ปัจฉิมวาจา

วันที่ 24 กค. พ.ศ.2560

ปัจฉิมวาจา

 

พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) , พระผู้ปราบมาร , หลวงพ่อวัดปากน้ำ , วัดปากน้ำภาษีเจริญ , หลวงปู่สด , หลวงพ่อสด , ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย , วิชชาธรรมกาย , ธรรมกาย , ตามรอยพระมงคลเทพมุนี , วิสุทธิวาจา , ประวัติหลวงพ่อสด , ประวัติพระมงคลเทพมุนี , รวมพระธรรมเทศนา หลวงพ่อวัดปากน้ำ ,  สมาธิ , วิปัสสนา , สัมมาอะระหัง , ปัจฉิมวาจา

 

(ความไม่ประมาท ๑)

๑  กุมภาพันธ์ ๒๔๙๗ 

นโม.....

ภาสิตา โข ปน ภควตา.....

 

                         พระบรมศาสดาทรงไว้อาลัยแก่เราทั้งหลายด้วยปัจฉิมวาจา ให้เป็นเครื่องระลึกนึกถึงประจำ ใจไว้ว่า

                         "ดูกรภิกษุทั้งหลาย เชิญท่านทั้งหลาย เราเรียกท่านทั้งหลายเข้ามาสู่ที่เฝ้าเรานี้ว่าสังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเสมอสิ่งที่ได้เห็นด้วยตา ได้ยินด้วยหูได้ทราบด้วยจมูก ลิ้น กาย ได้รู้แจ้งทางใจ เสื่อมไปเสมอ ไม่เหลือเลยท่านจง ถึงพร้อมด้วยความไม่เผลอ ไม่ประมาท"

                          ด้วย "พระปัจฉิมวาจา" นี้ พระองค์ทรงประสงค์ให้เรา

                          ๑. นึกถึง "ความเสื่อม" ให้ติดอยู่กับใจเสมอ

                          นึกถึงอัตภาพร่างกายที่ไม่คงที่ นับแต่คลอดจากครรภ์มารดา ก็เสื่อมเรื่อยไป

                          ดังนั้นทั้งสากลโลก รับรู้ด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ย่อมเสื่อมไป ไม่มีความตั้งอยู่ชั่วกัลปาวสาน

                          นึกถึงความเสื่อมประจำใจ จะหัวเราะเสียงดังไม่ออก เป็นแต่ยิ้มๆ เป็นภิกษุสามเณรจะต้องเรียนเป็นนักปราชญ์ให้ได้ หญิงชายครองเรือนก็ได้เป็นหลักฐานเพราะรักชีวิต หากรักษาศีล ก็รักษาถึงอธิศีลทำสมาธิได้มั่นคงทำปัญญาให้รุ่งเรืองทางโลกก็เจริญในการเลี้ยงชีพ จะได้ทำความดียิ่งขึ้นไปอีก

                          นึกถึงความเสื่อมให้ติดกับใจ เป็นทางไปของพระพุทธเจ้า พระอรหันต์

                          "นึกถึงความเสื่อมได้เวลาไรละก็ บุญกุศลยิ่งใหญ่เกิดกับตนเวลานั้น" ความเสื่อมนี้มีกับใครบ้าง

                          มีอยู่กับทุกคนในกำเนิดทั้ง ๔ (สังเสทชะ อัณฑชะ ชลาพุชะ โอปปาติกะ) อบายภูมิ ๔ มนุษย์ สวรรค์ ๖ชั้น พรหม ๑๖ชั้น อรูปพรหม ๔ชั้น มีความเสื่อมเหมือนกันหมด

                          ๒. ให้ตรึกอยู่ในความเสื่อมนั้นด้วยความไม่ประมาท

                          พระองค์จะต้อนพวกเราให้พ้นจากความเสื่อมเหล่านั้นให้ออกจากภพ คือกามภพ รูปภพ อรูปภพ ขึ้นจากวัฏฏสงสาร เข้าถึงธรรมกายไปนิพพาน ด้วยการไม่ให้เผลอในความเสื่อมนั้น

                            "ถ้าไม่เผลอในความเสื่อมนั้นทำอะไรเป็นได้ผลหมด เป็นภิกษุสามเณร ทำอะไรเป็นได้ผลหมด เล่าเรียนก็สำเร็จ คันถธุระ วิปัสนาก็สำเร็จ ไม่ท้อถอย ฝ่ายอุบาสก อุบาสิกาทำนาก็รวยกันยกใหญ่ทำสวนก็รวยกันยกใหญ่ทำไร่ก็รวยกันยกใหญ่ เป็นคนไม่เกียจคร้านทีเดียว"

                            พระพุทธเจ้าทรงอุปมาอุปไมยไว้ว่า

                            ปทชาติทั้งหลาย รอยเท้าสัตว์ทั้งหลายในชมพูทวีปต้องประชุมลงในรอยเท้าช้างฉันใดก็ดี ธรรมทั้งหลายที่เป็นกุศลหมดทั้งสิ้น ย่อมมีความไม่ประมาทเป็นต้นเค้า ประชุมลงด้วยความไม่ประมาท

                            ธรรมของพระบรมศาสดาจบพระไตรปิฎก มีความไม่ประมาทเป็นต้นเค้า ความประมาทและความไม่ประมาท จึงเป็นข้อสำคัญ

                            "ความประมาทน่ะ คือเผลอไป ความไม่ประมาทน่ะคือ ความไม่เผลอ ไม่เผลอล่ะ ใจจดจ่อทีเดียว นั่นอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา นี่เรียกว่าผู้ไม่ประมาท"

                            เมื่อเห็นความเสื่อม ย่อมไม่ประมาท คือไม่เผลอ นึกหนักเข้าๆ แล้วใจหาย นี่เรามาคนเดียวเราก็ตายคนเดียวทำชั่วเลิกละหมด

                           "เอ๊ะ นี่เราก็ตายคนเดียวสิ บุรพชนต้นตระกูล ของเราไปไหนหมดล่ะ อ้าว..ตายหมด เราล่ะก็ตายแบบเดียวกัน ตกใจละคราวนี้ทำชั่วเลิกละทันที รีบทำความดีโดยกระทันหันทีเดียว เพราะไปเห็นอ้ายความเสื่อมเข้า"

                            อะไรทำให้ประมาท

                            สุรา ความเมาทำให้เสียคน ไม่รู้จักพ่อแม่ญาติพี่น้อง

                            เมาอีกอย่างเรียก เมามัน เป็นอีกหนึ่งของความประมาท เช่น ลูกไม่เคารพพ่อแม่

                             "อ้ายเมาสุราน่ะมีเวลา ร่างนะ อ้ายเมาอีกอย่างหนึ่งล่ะ อ้ายนั่นเมาสำคัญ เขาเรียกว่า เมามัน ถ้าว่าช้างก็เรียกว่า เมามัน พ่อแม่เลี้ยงลูกหญิงลูกชายมาน่ะ ถ้าเมามันขึ้นมาแล้วก็ไม่ได้ละ แม้ว่าเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้นแหละ หญิงก็ลงจมูกฟิด ทีเดียวสายก็ลงจมูกฟิด นี่เป็นเหตุประมาทสำคัญ"

                           ความประมาท นักปราชญ์ทั้งหลายติเตียนว่าเป็นทางไปของคนเมา ของคนไม่มีสติ ของคนพลั้งเผลอของคนพาล ไม่ใช่ทางไปของบัณฑิต ความไม่ประมาทเป็นทางไปของบัณฑิตแท้

                           พระบรมศาสดา พระอรหันต์ทั้งหลาย เป็นผู้ไม่ประมาทแล้ว พระอนาคาลงมาถึงโคตรภูบุคคล ที่มีธรรมกายแล้ว ก็ไม่ประมาทตามส่วนของท่านปุถุชนแท้ๆ น้อยคนนักจะมีความไม่ประมาท

                           เมื่อรู้จักความจริง ให้ตั้งใจว่าต่อนี้ไป จะนึกถึงความเสื่อมใน กลร่างกายไม่ขาด จะเอาใจจรดอยู่ที่ความเสื่อมนั้น เมื่อลืมตาขึ้นเห็นภิกษุสามเณร อุบาสก อุบาสิกาความเสื่อมมันแสดงให้ดู ประเดี๋ยว ก็ตายให้ดู ได้ยินเสียงพระสวดก็ดี เห็นโลงก็ดี เป็นอย่างนี้หมดทั้งสากลโลก

                           ๓. เมื่อเห็นความเสื่อมแล้ว ให้เรามั่นคงในอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา

                            อธิศีล เข้าถึงดวงใสเท่าดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ อยู่ในกลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ใสบริสุทธิ์ ถ้ายังไม่เห็นก็เป็นเพียงบริสุทธิ์กาย วาจา เจตนาเป็น "เจตนาศีล" เท่านั้น

                            อธิจิต อยู่ในกลางอธิศีล ดวงเท่าๆ กัน ถ้าเข้าถึงอธิจิตได้ชื่อว่า "เป็นผู้มั่งคั่ง" ไม่โยกคลอน

                            อธิปัญญา เข้าถึงดวงปัญญา อยู่ในกลางดวงศีล ใสยิ่งกว่าใสขึ้นไปสะอาดยิ่งกว่าสะอาด เท่าดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ หากเฉลียวฉลาดในกาย วาจา ก็เป็นเพียง "ปัญญาภายนอก" หรือความฉลาดของปัญญา ไม่ใช่อธิปัญญา

                            "เมื่อเข้าถึงอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา แล้วละก็ จะเข้าถึงธรรมกายเป็นลำดับไป เมื่อเข้าถึงอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา ละก็ไม่พ้นละ ต้องเข้าถึงธรรมกายแน่ เป็นทางไปของพระพุทธเจ้า พระอรหันต์จริงๆ แท้ๆ เมื่อรู้จักแน่เช่นนี้ละก็ จะไปนรกกันได้อย่างไร ไม่ไปแน่นอน ถ้าทำหนักเข้า ปฏิบัติเข้า ก็จะเป็นลำดับไมรรคผลต้องอยู่กับเราแน่ ต้องออกจากวัฏฏะทั้งสามแน่ๆ คือ กรรมวัฏฏ์ วิปาก วัฏฏ์ กิเลส วัฏฏ์ ต้องออกจากภพสามแน่ๆ คือ กามภพ รูปภพ อรูปภพ มีนิพพานเป็นที่ไปในเบื้องหน้า"

                            เมื่อเข้าถึงอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา ก็จะเข้าถึงวิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ  ถึงกายมนุษย์ละเอียด เห็นดวงธรรมทั้ง ๖ และกายในกายต่างๆ ถึงกายธรรมอรหัตละเอียดเป็นลำดับ

                             จะเข้าถึง "อรหัต "ตัดกิเลส ได้ ต้องอาศัย อธิศีล อธิจิต อธิปัญญา

                             วินัยปิฎก ย่อลงไปแล้วคือ อธิศีล

                             สุตตันตปิฎก ย่อลงไปแล้วคือ อธิจิต

                             ปรมัตถปิฎก ย่อลงไปแล้วคือ อธิปัญญา

                             ดังนั้น เราจึงควรนึกถึงความเสื่อมอยู่เสมอ และตั้งอยู่ในความไม่ประมาท โดยอยู่ในอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา

                            "ถ้าเข้าถึงอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา ยังไม่ได้ ต้องรีบเร่งค้นคว้าหาอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา เหมือนอย่างบุคคลที่มีกระเท้าไฟ หรือเตาอั้งโล่ตั้งอยู่บนศีรษะ มันร้อนทนไม่ไหว ต้องรีบหาน้ำดับ หรือเอาทิ้งเสียให้ได้ฉันใดก็ดี ต้องให้เจออธิศีล อธิจิตอธิปัญญา ถ้าไม่เจอต้องรีบขวนขวายทีเดียว จึงจะเอาตัวรอดได้ ไม่เสียทีที่เกิดมา เป็นมนุษย์พบพุทธศาสนา"

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0017326831817627 Mins