การอ่านสร้างปัญญา

วันที่ 21 สค. พ.ศ.2558

 

การอ่านสร้างปัญญา


            มีข้อมูลมาจากสำนักสถิติแห่งชาติว่า คนไทยเราอ่านหนังสือน้อยมาก เฉลี่ยแล้วตกปีหนึ่งคนละ 5 เล่มเท่านั้น ในจำนวน 5 เล่มที่ว่านี้ยังรวมหนังสือเรียนอีกด้วย ถ้าไม่นับหนังสือเรียน ไม่รู้ว่าจะเหลือถึง 1 เล่มหรือเปล่า ยิ่งถ้าไม่นับหนังสือพิมพ์อาจจะแทบไม่เหลือเลย เพราะคนส่วนใหญ่มักจะใช้เวลาไปกับการดูทีวี เล่นเกมส์กันเสียมาก เมื่อเทียบกับคนในประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่าเขาอ่านหนังสือปีหนึ่ง 50 เล่ม มากกว่าคนไทย 10 เท่า


            เคยมีคำถามว่าการฟังกับการอ่านต่างกันอย่างไร ใช้การดูทีวีแทนการอ่านหนังสือไม่ได้หรือ เพราะต่างก็เป็นที่มาของข้อมูลความรู้เหมือนกัน คำตอบคือ อาจจะพอแทนกันได้แต่ไม่สมบูรณ์ เราลองสังเกตดูอย่างนี้ ถ้าเราไปดูภาพยนตร์แล้วนำมาเล่าให้เพื่อนฟัง เราแทบไม่ต้องคิดอะไรมาก ดูมาอย่างไรได้ยินได้ฟังมาอย่างไรก็เอามาเล่าต่อ อาจจะใช้เวลา 20 นาที หรือ 30 นาทีก็แล้วแต่ว่าเรื่องนั้นความยาวหรือมีความละเอียดซับซ้อนแค่ไหน


            แต่ถ้าหากให้เราเขียนจดหมายไปเล่าให้เพื่อนที่อยู่ต่างถิ่นอ่านเรื่องเดียวกันเราอาจต้องใช้เวลาหลายชั่วโมง หรือเป็นวันๆเลยทีเดียว ดังที่บางคนบอกว่าเขียนจดหมายยาวแค่ 3 หน้าบางทีใช้เวลา 3 วันยังเขียนไม่เสร็จ เพราะในการเขียนเราต้องใช้เวลาเรียบเรียง ถ้าเป็นการพูดก็พูดได้ทันที คิดอะไรได้ก็พูดไป วกหน้าวนหลังบ้าง ก็ไม่เป็นไร แต่พอเป็นการเขียนจะต้องลำดับความคิด มีการกลั่นกรองคัดเลือกใช้ถ้อยคำที่เหมาะสม เพราะเรามีเวลาหยุดคิดมากกว่า เพื่อถ่ายทอดให้ตรงกับที่เราต้องการสื่อออกไป ให้มากที่สุด เขียนเสร็จก็ตรวจทานได้อีกว่า ประเด็นครบหรือไม่ ตกหล่นอะไรไหม การเขียนจึงใช้เวลานานกว่าการพูด โดยสรุป คือ ข้อมูลที่ถูกถ่ายทอดเป็นตัวอักษร จะผ่านการกลั่นกรองพินิจพิจารณามาอย่างละเอียดรอบคอบมากกว่า ข้อมูลจากการพูด นี้คือข้อสังเกตประการแรก

 

           ประการต่อมาก็คือ ขอให้เราลองเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างการรับสารจากการดูทีวีเทียบกับการหนังสือ เราจะพบว่าแม้ข่าวสารนั้นจะมีเนื้อความคล้ายกัน แต่ในการดูทีวีความละเมียดละมัยในการไตร่ตรองพินิจพิจารณาของเราจะหย่อน เพราะเราเป็นผู้รับข้อมูล โดยกึ่งเหมือนถูกบังคับ ลองคิดดู เวลาเราดูทีวีเราย่อมไม่สามารถบอกเขาให้พูดช้าๆ หน่อย ให้แสดงช้าๆ หน่อยเพราะเราตามไม่ทัน ขอเวลาหยุดคิดก่อน ทำได้ไหม คำตอบคือ ทำไม่ได้ เราถูกบังคับให้รับข้อมูลเร็วช้าตามแต่เขาจะป้อนให้ แต่ถ้าเป็นการอ่านหนังสือนอกเหนือจากผู้ให้ข่าวสารแก่เราเขาจะไตร่ตรองพินิจพิจารณาเรียบเรียงข้อมูลอย่างดีแล้ว เราเองยังมีสิทธิหยุดคิดได้ จะอ่านเร็วก็ได้ จะอ่านช้าก็ได้ อ่านไปแล้วก็เกิดข้อคิด อะไรขึ้นมา เราก็สามารถหยุดอ่านชั่วคราว นั่งคิดตรึกตรองซัก 10 นาทีก็ทำได้ อยู่ที่เรา เราเป็นผู้กำหนดเอง ดังนั้นข้อมูลที่เราได้รับจะถูกย่อยอย่างดี และเป็นประโยชน์กับตัวเรามาก


            แม้หนังสือที่เป็นเรื่องแต่ง หากเขียนได้ดีก็มีแง่คิดที่น่าสนใจเป็นประโยชน์ ยิ่งหนังสือที่ออกเป็นเชิงวิชาการ ผู้เขียนเขาต้องเค้นความสามารถและสติปัญญาที่มีอยู่ทั้งหมดออกมาอย่างเต็มที่ กว่าจะได้หนังสือเล่มหนึ่งบางครั้งหมดเวลาไปหลายๆปีเลยทีเดียว ต้องค้นคว้าหาข้อมูล ขบคิดพิจารณามากมาย กว่าจะกลั่นผลึกความคิดถ่ายทอดออกมาเป็นตัวอักษรเป็นเล่มยิ่งหนังสือดีๆที่ได้รับความนิยม ผู้เขียนมีสติปัญญามาก มีความสามารถมาก หนังสือเล่มนั้นย่อมเสมือนกลั่นเอาความคิดสติปัญญาระดับโลกมารวมบรรจุไว้ ถ้าเราได้อ่านและได้ไตร่ตรองอย่างดี ก็จะเป็นการย่นเวลาให้ตัวเองอย่างมหาศาลเลยทีเดียวแทนที่เราจะต้องมานั่งคิดทุกอย่างด้วยตัวเอง เราจะทำหน้าที่เป็นผู้รับข้อมูล กลั่นกรองพิจารณาแล้วก็เลือกรับนำมาใช้ในสิ่งที่ถูกต้อง เราจะได้ประสบการณ์อย่างดีเยี่ยมจากการอ่านหนังสือเหล่านี้ เราอ่านไปสิบเล่มก็เท่ากับเราไปคว้าสิ่งที่เป็นแก่นความคิดของผู้มีสติปัญญาสิบคน อ่านไปร้อยเล่มก็เท่ากับไปรับสติปัญญาของคนเป็นร้อยคน ยิ่งหากเราสามารถวิเคราะห์ไตร่ตรอง จนกระทั่งความรู้เหล่านั้นหลอมรวมเข้ากับฐานข้อมูลเดิมในใจของเรา ตกผลึกเป็นข้อมูลหรือแนวทางให้เราใช้ในการตัดสินใจทำสิ่งต่างๆ ต่อไปได้ นับเป็นประโยชน์แก่เราอย่างยิ่ง 


            การอ่านจึงเป็นสิ่งที่ให้คุณค่ามหาศาล พวกเราจึงควรรักการอ่านให้มากกว่านี้ อาตมภาพยังจำได้สมัยเด็กๆ ความที่ทุกคนในบ้านเป็นนักอ่าน โยมพ่อก็ชอบอ่านหนังสือ โยมแม่ก็เป็นนักอ่านพี่ๆทุกคนได้ดูพ่อแม่เป็นแบบอย่างก็เป็นนักอ่านเหมือนๆกัน อาตมภาพก็เลยสนใจการอ่านตั้งแต่ยังเล็ก แม้ในขณะที่ยังอ่านหนังสือไม่ออกก็นอนหนุนตักโยมแม่ ฟังท่านเล่านิทาน เนื้อหาในนิทานส่วนใหญ่เป็นคติธรรมทั้งนั้น เรื่องความเคารพบ้าง ความกตัญญูบ้าง ความเสียสละบ้าง ซึ่งท่านก็นำมาจากหนังสือที่ท่านอ่าน ตัวเราก็รอว่าเมื่อไรจะอ่านหนังสือออก จะได้ไปอ่านให้หนำใจเลย พอขึ้น ป.1 เริ่มจะอ่านหนังสือออก ก็รีบไปหาหนังสือมาอ่าน แรกๆหนังสือที่อ่านก็มักจะเป็นนิทานก่อนนอนตามประสาเด็ก ต่อมาเป็นนิยายกำลังภายใน นิยายไทย นิยายจีนก็อ่าน อ่านมากเข้าก็ค่อยๆพัฒนาต่อไปจนถึงเรื่องในเชิงพงศาวดาร สามก๊กเอย เปาบุ้นจิ้นเอย ซ้องกั๋งเอย ก็อ่านไปเรื่อยๆ จนถึงรามเกียรติ์ ตามด้วยขุนช้างขุนแผน ก็ค่อยอ่านพัฒนาไป พออ่านมากเข้าๆจะมีความคุ้นเคยกับการอ่านโดยไม่จำกัดอยู่เฉพานิยายทั่วๆไป แต่เริ่มเข้าสู่หนังสือที่เป็นวิชาการและมีสาระมากขึ้นๆ 


            ตอนย้ายบ้านจากทางใต้ไปอยู่สกลนคร ตอนนั้นเพิ่งเรียนจบป.4 และกำลังจะขึ้นป.5 จำได้ว่าวันที่ไปโรงเรียนวันแรกเมื่อรู้จักเพื่อนที่เป็นคนท้องถิ่น ประโยคแรกที่ถามเพื่อนคือ ห้องสมุดประชาชนของจังหวัดสกลนครอยู่ที่ไหน เพราะไปดูห้องสมุดของโรงเรียนแล้วพบว่า มีหนังสืออยู่นิดเดียว จึงอยากจะไปห้องสมุดประชาชน เพราะคิดว่าน่าจะมีหนังสือมากกว่า แต่ถามเพื่อนๆแล้วก็ไม่มีใครรู้เลยว่าห้องสมุดประชาชนอยู่ที่ไหน จึงต้องขี่จักรยานตระเวณหารอบเมือง หาอยู่เป็นสัปดาห์จนสุดท้ายก็พบ อยู่ในอาคารเหล่ากาชาดของจังหวัดเห็นแล้วก็ดีใจรีบเข้าไปทันที จากนั้นมาทุกเสาร์-อาทิตย์ จะไปขลุกอยู่แต่ในห้องสมุด 8 โมงครึ่งไปรอแล้ว พอบรรณารักษ์มาเปิดห้องสมุดก็เข้าไปอ่าน พักเที่ยงห้องสมุดปิด บรรณารักษ์ไปทานข้าว ก็ยืมหนังสือมานอนอ่านใต้ต้นไม้หน้าห้องสมุด ห่อข้าวไปทานด้วย บ่ายโมงห้องสมุดเปิดก็เข้าไปอ่านต่อ พอ 4 โมงห้องสมุดปิดก็ยืมกลับมาอ่านที่บ้าน อ่านจนบางครั้งเมื่อยตารู้สึกร้อนตา เลยเอาผ้าเช็ดหน้า ห่อน้ำแข็งแล้วเอามาอังตา จึงถูกพ่อดุเอา บอกว่าห้ามทำอย่างนี้ อ่านหนังสือพ่อไม่ห้ามหรอก แต่ถ้าเมื่อยตาต้องพัก เอาน้ำแข็งมาอังตาไม่ได้เดี๋ยวตาจะเสีย ท่านบอกอย่างนั้นก็ต้องยอมฟังท่าน แต่พอท่านเผลอก็แอบไปอ่านอีกแล้ว เพราะมีเรื่องที่อยากจะรู้เยอะไปหมด 


            ไปห้องสมุดบ่อยจนคุ้นกับบรรณารักษ์วันไหนถ้า 8 โมงครึ่ง บรรณารักษ์ยังไม่มาเปิดห้องสมุด อาตมภาพก็จะปั่นจักรยานไปตามถึงบ้านเลย บอกคุณลุงถึงเวลาแล้ว บรรณารักษ์ก็จะหัวเราะแล้วก็มาเปิดห้องสมุดด้วยกัน ถ้าห้องสมุดได้หนังสืออะไรมาใหม่ คุณลุงบรรณารักษ์จะเก็บหนังสือไว้ให้อาตมภาพอ่านก่อนเป็นคนแรกเลย ก็ได้อาศัยห้องสมุดเล็กๆ ประจำจังหวัดนี้แหละเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญในชีวิตวัยเด็ก อ่านไปเรื่อยเท่าที่มี และสิ่งที่อ่านเหล่านั้นก็ค่อยๆซึมซับเข้ามาเป็นข้อมูลของเรา เราก็สามารถเรียนรู้โลกได้จากตัวอักษรเหล่านี้นี่เอง และพอเราโตขึ้นแหล่งข้อมูลก็จะกว้างมากขึ้น  นิสัยรักการอ่านเมื่อเพาะขึ้นแล้วก็จะเป็นประโยชน์แก่เรามาก ทำให้เรามีข้อมูลมากมาย ทั้งลึกซึ้งและกว้างขวาง  ทั้งยังได้สั่งสมประสบการณ์ สั่งสมทัศนะในการวิเคราะห์ ไตร่ตรอง ขบคิดเรื่องราวต่างๆ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการดำเนินชีวิต เพราะฉะนั้นขอให้พวกเราทุกคนช่วยกันปลูกฝังนิสัยรักการอ่าน ทั้งแก่ตัวเราเองด้วยและแก่ลูกหลานเราด้วย

----------------------------------------------------------------------------------

หนังสือ " ทันโลกทันธรรม 1  "

พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0015022158622742 Mins