อ่อนน้อมเถิด เกิดผลจริง

วันที่ 17 พย. พ.ศ.2559

อ่อนน้อมเถิด เกิดผลจริง,ที่นี่มีคำตอบ ฉบับมินิ เล่ม 4 รักนี้ส่ีอะไร,บทความประจำวัน

 

อ่อนน้อมเถิด เกิดผลจริง

 

ข้าพเจ้าจําได้ถึงความรู้สึกครั้งแรกที่ข้าพเจ้าอ่านพบในหนังสือเล่มหนึ่ง ถึงการทําบุญ ๑๐ ประการ ที่เรียกว่า บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ได้แก่

๑.      ทำบุญได้ด้วยการบริจาค จะเป็นวัตถุสิ่งของ เป็นคําสั่งสอนและสละความชั่วเลวใดๆ ก็ได้

๒.    ทําบุญด้วยการรักษาศีล คือ ประพฤติดี ไม่ทําชั่วทางกาย ทางวาจา เรียกว่า ฝึกกาย วาจา

๓.     ทําบุญด้วยการเจริญภาวนา คือการฝึกอบรมจิตใจ

๔.     ทำบุญด้วยการประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตน

๕.     ทำบุญด้วยการช่วยขวนขวายรับใช้

๖.       ทําบุญด้วยการแบ่งส่วนบุญที่ทําแล้วให้ผู้อื่น

๗.     ทําบุญด้วยการยินดีในการทําความดีของผู้อื่น (อนุโมทนา)

๘.     ทําบุญด้วยการฟังธรรม ศึกษาหาความรู้

๙.      ทําบุญด้วยการสั่งสอนธรรม ให้ความรู้แก่ผู้อื่น

๑๐.  ทำบุญด้วยการทําความคิดเห็นให้ตรง ตามความเป็นจริง

ข้าพเจ้ารู้สึกดีอกดีใจที่สุด เคยกังวลใจตั้งแต่เล็กเสมอมาจะหาเงินมากๆ แล้วเอาไปทําบุญถวายพระสงฆ์เราจะได้บุญ ยิ่งโตขึ้นๆ ก็มองไม่เห็นหนทางจะรวยให้ได้ดังใจเพื่อมีเงินไว้ใช้ทําบุญ คํานวณดูเงินเดือนตนเอง ดูยอดเงินที่เหลือแต่ละเดือนแทบไม่มี ภาระรอบตัวดึงไปหมด พอได้พบว่ามีบุญที่ทําได้โดยไม่ต้องใช้เงินอยู่อีกถึง ๙ อย่าง ก็ทําให้มีกําลังใจเหมือนได้ชีวิตใหม่ รู้สึกอย่างนั้นจริงๆ นับแต่วันที่รู้เรื่องนี้ก็ได้พยายามปฏิบัติมาโดยสม่ำเสมอทั้ง ๑๐ ประการ

แรกๆ มีหนักใจอยู่บ้าง ในข้อที่ ๔ ความอ่อนน้อมถ่อมตนเพราะชอบถือตัว จะลงให้เฉพาะคนที่มีคุณต่อตนเองเท่านั้น แต่เหมือนบุญเก่าของตนเองมีอยู่ ครั้งหนึ่งเมื่อเรียนอยู่ในโรงเรียนประจํา ทางโรงเรียนเข้มงวดกวดขันมาก ไม่ยอมให้ผู้ปกครองซื้อขนมหวานมาฝากลูกหลานของตน ทางโรงเรียนแจกให้แต่กล้วยสลับกับส้มเท่านั้น

วันหนึ่งภารโรงที่มีหน้าที่ต้อนรับผู้ปกครองที่มาเยี่ยมได้มาพบข้าพเจ้า ท่านเป็นคนแก่มาก นักเรียนเรียกกันว่า ลุงไหว ลุงไหว อายุคงเกือบ ๖๐ ปี ตอนนั้นบิดาของข้าพเจ้าอายุ ๔๒ ปี

“หนูชื่อ ถวิล บุญทรง ใช่ไหม” ภารโรงผู้สูงอายุถามข้าพเจ้า

“ใช่ค่ะ ลุงไหวมีอะไรหรือคะ” ข้าพเจ้าถาม

“ตอนเย็นทานข้าวแล้ว ช่วยแวะไปที่บ้านพักของผมหน่อยนะครับ ถ้าไม่พบผม ภรรยาผมคงอยู่”

ลุงไหวพูดแล้ว ไม่รอให้ข้าพเจ้าซักถาม รีบเดินจากไป ทําอาการเหมือนไม่อยากให้เพื่อนๆ ของข้าพเจ้าซึ่งกําลังพากันเดินมารู้เรื่องด้วย ข้าพเจ้ามองท่าทางออก จึงมิได้บอกอะไรเพื่อน

ถึงเวลา เมื่อข้าพเจ้าไปพบตามที่ลุงไหวสั่ง ภรรยาของท่านได้ส่งถุงขนมแห้งห่อใหญ่ให้ข้าพเจ้า ในนั้นมีจดหมายของบิดาข้าพเจ้าซึ่งท่านเพิ่งมาเยี่ยมตอนกลางวัน และข้าพเจ้าบ่นกับท่านว่า

“พ่อจ๋า หนูหิวขนมจังเลย แต่ทางโรงเรียนเขาตรวจสิ่งของที่ผู้ปกครองนํามาให้ ครูเวรจะเป็นคนตรวจ ถ้าผิดระเบียบ มีใครฝากขนมให้นักเรียน ครูจะให้ผู้ปกครองนําคืนไป บอกแม่ด้วยนะพ่อว่าตอนปิดเทอม หนูจะขอให้แม่ทําขนมให้หนูกินทุกวันเลยนะคะ”

แต่แล้วข้าพเจ้าก็ไม่ต้องรอถึงปิดเทอมเลยได้รับประทานขนมไม่ทันข้ามวัน

เมื่อกลับถึงห้องพัก ข้าพเจ้าเปิดจดหมายของพ่อออกอ่าน พ่อเขียนว่า

“หนู ลูกรักของพ่อ"

พ่อฟังหนูบ่นหิวขนมแล้วพ่อสงสารลูกจับใจจริงๆ เพราะเมื่อเราอยู่ด้วยกันที่บ้าน แม่ของลูกจะทําขนมให้เรากินกันเป็นหม้อใหญ่ๆ กินกันทั้งวันก็ไม่หมด บางทีต้องอุ่นกินต่อวันรุ่งขึ้น ลูกต้องอดเป็นเดือนๆ อย่างนี้ พ่อเห็นใจ พ่อจึงขอร้องลุงไหวว่าช่วยพ่อเรื่องนี้ได้ไหม ลุงไหวบอกพ่อว่า เป็นเรื่องผิดระเบียบของโรงเรียน ถ้าอาจารย์ผู้ปกครองรู้ว่าลุงไหวทํา ก็จะมีความผิดมาก อาจถูกลงโทษร้ายแรง แต่ลุงไหวพูดกับพ่อว่า แต่สําหรับคุณผมจะลองเสี่ยง ผมจะรับเอาของไปให้ลูกคุณ ขอให้คุณซื้อมาเถอะและฝากผมที่หน้าประตู อย่าเอาเข้าไปในห้องรับแขก เดี๋ยวครูเวรเห็น

เมื่อพ่อซื้อขนมมาฝากถุงใหญ่ เพื่อให้ลุงไหวเอาไปให้หนู พ่อเอาเงินให้ลุงไหวเป็นสินน้ำใจด้วย แต่ลุงไหวไม่ยอมรับ ลุงไหวบอกว่า ผมทําให้คุณไม่ใช่อยากได้เงินรางวัล แต่ในบรรดาผู้ปกครองตั้งหลายร้อยคน มีคุณคนเดียวที่ให้เกียรติผม คุณยกมือไหว้ผมทุกครั้งที่มาเยี่ยมลูก ผมซาบซึ้งมาก คุณไม่ได้คิดว่าผมเป็นเพียงภารโรงแก่ๆ ตําแหน่งต่ำๆ ฯลฯ”

ตั้งแต่นั้นมาทุกครั้งที่พ่อมาเยี่ยม ข้าพเจ้าไม่เคยอดขนมอีกเลย ตัวอย่างของพ่อ ทําให้ข้าพเข้าจําฝังใจว่า แค่พนมมือไหว้คนนั้นไม่ใช่เรื่องหนักหนา ทําไว้ใครจะรู้ว่ามีประโยชน์ในวันข้างหน้าขึ้นมาได้ ข้าพเจ้าจึงถือการกระทำพ่อเป็นตัวอย่าง พ่อบอกว่า

“พ่อไหว้ลุงไหว ไม่ได้นึกอยากเอาใจเพื่อประโยชน์แอบแฝงเบื้องหลังอย่างใด แต่ไหว้เพราะท่านแก่กว่าพ่อมาก เหมือนไหว้พี่ป้าน้าอานะลูก”

นับว่าเป็นความโชคดี ข้าพเจ้าทําตามพ่อตลอดมา โดยไม่คิดว่านั่นคือการทําบุญชนิดหนึ่งที่เรียกว่าความอ่อนน้อมถ่อมตน ข้าพเจ้าจําได้ว่า มีเหตุการณ์เกิดขึ้นครั้งหนึ่งที่คล้ายๆ เหตุการณ์ที่พ่อทําให้ข้าพเจ้าได้คิดเมื่อครั้งกระโน้น

วันนั้นข้าพเจ้ายังรับราชการเป็นหัวหน้าสถานศึกษาอยู่ ได้มาติดต่อราชการบางเรื่องที่กระทรวงศึกษาธิการ ข้าพเจ้ามีอายุราว ๓๘ ปี  ทางแผนกพัสดุได้แจ้งข้าพเจ้าขณะนั้น ให้รับหนังสือที่ทางราชการซื้อแจกเรียนหลายพันเล่ม ข้าพเจ้าไม่ทราบล่วงหน้ามาก่อนจึงไม่ได้นําภารโรงจากโรงเรียนมาช่วยขน คิดว่าหนังสือมากเหลือเกินรถส่วนตัวที่ขับมาก็มีขนาดเล็ก อย่างไรก็ต้องขน ๒ เที่ยว ตอนนี้เอาไปเที่ยวหนึ่งก็ยังดี ไม่รู้จะเรียกให้ใครช่วย ขนเองก็ได้... คิดดังนี้แล้วข้าพเจ้าก็หิ้วไปทีละห่อสองห่อใส่รถที่นํามาจอดไว้ไม่ห่างมาก ยังโชคดีที่เป็นห้องชั้นล่างของตึก ขณะกําลังขนเกะกะอยู่นั้นเอง ภารโรงสูงอายุของกระทรวงคนหนึ่งเดินผ่านมาเห็นเข้า เขาตรงเข้าช่วยข้าพเจ้าทันทีโดยข้าพเจ้ามิได้ขอร้องแต่อย่างใด ถึงอย่างไรข้าพเจ้าก็ไม่กล้าขอร้องอยู่แล้วเพราะคนละสังกัดกัน ไม่ใช่ผู้ใต้บังคับบัญชาของเรา ข้าพเจ้ากล่าวขอบคุณหลายคําในระหว่างที่ช่วยกันขน ในใจตนเองก็นึกใคร่ครวญไป

“ลุงคนนี้กับเราไม่ใช่คนคุ้นเคยกันสักหน่อย เพียงแต่เป็นคนเคยเห็นหน้า...”

เวลามาราชการในกระทรวงทุกครั้งที่ข้าพเจ้าเห็นเขาทําความสะอาด ไม่ว่าจะเป็นพื้นห้องหรือที่ส้วม ข้าพเจ้าจะคอยให้เขาทําให้เสร็จก่อนหรือหลีกทางให้ความสะดวก จะยิ้มให้เหมือนให้กําลังใจ แต่ไม่เคยกล่าวเป็นคําพูดออกมา ส่วนในใจชอบพูดว่า

“ชั้นสงสารลุงจัง...แก่มากแล้ว ต้องมาทํางานหนัก เรื่องส้วมอะไรๆ นี่ก็สกปรกทั้งนั้น อดทนนะลุง ถ้าลุงเป็นพ่อชั้น เป็นตายชั้นไม่ยอมให้ทํางานยังงี้หรอก...”

ข้าพเจ้าไม่เคยดูหมิ่นในเครื่องแบบภารโรงที่เขาแต่งอยู่ แม้ว่าข้าพเจ้าเองจะแต่งกายด้วยเครื่องแบบข้าราชการชั้นพิเศษก็ตาม เมื่อข้าพเจ้ากล่าวว่าวันนี้พอแล้ว พรุ่งนี้จะมาขนอีกเที่ยวหนึ่ง พร้อมทั้งยกมือไหว้ขอบคุณเหมือนไหว้พี่ป้าน้าอา และหยิบเงินให้จํานวนหนึ่ง มากเท่ากับค่าแรงทั้งวันของอัตราเงินเดือนภารโรง แต่ภารโรงผู้สูงอายุตอบว่า

“ผมไม่รับเงินของอาจารย์หรอกครับ ผมอยากช่วยน่ะครับ เพราะอาจารย์เป็นคนดี ไม่ถือตัว”

ความจริงเขาอาจอยากพูดคําว่า เพราะอาจารย์ไม่ดูถูกดูหมิ่นคนที่มียศต่ำกว่าต่างหาก...

ข้าพเจ้าคิดอย่างนั้น และยกมือไหว้ขอบคุณอีกครั้งหนึ่ง พร้อมกับรู้สึกเสียใจนิดหน่อยที่ทําเหมือนดูถูกน้ำใจ ยื่นเงินให้เขา

วันรุ่งขึ้น ข้าพเจ้าไปที่กระทรวงฯ แต่เช้า เพราะเป็นทางผ่านก่อนไปถึงโรงเรียน จึงไม่มีภารโรงมาด้วยอีกตามเคย วันนี้มีหัวหน้าสถานศึกษาซึ่งเป็นเพื่อนข้าพเจ้าพากันมาขนหลายคน ล้วนแต่ไม่มีใครเอาภารโรงมาเลยเหมือนกันจึงต้องหิ้วกันเองทั้งนั้น ภารโรงผู้สูงอายุคนเดิมมาจากทางไหนข้าพเจ้าไม่ทันสังเกต วิ่งมาช่วยข้าพเจ้าขนจนเสร็จ ให้ข้าพเจ้าขอบคุณเหมือนวันวานแล้วก็จากไป เพื่อรีบทํางานประจําของเขาที่บนตึก ไม่สนใจคิดช่วยเหลือเพื่อนข้าพเจ้าคนอื่นๆ ไม่มองดูเสียด้วยซ้ำ เพื่อนที่เป็นหัวหน้าสถานศึกษาคนหนึ่ง ยังพูดล้อเลียนตามหลังไปว่า

“แหมลุง...ลําเอียงจังเลย ช่วยขนให้คนเดียว ไม่ช่วยชั้นมั่งเลย” ภารโรงผู้นั้นไม่ตอบ ทําอาการเหมือนไม่ได้ยิน เพื่อนจึงถามข้าพเจ้าว่า

“รู้จักกับลุงคนนี้ด้วยหรือ”

ข้าพเจ้าตอบตามจริงว่า “เปล่าเลย ไม่เคยพูดกันมาก่อนด้วยซ้ำ เพียงแต่ต่างคนต่างรู้จักกันโดยตําแหน่งน่ะ

“คุณมี นะ ดีอะไร แกจึงตั้งใจช่วยแต่คุณคนเดียว”

นะ หมายถึง คาถาอาคม เพราะคาถาสมัยโบราณมักจะต้องขึ้นด้วยคำว่า นะโม คือกล่าวสรรเสริญพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วย นะโม ๓ จบเสียก่อน แล้วจึงจะสวดอย่างอื่น

ข้าพเจ้าพิจารณานิสัยเพื่อนผู้นี้แล้ว เห็นว่าพูดไปก็เหนื่อยเปล่า เรื่องความอ่อนน้อมถ่อมตนอะไรนั้น เพื่อนผู้นี้ต้องเห็นเป็นเรื่องขบขัน เพราะเขายึดถือในตัวตนมากกว่า เป็นข้าราชการผู้ใหญ่ถือตําแหน่งทางโลกเป็นสำคัญ ข้าพเจ้าจึงได้แต่หัวเราะกลบเกลื่อนเสีย

ข้าพเจ้านําเรื่องนี้มาเล่าเพราะเห็นว่า คนเราโดยเฉพาะเด็กๆ นั้น ถ้ารู้ว่าอะไรควรทํา อะไรไม่ควรทํา เขาจะได้ประโยชน์มากในการสร้างบุญใส่ตนเองแต่เล็ก เหมือนดังตัวอย่างที่ข้าพเจ้าได้รับจากพ่อในเรื่อง ของความอ่อนน้อมถ่อมตนนี้ แม้พ่อไม่สอนโดยตรงแต่ทําให้ดู ข้าพเจ้าเพียงทำตามอย่างก็ยังได้บุญโดยบังเอิญ

เกี่ยวกับเรื่องภารโรงผู้สูงอายุนั้นข้าพเจ้ายังได้ประโยชน์ต่อเนื่องอีก คือ มีอยู่วันหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ข้าพเจ้าได้พบน้องสาวซึ่งไปรับราชการอยู่ไกลถึงนราธิวาส ความเป็นห่วงน้องก็ถามสารทุกข์สุกดิบ ด้วยความห่วงใย น้องสาวเข้าใจ เขาชี้แจงต่อข้าพเจ้าว่า

“พี่ไม่ต้องห่วงหนูหรอก หนูอยู่ที่ไหนๆ อยู่ได้อย่างสบาย ก็หนูจําตัวอย่างไปจากพี่ไง”

“ตัวอย่างอะไรฮึ พี่งง” ตอบเขาไปด้วยรู้สึกอย่างนั้นจริงๆ

“เมื่อตอนหนูเล็กๆ มีอยู่วันหนึ่งหนูติดรถพี่ไปดูประกาศที่กระทรวงเรื่องรับสมัครงาน ขณะที่กําลังเดินกลับ หนูเห็นพี่ยกมือไหว้ภารโรงแก่ๆ ที่ช่วยพี่ขนหนังสือไงคะ หนูจําติดตาเลย แล้วหนูก็สังเกตเห็นว่า ภารโรงคนนั้นเค้าช่วยแต่พี่คนเดียวจริงๆ หนูจึงมาคิดว่า พี่ของหนูเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ยังมีความอ่อนน้อมต่อผู้คนถึงขนาดนี้ ก็หนูเป็นอะไรสักแค่ไหนเชียว ทําเป็นเหย่อหยิ่งไปได้อะไรขึ้นมา หนูไปอยู่ที่ไหนหนูก็อ่อนน้อมตามอย่างพี่นั่นแหละ ใครๆ ก็รัก พี่ไม่ต้องห่วงเลยค่ะ”

นี่คือผลพลอยได้ ข้าพเจ้าจึงสอนเขาต่อเรื่องบุญกิริยาวัตถุ ทําให้เขาเบิกบานใจยิ่งขึ้นว่า ความอ่อนน้อมนั้น นอกจากเป็นประโยชน์แก่ตัวเองทันตาเห็นแล้ว ยังได้บุญกุศลด้วย

พ่อแม่นั้นรักลูกทุกคน แต่การแสดงความรักลูกมิใช่พร่ำพูดเพียงว่า “รักลูกๆ” เพราะถึงแม้ลูกจะจําได้อยู่เสมอ ก็ไม่ซาบซึ้งใจเหมือนการ “ทําตัวอย่างดีๆ ให้ลูกเห็น” เพราะลูกจะจําติดตาติดใจ นําไปใช้ด้วยความคุ้นเคย เป็นเหมือนมรดกอันมีค่าอีกชิ้นหนึ่งที่พ่อแม่มอบให้ติดตัวติดใจลูก มิหนําซ้ำยังพลอยเผื่อแผ่ไปถึงคนใกล้ชิดที่นําไปปฏิบัติตาม บังเกิดผลเป็นความสุขความชื่นใจแก่บุคคลรอบข้าง เป็นการสร้างมิตรไว้รอบกายอีกด้วย

เราอาจจะเรียกการกระทํานี้ว่า “มรดกความดี” ก็คงได้กระมัง



 

 

ชื่อเรื่องเดิม ลุงไหวใจดี

Cr. อุบาสิกาถวิล(บุญทรง) วัติรางกูล

จากความทรงจำ เล่ม3 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0014095862706502 Mins