คัมภีร์ปฏิรูปมนุษย์

วันที่ 16 เมย. พ.ศ.2546


.....สาระสำคัญของการปฏิรูปมนุษย์

.....ท่านผู้อ่านอาจสงสัยว่า การปฏิรูปมนุษย์หมายถึงอะไร สาระสำคัญของการปฏิรูปมนุษย์ ก็คือ การปฏิรูปปุถุชนให้เป็นมนุษย์ นั่นเอง

.....คำว่า ปฏิรูป เมื่อเป็นคำกริยา หมายถึง ปรับปรุงให้สมควร หรือปรับปรุงให้เหมาะสม การปฏิรูปบุคคล ย่อมหมายถึง การปรับปรุงแก้ไขความเข้าใจของบุคคล ให้เกิดความเข้าใจถูกต้อง เพื่อให้เกิดความคิดถูกต้อง โดยการปลูกฝังธรรมะลงในจิตใจ ด้วยวิธีการที่ถูกต้อง

.....คำว่า ปุถุชน หมายถึงคนที่ยังมีกิเลสหนา หรือยังไม่ได้เป็นพระอริยบุคคล ผู้คนโดยทั่วไปในสังคม ส่วนใหญ่ล้วนเป็นปุถุชนทั้งสิ้น

.....คำว่า มนุษย์ หมายถึง สัตว์ที่มีจิตใจสูง หรือสัตว์ที่รู้จักใช้เหตุผลอย่างเหมาะสมถูกต้องตามจริง ทั้งนี้เพราะมีความเข้าใจอย่างถูกต้องถ่องแท้พอสมควร เกี่ยวกับเรื่องโลกและชีวิตตามความเป็นจริง แม้จะยังไม่หมดกิเลส แต่ก็มีกิเลสแต่พียงเบาบาง และสามารถข่มไว้ได จึงทำให้สามารถปรับปรุงพฤติกรรมทางกายและวาจาให้แสดงออกอย่างถูกต้องเหมาะสม เป็นประโยชน์ ไม่เป็นโทษ ไม่เป็นอันตราย ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น

.....เพราะฉะนั้น จึงกล่าวได้ว่า สาระสำคัญของการปฏิรูปมนุษย์หรือการปฏิรูปปุถุชนให้เป็นมนุษย์ อยู่ที่การปลูกฝังความเข้าใจถูก เกี่ยวกับเรื่องโลกและชีวิตตามจริงแก่บุคคล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความคิดถูกต้อง ในการดำรงชีวิตอยู่ในโลกนี้ เพื่อให้สามารถระมัดระวังควบคุมพฤติกรรมทางกาย วาจา ของตนให้ตั้งอยู่ในความดีได้ตลอดชีวิต

.....แม้ว่างานปฏิรูปมนุษย์จะยากเพียงไหน ต้องใช้เวลานานเท่าใด ต้องทุ่มเทงบประมาณมากมายเพียงใด ก็จำเป็นต้องประสานความร่วมมือกันทำให้สำเร็จวัตถุประสงค์ดังกล่าวให้ได้ มิฉะนั้นโลกจะเข้าสู่กลียุคเร็วขึ้น
อย่างไรก็ตาม อาจกล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่า การปฏิรูปมนุษย์ก็คือ การปฏิรูปปุถุชนให้เป็นคนดีที่โลกต้องการนั่นเอง

.....แหล่งกำเนิดของกิเลส

.....เมื่อกล่าวถึงกิเลส ชาวพุทธย่อมรู้กันโดยทั่วไปว่า พระพุทธศาสนาจัดแบ่งกิเลสไว้เป็น ๓ ตระกูลใหญ่ คือโลภะ โทสะ โมหะ หรือใช้ภาษาง่ายๆ ว่า โลภ โกรธ หลง แต่ครั้งเมื่อถูกถามถึงแหล่งกำเนิดของกิเลส ชาวพุทธส่วนใหญ่ก็มักจะอึกอัก ตอบไม่ถูก เพราะไม่แน่ใจว่ากิเลสเกิดจากอะไร
ก่อนที่จะกล่าวถึงแหล่งกำเนิดที่แท้จริงของกิเลส ใคร่ขอทบทวนความเข้าใจของท่านผู้อ่านสักเล็กน้อย กล่าวคือ คนเรามีส่วนประกอบสำคัญยิ่ง อยู่ ๒ ส่วน ได้แก่ กาย กับ ใจ ใจมีหน้าที่คิด แล้วบงการให้กายแสดงพฤติกรรมต่างๆ ทางกายและวาจา ด้วยเหตุนี้ พระสัมมาสัมพทุธเจ้าจึงตรัสว่า

....."ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจเป็นใหญ่ สำเร็จแล้วด้วยใจ"*

.....(* ยมกวรรค ขุ. ธ. ๔๐/๑๑/๑)

.....พุทธภาษิตบทนี้ย่อมมีนัยว่า ใจบัญชากายให้ทำสิ่งต่างๆ การกระทำของบุคคลจะดีหรือร้ายขึ้นอยู่กับใจ ถ้าใจคิดดีการพูดและการกระทำของบุคคลย่อมดีงาม และเป็นประโยชน์เสมอ แต่ถ้าใจคิดร้าย การพูดและการกระทำของบุคคลย่อมเลวร้าย มีโทษ มีอันตราย ตามไปด้วย

.....ตามธรรมดาร่างกายคนเราย่อมมีโอกาสอ่อนแอ เสื่อมโทรมเพราะถูกโรคต่างๆ เบียดเบียนได้เสมอ ใจของคนเราก็เช่นเดียวกันย่อมอ่อนแอ เสื่อมทราม ด้วยโรคต่างๆ ได้ตลอดเวลา แต่โรคที่เบียดเบียนจิตใจให้อ่อนแอ ป่วย และด้อยคุณภาพนั้น ท่านเรียกว่า "กิเลส" ไม่เรียกว่าโรค
แท้ที่จริงกิเลสนั้นมีอยู่มากมายหลายประเภท ไม่แพ้โรคทางกาย แต่เพื่อให้เข้าใจและจดจำได้ง่าย พระพุทธศาสนาจึงจัดแบ่งกิเลสออกเป็นตระกูลใหญ่ เพียง ๓ ตระกูล ดังกล่าวแล้ว

.....ถามว่ากิเลสเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร? เกิดแล้วอยู่ที่ไหน? พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ว่า
"โลภะ โทสะ โมหะ เกิดขึ้นในตน ย่อกำจัดบุรุษผู้มีจิตลามก เหมือนขุยไผ่กำจัดไม้ไผ่ ฉะนั้น" *

....(* กามสุตตมิทเทส ขุ. มหา. มก. ๖๕/๒๒/๒๔)

.....จากพุทธภาษิตบทนี้ย่อมเห็นได้ว่า กิเลสทั้งหมด เกิดขึ้นในใจของเรา (คำว่าตนในบริบทนี้หมายถึงใจ) นั่นคือ กิเลสเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้น และฝังตัวอยู่ในใจของทุกคนมาตั้งแต่เกิด ถ้ามีสิ่งเร้ามากระตุ้นก็จะกำเริบขึ้นแล้วแผ่ขยายตัวออก ปกคลุม ครอบงำ ชำแรก กัดกร่อน บังคับบัญชา บีบคั้นจิตใจ ให้คิดแต่เรื่องร้ายๆ อันเป็นสาเหตุให้คนเราแสดงพฤติกรรมชั่วร้าย และทำร้ายตัวเองในที่สุด ทำนองเดียวกับต้นไผ่ เมื่อออกขุยหรือเมล็ดแล้วก็ต้องยืนต้นตายนั่นเอง

.....อันตรายจากกิเลส

.....พระพุทธองค์ทรงเน้นย้ำว่า กิเลสทั้ง 3 ตระกูลนี้ เป็นมลทิน เป็นอมิตร เป็นข้าศึกศัตรู และเป็นเพชฌฆาตในจิตใจคนเรา มีอำนาจปกคลุมครอบงำใจคนให้มืดตื้อ มืดมิด ไม่เห็นธรรม กลายเป็นคนพาล บางขณะก็กระตุ้นจิตใจให้กำเริบ จึงคิดทำเรื่องชั่วร้าย รุนแรง มีโทษภัยและอันตราย


สุ. พูนพิพัฒน์.


ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.015729951858521 Mins