ศีลของภิกษุ

วันที่ 18 ตค. พ.ศ.2547

 


.....
ให้รู้จักหลักมั่นดังนี้ละก็เป็นภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ต้องมั่นอยู่ในศีลทั้ง ๕ นี้

ได้ชื่อว่าเป็นพุทธศาสนิกชน หรือ เรียกว่าชนภายในพระพุทธศาสนา ต้องให้มีศีลห้านี้ให้มั่นอยู่ในขันธสันดานเสียตอนหนึ่ง นี้เรียกว่า ศีลโดยปริยายเบื้องต่ำนะ

แต่โดยปริยายเบื้องต่ำนี่แหละ ศีลของภิกษุก็เหมือนกัน ๕ สิกขาบทนี่ก็เป็นสิกขาบทของภิกษุเหมือนกัน แต่ท่านจัดศีลของภิกษุโดยปริยายเบื้องสูงขึ้นไปอีก ว่า อิธ ภิกขุ ภิกษุในธรรมวินัยของพระตถาคตเจ้านี้ สีลวา โหติ ย่อมเป็นผู้มีศีล ภิกษุมีศีลน่ะมีอย่างไร ไม่ต้องสมาทานเหมือนอุบาสกอุบาสิกาอย่างนี้หรอก ภิกษุมีศีลน่ะ ศีลสำเร็จด้วยญัติจตุตถกรรมวาจา พระสงฆ์ในปัจจันตประเทศตั้งแต่ ๕ รูปขึ้นไป ในมัชฌิมประเทศตั้งแต่ ๑๐ รูปขึ้นไปมาประชุมพร้อมกัน ต้องมีอุปัชฌาย์ มีพระกรรมวาจา พระอุปัชฌาย์ตรัสขึ้นให้เป็นภิกษุภาวะในพุทธศาสนา เหมือนเราที่เรียกว่า เราบวชนาคพระกันอยู่ทุกวันนี้ ที่เป็นเจ้าภาพบวชให้ภิกษุสามเณรน่ะ บวชให้เป็นภิกษุทีเดียว หรือ สามเณรก็ต้องมีศีล ๑๐ ขึ้นไป

ศีล ๕ เป็น เหฏฐิมศีล ศีล ๘ ที่เรารักษาวันนี้เป็นเหฏฐิมศีลไหมล่ะ ไม่เป็นเหฏฐิมศีล เป็น อติเรกสีล ศีลสูงกว่าศีล ๕ ขึ้นไป สำคัญอยู่ที่ข้อไหน ศีล ๘ น่ะ ที่ยกขึ้นเป็นอติเรกสีลขึ้นไปน่ะ สำคัญในข้อ วิกาลโภช นัจจคีตะ มาลา อุจจา ชาตรูปะ คือ เว้นจากบริโภคอาหารในเวลาวิกาล

การบริโภคอาหารเป็นอย่างไรหรือ การบริโภคอาหารนั้นเป็น รสตัณหา ถ้าว่าเว้นเสียละก็เว้นรสตัณหาทีเดียว บริโภคอาหารที่เป็นรสที่อร่อย มีรสมีชาติขึ้นสำคัญนัก อ้ายรสอันนั้นสำคัญ นัจจคีตะ ฟ้อน รำ ขับร้อง เครื่องประโคมขับร้องดีดสีตีเป่าต่างๆ ดีดสีตีเป่าเหล่านี้ เป็นสัททตัณหาขึ้น ตรึงใจสัตว์โลกให้หมุนเวียนอยู่ในภพ ออกจากภพไม่ได้ ทัดทรงประดับประดาด้วยดอกไม้ของหอม เครื่องให้เกิดยั่วยวนต่างๆ เครื่องลูบไล้ละลายทาต่างๆ นี่เป็นสัททตัณหาขึ้น นั่งนอนอาสนะสูงใหญ่ ภายในมีนุ่นและสำลี ให้เกิดเป็นโผฏฐัพพตัณหาขึ้น

รับเงินและทองเหล่านี้ เงินทองอันเดียวเป็นตัวสำคัญ ใน ๑๐ สิกขาบทนั่น เงินทองเป็นตัวสำคัญ ถ้าว่าเงินทองหยิบเข้าได้แล้ว อื่นหมด เสียหมด ใช้ไม่ได้แบบเดียวกับสุราสำคัญนัก ถ้าว่าศีล ๘ ไม่ถึงเงินและทอง ไม่ห้ามเงินและทองเพียงแค่ ๘ สิกขาบท ก็เพื่อตัดตัณหาเหล่านั้น เพราะฉะนั้นจึงเป็นอติเรกสีล เป็นอุดมศีลขึ้น ไม่ใช่ศีล ๕ ธรรมดา ศีล ๕ ธรรมดาเป็นเหฏฐิมศีล

ภิกษุเป็นผู้มีศีล ศีลของภิกษุ ศีล ๕ ก็รวมอยู่ด้วย ศีล ๘ ศีล ๑๐ รวมอยู่ด้วยทั้งนั้น เข้ามารวมอยู่ในศีลของภิกษุหมด แต่ภิกษุเป็นผู้มีศีลน่ะ เมื่อสำเร็จญัติจตุตถกรรมวาจาในท่ามกลางพระสงฆ์ สำเร็จญัติจตุตถกรรมในทางกลางของสงฆ์แล้ว ศีลสิกขาบทบัญญัติน้อยใหญ่ไม่ได้สมาทานเลย สมบูรณ์บริบูรณ์เมื่อญัติจตุตถกรรมวาจา เป็นภิกษุภาวะในพุทธศาสนาขึ้น

ศีลของภิกษุเป็น อปริยันตปาริสุทธิสีล ทีเดียว ศีลไม่มีที่สุด ในวิสุทธิมรรคแสดงไว้ ศีลมีสามล้านกว่าสิกขาบท ศีลของภิกษุจบพระวินัยปิฎกเป็นศีลของภิกษุน่ะ มากมายนัก เพราะเหตุนั้น ภิกขุ สีลวา ภิกษุเป็นผู้มีศีลน่ะ มีจริงนะ มีทั้งหมดทีเดียว แต่นี้ท่านจำแนกแยกย่นลงไป ปาติโมกขสํวรสํวุโต วิหรติ ผู้สำรวมในพระปาติโมกข์ เว้นที่ข้อพระพุทธเจ้าห้าม ทำตามที่พระองค์ทรงอนุญาตอยู่นี้น้อยนิดเดียว ขึ้นสู่พระปาติโมกข์นี้น้อยนิดเดียว โดยสามัญทั่วไปละก็ ๒๒๗ สิกขาบทนิดเดียว ศีลขึ้นสู่ปาฏิโมกข์ แต่ว่าข้อสำคัญทั้งนั้น ไม่ใช่ข้อเล็กน้อย เพราะฉะนั้นควรไหว้ควรบูชา ภิกษุประพฤติได้ในสิกขาบทบัญญัติน้อยใหญ่ของตัวได้ละก็ น่าไหว้ น่าบูชานัก เป็นของทำยาก ไม่ใช่เป็นของทำง่าย

อาจารโคจรสมปนโน ถึงพร้อมด้วยอาจารมารยาท เครื่องมาประพฤติโดยเอื้อเฟื้อและ โคจรมารยาท เครื่องมาประพฤติและโคจรของภิกษุน่ะ ภิกษุจะเดินไป หาตำหนิไม่ได้ ตาก็ทอดลงมองชั่วแอกหนึ่ง เรียกว่า ตาตายไม่ใช่ตาเป็น ทอดลง แม้จะเบิกตาขึ้นก็เพียงดูว่าดูอันตรายเท่านั้น ที่จะแสวงหาวิสภาคารมณ์ ที่จะแสวงหารูปที่จะชอบก็ไม่มีเสีย ไม่มีแก่ภิกษุเลย ภิกษุเดินไปก็ตั้งอยู่ในความสำรวม เรียกว่า อินทรียสังวร สำรวมทีเดียว สำรวมอินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ได้ยินดี ยินร้าย เวลาเป็นรูปยินเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องโผฏฐัพพะ รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจ สำรวมระวังไม่ให้โทมนัสเล็ดลอดเข้าไปประทุษร้ายจิตใจได้ คอยระแวดระวังอยู่ทีเดียว นั่นภิกษุหน้าที่สำรวมละ เรียกว่าอาจาระ นั่นแหละเรียกว่าหน้าที่อาจาระทั้งนั้น

มารยาทของภิกษุด้วยกาย หาติเตียนมิได้ ด้วยวาจาก็หาติเตียนไม่ได้ จะเปล่งวาจาใดๆ ไม่ครูดโสต ไม่กระทบโสตใครเลย สำรวมทางวาจาทีเดียว มารยาทของกายของวาจา ตลอดจนกระทั่งถึงใจ เป็นอัพโพหาริกลงไปในเจตนาของภิกษุก็ไม่ประทุษร้ายผู้หนึ่งผู้ใด เจตนาประกอบอยู่ด้วยเมตตา เป็น ปุเรจาริก ทีเดียว นั่นเรียกว่า อาจาระทั้งนั้น ไม่ใช่โคจรสัมปันโน เป็นอาจารสัมปันโน

ถึงพร้อมแล้วด้วยมารยาทเครื่องมาประพฤติด้วยเอื้อเฟื้อ นี่ย่อลงไปได้ความดังนี้

โคจรสัมปันโน ภิกษุถึงพร้อมด้วยโคจร อโคจร ภิกษุไม่ไปในที่อโคจร ที่อโคจรมากนักกว้างขวาง โคจรสัมปันโน ถึงพร้อมแล้วด้วยโคจรน่ะ ไปในที่โคจรของตัว ท่านกล่าวที่อโคจรไว้ เวสิยาทิเภเท ภิกษุไม่ไปหาในหญิงแพศยา หญิงม่าย หญิงสาวใหญ่ ภิกษุไม่ไปมาหาสู่ เมื่อเขาเชื้อเชิญนิมนต์ก็ไปตามหน้าที่ แต่ว่าเรื่องจะไปกิจอื่นนอกจากเขานิมนต์ไปเช่นนั้น จะไปสนทนาปราศรัยอย่างสามัญชนธรรมดาไม่มี เพราะภิกษุไม่ไปในที่เช่นนั้น ในสกุลหญิงแพศยา หญิงม่าย หญิงสาวใหญ่ ภิกษุไม่ไป เรียกว่าเป็นอโคจรของภิกษุ หรือในโรงสุรา โรงยาฝิ่น เหล่านี้ เป็นอโคจรของภิกษุๆ ไม่เข้าไป ถ้าภิกษุสามเณรองค์หนึ่งองค์ใดเข้าไปในโรงสุรายาฝิ่นเป็นอย่างไร สองสามหนเท่านั้นแหละ ภิกษุอื่นก็นึกว่ามันกระไรๆ เสียแล้วละ ภิกษุองค์นั้นน่ะ เห็นจะไปติดฝิ่นเสียก็ไม่รู้ หรือจะไปดื่มสุราก็ไม่รู้ แม้โรงดื่มที่เขาตั้งในถนนหนทางก็ไม่เข้าไปนั่ง เข้าไปนั่งในที่นั้นกลัวเพื่อสหพรหมจารีรังเกียจ นะไม่นั่งดื่มแต่กาแฟนะซี จะกระซิบหรือใช้เลศนัยให้เจ้าของกาแฟส่งสุรามาให้นะซี ไม่เข้าไปนั่งทีเดียวโรงดื่มเช่นนั้น

ละอายแก่ใจไม่เข้าไป กลัวจะเสียชื่อ อโคจรของภิก ษุยังมีอีกมาก โรงมหรสพต่างๆ เป็นอโคจรทั้งนั้น ที่ใดเขาประชุมกันในเรื่องพลเมือง เขาต้องการสนุกสนานกันในสถานที่ใดๆ เป็นอโคจรของภิกษุทั้งนั้น แม้เขากรีฑาทัพกันภิกษุเข้าไปดูไม่ได้ เป็นอโคจรของภิกษุ ที่ไปแล้วเขาติเตียนในสถานที่ใดๆ ในสถานที่นั้นๆ เป็นอโคจรของภิกษุเหล่านั้น อโคจรของภิกษุมีมากอย่างนี้ เมื่อเป็นภิกษุเข้าแล้วมีศีลแล้ว มีในพระปาฏิโมกข์แล้ว อยู่ในมารยาทที่ดีแล้ว อโคจรก็ไม่มี ตั้งอยู่ในโคจรทีเดียว ไปในที่ๆ ควรไปทีเดียว

 

……………………………………( จบตอน )…………………………………

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.021061317125956 Mins