สามัญญผลลำดับที่ 5

วันที่ 19 พย. พ.ศ.2558

สามัญญผลลำดับที่ 5


    เมื่อผู้เจริญภาวนาสามารถประคองจิตให้แน่วแน่ต่อไปอีก จิตย่อมบริสุทธิ์ขึ้นอีก ผ่องแผ้วสุกสว่างขึ้นอีก ปราศจากกิเลสและอุปกิเลส จึงทวีประสิทธิภาพในการงานยิ่งขึ้นอีก ยังผลให้บรรลุญาณซึ่งกำหนดรู้ใจของผู้อื่น หรือสัตว์อื่น เช่น รู้ว่าผู้อื่นกำลังคิดอะไรอยู่ รู้ว่าบุคคลใดมีภูมิหรือชั้นแห่งจิตอยู่ในระดับใดมีสมาธิหรือไม่ ดังมีเรื่องปรากฏอยู่ในอาฬวกสูตรว่า

 

    " สมัยหนึ่ง อาฬวกยักษ์ไปเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อถามปัญหา ยักษ์คิดอยู่ในใจว่า ถ้าพระพุทธองค์ไม่สามารถตอบปัญหาได้ ก็จะจับโยนข้ามมหาสมุทรเสีย ครั้นไปถึงที่ประทับของพระพุทธองค์ ยักษ์ได้แสดงอาการข่มขู่โดยเรียกพระพุทธองค์ให้เสด็จออกไปหา ยังมิทันที่ยักษ์จะพูดอะไรต่อไปพระพุทธองค์ก็ทรงล่วงรู้ความคิดของยักษ์ทันที จึงทรงตอบไปว่า จะเรียกตถาคตไปไยเล่า ตถาคตรู้ว่าท่านจะจับเราโยนข้ามมหาสมุทร แล้วตรัสต่อไปว่า ปัญหาที่ท่านคิดจะถามเรานั้น พ่อของท่านบอกไว้ใช่ไหม เราจะบอกท่านให้รู้ด้วยว่า พ่อ
ของท่านได้รับคำตอบเรื่องนี้มาจากพระกั ปสัมมาสัมพุทธเจ้า..."
นี่คือญาณกำหนดรู้ใจผู้อื่นของพระพุทธองค์ 

 

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเรื่องญาณกำหนดรู้ใจผู้อื่นกับพระเจ้าอชาตศัตรูว่า


    "ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลสนุ่มนวล ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อ"เจโตปริยญาณ" เธอย่อมกำหนดรู้ใจของสัตว์อื่น ของบุคคลอื่นด้วยใจ คือจิตมีราคะก็รู้ว่าจิตมีราคะ หรือจิตปราศจากราคะก็รู้ว่าจิตปราศจากราคะ จิตมีโทสะก็รู้ว่าจิตมีโทสะ หรือจิตปราศจากโทสะก็รู้ว่าจิตปราศจากโทสะ จิตมีโมหะก็รู้ว่าจิตมีโมหะ หรือจิตปราศจากโมหะก็รู้ว่าจิตปราศจากโมหะ จิตหดหู่ก็รู้ว่าจิตหดหู่หรือจิตฟุ้งซ่านก็รู้ว่าจิตฟุ้งซ่าน จิตเป็นมหรคต (บรรลุฌานระดับต่างๆ) ก็รู้ว่า
จิตเป็นมหรคต หรือจิตไม่เป็นมหรคตก็รู้ว่าจิตไม่เป็นมหรคต จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่าก็รู้ว่าจิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า หรือจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่าก็รู้ว่าจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า จิตเป็นสมาธิก็รู้ว่าจิตเป็นสมาธิ หรือจิตไม่เป็นสมาธิก็รู้ว่าจิตไม่เป็นสมาธิ จิตหลุดพ้นก็รู้ว่าจิตหลุดพ้น หรือจิตไม่หลุดพ้นก็รู้ว่าจิตไม่หลุดพ้น

 

    มหาบพิตร เปรียบเหมือนหญิงสาวชายหนุ่มที่ชอบการแต่งตัว เมื่อส่องดูเงาหน้าของตนในกระจกอันบริสุทธิ์สะอาด หรือในน้ำใสหน้ามีไฝก็จะพึงรู้ว่าหน้ามีไฝ หรือหน้าไม่มีไฝก็จะพึงรู้ว่าหน้าไม่มีไฝฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส นุ่มนวล ควรแก่การงานตั้งมั่นไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อ "เจโตปริยญาณ" เธอย่อมกำหนดรู้ใจของสัตว์อื่น ของบุคคลอื่นด้วยใจ (ดังกล่าวแล้ว) มหาบพิตร นี้แหละสามัญญผลที่เห็นประจักษ์ ทั้งดียิ่งกว่า ทั้งประณีตกว่าสามัญญผลที่เห็น
ประจักษ์ข้อก่อนๆ"

 

       ญาณกำหนดรู้ใจผู้อื่นนี้ มีศัพท์ทางศาสนาว่า "เจโตปริยญาณ" เป็นผลอันเนื่องมาจากการทำจิตให้บริสุทธิ์ยิ่งขึ้น

-----------------------------------------------

SB 304 ชีวิตสมณะ

กลุ่มวิชาพุทธวิธีในการพัฒนานิสัย

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0020120700200399 Mins