สัมมาทิฏฐิคือเครื่องมือปฏิรูปมนุษย์ ( ต่อ )

วันที่ 28 พค. พ.ศ.2546

.....นอกจากธรรมทานแล้วก็มี อภัยทาน (การให้ความปลอดภัย คือไม่ถือโทษโกรธเคือง) อโหสิ (ยกโทษให้ หรือไม่เอาโทษ) การเสียสละเวลาเพื่อช่วยผู้อื่นทำกิจ ตลอดถึงการให้กำลังใจผู้อื่นด้วยปิยวาจา ฯลฯ

.....อย่างไรก็ตาม สาระสำคัญเบื้องต้นของการทำทานในพระพุทธศาสนาอยู่ตรงเรื่อง การแบ่งปันกันกิน แบ่งปันกันใช้ โดยยุติธรรม เป็นการป้องกันไม่ให้แย่งกันกิน แย่งกันใช้ ไม่เห็นแก่ตัว ไม่เอาเปรียบกัน ไม่โกงกัน ใครจะได้ส่วนแบ่งมากบ้างน้อยบางก็ไม่เป็นไร เมื่อใครมีความเข้าใจถูกว่าสิ่งนี้ควรทำ ความโลภที่นอนเนื่องอยู่ในจิตใจมาตั้งแต่เกิด ก็ไม่สามารถกำเริบขึ้นมาหุ้มห่อบังคับจิตใจได้ ส่วนความโลภที่เคยกำเริบมาก่อนแล้ว ก็จะลดลงหรืออันตรธานไป ด้วยเหตุนี้ท่านผู้รู้จึงมักกว่าว่า "การทำทานเป็นการกำจัดความตระหนี่ออกจากใจ"

.....การคิดทำทานทุกประเภททุกลักษณะ ล้วนแสดงความเป็นคนรู้จักคิดด้วยการใช้เหตุผล จนเกิดความเข้าใจถูกระดับหนึ่ง ซึ่งฟ้องว่าใจของเขาย่อมสว่างอยู่ในระดับหนึ่งแล้ว

.....คราใดที่บุคคลคิดจะทำทานเพิ่มขึ้น แสดงว่า ความสว่างและปัญญาอันเกิดจากความเข้าใจถูก กำลังพัฒนาขึ้นในใจ ครั้นเมื่อได้ทำทานจริงๆ ตามที่คิดแล้ว ความสุขและความปีติทั้งของผู้รับและผู้ให้ย่อมเกิดตามมาอย่างแน่นอน เพราะเหตุนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสว่า "ทานที่ให้แล้วมีผล"

.....ยิ่งกว่านั้น ถ้าการทำทานดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนเกิดเป็นลักษณะนิสัย ใจก็จะพัฒนาขึ้น จนสามารถตรองหาเหตุผลเกี่ยวกับองค์แห่งสัมมาทิฏฐิระดับถัดไปได้ถูก

.....สัมมาทิฏฐิระดับที่ ๒ ยัญที่บูชาแล้วมีผล เมื่อกล่าวถึง ยัญ บุคคลโดยทั่วไปมักนึกถึงการฆ่าสัตว์บูชาเทพเจ้าเพื่อให้ตนพ้นเคราะห์ร้าย
ส่วนคำว่า การบูชายัญ ในพระพุทธศาสนา หมายถึงการสงเคราะห์ด้วยความปรารถนาดี โดยไม่หวังการตอบแทน ขอแต่เพียงให้ผู้ที่รับการสงเคราะห์ได้รับความสุข ความสะดวก สบายก็พอใจแล้ว

.....อย่างไรก็ตาม สาระสำคัญแห่งสัมมาทิฏฐิระดับ ๒ อาจสรุปให้เข้าใจง่าย ได้ ๒ ประการ ดังนี้

.....๑) ช่วยเหลือในเรื่องที่ถูกที่ควรแก่บุคคลที่สมควร เช่น การให้ปัจจัย ๔ แก่บุคคลทุพลภาพและคนชราที่ขาดที่พึ่ง การช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่มีปัญหาในด้านต่างๆ ซึ่งรอคอยความช่วยเหลืออยู่ การอุปถัมภ์สมณชีพพรามหณ์ หรือนักบวช ให้มีความสะดวกในการปฏิบัติธรรมเพื่อเป็นบุคคลต้นแบบแห่งความดีและสามารถสั่งสอนอบรมผู้คนในสังคมให้เป็นคนดีที่โลกต้องการได้

.....๒) ส่งเสริมบุคคลที่ควรส่งเสริม เช่น การแจกปัจจัยในการยังชีพแก่ประชาชน ผู้ประสบภัยธรรมชาติต่างๆ การส่งเสริมเกษตรกรผู้ผลิตในด้านความรู้และเทคโนโลยีสมัยใหม่เกี่ยวกับการผลิต เป็นต้น
ผลดีของการสงเคราะห์ทั้ง ๒ ประการ ที่จะเกิดขึ้นแก่ฝ่ายผู้รับ ส่วนผลดีที่สำคัญยิ่งซึ่งจะเกิดแก่ฝ่ายผู้ให้ก็คือ ได้ยกระดับจิตใจให้สูงขึ้นจากระดับแบ่งปัน เป็นระดับช่วยเหลือกันโดยไม่หวังการตอบแทน ขณะเดียวกันความสว่างในใจก็จะพัฒนาขึ้นอีกระดับหนึ่ง ก่อให้เกิดปัญญาสามารถตรองหาเหตุผลเกี่ยวกับสัมมาทิฏฐิในระดับสูงขึ้นต่อไป เพราะเหตุนี้พระพุทธองค์จึงตรัสว่า "ยัญที่บูชาแล้วมีผล"
สัมมาทิฏฐิระดับที่ ๓ การสังเวยที่บวงสรวงแล้วมีผล ผู้คนส่วนมากเมื่อเห็นคำว่า สังเวย และ บวงสรวง แล้ว ก็มักจะนึกถึงพิธีเซ่นสังเวยผีตามแนวไสยศาสตร์ พิธีไหว้เจ้าหรือเซ่นเจ้าตามธรรมเนียมจีน

.....ในพระพุทธศาสนาหมายถึง "การนำสิ่งของที่สมควรไปสักการบูชา ผู้ที่ควรบูชา มีผลดีจริง ควรทำอย่างยิ่ง" ส่วนเรื่องที่จะสักการบูชาใคร อย่างไรด้วยวัตถุประสงค์อะไรนั้น อาจสรุปเป็นหลัก ปฎิบัติได้ดังนี้ คือ

.....๑) พึงนำสิ่งของที่ควรไปสักการบูชาบรรพบุรุษและญาติผู้ล่วงลับไปแล้ว เพื่อเป็นการแสดงความกตัญญูรู้คุณของท่านและเพื่อระลึกถึง

.....๒) พึงนำสิ่งของที่ควรไปสักการบูชาผู้มีพระคุณ ขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ เช่น มารดาบิดา ครูบาอาจารย์ ตลอดจนผู้ที่มีอุปการคุณอื่นๆ เพื่อแสดงกตัญญูกตเวทิตาต่อบุคคลเหล่านั้น

.....๓) พึงนำสิ่งของที่ควรไปสักการบูชาคนดีมีศีลธรรมสูงส่งสมเป็นแบบอย่างของสังคม และเยาวชนรุ่นหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนดีที่ทำประโยชน์ให้แก่สังคมโดยรวม ไม่ว่าบุคคลเหล่านั้นจะละโลกไปแล้วหรือยังมีชีวิตอยู่

.....๔) พึงนำสิ่งของที่ควรไปสักการบูชาสมณพรามหณ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบซึ่งกำลังมุ่งมั่นพัฒนาผู้คนในสังคม เป็นการประกาศคุณความดีของท่านให้ชาวโลกรู้ เป็นการแสดงกตัญญูกตเวทิตาต่อท่าน รวมทั้งเป็นการสงเคราะห์ท่านด้วยปัจจัยต่างๆ ที่จะอำนวยความสะดวกในงานพัฒนาสังคมของท่าน ตลอดจนเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ท่านมีกำลังใจปฏิบัติภารกิจเกี่ยวกับการพัฒนาสังคมต่อไปอีก

 

 

สุ. พูนพิพัฒน์.

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.015847166379293 Mins