อานิสงส์ของการถวายธง

วันที่ 16 พย. พ.ศ.2558

อานิสงส์ของการถวายธง
 

อานิสงส์ของการถวายธง

 

     ทุกชีวิตที่เกิดมา ล้วนบ่ายหน้าไปสู่ความตาย ตั้งแต่วันแรกที่ลืมตามาดูโลก ความตายก็พร้อมจะเกิดขึ้นกับเราได้ตลอดเวลา บัณฑิตนักปราชญ์ผู้มีปัญญามองเห็นว่าความตายไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัว ไม่ใช่เรื่องเลวร้าย เป็นเพียงการย้ายที่อยู่ไปสู่ภพภูมิที่เหมาะสมกับบุญบารมีหรือบาปอกุศลที่ได้ทำไว้เมื่อครั้งที่เป็นมนุษย์ ผู้มีบุญมากจะย้ายที่อยู่ไปสุคติโลกสวรรค์ ส่วนผู้ทำบาปไว้มากก็ต้องไปอยู่ในอบายภูมิ เสวยวิบากกรรมในมหานรก หากเราไม่ยอมตาย มีเพียงวิธีเดียวเท่านั้น คือ ต้องไม่กลับมาเกิดอีก โดยทำใจหยุดใจนิ่ง เข้ากลางของกลางเรื่อยไปไม่ถอนถอย จนได้บรรลุกายธรรมอรหัต กำจัดกิเลสอาสวะให้หมดสิ้นไป หากทำได้เช่นนี้ เราย่อมหลุดพ้นจากวังวนของสังสารวัฏได้อย่างแน่นอน


* มีวาระแห่งสุภาษิตที่ใน อุปวาณเถราปทาน ความว่า
 

“กรรมที่เรากระทำเมื่อแสนกัปที่แล้ว ให้ผลแก่เราในที่นี้ เราได้เผากิเลสของเราแล้ว
ดุจกำลังลูกศรพ้นจากแล่งไป ในแสนกัปแต่กัปนี้ เราได้ทำกรรมใดไว้ ด้วยผลแห่งกรรมนั้น
เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งการถวายธง คุณวิเศษเหล่านี้คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘
และอภิญญา ๖ เราได้ทำให้แจ้งชัดแล้ว คำสอนของพระพุทธเจ้า เราได้ทำเสร็จแล้ว”


     บุคคลใดทำกรรมเช่นใดไว้ บุคลนั้นย่อมต้องรับผลของกรรมนั้น ทุกการกระทำเราสั่งสมไว้ จะติดตามตัวเราเหมือนเงาตามตัว หากมีโอกาสสร้างบุญผลแห่งบุญย่อมส่งผลดีไปทุกภพทุกชาติ ดังเช่นถ้อยคำที่ยกมากล่าวข้างต้นนั้น เป็นผลแห่งการทำความดีของนักสร้างบารมีในกาลก่อน ที่ท่านได้กล่าวยืนยันถึงผลแห่งการทำความดีของตัวท่านเอง
 
     นักสร้างบารมีที่แท้จริง ทุกลมหายใจเข้าออกต้องนึกถึงการสร้างบารมีตลอดเวลา ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นเช่นไรก็ตาม ก็จะดำรงตนให้อยู่ในเส้นทางแห่งความดีงามตลอด โดยไม่หวั่นไหวไปกับกระแสอะไรต่างๆ ที่เกิดขึ้น เป็นที่น่าสังเกตว่า ในสมัยก่อน เมื่อมีวาระบุญอันใดเกิดขึ้นก็ตาม ท่านผู้มีบุญเหล่านั้นจะร่วมสร้างบารมีกันเป็นทีม มีทั้งทีมใหญ่ทีมย่อย
 
     เรื่องนี้เกิดขึ้นในสมัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ  ขณะที่พระองค์ยังทรงพระชนม์ชีพอยู่ ทั้งมนุษย์และเทวดาต่างตั้งใจสร้างบุญกับพระองค์อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการบำเพ็ญทาน รักษาศีล รับสรณะ ฟังธรรม และปฏิบัติธรรมตามพระโอวาทของพระผู้มีพระภาคเจ้า ทำให้ผลบุญนั้นตามส่งผลมาถึงยุคของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา ส่งผลให้มีผู้บรรลุธรรมกันเป็นจำนวนมาก 
 
     สมัยนั้น มีชายยากจนเข็ญใจคนหนึ่ง เป็นผู้ที่มีศรัทธาต่อพระผู้มีพระภาคเจ้ามาก แต่ไม่มีโอกาสได้ทำบุญกับพระพุทธองค์อย่างเต็มที่ เพราะเป็นคนขัดสน แม้ปรารถนาจะทำทานแต่ก็ไม่ได้ทำ หากในใจยังมีความเลื่อมใสไม่เสื่อมคลาย เขาคิดในใจอยู่เสมอว่า จะต้องเอาบุญกับพระผู้มีพระภาคเจ้าให้ได้ จนกระทั่งพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน เขาจึงหมดโอกาสที่จะสร้างบุญกับพระองค์ ได้แต่เศร้าโศกเสียใจว่า ตอนที่พระองค์ยังทรงพระชนม์ชีพอยู่ เรามัวแต่ผัดวันประกันพรุ่ง เลยหมดโอกาสเสียแล้ว
 
     เมื่อมหาชนทั้งหลายรู้ข่าวการปรินิพพานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ต่างพากันมาประชุมว่า โอกาสนี้เป็นโอกาสสุดท้ายที่พวกเราจะได้เอาบุญกับพระองค์ขณะยังมีพระสรีระ จึงพร้อมใจกันกระทำจิตกาธาน ประดับตกแต่งอย่างสวยงามเพื่อชำระพระสรีระ เหล่าเทวดาต่างพากันมาร่วมในพิธี เพื่อเอาบุญร่วมกับพวกมนุษย์ หลังจากถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระแล้ว เหล่าอุบาสกอุบาสิกาต่างปรารภกันว่าจะเอาบุญใหญ่กันอีก จึงพากันสร้างพระสถูปบูชาเป็นที่เก็บพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธองค์ ใช้ทองคำสร้างสูง ๑ โยชน์
 
     เมื่อในโลกมนุษย์ต่างพากันโกลาหลที่จะเอาบุญสร้างพระสถูป การกระทำนั้นจึงอยู่ในสายตาสวรรค์ตลอดเวลา เทวดาทนไม่ได้ อยากจะได้บุญด้วย จึงประชุมปรึกษากันว่า เมื่อโอกาสแห่งการสร้างบุญมีอยู่ตรงหน้า ทวยเทพทั้งหลายจะพากันนิ่งเฉยไม่ได้ จึงร่วมกันสร้างพระสถูปถวายเป็นพุทธบูชา โดยได้เนรมิตพระสถูปสูงเพิ่มขึ้นอีก ๑ โยชน์ ล้วนสำเร็จด้วยรัตนะ ๗ ประการ พระสถูปสูงเป็นสองโยชน์ สว่างไสวมาก สามารถขจัดความมืดในเวลากลางคืนได้ 
 
     ทันทีที่กระแสของการสร้างความดีนี้แผ่ขยายออกไป เหล่านาคที่อาศัยอยู่ใต้มหาสมุทร ล้วนมีวิมานที่สวยงาม รับรู้ถึงความโกลาหลนั้นด้วย ก็อดรนทนไม่ได้เช่นกัน พากันประชุมปรึกษากันว่า มนุษย์และเทวดาต่างขวนขวายสร้างบุญกับพระผู้มีพระภาคเจ้ากันหมดแล้ว พวกเราก็ไม่ควรพลาดโอกาสอันดีงามนี้ จึงรวบรวมแก้วอินทนิล แก้วมหานิล และแก้วมณีมีรัศมีโชติช่วง สร้างพระสถูปต่อสูงขึ้นไปอีก ๑ โยชน์ ทำให้พระสถูปสว่างไสวด้วยแสงแห่งรัตนะอันวิจิตรงดงามยิ่ง
 
     บรรดาครุฑทั้งหลายรู้ข่าวการสร้างพระสถูป ก็อยากจะได้บุญบ้าง ปกตินาคกับครุฑไม่ถูกกัน แต่ด้วยความที่อยากจะได้บุญกับพระพุทธเจ้า จึงเลิกทะเลาะกัน เลิกเบียดเบียนกัน เรื่องส่วนตัวระหว่างครุฑกับนาคพักไว้ก่อน เพราะมนุษย์ เทวดา นาค ต่างได้บุญกันหมดแล้ว พวกครุฑจะต้องเอาบุญด้วย จึงพากันรวบรวมแก้วมณีล้วนๆ สร้างพระสถูปต่อสูงขึ้นไปอีก ๑ โยชน์ ทำให้พระสถูปสว่างไสวด้วยแสงแห่งรัตนะอันวิจิตรงดงามยิ่ง
 
     พวกกุมภัณฑ์เห็นเทวดา มนุษย์ นาค ครุฑ สร้างบุญใหญ่ ก็มาร่วมสร้างด้วย โดยใช้รัตนะสร้างต่อสุงขึ้นไปอีก ๑ โยชน์ พวกยักษ์ก็พากันสร้างต่อสุงขึ้นไปอีก ๑ โยชน์ พวกคนธรรพ์ก็เช่นกัน อยากได้บุญจึงคิดว่า ทุกๆ เหล่าชนต่างตั้งใจบูชาพระพุทธเจ้า เราก็ต้องเอาบุญด้วย จึงใช้ไพทีสร้างทางเดิน ใช้ทองคำสร้างพระสถูปต่อสูงขึ้นไปอีก ๑ โยชน์ พระสถูปของพระปทุมุตตระจึงสูงถึง ๗ โยชน์ ส่องแสงสว่างไสวทั้งกลางวันและกลางคืน
 
     พวกเทวดาได้ตั้งยักษ์ตนหนึ่งชื่อ อภิสัมมตะ ทำหน้าที่รับดอกไม้ที่มนุษย์นำมาบูชาพระสถูปแล้วยกขึ้นไปเบื้องสูง พวกมนุษย์จะมองไม่เห็นยักษ์ จะเห็นเพียงดอกไม้ที่ลอยขึ้นไปประดิษฐานเบื้องบนเท่านั้น ครั้นชายยากจนที่ตั้งใจจะเอาบุญกับพระบรมศาสดา แต่มัวผัดวันประกันพรุ่งนั้น ทราบข่าวบุญครั้งนี้ก็คิดว่า เรามัวแต่คิดดูก่อนมายาวนาน ทำให้พลาดจากบุญครั้งแล้วครั้งเล่า ครั้งนี้ เราจะไม่ยอมพลาดบุญอีกแล้ว เขารีบเดินทางไปที่พระสถูป ก้มกราบด้วยความเคารพเลื่อมใส แล้วตัดใจเอาเชือกผูกผ้าห่มซึ่งซักอย่างขาวสะอาดที่มีอยู่เพียงผืนเดียวเท่านั้น ผูกไว้ที่ยอดไม้ไผ่ เพื่อยกขึ้นเป็นธงบูชาพระสถูปนั้น   
 
     ยักษ์เห็นการกระทำของชายยากจนผู้นี้ จึงได้นำธงขึ้นไปบนอากาศ เวียนรอบพระเจดีย์แล้วนำไปบูชาไว้ข้างบน ชายยากจนเห็นเหตุอัศจรรย์เช่นนั้นก็เกิดมหาปีติ และด้วยผลบุญที่สร้างในครั้งนั้น ทำให้เขาได้เสวยสุขโดยไม่รู้จักทุคติเลย ทุกภพทุกชาติที่เกิดก็สมบูรณ์ด้วยมหาสมบัติ จนถึงยุคสมัยพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา บุญนั้นได้ส่งผลให้ท่านบรรลุมรรคผลนิพพานในที่สุด
 
     เราจะเห็นว่า ผลแห่งการสร้างบุญนั้นจะติดตามส่งผลให้เราตลอดเวลา  แม้จะทำน้อยแต่หากใจสะอาดบริสุทธิ์มากย่อมได้รับผลมาก อีกทั้งได้อย่างสะดวกสบายโดยไม่มีสิ่งใดเป็นอุปสรรค ฉะนั้นเราต้องสร้างบุญให้สมํ่าเสมอ สร้างคนเดียวไม่ได้ก็สร้างกันเป็นทีม ชักชวนกันมาทำความดี มาบูชาพระรัตนตรัย บูชาผู้ที่ทรงพระคุณอันประเสริฐ ซึ่งเป็นทางมาแห่งมหากุศล ดังนั้น ให้เราหมั่นบูชาพระรัตนตรัย สร้างบุญบารมีทุกอย่าง จะบุญเล็กบุญน้อยบุญปานกลางบุญใหญ่ทำให้หมดทุกบุญ  แล้วเราจะสมปรารถนาในชีวิตกันทุกคน 

 

พระธรรมเทศนาโดย: พระเทพญาณมหามุนี (หลวงพ่อธัมมชโย)
* มก. เล่ม ๗๑ หน้า ๘๔

 

วีดีโอ อานิสงส์ของการถวายธง


   

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0014538129170736 Mins