ศาสนาซิกข์

วันที่ 01 กค. พ.ศ.2559

ศาสนาซิกข์

1. ประวัติความเป็นมา

     ศาสนาซิกข์ หรือสิกข์ เป็นศาสนาใหม่ ถือกำเนิดขึ้นในประเทศอินเดีย เมื่อ พ.ศ. 2012 โดยคิดตามปีที่เกิดของคุรุนานักผู้เป็นปฐมศาสดานี้ คำว่าซิกข์ เป็นภาษาปัญจาบี ตรงกับภาษาบาลีว่า สิกขะ และตรงกับภาษาสันสกฤตว่า ศิษยะ แปลว่า ศิษย์ หรือผู้ศึกษาเล่าเรียน ดังนั้นชาวซิกข์ก็คือผู้เป็นศิษย์ของคุรุหรือศาสดาของศาสนาซิกข์ทุกองค์ ศาสนาซิกข์เกิดในช่วงที่ศาสนิกของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูกับศาสนิกของศาสนาอิสลามเผชิญหน้ากัน มีปัญหากระทบกระทั่งจนเกิดการประหัตประหารกันอยู่เสมอ ทำให้นานักผู้มีจิตใจสูงทนไม่ได้ เฝ้าครุ่นคิดหาทางที่จะนำความสงบสุขคืนมาให้จงได้ จนเป็นเหตุให้เกิดศาสนาซิกข์ขึ้นมา ด้วยเหตุนี้ศาสนาซิกข์จึงเป็นศาสนาที่ประนีประนอมศาสนาต่างๆ ในอินเดีย โดยเฉพาะระหว่างศาสนาพราหมณ์-ฮินดูกับศาสนาอิสลาม

   ศาสนาซิกข์นอกจากจะมีคำสอนที่ตั้งขึ้นใหม่แล้ว ยังได้นำคำสอนดีเด่นจากศาสนาต่างๆ โดยเฉพาะจากศาสนาพราหมณ์-ฮินดูและศาสนาอิสลามมาเป็นคำสอนด้วย ส่วนอะไรที่ไม่ดีก็ตัดทิ้งไป เช่นเรื่องการถือชั้นวรรณะ ความใจแคบและความมีกิเลสของพระเจ้า เป็นต้น โดยให้ถือใหม่ว่าทุกคนเป็นพี่น้องกันไม่แตกต่างกันเพราะมาจากพระเจ้าองค์เดียวกัน ดังคำสอนที่ว่า พระเจ้ามีหลายพระนามเช่น พระพรหม พระศิวะ พระวิษณุ อกาละ ปุรุขะ เอกะ และนิรเภา เป็นต้น พระองค์เป็นพระเจ้าของมนุษยชาติทั้งมวล มิได้ผูกขาดว่าเป็นพระเจ้าของฮินดู ของมุสลิม หรือของศาสนาใด ทรงประทับอยู่ทุกแห่ง แต่ทรงชอบประทับอยู่ในใจของคน

    พระเจ้าถึงแม้จะประทับอยู่ในทุกสิ่ง แต่ทุกสิ่งก็ไม่ใช่พระองค์ พระเจ้าไม่ใช่เป็นอย่างเดียว กับทุกสิ่ง พระองค์ทรงเป็นอีกอย่างต่างหาก เหมือนกลิ่นหอมมีอยู่ในดอกไม้แต่ดอกไม้ก็ไม่ใช่กลิ่นหอม หรือการสะท้อนเงามีอยู่ในกระจกแต่กระจกก็ไม่ใช่การสะท้อนเงาฉันนั้น ดังนั้นพระเจ้าในทุกศาสนาเป็นพระเจ้าองค์เดียวกัน จึงไม่ควรที่ใครจะผูกขาดว่าเป็นพระเจ้าของตนหรือของศาสนาใดศาสนาหนึ่ง แต่พระองค์ทรงเป็นพระเจ้าของทุกศาสนาและของมนุษยชาติ ทั้งปวง ส่วนการที่เรียกชื่อพระเจ้าแตกต่างกันไป และเรียกศาสนสถานที่ประทับของพระเจ้าต่างกันก็เป็นเพียงความแตกต่างแห่งกาละและเทศะเท่านั้น ดังที่คุรุโควินทสิงห์กล่าวว่า สุเหร่า มณเฑียร วิหาร เป็นสถานที่บำเพ็ญธรรมของคนทั้งหลายเหมือนกัน ที่เห็นแตกต่างกันก็เพราะความแตกต่างแห่งกาละและเทศะเท่านั้น

   ในศาสนาซิกข์ได้มีบทสวด (ชัปติ) แสดงถึงการประนีประนอมนำพระเจ้าในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูมาเป็นศาสนาของตน เช่น เมื่ออยู่ในคำแนะนำของคุรุก็ได้ยินเสียงของพระเจ้า เมื่ออยู่ในคำแนะนำของคุรุก็ได้ปัญญา เมื่ออยู่ในคำแนะนำของคุรุ มนุษย์ก็เรียนรู้ว่าพระเจ้ามีอยู่ในที่ทุกแห่ง คุรุเป็นศิวะ คุรุเป็นวิษณุ และพระพรหม คุรุเป็นพระนางปาราวตี ลักษมีและสุรัสวดี ข้อนี้ก็เป็นการจูงใจให้ชาวฮินดูเห็นว่าพระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ทั้งสามองค์ของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูพร้อมมเหสีก็มีอยู่ในศาสนาซิกข์แล้ว

   สรุปแล้วศาสนาซิกข์มีลักษณะประนีประนอมระหว่างศาสนาต่างๆ ในอินเดีย โดยเฉพาะศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และศาสนาอิสลาม เพื่อสร้างความเป็นเอกภาพหรือความเป็นอันเดียวกันทั้งในเรื่องพระเจ้า ศาสนาและมนุษยชาติ อันจะนำมาซึ่งสันติภาพที่แท้จริงมาสู่ โลกนี้ ส่วนความเป็นไปของศาสนาซิกข์1) โดยย่อมีดังนี้

     คุรุนานัก (พ.ศ. 2012-2082) ศาสดาองค์ที่ 1 ได้ออกเผยแผ่ศาสนาซิกข์ทั่วทุกภาคของอินเดีย ทั้งยังได้ออกไปเผยแผ่ศาสนาถึงต่างประเทศ เช่น ศรีลังกา อัฟกานิสถาน ซาอุดิอารเบีย เป็นต้น เพื่อสร้างความสามัคคีระหว่างชาวฮินดูและมุสลิม พยายามสอนคนให้ เป็นผู้ครองเรือนที่ดี และตั้งมั่นในศาสนาของตน อีกทั้งได้วางแบบให้ชาวซิกข์ปฏิบัติ ได้แก่ สังคัต คือ ให้ชาวซิกข์มาประชุมพบปะกันในเวลาเย็น และปังคัต คือ ให้ชาวซิกข์มารับประทานอาหารร่วมกันโดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างกัน ต่างฝ่ายต่างช่วยตัวเองและช่วยเหลือกัน เช่น ช่วยกันปัดกวาดทำความสะอาดสถานที่ และล้างถ้วยชาม เป็นต้น ไม่มีใครมีอภิสิทธิ์กว่ากัน นอกจากนี้ ยังได้ตั้งเมืองกรตารปุระในแคว้นปัญจาบอีกด้วย

    คุรุอังคัทเทพ (พ.ศ. 2047-2095) ศาสดาองค์ที่ 2 ได้ปรับปรุงและส่งเสริมอักขรวิธี คุรุมุขี สำหรับใช้ในศาสนา ทั้งได้จัดตั้งโรงครัวทานแจกจ่ายอาหารแก่คนยากจนตลอดทั้ง ส่งเสริมหลักการสังคัตและปังคัตของคุรุนานักให้มั่นคงอีกด้วย

    คุรุอมรทาส (พ.ศ. 2022-2117) ศาสดาองค์ที่ 3 ได้จัดให้มีวัดซิกข์ (คุรุทวาร) ตามหมู่บ้านซิกข์ ทั้งได้ปฏิรูปสังคม โดยคัดค้านการคลุมหน้าของสตรีและการกระโดดเข้า กองไฟเมื่อสามีตายที่เรียกว่าพิธีสติ และสอนว่าสตรีก็มีสิทธิที่จะหลุดพ้นจากกิเลสได้

     คุรุรามทาส (พ.ศ. 2077-2124) ศาสดาองค์ที่ 4 ได้จัดให้สร้างเมืองศูนย์กลางของศาสนาซิกข์ ขึ้นที่เมืองราม ทาสปุระ โดยให้ขุดสระน้ำขนาดใหญ่ขึ้นมาให้ชื่อว่า อมฤตสระ (Immortal Pond) ทั้งได้ดำริจะสร้างวิหารขึ้นกลางสระน้ำด้วย

     คุรุอรชุนเทพ (พ.ศ. 2106-2149) ศาสดาองค์ที่ 5 ได้สร้างวิหารขึ้นกลางสระน้ำตามความประสงค์ของคุรุรามทาส โดยตั้งชื่อวิหารนี้ว่า หริมณเฑียร ต่อมาพระราชารัญชิตซิงห์ (พ.ศ. 2323-2342) แห่งแคว้นปัญจาบและศาสนิกได้รวบรวมทองคำตีแผ่หุ้มหริมณเฑียร จึงได้นามวิหารอีกนามหนึ่งว่า สุวรรณวิหาร (Golden Temple) ซึ่งงดงามมาก เป็นศิลปกรรม ชั้นเอกของโลกแห่งหนึ่ง สุวรรณวิหารจะมีประตูทางเข้าอยู่ 4 ประตูด้วยกัน เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าศาสนสถานซิกข์ยินดีต้อนรับทุกคน ไม่มีชนชั้นวรรณะ นอกจากนี้คุรุอรชุนเทพยังได้รวบรวมศาสโนวาทของคุรุองค์ที่ 1 ถึงองค์ที่ 4 และของตัวท่านเอง ตลอดทั้งคำสอนของนักปราชญ์ ในศาสนาอื่นที่สำคัญ คือ รามนันทะ และกาบีร์ เข้าด้วยกันเป็นคัมภีร์เรียกว่า อาทิครันถ์ ทั้งได้ออกระเบียบให้ชาวซิกข์ทุกคนสละรายได้ 1 ใน 10 (ทศวันธ์) เข้าสมทบทุนกลางเพื่อใช้ในการกุศล ต่อมาศาสดาองค์นี้ถูกพระเจ้าเยฮานคีร์สั่งให้ประหารชีวิต แต่ก่อนที่จะถูกจับมาประหารชีวิต ท่านได้ประกาศให้ศาสนาซิกข์แยกตัวออกจากศาสนาพราหมณ์-ฮินดูและศาสนาอิสลาม ประกาศว่าท่านไม่ใช่ฮินดูหรือมุสลิม ประกาศไม่ให้ศาสนิกบำเพ็ญพรตอดอาหารอย่างทั้ง 2 ศาสนา ไม่ยอมนมัสการร่วมกับฮินดู ไม่จาริกไปยังเมืองเมกกะ ไม่สวดมนต์ต่อหน้ารูปเคารพ และไม่สวดบทสวดของมุสลิม

    คุรุหริโควินท์ (พ.ศ. 2138-2188) ศาสดาองค์ที่ 6 ผู้เป็นบุตรของคุรุอรชุนเทพ ศาสดาผู้นี้เป็นองค์แรกที่สะพายดาบ และจัดตั้งกองทหารม้า 2,200 คน เนื่องจากถูกทางบ้านเมืองคุกคาม และแม้จะมีทหารม้าเพียง 2,200 คน แต่ก็สามารถเอาชนะกองทัพฝ่ายพระเจ้า ชาหัชฮันได้ทุกครั้ง และเนื่องจากสถานการณ์บังคับ จึงเป็นศาสดาองค์แรกที่ใช้ดาบสำหรับ ปกปักษ์รักษาบ้านเมืองและศาสนา ทั้งได้ใช้กาน้ำและดาบเป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจทางโลก และทางธรรมรวมกัน สัญลักษณ์นี้ได้ถือมาตลอดในหมู่ชาวซิกข์จนถึงปัจจุบัน

    คุรุหริไร (พ.ศ. 2173-2204) ศาสดาองค์ที่ 7 ท่านผู้นี้ได้ส่งเสริมกองทหารม้า ได้ตั้งโรงพยาบาลตามจุดต่างๆ อีกทั้งขยายโรงครัวทานอีกด้วย ศาสดาผู้นี้มีเมตตาจิตสูง ชอบ ช่วยเหลือคนยากจน และทำให้ภคัตภควัน นักบวชฮินดูเปลี่ยนมานับถือศาสนาซิกข์อีกด้วย

    คุรุหริกฤษัน (พ.ศ. 2199-2207) ศาสดาองค์ที่ 8 ท่านได้รับสถาปนาเป็นศาสดาเมื่อมีอายุเพียง 5 ปี 6 เดือนเท่านั้น ข้อนี้แสดงว่าอายุน้อยไม่จำเป็นต้องมีความสามารถน้อย เสมอไป โดยเฉพาะเรื่องจิตใจ อย่างเช่นพราหมณ์คนหนึ่งมาลองดีท้าโต้วาทีกัน คุรุหริกริซันให้พราหมณ์ผู้นั้นไปพาใครมาก็ได้ แล้วท่านจะให้ผู้นั้นเป็นตัวแทนโต้วาทีกับพราหมณ์ พราหมณ์นั้นจึงได้นำศูทรคนหนึ่งชื่อ ชัจจู ซึ่งเป็นที่รู้จักกันว่าโง่เขลาเป็นที่สุดมาให้ คุรุหริกฤษัน ได้ใช้ไม้เท้าของท่านแตะที่ตัวศูทรคนนั้นแล้วพูดว่า ชัจจู เจ้าจงเป็นบัณฑิตจงเป็นผู้เชี่ยวชาญในการแปลภควัทคีตา จงตอบคำถามของพราหมณ์ผู้นี้ เป็นที่น่าอัศจรรย์ว่าชัจจูกลายเป็นบัณฑิต เฉลียวฉลาดขึ้นมาทันทีโต้ตอบกับพราหมณ์ได้เป็นอย่างดี

    คุรุเตฆพหทุระ (พ.ศ. 2164-2218) ศาสดาองค์ที่ 9 ท่านได้ออกเผยแผ่ศาสนาทั่วทุกภาคในอินเดียเจริญรอยตามคุรุนานัก ทั้งได้ช่วยหย่าศึกทัพหลวงจากกรุงเดลฮีกับทัพของราชาธิบดีรามรัยแห่งไทยอาหม (พ.ศ. 2212) ได้สำเร็จ แต่บั้นปลายถูกพระเจ้าออรังเซบประหารชีวิต

     คุรุโควินทสิงห์ (พ.ศ. 2209-2251) ศาสดาองค์ที่ 10 ซึ่งเป็นบุตรชายของคุรุองค์ ที่ 9 ท่านเป็นศาสดาเมื่ออายุได้ 9 ปี ศาสดาผู้นี้ได้รับการศึกษาอย่างดี รู้หลายภาษา เช่น ภาษาอังกฤษ สันสกฤต และเปอร์เซีย เป็นต้น ท่านเป็นกวี เป็นนักรบและนักปกครอง อย่างเช่น ท่านได้จัดระบบป้องกันเมืองอานันทปุระจากการถูกโจมตีได้สำเร็จ ท่านได้ปฏิวัติจิตใจชาวซิกข์ให้กล้าหาญ ทั้งได้บัญญัติกฎระเบียบให้ชาวซิกข์ปฏิบัติ เช่น ไม่ให้โกนผมโกนหนวดเครา ตลอดชีวิต เป็นต้น จะได้แตกต่างจากคนทั่วไป จะทำให้ชาวซิกข์ผนึกกำลังต่อสู้กับศัตรู และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน คุรุโควินทสิงห์สอนว่าอำนาจและธรรมเป็นของคู่กัน หากมีแต่ธรรมไม่มีอำนาจรองรับก็ไม่มีประสิทธิผล ขาดการป้องกันรักษา และอำนาจที่ปราศจากธรรมก็เป็นทารุณกรรม นอกจากนี้ท่านยังได้แต่งคัมภีร์ขึ้นอีกคัมภีร์หนึ่ง โดยรวบรวมคำสอนของคุรุที่ผ่านมาบางท่าน และของท่านเองเข้าด้วยกัน เรียกว่าคัมภีร์ทสมครัมถ์ ศาสดาองค์นี้เป็นองค์สุดท้าย เพราะก่อนสิ้นชีวิต ท่านไม่ได้แต่งตั้งใครแทน ให้คัมภีร์ครัมถซาฮิบเป็นศาสดาแทน และหลังจาก คุรุองค์ที่ 10 แล้ว ศาสนาซิกข์ก็เจริญบ้างเสื่อมบ้างตามแต่ผู้มีอำนาจในบ้านเมืองจะพึงเห็นอย่างไร แต่ส่วนใหญ่ก็ค่อยเจริญมาตามลำดับ จนมีศาสนิกมากกว่าศาสนิกของศาสนาเชนและโซโรอัสเตอร์ รวมกันเสียอีก

 

2. ประวัติศาสดา2)

2.1 ชาติกำเนิดและปฐมวัย

     ผู้ให้กำเนิดศาสนาซิกข์ คือ คุรุนานัก นานักเกิด ณ หมู่บ้านตัลวันทิ (Talvandi) ซึ่งเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ปัจจุบันเรียกว่า นังกานา ซาฮิบŽ ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้เมืองละฮอร์ บนฝั่งแม่น้ำราวี ประเทศปากีสถาน เมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2012 ตระกูลเป็นฮินดู วรรณะพราหมณ์ บิดาชื่อกุล หรือเมห์ตากัลยาดาส มารดาชื่อตริปตะ มีฐานะยากจน มารดาเป็นผู้เคร่งครัดในศาสนามาก ส่วนบิดาเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อยเงินเดือนต่ำ คอยรับใช้ผู้ว่าราชการเมือง

     เมื่อนานักเจริญวัยอายุได้ 7 ขวบ ก็ได้รับการศึกษาในสำนักของครูที่เป็นมุสลิม ตามประวัติกล่าวว่านานักเป็นคนมีสติปัญญา และช่างคิดอ่านตั้งแต่อยู่ในวัยเยาว์ สามารถแสดงปัญญาความสามารถไต่ถามความรู้เรื่องพระเจ้าต่อครูอาจารย์ ได้ศึกษาศาสนาพราหมณ์-ฮินดู มีความรู้แตกฉานในคัมภีร์พระเวท ต่อมาอีก 2 ปี ได้ศึกษาภาษาเปอร์เซีย (อิหร่าน) เพื่อเรียนรู้ลัทธิคำสอนของโซโรอัสเตอร์ ผู้เป็นศาสดาของศาสนาโซโรอัสเตอร์ ยังผลให้นานักสามารถแสดงวาทะโต้ตอบหลักศาสนากับคณาจารย์ผู้ใหญ่ได้ตั้งแต่ยังเป็นเด็กอย่างเป็นที่ น่าอัศจรรย์ จนชาวซิกข์มีความเชื่อกันในตอนหลังว่า ท่านคุรุนานักศาสดาของตนสามารถ สั่งสอนคนได้ตั้งแต่อายุ 9 ขวบ

     นานักเป็นคนมีนิสัยกว้างขวางอารีอารอบ ทั้งที่ตนเองก็ไม่ใช่ว่าเป็นคนร่ำรวย ชอบแบ่งปันข้าวของเงินทองแก่ผู้อื่น จนเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในสังคมยุคนั้น ใฝ่การศึกษาเรื่องศาสนาเป็นชีวิตจิตใจ ไม่ชอบเป็นนักรบ หรือค้าขาย หรือแม้แต่ตำแหน่งราชการชั้นสูงที่ทางบ้านเมืองเสนอให้ก็ปฏิเสธ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะมีความมุ่งมั่นที่จะใช้หลักศาสนาเข้าแก้ไขสังคมที่แตกแยกขาดความสามัคคี พยายามที่จะค้นหาคำสอน เปรียบเทียบคำสอน และแก้ไขคำสอนให้ใช้ได้เหมาะสมกับสถานการณ์ในขณะนั้น โดยได้รับแรงสนับสนุนช่วยเหลือในเรื่องนี้จากพวกญาติพี่น้องและเพื่อนๆ เป็นอย่างดี


2.2 ชีวิตสมรส

    เมื่ออายุ 14 ปี ได้สมรสกับหญิงผู้เป็นกุลสตรีชาวตัลวันทิชื่อ สุลัขนี เมื่อแต่งงานแล้วประมาณ 10 ปี มีบุตร 2 คน คือ ศรีจันท และลักษมิทาส ปรากฏว่าชีวิตสมรสช่วงหลังๆ หา ความสุขได้ยาก เพราะนานักและภรรยามีนิสัยและรสนิยมคนละแบบ นานักชอบความสงบ แต่ภรรยาชอบสนุกแบบโลกิยวิสัย ส่วนนานักมีอัธยาศัยโน้มน้อมไปในทางศาสนา พอใจแต่งบทเพลงสรรเสริญพระเจ้า มีใจเมตตากรุณาโอบอ้อมอารีต่อคนยากจน โดยแบ่งปันสิ่งของ ที่มีอยู่ให้เป็นทานเสมอๆ เมื่อหาความสงบที่บ้านไม่ได้ ในที่สุดจึงตัดสินใจหนีภรรยาและลูกออกไปหาความสงบทางใจในป่า เมื่ออายุ 36 ปี


2.3 ได้ประสบการณ์ทางจิต

    เมื่อนานักหนีลูกและภรรยาเข้าไปอยู่ในป่าเพื่อเข้าสมาธิหาความสงบทางจิตได้ไม่นาน วันหนึ่งเมื่อได้อาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด จิตใจปลอดโปร่งดีแล้ว ได้นั่งสมาธิหาความสงบ ขณะที่นั่งสงบอยู่นั้น นานักได้ประสบการณ์ทางจิตว่า ได้ดื่มน้ำทิพย์ถ้วยหนึ่งจากพระเจ้า ข้อความในคัมภีร์ครันถ์ได้กล่าวเอาไว้ว่า พระเจ้าได้ประทานน้ำทิพย์ถ้วยหนึ่ง ซึ่งนานักได้รับด้วยความสำนึกในพระคุณ แล้วพระเจ้าได้รับสั่งกับนานักว่า เราจะอยู่กับเจ้า เราจะทำให้เจ้ามีความสุขสงบ และจะทำทุกคนที่นับถือเราในเจ้ามีความสุขไปด้วย เจ้าจงออกจากที่แห่งนี้ไป จงไปข้างหน้า นึกถึงเรา สั่งสอนคนทั้งหลายเช่นเดียวกับที่เจ้ากระทำอยู่ จงทำโลกให้สะอาด ระลึกถึงการท่องบ่นนามของเราไว้เป็นนิตย์ จงเป็นผู้มีเมตตา เป็นผู้สะอาด บูชาและกระทำใจให้เป็นสมาธิ ต่อไปเจ้าจงเป็นคุรุ (ครู) ของคนทั้งหลายŽ นานักได้รับประสบการณ์ทางจิตดังกล่าว ก็เกิดความมั่นใจในตนเอง ทั้งโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง และได้ชื่นชมกับประสบการณ์นั้น โดยอยู่ในป่าต่ออีก 3 วัน จึงเดินทางออกจากป่ากลับไปยังหมู่บ้านเดิมของตน


2.4 ออกสั่งสอนคน

    เมื่อเดินทางถึงบ้านแล้ว นานักได้บริจาคทานแก่คนยากจนเป็นการใหญ่ ทั้งช่วยเหลือคนเจ็บไข้ได้ป่วยด้วยการให้ยา และช่วยรักษาพยาบาลเป็นบุรพกิจ หลังจากนั้นก็ได้ครองเครื่องแบบเป็นนักพรตเที่ยวสอนคนยังถิ่นต่างๆ และเหตุการณ์ในสมัยนั้น การปกครองบ้านเมือง ก็เลวร้ายไม่มีระเบียบ ไม่มีความยุติธรรม ผู้มีอำนาจข่มเหงผู้น้อย ศาลสถิตยุติธรรมไม่มีความทรงธรรม ผู้ครองเมืองเป็นนักประหาร ความสัตย์ไม่มีในหมู่ชน โรคภัยไข้เจ็บระบาด ความสุขและความสงบไม่มี นานักตั้งตัวเป็นครูเที่ยวสั่งสอนคน ตั้งตัวเป็นแพทย์พยาบาลคน และเที่ยวแนะนำให้ความยุติธรรมแก่คนทั้งหลาย ให้คนทั้งหลายมีศีลธรรม มีความจงรักภักดีต่อพระเจ้าพระองค์เดียว

   การปฏิบัติต่อมา คุรุนานักเป็นทั้งมุสลิมและฮินดู แสดงตัวเป็นมุสลิมและฮินดูในขณะเดียวกัน เห็นได้จากเครื่องแต่งตัวในเวลาออกสั่งสอนคน คุรุนานักสวมเสื้อสีหมากสุก อันเป็นสีสำแดงอิสรภาพตามศาสนาพราหมณ์-ฮินดู แขวนลูกประคำทำด้วยกระดูกไว้ที่คอ และเจิมหน้า ด้วยหญ้าฝรั่นตามแบบของฮินดู แต่ขณะเดียวกันสวมหมวกตามแบบมุสลิม เครื่องหมายการ แต่งตัวที่นานักแสดงดังนี้ เพื่อน้อมนำศาสนิกทั้งสองฝ่ายได้รับคติเป็นกลางไม่ยึดเอาศาสนาใดศาสนาหนึ่ง อันเป็นเหตุแห่งการรังเกียจเคียดแค้นทั้งสองฝ่าย คุรุนานักสอนว่า ซิกข์เป็นศาสนาของคนทั้งหลาย พระเจ้าเป็นผู้ปราศจากภัย ปราศจากเวร ไม่ใช่เป็นผู้ทำลาย เป็นผู้สร้าง เราไม่มีพระเจ้าสำหรับชาวมุสลิม เรามีพระเจ้าองค์เดียวองค์หนึ่งผู้เป็นเจ้าโลกทั้งสิ้น พระองค์ไม่ทรงโปรดวรรณะหรือสี หรือลัทธิอันแยกบัญญัติออกไปแต่ละอย่าง พระองค์ไม่มีการเกลียด ไม่มีการแช่ง ทรงสาป เหมือนพระเจ้าองค์อื่นๆŽ

     “พระเจ้าของเรา พระองค์ไม่มี (อายุ) จำกัด พระองค์ยังทรงความเป็นอยู่จริงแม้ในเวลาปัจจุบัน พระองค์ไม่มีกำเนิด ทรงดำรงอยู่โดยลำพังพระองค์เอง เราย่อมเข้าถึงพระองค์ด้วยความอนุเคราะห์ของครูบาอาจารย์ (ได้แก่ ตัวคุรุนานักเป็นปฐม)Ž”

    “พระเจ้าของเราไม่มีใครทรงแต่งตั้ง พระองค์ประทับอยู่โดยลำพังพระองค์เดียว ไม่มีสิ่งใดครอบงำ พระองค์ปราศจากความตาย ปราศจากความเกิด ปราศจากชาติตระกูล เป็นผู้ซึ่งใครหยั่งรู้มิได้ ปราศจากรูปและลักษณะ ข้าพเจ้าเข้าหาพระองค์ก็ได้พบพระองค์ภายในสิ่งอันประกอบด้วยรูปทุกอย่างŽ”

    ทั้งนี้ เพราะต้องการให้มุสลิมและฮินดูซึ่งกำลังวิวาทกันด้วยเรื่องเชื้อชาติและศาสนาประสานความสัมพันธ์เข้าด้วยกัน ในฐานะที่ตนเป็นฮินดู คุรุนานักจึงพยายามสอนให้พวกมุสลิมเลื่อมใสในโอวาทของตนให้มากที่สุด คุรุนานักได้ศิษย์มุสลิมสำคัญคนหนึ่งชื่อ มารทาน (Mardana) ซึ่งเคยเป็นนักดนตรี ศิษย์ผู้นี้ใช้ศิลปะดนตรีเป็นกำลังหลักในการสั่งสอน อาจารย์กับศิษย์ออกเดินทางไปตามหัวเมืองต่างๆ ในอินเดียภาคเหนือ อันเป็นแหล่งกลางของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู จนขึ้นไปถึงแคว้นแคชเมียร์ในปัจจุบัน สั่งสอนคนตามเมืองต่างๆ ตลอดเวลา 12 ปี มีผู้เลื่อมใสนับถือเป็นอันมาก นับว่าได้ผลตามความมุ่งหมาย ได้กลับมาและสั่งสอนผู้คนที่ถิ่นกำเนิดระยะหนึ่ง แล้วได้ออกเดินทางสู่อินเดียภาคใต้จนถึงแคว้นมัทราช อันเป็นศูนย์กลางของศาสนาเชน ข้ามไปถึงเกาะลังกา นอกจากนี้ยังมีแหล่งสำคัญที่สุดที่คุรุนานัก เดินทางไปสั่งสอนลัทธิ ”สามัคคี เสมอภาค ศรัทธา และความรักŽ” ของตน คือ ประเทศซาอุดิอารเบีย คุรุนานักเดินทางไปสั่งสอนถึงนครเมกกะ อันเป็นศูนย์กลางของศาสนาอิสลาม

    คุรุนานักได้ชื่อว่าเป็นศาสดาชาวอินเดียคนแรกที่เดินธุดงค์ไปถึงนครเมกกะ ออกจากนครเมกกะ ก็เดินทางสั่งสอนเรื่อยไปถึงนครเมดินะ ผ่านเข้าไปจนถึงนครแบกแดดในแผ่นดินอิรัก ที่นั่นคุรุนานักสั่งสอนอีกครั้งหนึ่ง ผู้ฟังทั้งหมดเป็นมุสลิม ระหว่างสั่งสอนมีผู้ตะโกนถามว่า ท่านเป็นใคร ท่านนับถือศาสนาประเภทไหน คุรุนานักตอบว่า ”ข้าพเจ้าคือ คุรุ ข้าพเจ้าเดินทาง มาถึงที่นี่เพื่อนำสิ่งสวัสดีมาให้ประชาชน ข้าพเจ้าปฏิเสธนิกายในศาสนาต่างๆ ทั้งหมด ข้าพเจ้าไม่นับถือนิกายใด พระเจ้าองค์หนึ่งองค์เดียวเท่านั้นเป็นที่นับถือของข้าพเจ้า ข้าพเจ้านับถือพระองค์ในแผ่นดินนี้ ในสวรรค์ และในที่ทั้งปวงŽ ”

     ในระหว่างการเดินทางไปสั่งสอนนี้ คุรุนานักเคยผจญภัย เคยถูกทำร้าย และเคยได้รับโทษจากผู้มีอำนาจ แม้จะเผชิญกับอุปสรรคเหล่านี้สักปานใดก็ตาม ก็มิได้ย่อท้อ เป็นผู้ประกอบด้วยขันติธรรมและเมตตาธรรมตลอดมา นับเป็นเวลานานถึง 35 ปี สามารถทำให้ชาวมุสลิมและชาวฮินดูเคารพเลื่อมใสเป็นจำนวนมาก ทำให้เขาเหล่านั้นมีความรักสงบและมีความสมัครสมานสามัคคีกัน เป็นการบรรลุวัตถุประสงค์สมความมุ่งหมายดังหลักคำสอนเรื่อง สามัคคี ความรัก ศรัทธา และเสมอภาค ที่ศาสนานี้เน้นมาก


2.5 บั้นปลายชีวิต

    ในบั้นปลายแห่งชีวิตของคุรุนานัก แม้ว่าคุรุนานักจะนุ่งห่มแบบนักพรต แต่ก็มิได้ดำเนินชีวิตนักบวช (ศาสนาซิกข์ไม่มีนักบวช) ท่านยังคงอยู่กับบุตรภรรยาของท่าน เมื่ออายุได้ 71 ปี สภาพร่างกายสังขารดูเหมือนจะเปลี่ยนแปลงไปมาก จนกระทั่งคุรุนานักรู้ตัวว่าจะอยู่ ต่อไปอีกไม่นาน อวสานแห่งชีวิตก็คืบคลานเข้ามาใกล้ทุกขณะ คัมภีร์ครันถ์ได้พรรณนา ช่วงชีวิตตอนนี้ไว้ว่า คุรุนานักรู้อวสานของตน เมื่อเวลาใกล้เข้ามา ได้มอบธุระการงานให้แก่ อัครสาวกคนหนึ่งชื่อ ลาหินา บางแห่งเรียกว่า ไภลาห์นา ความจริงคุรุนานักมีความตั้งใจ จะมอบงานต่างๆ ให้บุตรชาย แต่บุตรชายเป็นผู้มีบาป เคร่งครัดในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ไม่สามารถเปลี่ยนใจมานับถือลัทธิของบิดาได้ นับว่าเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้คุรุนานักไม่ค่อยสบายใจ เท่าไรนักเมื่อใกล้จะถึงอวสานกาล

    ในคัมภีร์ครันถ์ได้แสดงความในลักษณะปาฏิหาริย์ไว้ว่า คุรุนานักเหนื่อยอ่อนมาก ได้เข้าไปพักใต้ต้นพฤกษาต้นหนึ่งที่ตำบลคาเตปุระ แคว้นปัญจาบ ขณะนั้นพฤกษาแตกดอกออกใบเขียวสดไปเต็มต้น ต้อนรับและบูชาท่านให้เห็นเป็นอัศจรรย์ มีสาวกที่เป็นมุสลิมและฮินดูเข้าประชุมกันคับคั่งเพื่อคอยพยาบาล เมื่อไม่มีหวังว่าชีวิตของอาจารย์จะยืนยาวต่อไป สาวกฝ่ายมุสลิมจึงกล่าวขึ้นว่า ถ้าอาจารย์ถึงอวสานจะนำศพไปฝังตามพิธีมุสลิม สาวกฝ่ายฮินดูได้ยินก็ไม่ยอม ค้านว่าจะขอเป็นเจ้าภาพประกอบพิธีศพของอาจารย์ตามธรรมเนียมของฮินดู คือ เผา ท่านได้ยินสาวกโต้เถียงกัน จึงห้ามมิให้วิวาทกัน ขอให้พวกสาวกฝ่ายฮินดูนำดอกไม้มาวางไว้ข้างศพเบื้องขวา ให้พวกมุสลิมนำดอกไม้ไว้ข้างซ้าย รอไปจนถึงรุ่งขึ้นจากเวลาสิ้นลม ดอกไม้ของใครบานก่อนให้ศพตกเป็นของฝ่ายนั้น ต่อจากนั้นสั่งให้สาวกสาธยายมนต์ ส่วนตนเองชักผ้ารองพื้นคลุมร่างมิดชิด ตั้งสติมุ่งหน้าต่อพระผู้เป็นเจ้า มีอัครสาวกนั่งอยู่ข้างๆ พร้อมด้วยสาวกเหล่าอื่น จนกระทั่งรุ่งเช้าสาวกเปิดผ้าคลุมนั้นออก ปรากฏว่าร่างของอาจารย์หายไป และดอกไม้ทั้งซ้ายขวาบานขึ้นพร้อมกันเป็นอัศจรรย์ สาวก 2 ฝ่ายทำพิธีโดยปราศจากศพอาจารย์ ก่ออนุสาวรีย์เป็นปูชนียสถานไว้ตรงบริเวณอวสานของอาจารย์แห่งหนึ่ง และที่ฝั่งแม่น้ำราวีอันเป็นแหล่งกำเนิดของอาจารย์อีกแห่งหนึ่ง

     เพื่อให้มีศาสดาสืบทอดกันมา ไภลาห์นาหรือลาหินา ซึ่งได้รับมอบหมายจากคุรุนานัก ปฐมศาสดาให้เป็นผู้รับช่วง ก็ได้เป็นศาสดาองค์ที่ 2 มีชื่อว่า คุรุอังคัท ต่อจากคุรุอังคัท ก็ได้ท่าน คุรุอมรทาสเป็นศาสดาองค์ที่ 3 ต่อจากคุรุอมรทาสก็มีศาสดาองค์ที่ 4 คือ คุรุรามทาส ต่อจากคุรุรามทาสก็มีศาสดาองค์ที่ 5 คือ คุรุอรชุน ถัดจากคุรุอรชุนก็ได้ท่านคุรุหริโควินท์เป็นศาสดาองค์ที่ 6 ถัดจากศาสดาองค์ที่ 6 ก็ได้ท่านคุรุหริไรเป็นศาสดาองค์ที่ 7 ถัดจากองค์ที่ 7 เป็นคุรุองค์ที่ 8 คือ คุรุหริกฤษันเป็นศาสดา ถัดจากองค์ที่ 8 ก็ได้ท่านคุรุเตฆพหทุระเป็นศาสดาองค์ ที่ 9 และต่อมาได้ท่านคุรุโควินทสิงห์เป็นศาสดาองค์ที่ 10 และเป็นองค์สุดท้าย ต่อจากนั้นก็ ไม่ได้มีการแต่งตั้งใครเป็นศาสดาอีก และได้ถือเอาคัมภีร์ครันถ์ หรือครันถะ เป็นศาสดาแทนสืบต่อมาจนกระทั่งทุกวันนี้

      ถ้าว่าโดยปี พ.ศ. แห่งการดำรงตำแหน่งศาสดาของศาสนาซิกข์ทั้ง 10 องค์ มีดังนี้

1. คุรุนานัก    เป็นศาสดาระหว่าง พ.ศ. 2046 - 2081 (นับแต่ปีที่ออกสั่งสอน)
2. คุรุอังคัท    เป็นศาสดาระหว่าง พ.ศ. 2081 - 2095
3. คุรุอมรทาส    เป็นศาสดาระหว่าง พ.ศ. 2095 - 2117
4. คุรุรามทาส    เป็นศาสดาระหว่าง พ.ศ. 2117 - 2124
5. คุรุอราชุน    เป็นศาสดาระหว่าง พ.ศ. 2124 - 2149
6. คุรุหริโควินท์    เป็นศาสดาระหว่าง พ.ศ. 2149 - 2181
7. คุรุหริไร เป็นศาสดาระหว่าง พ.ศ. 2181 - 2207
8. คุรุหริกฤษัน    เป็นศาสดาระหว่าง พ.ศ. 2207 - 2218
9. คุรุเตฆพหทุระ    เป็นศาสดาระหว่าง พ.ศ. 2218 - 2229
10. คุรุโควินทสิงห์    เป็นศาสดาระหว่าง พ.ศ. 2229 - 2250

      ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2250 จนกระทั่งปัจจุบัน ถือคัมภีร์ครันถ์เป็นศาสดา

 

3. คัมภีร์ในศาสนา

    ศาสนาซิกข์มีคัมภีร์ที่สำคัญคือ ครันถ์ซาฮิบ คำว่า ครันถ์ หรือครันถะ ตรงกับภาษาบาลีว่า คันถะ แปลว่า คัมภีร์ ส่วนคำว่า ซาฮิบ แปลว่า พระ ดังนั้น ครันถ์ซาฮิบ จึงแปลว่า พระคัมภีร์ ฝรั่งเรียกคัมภีร์ครันถ์ซาฮิบ ว่า The Lord Book ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่

     1.    อาทิครันถ์ซาฮิบ แปลว่า พระคัมภีร์แรก คัมภีร์นี้คุรุอรชุน ศาสดาองค์ที่ 5 จัดทำขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2147 โดยรวบรวมคำสอนของคุรุองค์ก่อนๆ ตั้งแต่คุรุนานักจนถึงตัวท่านเอง รวมทั้งคำสอนของนักปราชญ์ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู คือ รามนันทะ และนักปราชญ์ในศาสนาอิสลาม คือ กาบีร์ อยู่ด้วย

      2.    ทสมครันถ์ซาฮิบ แปลว่า พระคัมภีร์ที่ 10 คัมภีร์นี้คุรุโควินทสิงห์ ศาสดาองค์ที่ 10  เป็นผู้จัดทำขึ้น โดยการรวบรวมคำสอนของคุรุองค์ก่อนบางองค์และของตัวท่านเองไว้รวมกัน

     คัมภีร์ครันถ์ซาฮิบ เป็นคำร้อยกรอง เป็นบทกวี มีทั้งหมดประมาณ 29,480 โศลก เป็นคำฉันท์ 31 ประเภท ใช้ภาษาในการเขียนถึง 6 ภาษา มี ปัญจาบี มุลตานี ฮินดี มราถี ปรากฤต และเปอร์เซีย ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะใครถนัดภาษาใดก็ใช้ภาษานั้นเขียน จึงมีน้อยคนนักที่สามารถอ่านพระคัมภีร์ครันถ์ซาฮิบให้จบได้ ปัจจุบันชาวซิกข์เก็บคัมภีร์ครันถ์ซาฮิบไว้ในสุวรรณวิหาร ที่ตั้งอยู่กลางสระน้ำชื่อ อมฤตสระ (Amritsar) ในแคว้นปัญจาบ ซึ่งถือเป็น ปูชนียสถานและเป็นศูนย์กลางของศาสนาซิกข์ ชาวซิกข์ถือว่าคัมภีร์ครันถ์ซาฮิบเป็น สิ่งศักดิ์สิทธิ์เปรียบเสมือนพระเจ้า จึงเฝ้าปฏิบัติดูแลเป็นอย่างดี เช่นหุ้มห่อพระคัมภีร์ด้วย ผ้าดิ้นราคาแพง ประดิษฐานบนแท่นภายใต้ฉัตรและภายในม่านที่ปักด้วยเกล็ดเพชร เมื่อถึงเวลาเย็นเจ้าหน้าที่จะอัญเชิญพระคัมภีร์เข้าไปประดิษฐานไว้บนตั่งทองในห้องพิเศษ ครั้งถึงเวลาเช้าก็อัญเชิญออกมาประดิษฐานไว้ในม่านตามเดิม คอยดูแลไม่ให้คนมาจับต้องและไม่ให้ฝุ่นละอองมาเกาะ

 

4. หลักคำสอนที่สำคัญ

    ศาสนานี้ถือว่าพระเจ้ามีองค์เดียว ไม่เป็นพระเจ้าของศาสนาใดโดยเฉพาะ แต่เป็นสากล ทรงพระนามว่า ”วาเฮคุรุŽ” พระองค์ไม่มีลักษณะเหมือนคนดังพระเจ้าของฮินดู ไม่มีรัก ไม่มีชัง ดังพระเจ้าของอิสลามหรือคริสต์ ทรงเป็นสัตยเทพ ทรงความเป็นเอก เป็นอนันตะ เป็นวิภูเทพ ทรงสถิตอยู่ทั่วไป ทรงมีพระกรุณาในสรรพสัตว์เท่ากัน

    การที่ท่านคุรุนานักตรัสว่า ”ในโลกไม่มีใครเป็นฮินดู ไม่มีใครเป็นมุสลิม เป็นต้นŽ” นี้ย่อมประกาศให้รู้ว่า ไม่มีพระเจ้าโดยเอกเทศ ไม่มีวรรณะ เชื้อชาติใดชาติหนึ่งในมนุษย์

      สำหรับหลักคำสอน3) ในศาสนา สิ่งที่สำคัญที่จะนำมากล่าวในที่นี้ มีดังนี้

4.1 องค์ไตรรัตน์

     องค์ไตรรัตน์หรือองค์ 3 ประการ อันเป็นสิ่งสูงสุดในศาสนาซิกข์ คือ

1) พระเจ้า
2) ศรี คือ หลักธรรม
3) อกาล คือ ความแน่นอนของพระเจ้า


4.2 ศีล 5 ประการ

     คุรุโควินทสิงห์ตั้งกฎไว้อย่างหนึ่ง เรียกว่า ศีล 5Ž อันขึ้นต้นด้วยอักษร ก. คือ

1)    เกศา    คือ    เอาผม หนวด เคราไว้ จะโกนไม่ได้
2)    กังฆะ    คือ    จะต้องมีหวีเสียบหรือปักไว้ที่ผมเสมอ ขาดไม่ได้
3)    การา    คือ    กำไลเหล็กสวมข้อมือ
4)    กิรปาน    คือ    จะต้องมีดาบประจำตัว
5)    กฉา    คือ    จะต้องมีกางเกงขาสั้นโดยนุ่งไว้ข้างในประจำ

     และมีหลักจะต้องปฏิบัติเพิ่มเติมอีก 4 ประการ คือ

1)    ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มน้ำเมา
2)    ไม่บริโภคเนื้ออย่างอิสลาม
3)    ไม่ตัดผม ไม่โกนหนวด
4)    ไม่แต่งกายหรือไม่ร่วมประเพณีกับมุสลิม

     ศีลทั้ง 5 ข้อนั้นเมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นว่ามีสาเหตุมาจากการรบทั้งสิ้น แม้แต่การสวมกำไลเหล็ก หรือมีดพกประจำตัว ก็ให้รู้ว่าเป็นพวกเดียวกันหรือจะต้องมีอาวุธไว้เพื่อป้องกันตนเอง และเป็นเครื่องเตือนใจให้เข้มแข็งเหมือนเหล็ก


4.3 หลักธรรมประจำชีวิตหรือศีล 21 ประการ

   คุรุโควินทสิงห์เป็นผู้เริ่มลัทธิศีลจุ่มในศาสนาซิกข์ และเป็นผู้เริ่มประกอบพิธีให้ผู้เข้า มาเป็นสานุศิษย์ด้วยพิธีประพรมน้ำมนต์ และวิธีให้ดื่มน้ำศักดิ์สิทธิ์ซึ่งมีดาบแช่ไว้เป็น เครื่องหมายว่า ผู้ดื่มต้องเป็นผู้กล้าหาญ น้ำดื่มนี้เรียกว่า "น้ำอมฤตŽ" ผู้ที่ได้ดื่มเท่ากับถึง ความบริสุทธิ์ (คาลซา) พร้อมที่จะออกรบเพื่อจรรโลงชาติ ศาสนา

    เมื่อดื่มน้ำอมฤตแล้ว ชาวซิกข์ทุกคนจะต้องถือศีล 21 ข้อ เป็นศีลประจำชีวิตของ ศาสนิกชนทุกคน คือ

ก.    ข้อปฏิบัติ

1.    ให้นับถือศาสดาทุกองค์เป็นบิดา และถือว่าตนเป็นบุตรของบิดา
2.    ให้ถือว่าเมืองปาตลีบุตร (ปัตนะในปัจจุบัน) ที่โควินทสิงห์เกิด กับเมืองอานันทปุระ (ที่โควินทสิงห์หลบไปตั้งหลักสู้กับออรังเซบเมื่อรบแพ้) ว่าเป็นเมืองที่ศักดิ์สิทธิ์
3.    ให้ยกเลิกการถือชั้นวรรณะ
4.    ให้สละชีพในสนามรบ
5.    ให้บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ 3 ประการ คือ 1. สัจจะ (พระเจ้า) ศรี (ธรรมะ) อกาล (ความเที่ยงแท้ของพระเจ้า) 2. ศาสโนวาท (คัมภีร์อาทิครันถ์และทัสเวนปาทซาฮิบ) 3. ความบริสุทธิ์
6.    ให้มีศีลอันเป็นสัญลักษณ์ 5 คือ เกศา กังฆะ การา กิรปาน และกฉา พวกซิกข์ที่อยู่ในต่างประเทศต้องมีมีดเล็กยาว 2 นิ้วเสียบไว้ที่ผม
7.    ให้มีชื่อลงท้ายว่าสิงห์ (คือ ให้กล้าหาญดังสิงโต)
8.    ให้ฝึกขี่ม้า ฟันดาบ มวยปล้ำ เป็นนิตย์
9.    ให้ถือคติว่าตนเกิดมาเพื่อช่วยเหลือเปลื้องทุกข์ให้ผู้อื่น
10. ให้นอบน้อมพระเจ้าและต้อนรับแขกโดยถือว่าเป็นเรื่องจำเป็น

ข.    ข้อห้าม

11.    ห้ามมิให้ซิกข์กับซิกข์วิวาทกันเอง
12.    ห้ามมิให้พูดปด
13.    ห้ามทำผิดในเรื่องกามารมณ์ โลภ โกรธ หลง
14.    ห้ามคบคนที่เป็นปฏิปักษ์ต่อศาสนา
15. ห้ามคบคนที่ไม่ส่งเสริมการกู้ชาติ
16. ห้ามนิยมใช้สีแดง เช่น เสื้อแดง หมวกแดง
17. ห้ามแก้ผ้าโพกศีรษะออก นอกจากเวลาอาบน้ำ
18. ห้ามเล่นการพนันทุกชนิด
19. ห้ามตัดผม โกนหนวด โกนผม โกนเครา
20. ห้ามเกี่ยวข้องกับบุคคลที่เบียดเบียนศาสนา
21. ห้ามแต่งกายหรูหราไร้สาระ

นอกจากนี้ยังมีคำสอนพื้นฐานของศาสนาซิกข์ที่ควรกล่าวถึงอีกดังนี้

     1.    สามัคคี คือ ความกลมเกลียวไม่ขัดแย้งกัน กลุ่มชนใดที่มีความขัดแย้งแข่งดีกันจะ เสียประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ทั้งฝ่ายแพ้ซึ่งเสียประโยชน์อย่างไร้เกียรติ และฝ่ายชนะแม้นจะได้รับประโยชน์ แต่ก็ได้รับความเสียหายเช่นกันอันเป็นความเสียหายอย่างมีเกียรติ สังคมที่ดีต้องสามารถประนีประนอมกันได้
     2.    เสมอภาค คือ แหล่งกำเนิดของพลัง สังคมใดก็ตามที่ไม่มีการแบ่งเพศและชั้นวรรณะ คนในสังคมนั้นจะช่วยกันสรรสร้างสังคมจนบรรลุถึงความเจริญงอกงาม นัยตรงข้าม การแบ่งชั้นวรรณะเป็นการทอนกำลังของตนลงไป
     3.    ศรัทธา คือ ความเชื่อมั่นในพระเจ้าผู้เป็นเอกโองการจะทำให้บุคคลมีความ กล้าหาญ อดทน และวิริยะอุตสาหะ เมื่อทำสิ่งใดก็จะสำเร็จลุล่วงด้วยดี
     4.    ความรัก คือ พลังที่ประสานให้ทุกคนอยู่ร่วมกันได้ด้วยความสุข แต่ความโกรธ ความเกลียดเป็นพลังบ่อนทำลายสังคม ทำให้เกิดทุกข์ เกิดโทษ ในกลุ่มชนนั้นๆ

     หลักธรรมทั้ง 4 ตามที่กล่าวมานี้ จะช่วยให้บุคคลบรรลุถึงทางแห่งความรอด และใน ขณะเดียวกันจะต้องหลีกเลี่ยงความชั่ว ที่ทำให้เกิดโทษ เกิดบาป มี 5 อย่าง คือ

     1.    ตัณหา คือ ความอยาก อันเป็นกิเลสนอนเนื่องในสันดานของมนุษย์ทุกคน จึงยาก ที่จะละได้ เว้นแต่ผู้มีคุณธรรมขั้นสูงเท่านั้น ดังนั้นศาสนาซิกข์จึงอนุญาตให้ผู้ครองเรือนอยู่ร่วมเป็นสามีภรรยากันได้ แต่ห้ามประพฤติผิดในกาม ไม่เป็นชู้หรือนอกใจภรรยาหรือสามีของตน
     2.    ความโกรธ เป็นบ่อเกิดแห่งการทะเลาะวิวาท ดังนั้นบุคคลจะต้องมีขันติเข้ามาควบคุม และรู้จักการให้อภัย
     3.    ความโลภ คือ ความอยากได้เงินทอง หรือความรักที่ต้องการผลกำไร เงินทองที่หามาได้ด้วยแรงงานบริสุทธิ์เป็นสิ่งที่ถูกต้องในศาสนา แต่ความอยากได้เงินทองที่เกินพอดี เป็นสิ่งต้องห้ามในศาสนา ความพอใจและความสันโดษจะช่วยควบคุมกิเลสตัวนี้ได้อย่างดี
     4.    ความหลง คือ ความไม่รู้จริงและเชื่อในสิ่งผิดๆ เพราะไม่ใช้ปัญญาใคร่ครวญ จึงเกิดการตัดสินใจผิดพลาดทำให้เกิดทุกข์ตามมา กิเลสตัวนี้มาจากความยึดมั่นถือมั่นจนเกินไป
     5.    อหังการ เป็นกิเลสที่ชั่วร้ายที่สุด เพราะทำให้เกิดความอิจฉาริษยา ความจองหอง อวดดี ยกตนข่มท่าน ทำให้แตกความสามัคคี ชาวซิกข์ที่ดีจะต้องอ่อนน้อมถ่อมตน ให้อภัยและมีเมตตากรุณา

     ชาวซิกข์เชื่อว่า การปฏิบัติของบุคคลมีผลต่อภพที่จะต้องเผชิญหลังจากละร่างในภพนี้แล้ว การปฏิบัติตามคำสอนในศาสนาจะส่งผลตามลำดับขั้น ตั้งแต่ขั้นต้นจนถึงขั้นสูงสุด การปฏิบัตินี้ เรียกว่า ขัณฑ์Ž มีดังนี้

     1.    ธรรมขัณฑ์ คือ หน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติ ได้แก่ การทำดี มีความยุติธรรม เป็นอาณาจักรแห่งการกระทำ
     2.    ญาณขัณฑ์ คือ การใช้ความรู้ในการประกอบกิจการเพื่อความยิ่งใหญ่ ในขั้นนี้เป็น อาณาจักรแห่งปัญญา
     3.    สรมขัณฑ์ หรือหรรษาขัณฑ์ เป็นอาณาจักรแห่งมหาปีติ (Ecstasy) ในภูมินี้มีแต่ ความบันเทิง ปรารถนาอย่างใดได้อย่างนั้น มีแต่ความสวยสดงดงาม
     4.    กรรมขัณฑ์ เป็นอาณาจักรแห่งกำลังทางจิต เป็นภูมิแห่งอำนาจ ผู้ปฏิบัติได้ถึงขั้นนี้จะปราศจากความกลัวใดๆ มีความเป็นนิรันดร มีพลังเสมือนผู้มีกายทิพย์
     5.    สัตยขัณฑ์ เป็นอาณาจักรแห่งสัจจะ เป็นภูมิสุดท้ายที่บุคคลใดสามารถบรรลุถึงขั้นนี้แล้วจะหลอมตนเองเข้าเป็นหนึ่งเดียวกับพระผู้เป็นเจ้า

 

4.4 การเข้าถึงนิรวาณ

   นิรวาณนั้นอันบุคคลอาจบรรลุได้ด้วยการเพ่งพระเจ้า มีความจงรักภักดี และศรัทธา เปล่งวาจาอยู่เสมอถึงพระนามของพระองค์ และโดยการปฏิบัติตามคำสั่งของคุรุ หรือศาสดาแห่งศาสนานั้น


4.5 พระเจ้าผู้เป็นอันติมสัจจ์

   ศาสนาซิกข์มีความเชื่อว่าพระเจ้ามีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น พระองค์ทรงเป็น สัจธรรมอันสูงสุดที่ไม่มีบ่อเกิด เพราะพระองค์ทรงเป็นบ่อเกิดของสิ่งทั้งหลาย ทรงเป็น จุดหมายสุดท้ายที่สิ่งทั้งหลายทั้งปวงต้องกลับมาสู่พระองค์ พระองค์ทรงเป็นอมตะ มีชีวิต นิรันดร์กาล พระองค์ไม่มีรูปร่างที่มนุษย์จะมองเห็นได้ด้วยตาเนื้อ อีกทั้งยังเป็นสิ่งไม่สามารถคิดและเข้าใจได้ง่าย พระองค์จึงไม่ใช่สิ่งที่ใครจะอธิบายได้ พระองค์มีอำนาจมหาศาล มีความยิ่งใหญ่และสมบูรณ์จนหาที่สุดมิได้ ทรงประทับอยู่ในชนทุกชั้น ทุกเพศ ทุกวัย ทุกเชื้อชาติ เรารู้จักพระองค์ได้โดยผ่านสิ่งสร้างต่างๆ ที่พระองค์ได้สร้างขึ้นมา สิ่งที่มีรูปร่างจำกัดเหล่านี้จึงไม่สามารถที่จะเชิดชูให้เป็นพระเจ้าได้ เพราะพระเจ้าที่แท้จริงนั้นพระองค์เป็นสิ่งที่ไร้รูป หาขอบเขตมิได้ และยากที่จะใช้เหตุผลธรรมดาในการเข้าถึงพระองค์ นอกจากการปฏิบัติตามทางแห่งความรอด (Salvation) ซึ่งเป็นวิธีปฏิบัติในทางจิตใจให้ถึงซึ่งความสะอาดบริสุทธิ์ด้วยการสวดมนต์และรำลึกถึงพระองค์อย่างมีสติอยู่เสมอและตลอดเวลา เพื่อพระองค์จะได้ ตราตรึงอยู่ในหัวใจ และเมื่อถึงเวลานั้นแล้วจิตที่ไม่บริสุทธิ์จะเปลี่ยนแปลงไปสู่ความบริสุทธิ์ สะอาด เปรียบเสมือนแก้วน้ำที่เต็มไปด้วยน้ำสกปรก เราจะต้องเทน้ำเสียทิ้งไปก่อน แล้วจึงเติมน้ำที่สะอาดบริสุทธิ์เข้ามาแทนที่ ซิกข์เรียกพระเจ้าว่า ”กรตาปุรุข”Ž ซึ่งหมายถึงพระเจ้าผู้สร้างโลกและสรรพสิ่ง นอกจากนี้ซิกข์อาจจะเอ่ยถึงพระองค์โดยใช้คำต่อไปนี้

   เอกโองการ (EK ONGKAAR) หมายถึง พระผู้เป็นหนึ่งเดียว ทรงเป็นอันติมสัจจ์อยู่เหนือ คำอธิบายใดๆ และอยู่เหนือความเข้าใจของมนุษย์

    สัตยนาม (SAT NAAM) หมายถึง พระเจ้าผู้เป็นความจริง ทรงมีอยู่จริงและเป็นเหตุของทุกสิ่ง

    นีรภาวะ (NIR BHAU) หมายถึง พระเจ้าผู้หมดความกลัวใดๆ เพราะพระองค์เป็นเจ้าของสากลโลก

    นีรไวระ (NIRVAIR) หมายถึง ผู้ปราศจากข้าศึกทั้งปวงและปราศจากซึ่งความเกลียด

    อกาลมูรติ (AKAAL MURAT) หมายถึง พระผู้อยู่เหนือกาลเวลา ทรงเป็นอมตะ

    อโยนิ (AJOONI) หมายถึง พระผู้ปราศจากอุบัติ ไม่มีการอุบัติในภพใด เพศใด และอาการใดๆ ทั้งสิ้น

    แซบั๋ง (SAI BHANG) หมายถึง การไม่เกิดอีกเพราะพระองค์เป็นเอกภพ โดยพระองค์เองหรือทรงมีทรงเป็นอยู่ด้วยพระองค์เอง (Self - Existent)

    คุรุประสาท (GUR PRASAD) หมายถึง ความปรานีที่พระองค์มีต่อคุรุ จึงเปิดเผยพระองค์ออกมาและโดยความปรานีของท่านศาสดาคุรุนานัก ศาสนิกชนซิกข์จึงได้รู้จักพระเจ้า

 

5. หลักความเชื่อและจุดหมายสูงสุด4)

     ชาวซิกข์เชื่อว่ามีพระเจ้าองค์เดียว เป็นพระเจ้าของมนุษย์ชาติทั้งปวง ไม่ผูกขาดอยู่ในศาสนาใด พระองค์มีพระนามหลายอย่าง เช่น พระพรหม พระศิวะ พระวิษณุ เอกะ โองการะ สัตยะ นามะ กรตา เป็นต้น พระองค์ทรงเป็นบ่อเกิดแห่งความดีทั้งปวง ทรงมีแต่ความเมตตากรุณา ทรงเป็นสัพพัญญู สัพพเดช สัพพาภิภู ทรงสร้างโลกและสรรพสิ่ง ในการสร้างโลก พระเจ้าจะทรงสร้างหมอกและแก๊สขึ้นก่อน แล้วทั้งสองอย่างก็หมุนเวียนเป็นล้านโกฏิปีจึงมีธรณี ดวงดาว น้ำ อากาศและอื่นๆ เกิดขึ้นมา แล้วจึงมีชีวิตอุบัติขึ้นมาจำนวน 8,400,000 ชนิด แต่มนุษย์มีฐานะสูงสุดกว่าชีวิตทั้งหลาย เพราะว่าสามารถปฏิบัติธรรมชำระจิตใจให้สะอาดจากกิเลส หลุดพ้นจากสังสารวัฏ การเวียนว่ายตายเกิด ชาวซิกข์เชื่อว่าวิญญาณเป็นอมตะจึง ไม่ตายอย่างร่างกาย แต่ก็ยังคงเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏเพราะมีกิเลส และตราบที่ยังมีกิเลสก็ต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ร่ำไป เมื่อมีเกิดก็ต้องมีตาย ถ้าไม่อยากตายก็ต้องทำให้ไม่เกิด นั่นก็คือต้องตัดกิเลสให้ได้ เพราะฉะนั้นผู้ที่เบื่อหน่ายในสังสารวัฏก็ควรที่จะละกิเลสให้หมดไปตามลำดับ จนละได้ทั้งหมดก็จะเข้าถึงจุดหมายสูงสุด ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป ได้อยู่กับพระเจ้าชั่วนิรันดร ส่วนวิธีปฏิบัติเพื่อเข้าถึงวิมุตติ ก็โดยการทำสมาธิเพ่งพระเจ้าเป็นอารมณ์ และบริกรรมถึงพระนามของพระองค์ตลอดถึงจงรักภักดีต่อพระองค์ด้วย

 

6. นักบวชในศาสนาซิกข์

    ศาสนาซิกข์เป็นศาสนาที่ไม่มีนักบวชหรือพระแม้ว่าจะมีวัดก็ตาม ท่านคุรุอมรทาสได้ประกาศให้มีวัดซิกข์ทุกหมู่บ้านที่มีศาสนิกชนของซิกข์ และได้กำหนดเขตการเผยแผ่ศาสนาซิกข์ในอินเดียออกเป็น 22 เขต แต่ละเขตมีซิกข์ผู้มีศรัทธาในศาสนาอย่างแท้จริงหนึ่งคนเป็นผู้รับผิดชอบในเขตนั้นๆ

    ผู้ทำหน้าที่สอนศาสนาซิกข์ไม่มีเครื่องแบบ แม้นักบุญผู้หลุดพ้นก็มิได้ถือกฎแห่ง พรหมจรรย์ในวัดซิกข์ ใครก็สามารถทำหน้าที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาได้ ผู้คงแก่เรียนในคัมภีร์ก็เป็นผู้อ่านคัมภีร์เท่านั้น ส่วนผู้ร้องเพลงสวดก็มิได้ถือว่าเป็นพระสงฆ์ ผู้ปฏิบัติกิจทางศาสนาเรียกว่าผู้ทำงานซึ่งทำด้วยความสมัครใจ ผู้หญิงในศาสนาซิกข์จึงทำงานทางศาสนาได้เท่าเทียมผู้ชาย และอาจมีส่วนร่วมในพิธีกรรมทางศาสนาได้ทุกอย่าง เช่น พิธีปฏิญาณตนเป็นซิกข์ พิธีแต่งงาน พิธีศพ เป็นต้น สำหรับการอ่านคัมภีร์ทางศาสนาถือว่าเป็นหน้าที่ปกติของทุกคน

 

7 พิธีกรรมและประเพณีที่สำคัญ

     พิธีกรรมและประเพณีที่สำคัญ5) ที่ชาวซิกข์ทุกคนควรที่จะได้ประพฤติปฏิบัติมีดังนี้

7.1 พิธีปาหุล

   พิธีกรรมที่ชาวซิกข์ทุกคนต้องทำ คือ พิธีปาหุล ได้แก่ พิธีล้างบาป เมื่อเสร็จพิธีแล้วก็จะรับเอา ”กŽ” ทั้ง 5 ประการ ดังนี้

1.    เกศา การไม่ตัดผม
2.    กังฆะ หวีขนาดเล็ก
3.    การา กำไลมือทำด้วยเหล็กกล้า
4.    กิรปาน ดาบ
5.    กฉา กางเกงขาสั้น

     ผู้ใดทำพิธีล้างบาปแล้วก็ได้นามว่า ”สิงห์Ž” ต่อท้ายชื่อเหมือนกันหมดทุกคน เพราะถือว่าได้ผ่านคาลซา แห่ง "วาเฮคุรุŽ" คือ ความเป็นสมบัติของพระเจ้าเองแล้ว


7.2 พิธีรับน้ำอมฤต (The Sikh Baptism)

    ชาวซิกข์จะต้องเข้าพิธีรับน้ำอมฤตเพื่อแสดงความเป็นซิกข์ที่ดี และเป็นการรับคนเข้า ในศาสนา พิธีนี้ได้เริ่มเกิดขึ้นอย่างเป็นระบบในสมัยของศาสดาคุรุโควินทสิงห์ โดยจัดให้มี ”ปัญจปิยะŽ” (Panj Pyare) 5 คน ซึ่งหมายถึงผู้เป็นที่รักของพระเจ้า ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นบุคคลที่ได้รับการเลือกแล้วว่าเป็นผู้มีคุณธรรมสูง รู้เรื่องราวในศาสนาเป็นอย่างดี ท่านทั้ง 5 มีหน้าที่ทำพิธีกรรมโดยนั่งเรียงเป็นแถวหันหน้าไปทางคุรุศาสดา แต่ปัจจุบันทั้งหมดต้องนั่งหันหน้าไปทางพระคัมภีร์ครันถสาหิบ วิธีนั่งให้นั่งเหมือนกันทั้ง 5 ท่าน โดยนั่งในลักษณะคุกเข่าขวา ให้เข่าขวาแนบกับพื้น โดยให้น้ำหนักของร่างกายลงที่เข่าขวา ส่วนเข่าซ้ายตั้งฉากกับพื้น เบื้องหน้า ของทั้ง 5 ท่าน มีแท่นหิน บนแท่นหินมีขันน้ำใบใหญ่ใส่น้ำแล้วหยดน้ำตาลลงไป ภายในขันมีพระขรรค์ซึ่งเป็นมีด 2 คม ทั้งพระขรรค์และขันน้ำที่ทำพิธีนี้จะต้องทำด้วยเหล็กกล้าอย่างดี (เพราะแต่เดิมมาเหล็กเป็นโลหะที่หาง่าย ราคาถูก และใช้ได้กับชนทั่วไปในอินเดียสมัยนั้น) จากนั้นให้ใช้พระขรรค์คนน้ำในขัน ในขณะที่คนน้ำนั้นจะมีการสวดมนต์ 5 บท ผลัดกันสวด คนละ 1 บท ตามลำดับดังนี้

1.    ยัปยีซาฮิบ
2.    ยาปซาฮิบ
3.    สวาเย
4.    โชไปอิ
5.    อนันตซาฮิบ

    หลังจากสวดมนต์จบแล้ว ท่านทั้ง 5 จะนำน้ำนั้นมาให้ผู้เข้าพิธีรับน้ำอมฤตดื่ม ซึ่งผู้เข้าพิธีเหล่านี้นั่งด้านหลังของท่านทั้ง 5 และหันหน้าไปทางพระคัมภีร์ครันถ์ซาฮิบ หลังจากที่ ดื่มน้ำแล้วในบางแห่งผู้เข้ารับพิธีจะต้องพูดว่า คาลซาเป็นพระเจ้า ชัยชนะเป็นของพระองค์Ž (คาลซาในที่นี้ หมายถึง ชาวซิกข์ ซึ่งนิยมใช้แทนกันเสมอ)


7.3 ประเพณีการเล่นดนตรีสวรรค์ (Kirtan)

   ประเพณีนี้เป็นแบบอย่างหนึ่งของการแสดงออกซึ่งความเคารพในพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งชาวซิกข์นิยมสวดมนต์พร้อมกับมีดนตรีบรรเลงประกอบ และถือกันว่าเป็นดนตรีสวรรค์ที่จะช่วยให้ผู้สวดได้มีจิตแนบแน่นกับพระผู้เป็นเจ้าได้รวดเร็วและดีขึ้น เครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลงมีลักษณะเหมือนหีบสี่เหลี่ยม ซึ่งเราอาจจะเรียกว่า "หีบเพลง" ก็คงไม่ผิดกับลักษณะที่เป็นอยู่

    การสวดมนต์ของซิกข์นั้นมีทั้งตอนเช้าก่อนรุ่งอรุณ และในตอนเย็นอันเป็นช่วงเวลาที่พระอาทิตย์กำลังลับขอบฟ้า การสวดมนต์ถือว่าเป็นกิจปฏิบัติที่ต้องกระทำทุกวัน


7.4 ประเพณีการโพกศีรษะ (Turban หรือ Dastar)

   ชาวซิกข์มีลักษณะการแต่งกายแตกต่างจากชนกลุ่มอื่นในอินเดีย ดูจากการโพกผ้าบนศีรษะ ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในการแต่งกายที่มีประวัติความเป็นมายาวนานแล้ว นับตั้งแต่ศาสนาซิกข์ได้ก่อกำเนิดมาโดยศาสดาคุรุนานักเทพ

    ในถิ่นกำเนิดของชาวซิกข์ผ้าโพกศีรษะเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของนักบุญและ นักปราชญ์ทั้งหลายและเป็นส่วนประกอบของเครื่องแต่งกายของชนชาวเอเชียในอดีต ในภาษาปัญจาบีเรียกผ้าโพกศีรษะว่า ดัสตาร์ (Dastar) โดยทั่วไปผ้าโพกศีรษะจะมีความยาว 4.5 เมตร หรือ 5 หลา มีความกว้างประมาณ 1.25 เมตร ผ้าที่ใช้นิยมผ้าฝ้ายเนื้อบาง แต่บางคนอาจจะใช้ผ้าฝ้ายเนื้อหนาก็ได้ หรืออาจจะใช้ความยาวถึง 7 เมตร นอกจากนี้ยังมีผ้าโพกศีรษะขนาดสั้นเรียกว่า ”ดัสตารา”Ž (Dastara) มีความยาวประมาณ 1.5-2 เมตร ใช้โพกศีรษะอยู่ใต้ผ้าที่โพกไว้ภายนอกอีกชั้นหนึ่ง ส่วนสีนั้นไม่มีการจำกัด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความนิยม แต่ชาวซิกข์ในเมืองไทยส่วนมากนิยมสีขาว และสีฟ้าสดที่เรียกว่า ฟ้าอมน้ำเงิน

     ในหมู่ชาวซิกข์การโพกผ้ามิได้มีความหมายเพียงแค่ประเพณีในการแต่งกายเท่านั้น แต่เป็นเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความสืบเนื่องทางศาสนา เช่น ถ้าผู้นำของครอบครัวเสียชีวิต บุตรคนโตจะได้รับการโพกศีรษะต่อหน้าชุมชนนั้นๆ เพื่อประกาศว่าเขาจะได้เป็นผู้สืบทอดแทนบิดาต่อไป

   พิธีโพกศีรษะเริ่มเป็นครั้งแรกเมื่อเด็กโตเป็นหนุ่ม และผ้าโพกศีรษะนี้จะถูกถอดออกต่อเมื่อเป็นการลงโทษหรือเป็นการลบหลู่เกียรติ ฉะนั้นเมื่อมีผู้ปัดผ้าโพกศีรษะผู้อื่นออก ผู้นั้นจะถูกลงโทษไม่ให้เข้าร่วมในพิธีต่างๆ จนกว่าจะขอขมาโทษ และรับโทษตามที่ได้บัญญัติไว้ ชาวซิกข์จะต่อสู้เพื่อสิทธิในการโพกศีรษะในประเทศต่างๆ การต่อสู้ครั้งแรกเกิดขึ้นในอังกฤษ ดังนั้นการโพกศีรษะจึงหมายถึงวิถีชีวิตและจิตใจของชาวซิกข์ ที่มีต่อศาสนาอย่างมั่นคง


7.5 ประเพณีครัวทาน (Free Kitchen)

  ประเพณีนี้เป็นส่วนหนึ่งในการปฏิบัติทางศาสนาที่ชาวซิกข์เรียกว่า ”ปันกัต”Ž (Pangat) หรือ ”ลังการ์Ž” (Langar) ซึ่งหมายถึง ครัวทานหรือครัวสาธารณะที่เปิดให้คนทั่วไปได้รับประทานอาหารร่วมกันไม่ว่าจะมีวรรณะใด เพศใด หรือชาติใดก็ตาม ทุกคนย่อมได้รับการปฏิบัติที่เหมือนและเท่าเทียมกัน ประเพณีทางศาสนานี้เริ่มมาตั้งแต่สมัยของคุรุนานักที่เป็นปฐมศาสนา และทำสืบต่อกันมาในสมัยของคุรุศาสดาอังคัทเทพ คุรุศาสดาอมรทาส จนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้

   การรับประทานอาหารในโรงครัวสาธารณะนี้ถือว่าเป็นการสร้างภราดรภาพร่วมกัน  อันเป็นหลักสำคัญในศาสนา บุคคลที่เข้ามาในโรงครัวนี้จะต้องนั่งบนพื้นที่จัดไว้เรียงเป็นแถวในระดับเสมอกัน ไม่มีข้า ไม่มีนาย ไม่มีความแตกต่างทางเชื้อชาติ ศาสนา ผู้ศรัทธาในศาสนาซิกข์ จะช่วยกันทำอาหารและบริการรับใช้ผู้มารับประทานทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน โรงครัวนี้ ชาวซิกข์จะช่วยกันนำอาหารมาให้หรืออาจให้เป็นเงินทอง เพื่อจัดซื้ออาหารต่างๆ ให้มีอยู่เสมอมิได้ขาด

 

8. นิกายในศาสนา

     นิกายของศาสนาซิกข์ที่สำคัญมีอยู่ 2 นิกาย คือ

     1. นิกายนานักปันถิ หรือสหัชธรี นิกายนี้หนักไปในทางนับถือคุรุนานัก จึงดำรง ชีวิตอยู่อย่างเรียบง่าย ดำเนินรอยตามคุรุนานัก นิกายนี้โกนผมโกนหนวดเคราได้

     2. นิกายคาลซา หรือ สิงห์ นิกายนี้นับถือหนักไปทางคุรุโควินทสิงห์ ผู้ที่นับถือ นิกายนี้จะไว้ผมตลอดทั้งหนวดเครายาว โดยไม่ตัดหรือโกนตลอดชีวิต

 

9. สัญลักษณ์ของศาสนา

   สัญลักษณ์ของศาสนาซิกข์ที่นับว่าสำคัญ คือ "กาน้ำและดาบŽ" ซึ่งหมายถึงการรับใช้ และกำลัง นี้เป็นสัญลักษณ์ประการที่หนึ่ง

       สัญลักษณ์ประการที่สอง คือ อักษร "กŽ" ทั้ง 5 ดังที่กล่าวแล้วในเรื่องพิธีกรรม

    ส่วนสัญลักษณ์ประการที่สาม ที่นับว่าสำคัญ ซึ่งนิยมใช้กันมากในปัจจุบัน และใช้พิมพ์ไว้ในหนังสือต่างๆ เป็นเครื่องหมายให้รู้ว่าเป็นของศาสนาซิกข์คือรูปดาบไขว้ และมีดาบ 2 คม หรือพระขรรค์อยู่ตรงกลาง แล้วมีวงกลมทับพระขรรค์นั้นอีกต่อหนึ่ง วงกลมนั้นมิได้ทำเป็นรูปจักร แต่ทำเป็นเส้นกลมธรรมดา ดังในรูป

 

10. ฐานะของศาสนาในปัจจุบัน6)​

     ศาสนาซิกข์ถึงแม้จะเกิดมาไม่นานนัก แต่จำนวนศาสนิกของศาสนานี้ ก็มีมากกว่าศาสนิกของศาสนาโซโรอัสเตอร์และศาสนาเชนรวมกัน ชาวซิกข์มีประมาณ 18 ล้าน 5 แสนคน (Encyclopaedia Briannica 1992 : 269) มีชาวซิกข์กระจัดกระจายอยู่ในประเทศต่างๆ เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา อังกฤษ สิงคโปร์ และฮ่องกง เป็นต้น แต่ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศอินเดีย

     ศาสนาซิกข์ได้ช่วยหล่อหลอมจิตใจชาวซิกข์ไม่ว่าอยู่ในประเทศอินเดียหรือต่างประเทศ ให้มีลักษณะอย่างเดียวกัน คือ ขยันหมั่นเพียร ประหยัด ซื่อสัตย์ กล้าหาญ อดทน และเป็นนักรบ อย่างเช่นในประเทศอินเดียประชาชนที่เป็นซิกข์มีน้อยนิด คือประมาณ 2% แต่ชาวซิกข์ก็ได้ทำชื่อเสียงให้แก่ประเทศอินเดียยิ่งกว่าประชากรส่วนใหญ่เสียอีก เช่น ชาวซิกข์เป็นเกษตรกรชั้นนำ ของประเทศ สามารถผลิตผลิตผลทางเกษตรกรรมได้อย่างมากมาย เพราะฉลาดในการนำวิทยาการใหม่ๆ มาใช้ ชาวซิกข์มีความอดทน ซื่อสัตย์สุจริต จะประกอบอาชีพอะไรก็สามารถทำให้เจริญก้าวหน้าเป็นปึกแผ่น เป็นที่น่าเชื่อถือ

     ชาวซิกข์เป็นนักรบชั้น 1 ของประเทศอินเดีย จนได้นามว่าแขนแขวนดาบ การป้องกันประเทศอินเดียไม่ว่าจะรบกับจีน หรือปากีสถาน หรือชาติอื่นๆ ก็อาศัยทหารซิกข์นี่แหละเป็นหลัก ชาวซิกข์เป็นนักกีฬาที่ดีเด่นของอินเดีย นักกีฬาอินเดียที่ประสบความสำเร็จได้เหรียญต่างๆ ในการแข่งขันกีฬาระหว่างประเทศ ส่วนใหญ่ก็เป็นชาวซิกข์เช่นกัน นอกจากนี้ชาวซิกข์ยังเป็น นักการธนาคาร พ่อค้าที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากทั้งในและนอกประเทศด้วย

    ปัจจุบันศูนย์กลางศาสนาซิกข์อยู่ที่เมืองอมฤตสระ แคว้นปัญจาบ ประเทศอินเดีย ซึ่งมีสุวรรณวิหารสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวซิกข์อยู่ที่นั่น ศาสนาซิกข์กำลังเจริญอย่างช้าๆ แต่ทว่าบางนิกาย เช่น นิกายนานักปันถิ มีทีท่าจะถูกศาสนาพราหมณ์-ฮินดูกลืน

      ชาวซิกข์และชาวฮินดูอยู่ด้วยกันเป็นปกติสุขตลอดมา แต่มาไม่นานนี้มีปัญหาการเมืองเข้ามาแทรก คือชาวซิกข์บางกลุ่มต้องการตั้งรัฐอิสระแยกจากอินเดีย เรียกว่ารัฐขาลิสตาน เพื่อเป็นรัฐของชาวซิกข์ แต่ทางอินเดียไม่ยินยอม นายกรัฐมนตรีอินทิรา คานธี จึงสั่งให้ทหารเข้าไปยังสุวรรณวิหารเพื่อกวาดล้างชาวซิกข์หัวรุนแรงที่เข้าไปยึดศาสนสถานแห่งนั้นเป็นที่ต่อสู้ ทำให้ชาวซิกข์เสียชีวิตหลายคน ส่วนนางอินทิรา คานธีเองก็ถูกลอบสังหารในกาลต่อมา โดยชาวซิกข์เช่นกัน จึงทำให้ชาวซิกข์และชาวฮินดูมีปัญหากระทบกระทั่งกันอยู่เสมอ ไม่สงบสุขดังแต่ก่อน

 

 


1) Noss David's. A History of the World's Religion, 1994 p, 83-85.
2) Sikh Missionary. sikh Religion, 1990 p. 7-10.
3) Sikh missionary. sikh religion, 1990 p. 252-253.
4) เสฐียร พันธรังษี. ศาสนาเปรียบเทียบ, 2516 หน้า 194-195.
5) วนิดา ขำเขียว. ศาสนาเปรียบเทียบ, 2543 หน้า 208-210.
6) ฟื้น ดอกบัว. ศาสนาเปรียบเทียบ. พิมพ์ครั้งที่ 3, 2549 หน้า 239-240.


หนังสือ DF 404 ศาสนศึกษา
กลุ่มวิชาการทำหน้าที่กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0063181161880493 Mins