การรับน้องใหม่

วันที่ 21 สค. พ.ศ.2558

 

 

การรับน้องใหม่


            สมัยที่อาตมภาพยังเป็นนิสิตแพทย์และเริ่มฝึกงานรักษาคนไข้นั้น จะเป็นที่รู้กันว่า ถ้าวันไหนเป็นวันรับน้องของคณะ เช่นคณะวิศวะนิสิตแพทย์ที่อยู่เวรห้องฉุกเฉิน จะต้องตั้งหลักเตรียมรับเลย โดยเตรียมกลูโคสไว้เป็นบ้องๆ ที่เรียกเป็นบ้องที่จริงก็คือเข็มฉีดยานั่นเอง แต่เป็นหลอดโตๆ หลอดหนึ่งจุกลูโคสเข้มข้นได้ถึง 50 ซีซี นอกจากนี้เข็มฉีดกลูโคสก็ยังมีขนาดใหญ่มาก เพราะต้องใช้ฉีดกลูโคสซึ่งเป็นน้ำหวานเข้มข้น มีความหนืด ถ้าเข็มมีขนาดเล็กจะฉีดไม่ออก ตกดึกสัก 4 ทุ่ม 5 ทุ่ม จะเริ่มมีน้องใหม่วิศวะ ที่ถูกรุ่นพี่มอมเหล้า คะยั้นคะยอให้ดื่มจนกระทั่งเมาไม่ได้สติ และกำลังจะช็อค ถูกหามส่งโรงพยาบาล พอมาถึงหมอก็จะรีบฉีดกลูโคสเข้าเส้นเลือด เพราะกลูโคสจะมีผลช่วยให้สร่างเมาได้ ป้องกันไม่ให้ช็อค หรือเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต เสร็จแล้วก็จับนอนเรียงกันเป็นตับ


            มีเพื่อนอาตมภาพอีกคนหนึ่งเรียนวิศวะ จุฬาฯ เหมือนกัน เดิมเป็นเด็กเรียนดี อยู่โรงเรียนเตรียมอุดม ไม่ดื่มเหล้ามาดื่มครั้งแรก ก็ตอนรับน้องใหม่ ถูกรุ่นพี่คะยั้นคะยอ ก็เลยดื่มเข้าไป ดื่มบ่อยๆก็ติดเป็นนิสัย เรียน 5 ปีถึงจบ จบแล้วก็ทำงานไม่ค่อยประสบความสำเร็จ เพราะกลายเป็นคนขี้เมาไปแล้ว น่าเสียดาย


            ถ้ารับน้องใหม่แล้วเมาแบบนี้ก็คงไม่ดี ต้องปรับปรุงแก้ไขซึ่งในช่วงหลังๆ นี้ดีขึ้นมากแล้ว เพราะเยาวชนคนรุ่นใหม่เริ่มเห็นภัยแอลกอฮอล์มากขึ้น แต่หากมีที่ที่ยังเป็นอย่างนี้อยู่ ขอให้เปลี่ยนเถิดมันไม่เป็นประโยชน์อะไรเลย มีแต่โทษ
มีบางคนบอกว่า น่าจะยกเลิกการรับน้องไปเลยดีไหม เรื่องนี้ขอให้เราแยกระหว่างคำว่า การรับน้องใหม่กับวิธีรับน้องใหม่ มันไม่เหมือนกันนะ การรับน้องใหม่ อาตมภาพคิดว่าเป็นสิ่งดีไม่มีอะไรเสียหาย แต่สำคัญคือ วิธีรับน้องใหม่ หมายถึง ในการรับน้องเรามีวิธีการอย่างไรบ้าง ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นข่าวครึกโครมในสื่อมวลชน มักจะเป็นตรงวิธีรับน้องใหม่มากกว่า ที่ไปทำอะไรพิเรนทร์ ๆ กัน


            ในทางสงฆ์ก็มีการรับน้องใหม่ ตั้งแต่บวช ทันทีพระอุปัชฌาย์บวชพระใหม่เสร็จ จะเรียกว่า รับศิษย์ใหม่หรือน้องใหม่ก็ได้ ท่านจะให้โอวาทก่อน บอกอกรณียกิจ 4 อย่างที่ภิกษุห้ามทำโดยเด็ดขาด โดยมีพระพี่เลี้ยงคอยดูแลอบรมไม่ว่าจะเป็นเรื่องนุ่งห่มจีวรอย่างไร จะต้องพินทุวิกัปผ้าอย่างไร พระวินัย 227 ข้อมีอะไรบ้าง ต้องคอยแนะนำตลอด การรับน้องของพระมีระยะเวลาถึง 5 ปีคือช่วงเป็นพระนวกะ 5 พรรษาแรก นับเป็นวิธีการที่ดี ส่งผลให้พระพุทธศาสนามีพระภิกษุที่มีคุณภาพ


            การรับน้องใหม่ไม่ใช่เรื่องเสียหาย แต่วิธีการรับน้องต้องถูกต้อง ถ้าหากตัวเราไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ มีวิธีการรับน้องที่ยังไม่ถูกต้อง เช่นมีพี่จะเอาเหล้ามาให้ดื่ม อาตมภาพขอแนะนำวิธีการที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อธัมมชโยเคยใช้มาแล้ว สมัยเป็นนิสิตที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเกษตรนั้นขึ้นชื่อลือชาเรื่องการดื่มเหล้า เมื่อรุ่นพี่เอาเหล้ามาให้ดื่ม ท่านตอบสั้นๆ ว่า “ ผมรักษาศีลครับ ” พี่กำลังเมาฟังแล้วแทบสร่างเมา ไม่กล้าคะยั้นคะยอต่อ เราลองเอาไปใช้ดูก็ได้ ถ้าเรารักษาศีลจนเป็นปกติแล้วคำพูดแม้สั้นๆ จะมีอานุภาพทีเดียว


            มีอีกตัวอย่างหนึ่งคือ มีนิสิตคณะสัตวแพทย์ จุฬาฯ 2 ท่านเป็นรุ่นน้องอาตมภาพ มาอบรมธรรมทายาทภาคฤดูร้อน ที่วัดพระธรรมกายหลังอบรมเสร็จก็ตั้งใจรักษาศีล 5 ตลอด ต่อมาพบว่าการเรียนในช่วงปี 5 ปี 6 จะต้องมีการฆ่าสัตว์ทดลอง จึงไปขอพบคณบดีเพื่อขอจบการศึกษาเพียง 4 ปี โดยขอรับแค่ปริญญาวิทยาศาสตร์บัณฑิต เพียงอย่างเดียวไม่ขอรับสัตวแพทยศาสตรบัณฑิต การเรียนในคณะสัตวแพทย์ในสมัยก่อน เมื่อเรียนจบ 4 ปี จะได้รับปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิตก่อนใบหนึ่ง พอจบ 6 ปีจึงจะได้รับปริญญาสัตวแพทยศาสตรบัณฑิตอีกใบหนึ่ง ซึ่งคณะแพทย์และคณะทันตแพทย์ในสมัยนั้นก็เป็นอย่างนี้เหมือนกัน ต่อมาภายหลังจึงได้มีการยกเลิกปริญญาตอนจบ 4 ปีไป เพราะเห็นว่าพอจบ 4 ปี ก็เรียนต่อ 6 ปีกันทุกคน จึงให้รับปริญญาตอนจบ 6 ปีทีเดียวเลย การจะขอจบ 4 ปีในขณะที่เขายกเลิกปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิตไปแล้ว จึงต้องได้รับอนุมัติเป็นกรณีพิเศษจากคณะกรรมการบริหารของมหาวิทยาลัย


            เมื่อนิสิตทั้งสองไปพบคณบดีเพื่อจะขอจบ 4 ปี คณบดีได้ถามเหตุผล นิสิตจึงบอกว่า “ ผมกลัวผิดศีลครับ ” อาจารย์เองถึงกลับงงไปเลย ต้องเอาเรื่องเข้าที่ประชุมในคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยที่มีอธิการบดีเป็นประธาน คณะบดีทุกคณะเป็นกรรมการ บอกนิสิตจะขอจบ 4 ปี ขออนุมัติจากคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยด้วย ที่ประชุมถามเหตุผล คณบดีคณะสัตวแพทย์ก็ตอบว่า นิสิตต้องการรักษาศีล ที่ประชุมก็นิ่ง จะด้วยความทึ่ง หรือความประทับใจ หรือว่าความงงก็ไม่ทราบเหมือนกัน แต่ก็อนุมัติเป็นเอกฉันท์


            นิสิตทั้งสองท่านนี้ก็เลยรับปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต เสร็จแล้วมาเป็นอุบาสกที่วัดพระธรรมกายรักษาศีล 8 ช่วยงานวัดอยู่ประมาณ 10 ปี ก็ได้บวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา จนกระทั่งบัดนี้ทั้งสองรูปก็บวชมาได้ 10 พรรษาเศษแล้ว และเป็นกำลังสำคัญของวัดในปัจจุบัน นี่คืออานุภาพของศีล อย่าว่าแต่เพื่อนๆรุ่นพี่เลย แม้ครูบาอาจารย์ก็ยังยอมรับ ขอให้เราตั้งใจรักษาศีลจริงๆ เถิด จะไปอยู่ที่ใดก็ตามสิ่งแวดล้อมจะไม่เป็นอุปสรรคต้อการตั้งใจทำความดีของเราเลย ถ้าหากเรามีความตั้งใจจริง การรับน้องใหม่ก็เช่นเดียวกัน ถ้าทำถูกต้องเหมาะสมโดยมีรุ่นพี่คอยดูแลแนะนำน้องอย่างดี ก็จะทำให้น้องใหม่เติบโตขึ้นมาในรั้วมหาวิทยาลัย เป็นนิสิตและก็เป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพของสังคมต่อไป ส่วนวิธีการขอให้ปรับแก้กันให้ถูกต้องเหมาะสมแล้วทุกอย่างก็จะเป็นไปได้อย่างดี

 

----------------------------------------------------------------------------------

หนังสือ " ทันโลกทันธรรม 1  "

พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.026270600159963 Mins