สัมมาทิฏฐิคือเครื่องมือปฏิรูปมนุษย์

วันที่ 14 พค. พ.ศ.2546

.....สัมมาทิฏฐิคือเครื่องมือปฏิรูปมนุษย์

.....จากเรื่องความเข้าใจผิด ๓ ประการ คือวัย,เครื่องหล่อเลี้ยงชีวิตและเป้าหมายของชีวิต ซึ่งเป็นเพียงบางส่วนของมิจฉาทิฐิในใจปุถุชน ท่านผู้อ่านย่อมตรองเห็นได้แล้วว่า มิจฉาทิฏฐิเหล่านี้สามารถก่อให้เกิดมหาวิบัติ แก่ทั้งผู้ประพฤติปฏิบัติ และสังคมได้กว้างขวางเพียงไหน ยิ่งในยุคโลกาภิวัฒน์นี้ด้วยแล้ว คงไม่จำเป็นต้อกล่าวว่า เชื่อของมหาวิบัติจะแพร่กระจายไปทั่วโลกได้รวดเร็วเพียงใด
ได้กล่าวแล้วว่า กระบวนวิธีในการปฏิรูปมนุษย์ที่เหมาะสมถูกต้องก็คือ การปลูกฝังสัมมาทิฏฐิให้มั่งคงลงในจิตใจของปุถุชนเป็นประการสำคัญ แล้วอย่างอื่นนอกนั้นย่อมพัฒนาตามมาเอง

.....เมื่อถามว่า สัมมาทิฏฐิ หรือความเข้าใจถูกเกี่ยวกับโลกและชีวิตนั้นคืออย่างไร ผู้มีความรู้เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ก็มักจะให้คำตอบแบบสรุปประเด็นว่า สัมมาทิฏฐิ คือการรู้ว่าอะไรเป็นบุญ - บาป ดี - ชั่ว ควร - ไม่ควร
คำตอบนี้เมื่อฟังแล้ว ก็ดูเหมือนเข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อนยุ่งยาก แต่ครั้นเมื่อจะนำไปปฏิบัติจริงนี่สิ จะเกิดปัญหาสงสัยทันที แม้เพียงแค่เรื่องควร - ไม่ควร ก็ตัดสนใจได้ยากแล้ว เพราะการปฏิบัติบางอย่างอาจเหมาะสมกับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ในเวลาใดเวลาหนึ่ง ในสถานที่ใด สถานที่หนึ่งเท่านั้น แต่อาจไม่เหมาะสม เมื่อสภาพการณ์ต่างๆ เปลี่ยนไป

.....อย่างไรก็ตาม พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระบรมครูของเราได้ตรัสแสดงสาระสำคัญของสัมมาทิฏฐิไว้ใจมหาจัตตารีสกสูตร ดังนี้
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัมมาทิฏฐิที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์ เป็นไฉน? คือความเห็นดังนี้ว่า ทานที่ให้แล้วมีผล ๑ ยัญบูชาแล้วมีผล ๑ การสังเวยที่บวงสรวงแล้วมีผล ๑ ผลวิบากของกรรมที่ทำดีทำชั่วแล้วมีผล ๑ โลกนี้มี ๑ โลกหน้ามี ๑ มารดามี ๑ บิดามี ๑ สัตว์ที่เป็นอุปปาติกะมี ๑ สมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้ดำเนินไปชอบ ปฏิบัติชอบ ซึ่งประกาศโลกนี้โลกหน้าให้แจ่มแจ้ง เพราะรู้ยิ่งด้วยตนเองในโลก มีอยู่ ๑ นี้สัมมาทิฏฐิที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญให้ ผลแก่ขันธ์

.....จากพุทธภาษิตที่ยกมานี้ สัมมาทิฏฐิที่ยังเป็นสาสวะ หมายถึง สัมมาทิฏฐิที่ยังอยู่ในระดับโลกียะ ยังไม่ถึงระดับโลกุตระ และยังไม่เป็นอริยะ การปฏิบัติสัมมาทิฏฐิในระดับโลกียะนี้ ย่อมเกิดผลเป็นบุญ คือ คุณความดี ให้ความสุขแก่ผู้ปฏิบัติ สาระสำคัญของสัมมาทิฏฐิในระดับนี้ประกอบด้วยองค์ ๑๐ คือ

.....๑. ทานที่ให้แล้วมีผล

.....๒. ยัญที่บูชาแล้วมีผล

.....๓. การสังเวยที่บวงสรวงแล้วมีผล

.....๔. ผลวิบากของกรรมที่ทำดีชั่วแล้วมีผล

.....๕. โลกนี้มี

.....๖. โลกหน้ามี

.....๗. มารดามี

.....๘. บิดามี

.....๙. สัตว์ที่เป็นอุปปาติกะมี

.....๑๐. สมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้ดำเนินไปชอบ ปฏิบัติชอบ ซึ่งประกาศโลกนี้โลกหน้าให้แจ่มแจ้ง เพราะรู้ยิ่งด้วยตนเองในโลกมีอยู่
ถ้าท่านผู้อ่านได้พิจารณาสัมมาทิฏฐิทั้ง ๑๐ ประการดังกล่าว โดยไตร่ตรองอย่างรอบคอบถี่ถ้วนแล้ว จะพบว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงปลูกฝังสัมมาทิฏฐิ โดยการสอนบุคคลให้ใช้หลักเหตุผลตรองตาม แล้วนำไปสู่การปฏิบัติตามอย่างเหมาะสม จากเรื่องที่เข้าใจได้ง่าย ไปสู่เรื่องที่ลึกซึ้งขึ้นไปตามลำดับๆ พร้อมกับความเข้าใจที่เพิ่มขึ้นมากเท่าไรก็ทำให้เกิดความสว่างในใจเพมิขึ้นมาเท่านั้นด้วย

.....ความสว่างในใจเพิ่มขึ้นมากเท่าไร ความรู้เท่าทันโลกและชีวิตคือปัญญา ก็เพิ่มขึ้นเป็นเงตามตัวไป แล้วนำไปสู่ความเข้าใจธรรมะที่ลึกซึ้งขึ้นในลำดับต่อไปเรื่อยๆ ขณะเดียวกันความสว่างและปัญญารวมทั้งความเชื่อมั่นก็ทวีขึ้นเรื่อยๆ ตามลำดับ เฉกเช่นการไต่บันได(พะอง) ขึ้นยอดตาลทีละขั้นๆ อย่างมั่นคง โดยไม่มีการก้าวข้ามขั้น แม้บันไดและต้นตาลจะสูงเพียงใด บุคคลก็จะไต่ขึ้นไปได้เรื่อยๆ ตราบใดที่ยังคุมสติได้มั่นคง

.....ถ้อยคำดังกล่าวจะถูกต้องหรือไม่ ท่านผู้อ่านย่อมพิจารณาได้จากธรรมบรรยายในลำดับต่อไป

.....สัมมาทิฏฐิระดับที่ ๑ ทานที่ให้แล้วมีผล "ทาน" ในสัมมาทิฏฐิระดับต้นนี้ มีความหมายครอบคลุมทั้งการให้ และสิ่งของที่ให้ผู้อื่น
เมื่อกล่าวถึงทาน ปุถุชนโดยทั่วไปมักเข้าใจว่า เป็นการบริจาคเงินทอง หรือสิ่งของเล็กๆ น้อยๆ ให้แก่คนขอทานหรือผู้ยากไร้เท่านั้น ส่วนผู้ที่มีความรู้ธรรมะมากขึ้นอีกหน่อย ก็อาจจะเข้าใจว่า หมายถึงการทำบุญตักบาตรถวายปัจจัยไทยธรรมะแก่พระภิกษุ เป็นต้น

.....แท้ที่จริงคำว่า "ทาน" ในพระพุทธศาสนา มีความหมายกว้างมากกว่านั้น ในแง่ของการให้ ก็มีทั้งการให้ที่เป็นทั้งวัตถุ สิ่งของ และธรรมะ
การให้ที่เป็นวัตถุสิ่งของ ได้แก่ การให้เงินทอง ปัจจัย ๔ ตลอดจนวัตถุสิ่งของที่นอกเหนือจากปัจจัย ๔ การให้ธรรมะ ได้แก่ การให้ความรู้ทั่วไป การให้ความรู้ความเข้าใจทางธรรม ซึ่งมีคำเรียกว่า "ธรรมทาน"


 

สุ. พูนพิพัฒน์.

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.01366111834844 Mins