเองให้ผ่านชีวิตไปได้ตลอดรอดฝังทั้งยามทุกข์และยามสุขเช่นนี้แล้ว เราก็พบว่า ในโลกนี้ ไม่มีใครมีพระปัญญาธิคุณแห่งการดำเนินชีวิตได้ยิ่งกว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างแน่นอน พระปัญญาบริสุทธิ์ของพระพุทธองค์ทรงเปียมด้วยหลักการเผชิญชีวิตที่ถูกต้อง เป็นแนวทางการปฏิบัติทั้งในยามขาขึ้นและขาลงของชีวิตได้อย่างยอดเยี่ยม และเป็นต้นแบบคำสอนของชาวโลกที่ชาวพุทธควรศึกษาอย่างแท้จริง


1. ความขึ้นลงของชีวิตขึ้นอยู่กับอะไร
        มีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่ทราบความจริงว่า ความขึ้นลงของชีวิตมีสาเหตุมาจากอะไรกันแน่ บางคนก็เชื่อว่า ดวงเดือนดวงดาวบนท้องฟ้าเป็นผู้กระทำ บางคนก็เชื่อว่าพระผู้เป็นเจ้าบันดาล บางคนก็เชื่อว่า อยู่ที่หนึ่ง มองสองมือของตนเอง

        แต่พระพุทธองค์ทรงค้นพบความจริงว่า กฎเหล็กประจำโลกนี้ คือ กฎแห่งกรรมพระพุทธองค์จึงสั่งสอนว่า ใครทำกรรมใดไว้ ไม่ว่าดีหรือชั่วก็ตาม ตนจะต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น

       ดังนั้น เมื่อเกิดปัญหาอะไรขึ้นมากับเราก็ตาม พระพุทธองค์ทรงให้เราพิจารณาตนเองจากสาเหตุ 3 เรื่องนี้ คือ

1. เกิดจากเราผิดศีลไว้ในปัจจุบัน
2. เกิดจากการผิดศีลของเราในอดีต
3. เกิดจากความเป็นคนประมาท ไม่รอบคอบ

      ทั้ง 3 ประเด็นนี้ เป็นประเด็นใหญ่ของการเผชิญกับปัญหาชีวิตของเรา ที่เราเคยผิดพลาดเอาไว้ในอดีต ทั้งที่ระลึกได้และระลึกไม่ได้

     ด้วยเหตุนี้ เมื่อเกิดปัญหารุนแรงอะไรขึ้นก็ตาม พระพุทธองค์จึงทรงสั่งไว้เลยว่าห้ามเราสร้างปัญหาเพิ่ม นั่นก็คือ เราต้องรักษาศีลของเราให้ดีที่สุด ถ้าเรายังต้องทำมาหากินเป็นผู้ครองเรือนอยู่ ศีล 5 จะต้องไม่ให้พลาด

     ถ้าเป็นพระภิกษุศีล 227จะต้องรักษาไว้ให้ดีเยี่ยม ถ้าเป็นอุบาสกอุบาสิกา หรือเป็นแม่ชี ศีล 8 ของตนเองต้องรักษาให้ดีเยี่ยม ครบบริบูรณ์เสียก่อน เพื่อเป็นการป้องกันว่า เราจะไม่ก่อปัญหาเพิ่ม

    พระพุทธองค์ทรง อนอย่างนี้ ก็เพื่อให้เราปรับตัวของเราให้มีมาตรฐานก่อนไม่อย่างนั้นพอปัญหารุมเร้า ตามมาอุดรูนี้แล้ว ก็จะต้องไปรั่วรูโน้น อุดรูโน้นก็จะไปรั่วรูต่อ ๆ ไป การแก้ปัญหาจะทำไปไม่ได้ตลอดรอดฝัง แต่ว่าถ้าทันทีที่มีปัญหาเกิดขึ้น เรารีบปรับระดับความประพฤติของเราเสียก่อน การแก้ปัญหาต่าง ๆ จะง่ายเข้า เมื่อเรามีศีล 5 ครบบริบูรณ์ดี

     จากนั้นก็ดูหลักหรือวิธีการแก้เป็นกรณี ๆ ไป เช่น ถ้าเป็นเรื่องของทรัพย์สมบัติหรือเรื่องของผลประโยชน์จะต้องแก้ด้วยทาน

   แต่ถ้าไม่ใช่เรื่องของทรัพย์สมบัติ เป็นเรื่องของการกินใจกัน หรือความเข้าใจผิดกันอย่างนี้ต้องแก้ที่ตัวเราเอง คือต้องฝึกตนให้เป็นคนมีสัมมาคารวะ และมีความอ่อนน้อมถ่อมตนด้วย บางครั้งอาจจะต้องไปกราบกรานขอขมาลาโทษเขา ก็ต้องยอมเพื่อให้ปัญหายุติ

    ดูต่อไปอีก บางเรื่องเกิดเพราะความประมาทของเราเอง ไปล่วงเกินเขา ไปทำของเขาเสียหาย ในกรณีอย่างนี้ก็แก้ไขโดยชดใช้เขาไปตามสมควร

    แต่อย่างไรก็ตามทุกเรื่อง เมื่อเป็นปัญหาขึ้นมาแล้ว "ต้องหยุด" อย่าเพิ่งไปทำอะไรนั่งสมาธิให้ใจสงบเสียก่อน เพื่อดูให้ถ่องแท้ว่าเป็นเรื่องอะไร

    แล้วตลอดเวลาที่เรายังไม่ทราบว่าสาเหตุที่แท้จริงคืออะไร หรือยังไม่แน่ใจก็อย่าเพิ่งไปลงมือแก้ไข แต่ถ้าแน่ใจแล้ว ให้รีบแก้ไขทันที เวลาแก้ไขก็ทำด้วยความใจเย็นเรื่องบางอย่างแก้ไขไม่ได้ ได้แต่รอเวลา ก็ต้องอดทนไป


2. วิธีแก้ปัญหาของพระพุทธองค์
     อย่างไรก็ตาม มีบทสวดอยู่บทหนึ่ง พระท่านสวดให้ฟังทุกวันอาทิตย์เลย พอถวายสังฆทานเสร็จ พระท่านจะสวดมนต์ 23 บท มีบทหนึ่งขึ้นต้นด้วยคำว่า พาหุงฯ เราจึงเรียกกันง่าย ๆ ว่า บทพาหุงฯ คงจำได้ บทพาหุงฯ นี้ กล่าวถึงวิธีแก้ปัญหา ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงนำมาใช้มี 8 ตอน แต่มี 7 วิธี คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเผชิญกับปัญหามามากกว่าพวกเราแต่พระองค์ก็สามารถแก้ไขให้สำเร็จลุล่วงไปเป็นเปลาะ ๆ ปัญหาใหญ่ ๆ ที่พระองค์ทรงแก้ไขมาจนกระทั่งโบราณาจารย์ท่านต้องบันทึกไว้เป็นหลักฐาน คือ

      1. เมื่อทรงผจญกับพญามาร ที่ยกทัพมารังควานในวันจะตรัสรู้ พระองค์ทรงแก้ไขปัญหานี้ด้วยกำลังบารมี 30 ทัศที่ได้อธิษฐาน เอาทานบารมีที่ทรงสั่งสมการให้ทานและกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลมานับภพนับชาติไม่ถ้วนให้มาช่วยในกรณีอย่างพวกเรา ถ้าเจอปัญหาบางอย่าง เจออุปสรรคหนัก ๆ บางทีก็ต้องแก้ด้วยการให้ทรัพย์สมบัติเหมือนกัน คือ ให้ทาน

    2. เมื่อทรงผจญกับอาฬวกยักษ์ พูดง่าย ๆ เมื่อผจญกับคนมักโกรธ พระองค์ทรงแก้ด้วยขันติ คือความอดทน ยักษ์จะเอาอย่างไร จะยื่นข้อเสนออย่างไร ถ้าทนได้ทน ทนทำไปจนในที่สุดยักษ์ต้องยอมจำนน ลดทิฏฐิความกระด้างของตน คงคิดในใจว่า พระองค์นี้ทนจริง ๆ เราแกล้งซะแทบแย่ ยังทนเราได้อีก เห็นใจกันแล้วจึงได้คุยกันรู้เรื่อง

      ผจญกับคนมักโกรธทำได้อย่างเดียว คือ ทน เมื่อทนแล้ว จึงค่อยไปหาช่องทางแก้ไขเอาข้างหน้า

   3. เมื่อพระองค์ทรงเผชิญกับช้างตกมัน พูดง่าย ๆ เอาชนะพวกบ้าดีเดือด พระองค์ก็ทรงแก้โดยการแผ่เมตตา เมื่อได้ซาบซึ้งในความเมตตาแล้วก็จะทำให้เข้าใจซึ่งกันและกันได้เอง

    4. เมื่อพระองค์ทรงผจญกับองคุลิมาล ในกรณีนี้องคุลิมาลวิ่งไล่จะฆ่า พระองค์ทรงใช้อิทธิปาฏิหาริย์ผสมกับเทศนาโวหาร

    สำหรับพวกเรายังไม่มีอิทธิปาฏิหาริย์เหมือนพระพุทธองค์ เจอนักฆ่าเข้า ก็คงต้องอาศัยตำรวจ เอากฎหมายมาช่วยจัดการแทน

     5. เมื่อพระองค์ทรงผจญกับการถูกใส่ร้ายต่อหน้าคนจำนวนมาก

     วันนั้นพระองค์ทรงนั่งเทศน์อยู่ดี ๆ มีผู้หญิงคนหนึ่งลุกขึ้นมากลางศาลา ใส่ความพระองค์ว่า ทำให้นางท้อง ผู้หญิงคนนี้เป็นคนสวยประจำเมืองสาวัตถี ขณะที่ผู้คนจำนวนมากเขากำลังฟังเทศน์เพลิน ๆ แกลุกขึ้นกลางศาลาเลย "พระพุทธเจ้าข้า พระองค์น่ะดีแต่เทศน์สอนคนอื่นเท่านั้นแหละ ลูกเราในท้องนี้ไม่เหลียวแลเลย ทำอย่างไรละ จะคลอดอยู่แล้ว"

      ในกรณีถูกใส่ร้ายเรื่องผู้หญิงนี้ พระองค์ทรงใช้ความสงบนิ่งเป็นการแก้ปัญหา

    เรื่องบางเรื่องที่พระภิกษุก็ดี ผู้ที่เป็นผู้ใหญ่ก็ดี ถ้าถูกกล่าวหาแล้วต้องเงียบอย่าไปเถียง แต่ว่าให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ 2 เรื่องนี้คือสตรี กับสตางค์

     เรื่องสตรี เวลาพระภิกษุถูกกล่าวหาเรื่องผู้หญิง หรือเป็นผู้ใหญ่ถูกกล่าวหาเรื่องผู้หญิง คนทั่วไปมักจะเชื่อว่าผิดจริงไปแล้วตั้ง 90 เปอร์เซ็นต์

    เพราะฉะนั้นวิธีที่ดีที่สุดคือเงียบ รอวันเวลาพิสูจน์ความจริงกันในวันข้างหน้าเพราะไม่ช้าก็เร็วความจริงต้องปรากฏแน่นอน

     เรื่องสตางค์ เป็นพระถูกใส่ความว่าโกงเงิน ก็ไม่รู้ว่าจะไปเถียงกับเขาอย่างไรเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ปุบปับโดนข้อหาคอร์รัปชั่น จะเถียงก็ยาก ก็ได้แต่เงียบ แต่เงียบในที่นี้ไม่ใช่เงียบยอมจำนน แต่เงียบตั้งหลัก ในพระพุทธศาสนาใช้คำว่า "ไม่สู้ เงียบไว้ก่อน แต่ไม่หนี"

       ไม่สู้ ในที่นี้ หมายถึง ไม่ใส่ความเข้าหากัน

       ไม่หนี คือ อย่าไปยอมแพ้ และอย่าไปยอมรับ

    แต่ว่าให้ทำความดีตามหน้าที่เรื่อยไป ระเบียบวินัยมีเท่าไรนำมาใช้ให้หมด งานจะช้าบ้างก็ต้องยอม ถ้าอย่างนี้เดี๋ยวก็ชนะ

      6. เมื่อพระองค์ทรงผจญกับคนพูดกลับกลอก ประเภทนักโต้วาที ก็ทรงใช้ปัญญาแก้สถานการณ์เฉพาะหน้ากันไป โดยทุกคำพูดที่พระองค์ใช้ไปเฉพาะนั้น เป็นคำจริงที่เพียบพร้อมด้วยความถูกต้องและเหตุผลทุกถ้อยคำ

      7. ครั้งนี้ไม่ใช่พระองค์ทรงกระทำเอง แต่โปรดให้พระโมคคัลลานะไปแทน ไปปราบสัตว์ที่มีพิษร้ายและเป็นมิจฉาทิฏฐิ คือพญานาคชื่อนันโทปนันทะ ครั้งนี้ก็ต้องใช้อิทธิปาฏิหาริย์เหมือนกัน

     8. เมื่อพระองค์ทรงผจญกับพวกมิจฉาทิฏฐิ คือไปเจอท้าวพกาพรหมที่เป็นมิจฉาทิฏฐิจัดเข้าครั้งนี้ พระองค์ทรงใช้ปัญญาแก้ไข ถานการณ์อีกครั้ง แต่เป็นปัญญาเบื้องสูงในพระพุทธศาสนาเพราะสู้กับระดับพระพรหม

    "พวกเราเจออุปสรรคอะไรก็ไม่เกินนี้หรอก วิธีแก้ไขก็ถือหลักการตามอย่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราก็แล้วกัน แต่ก่อนอื่นเลยให้สำรวจศีลของตนเอง แล้วปรับปรุงศีลปรับปรุงความประพฤติของเราให้ดีก่อน เมื่อศีลดี ความประพฤติดีแล้ว อย่างอื่นก็จะดีตามมาถ้าศีลยังไม่ดี ยังใช้ไม่ได้หรอกนะ"

     ท่านผู้อ่านที่เคารพ ในชีวิตของคนเราไม่ว่าจะเจอปัญหาหนักหนาสาหัสอย่างไรก็ขอให้อดทนแก้ไขกันไป เพราะอย่างไรแล้ว ปัญหาที่เราเผชิญอยู่นี้ ก็คงไม่แคล้วจากผลกรรมอันเกิดจากเราประมาทหรือทำผิดพลาดไว้ในอดีต ให้คิดเสียว่า ยิ่งพบความมืดมากเท่าไรนั่นแสดงว่าใกล้ ว่างแล้ว หากท้อแท้เมื่อไร ก็ขอให้นึกถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นกำลังใจ แล้วเราจะมีกำลังใจอดทนกับปัญหา มีสติ และปัญญาใช้แก้ปัญหาได้ถูกทาง และในที่สุด วันหนึ่งเราย่อมต้องพ้นจากวิบากกรรมที่ตามมาเล่นงานเราได้อย่างแน่นอน ขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่าน

 

 

*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ PD 001 หลักการสร้างความสุขในครอบครัว
หนังสือเรียน หลักสูตร Pre-Degree

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0014170010884603 Mins