สามัญญผลเบื้องกลาง

วันที่ 17 พย. พ.ศ.2558

สามัญญผลเบื้องกลาง


             สามัญญผลเบื้องกลาง คือ อานิสงส์หรือผลดีที่ภิกษุได้รับจากการเจริญภาวนา เมื่อภิกษุเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล คุ้มครอง ทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ เป็นผู้สันโดษ ย่อมเป็นผู้สงบทั้งกาย วาจา และใจ อย่างแท้จริง ครั้นเมื่อเจริญภาวนาย่อมบรรลุฌานไปตามลำดับๆ ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสกับพระเจ้าอชาตศัตรูว่า

 

             "ภิกษุนั้นประกอบด้วยศีลขันธ์ อินทรียสังวรสติสัมปชัญญะ และสันโดษอันเป็นอริยะเช่นนี้แล้ว ย่อมเสพเสนาสนะอันสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขาซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง ในกาลภายหลังภัต เธอกลับมาจากบิณฑบาตแล้ว นั่งสมาธิ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอละความเพ่งเล็งในโลก มีใจปราศจากความเพ่งเล็งอยู่ ย่อมชำระจิตใจให้บริสุทธิ์จากความเพ่งเล็งได้ ละความประทุษร้าย คือ พยาบาท ไม่คิดพยาบาท มีความกรุณาหวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความประทุษร้ายคือพยาบาทได้ ละถีนมิทธะแล้ว เป็นผู้ปราศจากถีนมิทธะ มีความกำหนดหมายอยู่ที่แสงสว่าง มีสติสัมปชัญญะอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากถีนมิทธะได้ละอุทธัจจะกุกกุจจะแล้ว เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบอยู่ ณ ภายใน ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอุทธัจจะกุกกุจจะได้ ละวิจิกิจฉาแล้ว เป็นผู้ข้ามพ้นวิจิกิจฉาไม่มีความคลางแคลงในกุศลธรรมทั้งหลายอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากวิจิกิจฉาได้...

 

           มหาบพิตร ภิกษุพิจารณาเห็นนิวรณ์ 5 ประการเหล่านี้ ที่ยังละไม่ได้ในตนเหมือนหนี้ เหมือนโรค เหมือนเรือนจำ เหมือนความเป็นทา เหมือนทางไกลกันดาร และเธอพิจารณาเห็นนิวรณ์ 5 ประการ ที่ละได้แล้วในตน เหมือนความไม่มีหนี้ เหมือนความไม่มีโรค เหมือนการพ้นจากเรือนจำ เหมือนความเป็นไทแก่ตน เหมือนภูมิ ถานอันเกษมฉันนั้นแล...

 

              เมื่อเธอพิจารณาเห็นนิวรณ์ 5 ประการเหล่านี้ ที่ละได้แล้วในตน ย่อมเกิดปราโมทย์ เมื่อปราโมทย์แล้วย่อมเกิดปีติ เมื่อมีปีติในใจ กายย่อมสงบ เธอมีกายสงบแล้ว ย่อมได้เสวยสุข เมื่อมีสุข จิตย่อมตั้งมั่น เธอสงัดจากกามสงัดจากอกุศลธรรม"

-----------------------------------------------

SB 304 ชีวิตสมณะ

กลุ่มวิชาพุทธวิธีในการพัฒนานิสัย

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0041730682055155 Mins