5 วิธี ปลูกฝังความยับยั้งชั่งใจและสร้างสติให้กับลูก

วันที่ 18 กพ. พ.ศ.2559

5 วิธี ปลูกฝังความยับยั้งชั่งใจและสร้างสติให้กับลูก


           ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า พ่อแม่ผู้ปกครองควรเป็นคนฝึกลูกๆ ให้มีความยับยั้งชั่งใจ โดยควรฝึกเขาตั้งแต่ยังเล็กซึ่งสามารถแบ่งวิธีฝึกออกเป็น 5 วิธี ดังนี้

วิธีการที่ 1 ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น
           เริ่มต้นที่ พ่อแม่ผู้ปกครองควรฝึกฝนตนเอง ให้มีความสามารถในการยับยั้งชั่งใจก่อนจะฝึกลูก ถ้าพ่อแม่เป็นคนใจร้อน มุทะลุ ไม่มีความอดทนในการรอคอย ลูกๆ ก็จะซึมซับพฤติกรรมนั้นติดตัวไปด้วย เพราะฉะนั้น ต้องเริ่มต้นที่พ่อแม่ก่อน การสอนลูกด้วยการทำให้เขาดูเป็นตัวอย่างนั้นดีที่สุด เหมือนสุภาษิตไทยที่ว่าลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น พ่อแม่เป็นอย่างไร ลูกก็จะเป็นอย่างนั้น

 

วิธีการที่ 2 อดทนรอคอย
           พ่อแม่ควรฝึกฝนให้ลูก รู้ตักการอดทนรอคอยในเรื่องต่างๆ โดยอาจจะเริ่มต้นจากการอดทนรอคอยในระยะเวลาสั้นๆ ก่อน และอดทนในสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ก่อน เมื่อลูกได้รับการฝึกฝนมากขึ้น หรือเมื่อเขามีอายุมากขึ้น เราอาจจะฝึกให้เขารอคอยในสิ่งที่ยากขึ้นไป และมีระยะในการรอคอยที่นานมากขึ้นไปตามลำดับ

 

วิธีการที่ 3 ภาคภูมิใจในตนเอง
        พ่อแม่ควรฝึกฝนให้ลูก มีความภาคภูมิใจในตนเองเมื่อเขาทำสำเร็จ ซึ่งพ่อแม่ผู้ปกครองต้องคอยให้กำลังใจลูกๆ เพื่อให้เขาได้รับรู้ว่า สิ่งที่เขาทำนั้นถูกต้อง เราอาจจะฝึกลูกด้วยการให้รางวัล เมื่อลูกทำในสิ่งที่ถูกต้อง และเขาควรได้รับรางวัลเป็นส่วนประกอบแห่งความสำเร็จ ในการที่เขารอคอยในสิ่งนั้นๆ ด้วย เป็นต้น

 

วิธีการที่ 4 วินัยและความรับผิดชอบ
           พ่อแม่ควรฝึกให้ลูก มีวินัยและมีความรับผิดชอบ โดยอาจจะเริ่มต้นจากชีวิตประจำวันของเด็ก เช่นวินัยในการกิน วินัยในการนอน ซึ่งจะทำให้ลูกมีความรับผิดชอบในการดำรงชีวิต สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ไม่ต้องพึ่งพาผู้ปกครองมากนัก นอกจากนั้นการฝึกวินัยเหล่านี้จะทำให้ลูกรู้จักแยกแยะว่า สิ่งใดดีและสิ่งใดไม่ดี สิ่งใดควรทำและสิ่งใดไม่ควรทำ 

 

วิธีการที่ 5 ลดความอยาก
           พ่อแม่ควรฝึกฝนให้ลูก ลดความอยาก ซึ่งพ่อแม่ควรปลูกฝังลูกตั้งแต่เขายังเล็ก อย่าคิดว่าลูกเรายังเล็กเกินไป หรือว่าเรารักลูกมากจึงตามใจลูก ลูกอยากได้อะไรก็ประเคนให้ทุกอย่าง ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้เด็กไม่รู้จักพอ และไม่สามารถยับยั้งชั่งใจได้ เช่น ในกรณีที่ลูกมีของเล่นมากมาย แล้วลูกอยากได้ของเล่นชิ้นใหม่  พ่อแม่อาจจะห้ามปรามเป็นบางครั้ง และบางครั้งก็อาจส่งเสริมถ้าของเล่นนั้นส่งเสริมการพัฒนาลักษณะนิสัยของลูก ซึ่งของเล่นบางชิ้นเราอาจจะห้ามปรามไม่ให้ลูกเล่นเพื่อฝึกให้เขารู้ว่า เขาไม่มีความจำเป็นที่จะต้องได้สิ่งที่อยากได้ทุกครั้งไป

 

            บางทีเขามีของเล่นที่คล้ายๆกันอยู่แล้ว พอเขาอยากได้อีกเราก็ซื้อให้ ทำให้ไม่รู้จักพอใจในของทีตนเองมี เช่น บางทีลูกมีดินสออยู่แล้ว แต่ไปเห็นดินสอแท่งใหม่ที่สวยกว่า จึงอยากได้ ลูกอาจจะร้องขอให้พ่อแม่ซื้อดินสอนั้นให้ พ่อแม่ผู้ปกครองควรพิจารณาว่า ลูกอยากได้เพราะขาดสิ่งนั้นจริงๆ หรืออยากได้เพราะแค่เกิดความต้องการ ถ้าลูกแค่อยากได้ เราไม่ควรให้สิ่งนั้นแก่เขา เพื่อสอนให้ลูกรู้จักพอใจในสิ่งที่ตนเองมี การฝึกความพอใจในสิ่งที่ตนเองมี เราต้องฝึกกันตั้งแต่เด็กๆ แต่ถึงแม้ว่าโตแล้ว ถ้าเรายังไม่มีนิสัยเหล่านี้ รวมทั้งยังไม่มีความยับยั้งชั่งใจ เราก็ควรฝึกแม้แต่เรื่องเล็กน้อยในการยับยั้งชั่งใจ เช่น การใช้โซเชียลมีเดียที่ขาดความยับยั้งชั่งใจ ก็ทำให้เกิดผลร้ายได้ ถ้าเราไม่รู้จักยับยั้งชั่งใจในการบริหารเวลา กิจวัตรกิจกรรมทั้งวันของเราก็จะรวนไปหมดการเรียนหรือการงานก็อาจจะเสียไปด้วย เป็นต้น 

            นิสิตนักศึกษาบางครั้งเรียนอยู่มี LINE เข้ามา ก็แอบดูโทรศัพท์ แอบแชทในขณะเรียนทำให้เสียผลการเรียน ซึ่งการยับยั้งชั่งใจจะเป็นประโยชน์มาก ที่ทำให้นิสิตนักศึกษาเหล่านั้นหันมาสนใจในบทเรียนมากขึ้น ซึ่งเราควรรู้ว่า ตอนนี้เรากำลังทำอะไรอยู่ และไม่ควรทำอะไร

-----------------------------------------------------------------------------------------

" หนังสือ Secret of Love  รักลูกอย่างไรไม่ให้เสียน้ำตา "

โดย พระมหาสมชาย ฐานวุฑโฒ


 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0012056867281596 Mins