คารวาธิกถา

วันที่ 15 กค. พ.ศ.2560

คารวาธิกถา

 

พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) , พระผู้ปราบมาร , หลวงพ่อวัดปากน้ำ , วัดปากน้ำภาษีเจริญ , หลวงปู่สด , หลวงพ่อสด , ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย , วิชชาธรรมกาย , ธรรมกาย , ตามรอยพระมงคลเทพมุนี , วิสุทธิวาจา , ประวัติหลวงพ่อสด , ประวัติพระมงคลเทพมุนี , รวมพระธรรมเทศนา หลวงพ่อวัดปากน้ำ ,  สมาธิ , วิปัสสนา , สัมมาอะระหัง , คารวาธิกถา

 

(เคารพพระสัทธรรม)

๑๐ มกราคม ๒๔๙๗ 

นโม.....
เย จ สมฺพุทฺธา อตีตา.....

 

                       เป็นประเพณีของพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ที่จะเคารพพระธรรมอย่างเดียว และได้วางเป็นแบบแผนไว้ ตามพระบาลีว่า เย จ สมฺพุทฺธา  ธรรมดาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งอดีตปัจจุบันอนาคต ล้วนเคารพพระสัทธรรมทั้งสิ้น ผู้รักตน มุ่งหวังประโยชน์ตน จำนงความเป็นใหญ่ ควรเคารพพระสัทธรรม

                       การเคารพของชาวโลก เป็นการเคารพสามัญ


การเคารพพระสัทธรรม ได้ชื่อว่าประเสริฐเลิศที่สุด

                        พระพุทธเจ้ากว่าจะค้นพบพระธรรม ต้องสร้างบารมี ๔ อสงไขย แสนมหากัปป์  ๘ อสงไขย แสนมหากัปป์ และ ๑๖ อสงไขย แสนมหากัปป์ท่านใช้เวลายาวนานขนาดนั้น จึงได้ลงใจลงไปในการเคารพพระสัทธรรม

                        ท่านย้ำในท้ายพระสูตรว่า บุคคลผู้รักตน บุคคลผู้มุ่งหวังประโยชน์แก่ตน จำนงความเป็นใหญ่ควรเคารพสัทธรรม

                        พระพุทธเจ้าเป็นตัวอย่างว่าท่านใหญ่กว่ามนุษย์ในชมพูทวีป แสนโกฏิจักรวาล อนันตจักรวาล ถ้าไม่เคารพพระธรรมย่อมเป็นใหญ่ไม่ได้


เราจึงต้องรู้จักวิธีการ "เคารพพระสัทธรรม" ให้ถูกต้อง
พระสัทธรรม คืออะไร

                        คือ ธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ ดวงใสบริสุทธิ์เท่าฟองไข่แดงของไก่ อยู่กลางกายมนุษย์ หากใสบริสุทธิ์ กายนั้นก็ผ่องใสหากดวงเศร้าหมอง กายมนุษย์ก็ไม่รุ่งเรืองผ่องใส

                        รวมถึงดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ละเอียด ถึงกายอรูปพรหมละเอียด มีขนาดใหญ่ขึ้นตามลำดับ แต่ยังไม่ใช่ธรรมที่ทำให้เป็นพระพุทธเจ้า

                        ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายธรรม มีเส้นผ่าศูนย์กลางโตขึ้นไปตามลำดับ ถึงกายอรหัตละเอียดเป็นดวงธรรมที่ทำให้เป็นพระพุทธเจ้า

                        พระพุทธเจ้าท่านเคารพพระธรรม ด้วยการเอาใจของท่านหยุดไปที่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกายของท่าน เป็นลำดับเข้าไปถึงพระอรหัตละเอียด ใจติดแน่นไม่ถอนถอย

                        เมื่อติดแน่นแล้วท่านก็สอดส่องดูว่า ประเพณีของพระพุทธเจ้าเมื่อตรัสรู้แล้วเคารพอะไร

                        พระพุทธเจ้าทุกพระองค์เหมือนกันหมดทั้งอดีตปัจจุบัน อนาคต บัดนี้ไม่มีแล้วที่เราจะเคารพในมนุษยโลกทั้งหมดต่ำกว่าเรา ในเทวโลก พรหมโลก อรูปพรหม ตลอดภพ ๓ สูงกว่าเราไม่มี

                        ใจของท่านจึงติดอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นพระพุทธเจ้าอย่างเดียว เรียก สทฺธมฺมครุโน (เคารพสัทธรรม) เหมือนเสาเขื่อนปักอยู่ในน้ำ ถ้าลมพัดมา จากทิศทั้งสี่ทั้งแปดก็ไม่เขยื้อน

                        เราจะต้องแก้ไขใจของเราให้ติดอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ ให้เห็น จำ คิด รู้ ติดรวมกันไม่แตก จึงจะถึงเป้าหมายพุทธศาสนา เช่น เวลาฟังธรรม ถ้าใจไม่หยุดจะฟังพร่าไปเพราะใจแวบไปเรื่องอื่น

                        "ที่จะเป็นใหญ่ได้ใจมันต้องเชื่อง ต้องติดอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ ถ้าติดอยู่ได้เช่นนั้น ภิกษุหรือสามเณรติดอยู่ได้เช่นนั้นละก็ จะเป็นภิกษุที่เป็นใหญ่ จะเป็นสามเณรที่เป็นใหญ่ ถ้าเป็นอุบาสกอุบาสิกาเล่า ถ้าใจไปติดอยู่ตรงนั้นละก็ จะเป็นอุบาสกอุบาสิกาที่เป็นใหญ่ และเข้ากลางเรื่อยไปจนถึงกายธรรมอรหัต"

                         เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าแล้วท่านไม่ได้ถอนจากการหยุดเลย กลางของกลางเรื่อยไปท่านจึงถึงความเป็นใหญ่ เราต้องบูชาพระพุทธเจ้า และเดินตามแบบท่าน

                          ท่านจึงได้กล่าวคำว่า "ธรรม" คือทำดี ไม่ใช่ทำชั่ว และตรัสว่า ธมฺโม จ  คือ ธรรมด้วย คือไม่ใช่ธรรมด้วย มีผลไม่เสมอกัน อธรรมที่ไม่ใช่ธรรม ย่อมนำสัตว์ไปสู่นรกสิ่งที่เป็นธรรมยังสัตว์ให้ถึงซึ่งสุคติ

                          ถ้าเราอยู่กับธรรมฝ่ายเดียว คือ เอาใจจรดอยู่กลางดวงธรรมเสมอ อธรรมก็เข้ามาเจือปนไม่ได้ แตกกายทำลายขันธ์ก็มีแต่ สวรรค์เพราะ กาย วาจา ใจ ไม่มีเสีย

                          พระพุทธเจ้า จึงตรัสว่า

                         อุกาส โย ปน ภิกขุ ฯ เราขอโอกาสภิกษุผู้ศึกษาในธรรมวินัยรูปใด ปฏิบัติธรรมตามธรรมปฏิบัติชอบยิ่งขึ้น ปฏิบัติธรรมไม่ให้หลีกเลี่ยง ผู้ศึกษาในธรรมวินัยนั้น ได้ชื่อว่าสักการะเราผู้ตถาคตด้วยปฏิบัติบูชาอย่างยิ่ง

                         ธมฺมานุธมฺมปฏิปนฺโน "ปฏิบัติธรรมตามธรรม" หมายถึง ใจหยุดกลางดวงธรรมที่ทำให้เป็น กายมนุษย์ แล้วให้เข้าถึงดวงธรรมกายอื่นๆ ต่อไป

                        สามีจิปฏิปนฺโน "ปฏิบัติชอบยิ่งขึ้น" หมายถึง ยิ่งเอาใจจรดหนักขึ้นไม่ถอยกลับ

                        อนุธมฺมจารี"ประพฤติไม่ให้หลีกเลี่ยง" หมายถึงให้ตรงศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็น กายตลอด

                        "เหตุนี้เราท่านทั้งหลายทั้งคฤหัสถ์ และบรรพชิต อุบาสก อุบาสิกา เมื่อรู้หลักอันนี้แล้ว อย่าเอาใจไปจรดอื่น ให้จรดอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ขั้นต้น จนกระทั่งถึงพระอรหัตขั้นสุดท้าย ๑  กายนี้ แล้วก็หยุดอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นพระอรหัต อย่าถอยกลับ นิ่งแน่นอยู่นั่น นั่นแหละถูกเป้าหมายใจดำทางพระพุทธศาสนา"

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0055187861124674 Mins