งานสร้างการศึกษาเชิงพุทธให้เกิดขึ้นในท้องถิ่นได้สำเร็จ

วันที่ 19 ธค. พ.ศ.2559

งานสร้างการศึกษาเชิงพุทธให้เกิดขึ้นในท้องถิ่นได้สำเร็จ

สูตรสำเร็จการพัฒนาองค์กรและเศรษฐกิจ , กลุ่มวิชาความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา , DOU , พระพุทธศาสนา , วัดพระธรรมกาย , เรียนพระพุทธศาสนา , หนังสือเรียน DOU , พระโพธิสัตว์ , ความรู้พื้นฐานทางพระพุทธศาสนา , มงคลชีวิต , พุทธวิธี , งานสร้างการศึกษาเชิงพุทธให้เกิดขึ้นในท้องถิ่นได้สำเร็จ , เครือข่ายคนดี

    เมื่อบ้านวัดโรงเรียนเชื่อมต่อกันเป็นเครือข่ายคนดีแล้ว งานต่อไปก็คือมุ่งหน้าสร้างคนดีให้เกิดขึ้นในสังคม โดยก้าวแรกของการสร้างคนดี ก็คือ การผลักดันให้การศึกษาเชิงพุทธเกิดขึ้นในท้องถิ่น เพราะเมื่อการศึกษาเชิงพุทธเกิดขึ้นแล้ว ย่อมทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริงของโลกและชีวิต และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการละเว้นความชั่วทำความดี กลั่นใจให้ผ่องใสดำเนินรอยตามพระบาทของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไป


1. การศึกษาเชิงพุทธคืออะไร
      การศึกษาเชิงพุทธ หมายถึง การปลูกฝังศีลธรรมให้แก่ประชาชนในท้องถิ่นด้วยการร่วมมือกันระหว่างบ้านวัดโรงเรียน เพื่อสร้างความตื่นตัวในการศึกษาเรื่องราวความจริงของโลกและชีวิตจากพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อให้ทราบว่า ตนเองเกิดมาทำไมอะไรคือเป้าหมายชีวิต หลักการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องคืออะไร วิธีการฝึกฝนอบรมตนเองให้เป็นคนดีทำอย่างไร เพื่อจะได้มีอุดมการณ์ในการทำเป้าหมายชีวิตระดับต้น ระดับกลาง และระดับสูงสุดให้สำเร็จ ซึ่งย่อมส่งผลให้เกิดคนดีเพิ่มขึ้นมากมายในสังคม


2. จุดมุ่งหมายของการศึกษาเชิงพุทธ
   1. เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนในท้องถิ่นเกิดความสนใจใฝ่หาความรู้ในพระพุทธศาสนาและสามารถนำพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาใช้เป็นหลักในการดำเนินชีวิตและเป็นกัลยาณมิตรให้แก่ชาวโลก

    2. เพื่อสร้างวันธรรมการใฝ่หาความรู้และการใฝ่ทำความดีตลอดชีวิตให้เกิดขึ้นแก่วิถีชีวิตของประชาชนทั่วไป อันจะเป็นการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้มีอายุยืนยาวไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลานนานนับพันปี

    3. เพื่อสร้างความมั่นคงให้แก่ระบบการปลูกฝังศีลธรรมในพระพุทธศาสนา ด้วยการสร้างกิจกรรมที่ผนึกบ้าน วัด โรงเรียน ให้เป็นหนึ่งเดียวกันเหมือนดวงตะวันที่มีดวงเดียว อันจะส่งผลให้แต่ละท้องถิ่นเกิดทีมงานที่มีศักยภาพในการสร้างคนดีและสร้างครู สอนศีลธรรมที่ดีให้แก่ท้องถิ่นอย่างต่อเนื่องส่งผลให้ศีลธรรมมีความเข้มแข็งในการพัฒนาสังคมให้ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม


3. ความเป็นมาของการศึกษาเชิงพุทธ
      1. โลกครั้งดึกดำบรรพ์ตั้งแต่ครั้งดึกดำบรรพ์ มีเหตุการณ์สะท้านใจชาวโลกเป็นลำดับๆ ดังต่อไปนี้

      1) ความไม่รู้ความกลัว ครอบคลุมใจชาวโลกอย่างหนาแน่น

      1.1) มนุษย์เกิดมาพร้อมกับความไม่รู้เลย คือ

1. ไม่รู้จักตัวเองว่าก่อนเกิดมาจากไหน
2. จะมีชีวิตอยู่อีกนานเท่าไหร่
3. ตายแล้วจะไปไหน
4. ยิ่งธรรมชาตินอกตัว (ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า แผ่นดินไหว น้ำท่วม พายุกระหน่ำ ฯลฯ) ยิ่งไม่รู้

      1.2) เพราะความไม่รู้ จึงเกิดความกลัว
      1.3) เรื่องที่กลัวมากที่สุด คือ ความตาย

      2) มนุษย์แสวงหาที่พึ่ง
    เพราะความกลัวตายเมื่อมนุษย์ประสบภัยคุกคาม จึงตะเกียกตะกายแสวงหาที่พึ่งหากเห็นอะไรซึ่งดูเข้มแข็ง น่าเกรงขาม น่าเชื่อถือ ก็ยึดเอาสิ่งนั้นเป็นที่พึ่งไว้ก่อน เช่น

2.1) ต้นไม้ใหญ่ๆ ป่าไม้ทึบๆ
2.2) ภูเขาสูง ๆ แม่น้ำกว้างๆ ทะเลลึกๆ
2.3) ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาว
ฯลฯ

    แต่สิ่งนั้นๆ ก็ไม่เคยช่วยได้เลย มนุษย์จึงต้องแสวงหาที่พึ่งใหม่ต่อไป แม้ปัจจุบัน การแสวงหาที่พึ่งในทำนองนี้ก็ยังมีอยู่

     3) มนุษย์ตั้งข้อสังเกต ไม่ว่าตนจะยึดถืออะไรเป็นที่พึ่งก็ตาม ความจริงที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลย คือ

3.1) ทุกคนต้องตาย แต่ทำไมต้องตายก็ไม่รู้
3.2) ความตายไม่มีนิมิตหมาย จะตายเมื่อไร ที่ไหน ด้วยอาการอย่างไรก็ไม่มีใครรู้ล่วงหน้าเลย
3.3) ไม่มีใครรู้จริงเกี่ยวกับชีวิตหลังความตาย ได้แต่คาดเดาทั้งสิ้น ความกลัวตายจึงท่วมท้นทับใจ

     4) ในที่สุดนักปราชญ์แต่ละยุค ต่างต้องยอมรับความจริงของชีวิตว่า

     4.1) ชีวิตนี้เป็นทุกข์ เพราะ

1. การเกิดเป็นทุกข์
2. ความแก่เป็นทุกข์
3. ความตายเป็นทุกข์ เนื่องจาก (1) ยังมีห่วง (2) ไม่รู้จะทรมานขนาดไหนตอนใกล้ตาย (3) ตายแล้วจะไปไหนต่อ แต่น้อยคนนักที่อยากตาย
4. การดำเนินชีวิตเป็นทุกข์ แล้วเมื่อไรจะหมดทุกข์ก็ไม่รู้

     4.2) ชีวิตเกิดมาพร้อมกับความไม่รู้  ไม่มีใครรู้จริงเรื่องอะไรเลย ต่างต้องมาเรียนรู้ในภายหลัง ซึ่งมีทั้งรู้ถูกและรู้ผิด

      5) ความคับแค้นใจของนักปราชญ์
     "จะมีอะไรสักอย่างหรือไม่" หากใครเข้าถึงแล้วย่อมมีฤทธิ์ทำให้ผู้นั้น

1. หมดความทุกข์โดยเด็ดขาด
2. หมดความไม่รู้โดยสิ้นเชิงคำถามด้วยความคับแค้นใจนี้ได้นำไปสู่การดิ้นรนค้นหาคำตอบตามความเชื่อต่างๆ นานา นับเวลาเป็นหมื่นเป็นแสนปี


2. ความเชื่อเรื่อง "The Unknown Factor"
      1) การแบ่งกลุ่มความเชื่อเรื่อง " The Unknown Factor"

      กลุ่มที่หนึ่ง เชื่อว่า "The Unknown Factor ไม่มีอยู่จริง" เพราะแต่ไหนแต่ไรมายังไม่เคยเห็นใครสามารถดับความทุกข์ และดับความไม่รู้ได้เลย กลุ่มนี้ได้ยอมแพ้ตั้งแต่ต้น เปรียบประดุจม้านอนรอให้เสือกิน

     กลุ่มที่สอง เชื่อว่า "The Unknown Factor มีอยู่จริง" เพราะจับแง่คิดว่า เมื่อมีมืดก็มีว่างแก้ เมื่อมีร้อนก็มีเย็นแก้ เพราะฉะนั้น เมื่อมีความทุกข์ หนทางดับทุกข์ก็สมควรมี เมื่อความไม่รู้มี หนทางดับความไม่รู้ก็สมควรต้องมี นักปราชญ์กลุ่มนี้ฉลาดให้กำลังใจตนเอง โดยวิเคราะห์ปรากฏการณ์ที่เห็นในธรรมชาติมาเป็นแง่คิดที่เป็นประโยชน์

      2) ชื่อเรียก "The Unknown Factor"

     นักปราชญ์ แต่ละภูมิภาคโลก ซึ่งเชื่อว่า "The Unknown Factor" มีจริง ต่างตั้งชื่อ  The Unknown Factor แตกต่างกันไปตามความรู้ ความเข้าใจ และความเชื่อของตน เช่น 1) ธรรม 2) อมตธรรม 3)สัจจธรรม 4) อริยธรรม 5) ธรรมกาย 6) The Truth  7)Nirvana  8)Nibbana  9) The Supreme Knowledge 10)The Purw Nature  ฯลฯ แล้วต่างค้นคว้าศึกษาให้ยิ่งๆ ขึ้นไปตามแนวทางความเชื่อของตน

      3) ที่อยู่ของ "The Unknown Factor"

     ทั้งที่เชื่อเหมือนกันว่า "The Unknown Factor" มีจริง แต่ก็แบ่งความเชื่อออกได้เป็น กลุ่มๆดังภาพในหน้าถัดไป

     3.1) กลุ่มหนึ่ง เชื่อว่า "The Unknown Factor" มีอยู่จริง แต่อยู่นอกตัวมนุษย์ในกลุ่มนี้แบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มย่อย คือ

    3.1.1) อยู่นอกตัวมนุษย์ แต่มนุษย์ไม่สามารถเข้าถึงได้ด้วยตนเองกลุ่มนี้เชื่อว่า "The Unknown Factor" อยู่นอกตัวมนุษย์และอยู่ไกลแสนไกล จนมนุษย์ไม่สามารถเข้าถึงได้ ยกเว้นมีผู้วิเศษทรงอำนาจเหนือมนุษย์ประทาน "The Unknown Factor" ให้ กลุ่มนี้ต่อมาพัฒนาเป็นกลุ่ม เทวนิยม เช่น ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม เป็นต้น

      3.1.2) อยู่นอกตัวมนุษย์ และมนุษย์สามารถเข้าถึงได้ด้วยตนเอง กลุ่มนี้แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มย่อยตามความเชื่อในการเข้าถึง

        (1) มนุษย์เข้าถึงได้ด้วยกายเนื้อ กลุ่มนี้ ละชีวิตใช้ร่างกายติดตามหา "The Unknown Factor" ไม่ว่าจะอยู่บนยอดเขาสูงเทียมฟ้า ใต้แผ่นน้ำมหา มุทร ในป่าดงดิบรกชัฏ ฯลฯ อย่างไรก็ตามก็ไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดสามารถค้นพบ "The Unknown Factor" ได้ด้วยกายเนื้อเลย ในที่สุดแนวคิดนี้ก็ถูกยกเลิกไป

      (2) มนุษย์เข้าถึงได้ด้วย "ใจ" กลุ่มนี้เชื่อว่า "The Unknown Factor" อยู่ไกลแสนไกลเกินกว่ากายเนื้อ เช่น มนุษย์จะเข้าถึงได้ ต้องใช้ "ใจ" มนุษย์เท่านั้นส่งไปจึงจะเข้าถึงได้ กลุ่มความเชื่อนี้ เช่น ท่านอาฬารดาบ ท่านอุทกดาบ เป็นต้น

    3.2) กลุ่มสอง เชื่อว่า "The Unknown Factor" มีอยู่จริง แต่อยู่ภายในตัวมนุษย์ กลุ่มนี้แบ่งออกตามความเชื่อในการเข้าถึงได้เป็น 2 กลุ่มย่อยคือ

     3.2.1) กลุ่มสุดโต่ง กลุ่มนี้เชื่อว่า "The Unknown Factor" จะเข้าถึงได้ด้วย "การคั้นและการล่ออย่างสุดๆ" คือ

     (1) เข้าถึงด้วยการทรมานตน โดยหวังว่า เมื่อทรมานตนอย่างสุดชีวิตแล้ว "The Unknown Factor" ก็จะออกมาเองเหมือนแม่ครัวคั้นกะทิออกมาจากเนื้อมะพร้าว

  (2) เข้าถึงด้วยการหมกมุ่นในกาม โดยหวังว่า ยิ่งหมกมุ่นพัวพันในกามมากเท่าไรก็จะยิ่งล่อให้ "The Unknown Factor" ออกมาให้เห็นหรือเข้าถึงเร็วเท่านั้น

    3.2.2) กลุ่มสายกลาง กลุ่มนี้เชื่อว่า "The Unknown Factor" อยู่ในตัวมนุษย์จะเข้าถึงได้ด้วยการ " ทำความดี " ไม่ใช่ด้วยวิธีการแบบสุดโต่ง แต่ทำความดีแบบใด ด้วยวิธีการอย่างไร ก็ยังไม่รู้


3. อัจฉริยภาพของเจ้าชายสิทธัตถะ
    เจ้าชายสิทธัตถะทรงมีอัจฉริยภาพในการเจริญสมาธิภาวนา ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ พระองค์สามารถทำใจให้หยุดนิ่งอยู่ภายในกาย อย่างต่อเนื่องครั้งละนานๆ บรรลุสมาธิ ระดับปฐมฌานตั้งแต่พระชนมายุ 7 พรรษา เพราะฉะนั้น "ใจ" ของพระองค์จึงมีความผ่องใสสว่างไสวเป็นปกติ

     1) พระองค์ไม่ตกอยู่ในความเมาในชีวิตเพราะความมีใจผ่องใสเป็นปกติเป็นผลให้พระองค์ทรงเฉลียวพระทัยตั้งแต่วัยหนุ่มว่ามนุษย์ทั้งโลกต่างตกอยู่ในความเมา 3 ประการ อันเป็นเหตุให้ดำเนินชีวิตด้วยความประมาท คือหลงเข้าใจผิดว่า

      1. ตนเองยังอยู่ในวัยหนุ่มสาว อีกนานกว่าจะตาย คือ มีความเมาในวัย

    2. ตนเองยังแข็งแรง ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน คงจะยังแข็งแรงต่อไปอีกนาน คือมีความเมาในความไม่มีโรค

      3. ตนเองแม้มีอายุมาก แต่ก็คงอีกนานกว่าจะตาย เพราะผู้อายุยืนและแข็งแรงกว่าตนก็มีอยู่อีกมาก ตนก็ควรจะอยู่ต่อไปอีกนานเช่นนั้นด้วย คือ มีความเมาในอายุ

     เพราะความเมาในชีวิตทั้ง 3 ประการนี้ ได้ห่อหุ้มใจมนุษย์มานานแสนนาน ทำให้มนุษย์หลงยึดถือ เอาเรื่องเล่นๆ ไร้สาระ คือ เรื่องกิน กาม เกียรติยศ ชื่อเสียง เงินทอง มาเป็นสาระสำคัญ แล้วก็หมกมุ่นทุ่มเทให้กับสิ่งเหล่านี้จนหมดเวลาของชีวิต แทนการกำจัดทุกข์โดยเด็ดขาดและความไม่รู้โดยสิ้นเชิง

    2) ความเข้าใจถูกเป็นสัมมาทิฏฐิของเจ้าชายสิทธัตถะหลังจากทรงบรรพชา เมื่อพระชนมายุได้ 29 พรรษา พระองค์ได้ทรงร่วมทุ่มเท ศึกษาค้นคว้ากับกลุ่มความเชื่อต่างๆ ดังกล่าว อย่างจริงจังชนิดถวายชีวิตเป็นเดิมพัน เพื่อแสวงหา The Unknown Factor ในที่สุด ก็ทรงเข้าใจถูก และมั่นพระทัยว่า "The Unknown Factor ต้องอยู่ในตัวมนุษย์อย่างแน่นอน" และใจที่ฝึกดีแล้วเท่านั้น จึงจะเป็นอุปกรณ์เพียงอย่างเดียวที่สามารถใช้ในการเข้าถึง "The Unknown Factor" ได้ เพราะ

      "ใจ" และ "The Unknown Factor" ต่างก็อยู่ในกายมนุษย์ ตั้งแต่เกิดเหมือนกัน

      "ใจ" มีหน้าที่ควบคุม "กายมนุษย์" มาตั้งแต่เกิดเช่นกัน

     3) "ใจ" คืออะไรแน่
    เพราะทรงมีความเข้าใจถูกเป็นสัมมาทิฏฐิว่า "ใจ" เป็นอุปกรณ์เพียงอย่างเดียวเท่านั้นในการเข้าถึง "The Unknown Factor" พระองค์จึงทรงถูกบังคับโดยอัตโนมัติ ให้ต้องทรงทุ่มเทศึกษา ค้นคว้าเรื่องใจอย่างรอบคอบละเอียดลออ เป็นขั้นตอนต่อไปอีก จนในที่สุดทรงพบว่า

    3.1) "ใจ" เป็นธาตุ (element) ชนิดหนึ่งเช่นเดียวกับธาตุทั้งหลายในโลกนี้ เพียงแต่มีคุณสมบัติพิเศษเหนือกว่าธาตุทั้งหลาย คือ "ใจสามารถ รับ จำ คิด รู้สิ่งต่างๆ ที่มากระทบประสาทสัมผัสทั้ง 5 ได้" ใจจึงมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการ ว่า "วิญญาณธาตุ" แปลว่า "ธาตุรู้"

    3.2) นอกจากนี้พระองค์ยังทรงพบอีกว่า "ใจ" มีคุณสมบัติสำคัญ ดังต่อไปนี้ คือ

1. เพราะใจเป็นธาตุรู้ มีความละเอียด ประณีต กว่าธาตุทั้งหลาย จึงเห็นได้ยาก
2. ใจมีถ้ำ คือกายมนุษย์ เป็นที่อยู่อาศัยถาวร
3. ใจมีความสว่างอยู่ในตัว แต่มักต้องมัวหมองเพราะถูกกิเลส ซึ่งเป็นเสมือนเมฆหมอกมาปิดบัง
4. ใจชอบคิดกวัดแกว่ง เปลี่ยนจากเรื่องหนึ่งไปอีกเรื่องหนึ่งได้รวดเร็วเหมือนลิงเพราะถูกกิเลสที่ฝังอยู่ในใจตั้งแต่วันเกิด คอยบีบคั้นให้เปลี่ยนเรื่องคิดตลอดเวลา การห้ามใจไม่ให้คิดกวัดแกว่งจึงทำได้แสนยาก
5. ใจชอบเที่ยว ไม่หยุดหย่อน เที่ยวไปแต่ลำพังผู้เดียว เที่ยวไปได้ไกลๆ และรวดเร็วตามอำนาจความอยากในอารมณ์อันน่าใคร่ต่างๆ
6. ใจชอบดิ้นรนไปติดเหยื่อ คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และธรรมารมณ์ ที่น่าใคร่ต่างๆ

    3.3) ใจนี้ฝึกได้ ใจสามารถฝึกได้ด้วยการ 

1.ข่มใจ ให้พรากจากกาม และอกุศลธรรมทั้งหลาย เป็นสัมมาวายามะ คือ ความพยายามถูก
2.ประคองใจ เข้ามาเก็บไว้ภายในกาย ไม่ให้เที่ยวเตลิดไป เป็นสัมมาสติ คือระลึกถูก
3.ปักใจ ให้หยุดนิ่ง ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว ณ ศูนย์กลางกาย เป็นสัมมาสมาธิ คือใจตั้งมั่นถูกเมื่อฝึกใจด้วยอาการข่มน้อมประคอง ทั้ง 3 อย่างนี้ จนชำนาญ ใจย่อมเข้าถึง "ธรรม (The Unknown Factor)" ภายในกายได้

      4) อริยมรรคมีองค์ 8
     เจ้าชายสิทธัตถะ หลังจากบรรพชาแล้ว ทรงร่วมศึกษาค้นคว้ากับสำนักความเชื่อต่างๆในยุคนั้นอย่างหนัก ในที่สุดก็ทรงพบว่าความเชื่อต่างๆ เหล่านั้นไม่ถูกต้อง ทรงเข้าใจถูกด้วยพระองค์เองว่า "การทรมานตนให้เป็นทุกข์ (อัตตกิลมถานุโยค) และการหมกมุ่นในกาม (กามสุขัลลิกานุโยค) เป็นทางสุดโต่งไม่สามารถเข้าถึง "ธรรม (The Unknown Factor)" ได้อย่างแน่นอนมีแต่การบำเพ็ญเพียรทางจิตด้วยอริยมรรคมีองค์ 8 เท่านั้น ที่เป็นหนทางถูกต้อง"

      อริยมรรคมีองค์ 8 ประกอบด้วย

1) สัมมาทิฏฐิ ความเข้าใจถูก
2) สัมมาสังกัปปะ ความคิดถูก
3) สัมมาวาจา พูดถูก
4) สัมมากัมมันตะ ทำถูก
5) สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพถูก
6) สัมมาวายามะ พยายามถูก
7) สัมมาสติ ระลึกถูก
8) สัมมาสมาธิ ตั้งมั่นถูก

 

     ผู้อบรมตนเองให้บริบูรณ์พร้อมด้วยอริยมรรคมีองค์ 8 ย่อมเข้าถึง "ธรรม (The Unknown Factor)" ได้ เพราะ

1. ผู้มีความเข้าใจถูกเป็นปกติ (สัมมาทิฏฐิ) ย่อมมีความคิดถูก พอเหมาะ
2. ผู้มีความคิดถูกเป็นปกติ (สัมมาสังกัปปะ) ย่อมมีคำพูดถูก พอเหมาะ
3. ผู้พูดถูกเป็นปกติ (สัมมาวาจา) ย่อมทำถูก พอเหมาะ
4. ผู้ทำถูกเป็นปกติ (สัมมากัมมันตะ) ย่อมเลี้ยงชีพถูก พอเหมาะ
5. ผู้เลี้ยงชีพถูกเป็นปกติ (สัมมาอาชีวะ) ย่อมมีความพยายามถูก พอเหมาะ
6. ผู้มีความพยายามถูกเป็นปกติ (สัมมาวายามะ) ย่อมมีการระลึกถูก พอเหมาะ
7. ผู้ระลึกถูกเป็นปกติ (สัมมาสติ) ย่อมมีใจหยุดนิ่งตั้งมั่นถูก พอเหมาะ
8. ผู้มีใจหยุดนิ่งตั้งมั่นถูกเป็นปกติ (สัมมาสมาธิ) ย่อมมีการเห็นภายในถูก พอเหมาะ
9. ผู้มีการเห็นภายในถูกเป็นปกติ (สัมมาญาณะ) ย่อมมีความหลุดพ้นจากกิเลสพอเหมาะ
10. ผู้มีความหลุดพ้นจากกิเลสเป็นปกติ (สัมมาวิมุตติ) ย่อมเข้าถึงและเป็นอันหนึ่ง
อันเดียวกับ "ธรรม (The Unknown Factor)" จึงหมดทุกข์โดยเด็ดขาดและขจัดความไม่รู้ออกไปจากใจได้สิ้นเชิง ประสบความสุขที่แท้จริง

      5) การบรรลุธรรมของ "บรมครู"
    แม้บรรพชิตสิทธัตถะ ได้ทรงเจริญสัมมาทิฏฐิ (ความเข้าใจถูก)สัมมาสังกัปปะ (การคิดถูก)สัมมาวาจาสัมมากัมมันตะ และสัมมาอาชีวะ มาอย่างต่อเนื่องเป็นปกติมานานแล้ว แต่ใจของพระองค์ท่าน ก็ยังไม่นุ่มนวลควรแก่การเข้าถึง "ธรรม (The Unknown Factor)" เพราะภาพประสบการณ์ในอดีตที่เกี่ยวกับกามคุณ 5 คือ รูป รส กลิ่น เสียงสัมผัส อารมณ์อันน่าใคร่ตลอดจนอกุศลธรรมต่างๆ ที่ทรงเคยสัมผั มักย้อนกลับมาหลอนกวนใจ

     ในที่สุดทรงได้คิดว่า "ธรรม (The Unknown Factor)" นั้นอยู่ "ฟากตาย" คือ ใครจะเข้าถึงได้ต้องตัดอาลัย คลายความผูกพันในทุกสิ่งทุกอย่างให้สิ้นไป โดยเอาชีวิตเข้าแลกเป็นเดิมพัน จึงจะได้มาพระองค์จึงทรงตั้งอธิษฐานความเพียร เป็นสัมมาวายามะ ชนิดไม่ถอยหลังกลับว่า

     "แม้เนื้อ เลือด ในสรีระ จะแห้งเหือดหายไป เหลือแต่ หนัง เอ็น กระดูก ก็ตามที เมื่อยังไม่บรรลุ "ธรรม (The Unknown Factor)" ซึ่งบุคคลสามารถบรรลุได้ด้วยกำลังของมนุษย์ด้วยความเพียรของมนุษย์ ด้วยความบากบั่นของมนุษย์ เรื่องจะยอมละความเพียรเสียนั้นเป็นไม่มี"

     จากนั้นพระองค์ก็ทรงตั้งสติน้อมใจ เข้ามาไว้ในพระวรกาย เป็นสัมมาสติ แล้วทรงประคองใจให้หยุดนิ่ง ณ ศูนย์กลางกาย จนกระทั่งถูกส่วน ใจของพระองค์ก็ผ่องใสนุ่มนวลตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว เป็นสัมมาสมาธิ แล้วเข้าถึง และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับ "ธรรม (The Unknown Factor)" เป็นผลให้พระองค์ทรงเห็นและรู้ชัดอริยสัจ 4 ตามความเป็นจริงว่า

1. นี้ทุกข์
2. นี้สมุทัย  เหตุแห่งทุกข์
3. นี้นิโรธ  ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์
4. นี้มรรค  ทางให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์

       ทรงเห็นตลอดต่อไปถึง

1. กิเลสอาสวะ ที่หมักหมมในใจมาข้ามภพข้ามชาติ จนนับไม่ถ้วน
2. เหตุที่มาแห่งกิเลสอาสวะเหล่านั้น
3. ความดับไม่เหลือแห่งกิเลสอาสวะเหล่านั้น
4. หนทางให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งกิเลสอาสวะเหล่านั้น

    เมื่อทรงเห็นก็ทรงรู้ จิตก็หลุดพ้นจากอำนาจกิเลสเกิดญาณหยั่งรู้สรรพสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริงบรรลุธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบรมครูของสัตวโลกสมดังที่ตั้งจิตอธิษฐานไว้ พระองค์ทรงเห็นและรู้ชัดว่า กิจที่แท้จริงในการเกิดมาเป็นมนุษย์ มีเพียงอย่างเดียวเท่านั้น คือ กำจัดความทุกข์ และความไม่รู้ให้หมดสิ้นไป ซึ่งทรงได้กระทำแล้ว จึงไม่มีกิจอื่นใดที่จะต้องทรงกระทำอีก นั่นคือ กิจอื่นทั้งหลายที่ทรงเคยทำมาตลอดภพชาติอันยาวนานนับไม่ถ้วนขณะเวียนว่ายในสังสารวัฏนั้น หาใช่กิจที่แท้จริงในการเกิดมาเป็นมนุษย์ไม่

    บัดนี้ภพชาติของพระองค์ได้สิ้นสุดแล้ว กิจอื่นที่จะต้องทรงกระทำไม่มีอีกแล้ว ความทุกข์ของพระองค์จึงหมดไปโดยเด็ดขาด และความไม่รู้ก็หมดไปโดยสิ้นเชิงด้วย

       6) อริยมรรคมีองค์ 8 เบื้องสูง
      เมื่อเข้าถึง "ธรรม (The Unknown Factor)" แล้ว อริยมรรคมีองค์ 8 เบื้องต้น ก็ยกระดับเป็นเบื้องสูง คือ

     1.สัมมาทิฏฐิ ซึ่งแต่เดิมเป็นเพียงเข้าใจถูก จึงพัฒนาเป็น เห็นชอบ ได้แก่ ทั้งรู้ ทั้งเห็น อริยสัจ 4 ,รู้  เห็น กุศลมูล, อกุศลมูล (รากเหง้าความดี ความชั่ว), ไตรลักษณ์ (สามัญลักษณะ) โดยสมบูรณ์ ถูกต้องตามเป็นจริง

     2.สัมมาสังกัปปะ แต่เดิมเป็นเพียง คิดถูก จึงพัฒนาเป็น ดำริชอบ ได้แก่ มีความคิดฝังใจ โดยชอบที่จะตรึก คิดในลักษณะปลอดจากกาม ปลอดจากพยาบาท และปลอดจากการเบียดเบียนเท่านั้น

    3.สัมมาวาจา แต่เดิมเป็นเพียง พูดถูก คือ ระมัดระวังที่จะไม่พูดวจีทุจริต 4 จึงพัฒนาเป็นเจรจาชอบ คือ หวงแหนคำพูด พูดเฉพาะวจีสุจริต 4 เป็นปกติ เท่านั้น

     4.สัมมากัมมันตะ แต่เดิมเป็นเพียง ทำถูก คือ ระมัดระวังที่จะไม่ทำกายทุจริต 3 จึงพัฒนาเป็น กระทำชอบ คือ การกระทำทางกายทุกอย่าง ตั้งอยู่บนกายสุจริต 3 เป็นปกติเท่านั้น

     5.สัมมาอาชีวะ แต่เดิมเป็นเพียง เลี้ยงชีพถูก คือ ระมัดระวังที่จะไม่ประกอบมิจฉาชีพ จึงพันาเป็นเลี้ยงชีพชอบ คือ เว้นมิจฉาชีพโดยเด็ดขาด ประกอบแต่สัมมาชีพเป็นปกติเท่านั้น

      6.สัมมาวายามะ แต่เดิมเป็นเพียง พยายามถูก คือ พยายามระวังอย่าให้ความชั่วเกิดขึ้นใหม่ในตัว ความชั่วใดที่เกิดขึ้นและติดเป็นนิสัยแล้ว ก็เพียรละเสียส่วนความดีใดที่ยังไม่เกิดมีในตน ก็พยายามสร้างขึ้น ความดีใดที่เกิดมีขึ้นแล้ว ก็รักษาไว้อย่าให้เสื่อม จึงพัฒนาเป็นพยายามชอบ คือ ประคองรักษาจิตไว้ในกายเป็นปกติ ไม่ให้จิตเที่ยวเตลิดไป

     7.สัมมาสติ แต่เดิมเป็นเพียงระลึกถูก คือ ไม่เผอเรอ จึงพัฒนาเป็นระลึกชอบ คือระลึกในสติปัฏฐาน 4 ได้แก่ กำหนดใจอยู่ภายใน จนกระทั่งเกิดความสว่างภายในและเห็น"ธรรม (The Unknown Factor)" ชัดเจนอยู่ภายในเป็นปกติ

    8.สัมมาสมาธิ แต่เดิมเป็นเพียง ใจตั้งมั่นถูก คือ ตั้งใจมุ่งมั่นทำความดีตามควรแก่วัยของตน จึงพัฒนาเป็น ใจตั้งมั่นชอบ คือ ใจหยุดนิ่งตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อยู่ ณ ศูนย์กลางกายถูกส่วนพอเหมาะ และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับ "ธรรม (The Unknown Factor)" เป็นปกติ ธรรมนั้น จึงส่องสว่างอยู่กลางใจตลอดเวลา กิเลสทั้งหลายที่สิงอยู่ในใจ จึงถูกขจัดไป เหมือนดวงอาทิตย์ยามเที่ยงย่อมฆ่าความมืดที่ห่อหุ้มโลก หมดไปได้ฉะนั้น


4. เส้นทางการสั่งสอนชาวโลกของ "บรมครู"

     1) พระองค์ทรงปรารภเรื่องการสั่งสอนชาวโลก
    พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงตระหนักว่า "ธรรม (The Unknown Factor)" ที่พระองค์ได้บรรลุแล้วนี้ ลึกซึ้ง เห็นตามยาก รู้ตามได้ยากสงบ ประณีต ไม่เป็นวิสัยแห่งตรรก ละเอียด บัณฑิต (เท่านั้น) จึงจะรู้เห็นตามได้นั่นคือ "ธรรม (The Unknown Factor)" นี้ ผู้ที่ทุ่มเทชีวิตจิตใจ ปฏิบัติถูกตามหลักวิชชาเท่านั้น จึงจะเข้าถึง เห็นชัด รู้ชัด "ธรรม (The Unknown Factor)" ได้ด้วยตนเอง

      2) ทรงจำแนกชาวโลกเพื่อประโยชน์ต่อการสั่งสอน
      พระองค์ทรงจำแนกชาวโลก เพื่อประโยชน์ต่อการสั่งสอน ออกเป็น 3 กลุ่ม คือ

     กลุ่มที่ 1 มีใจหยุดนิ่งเป็นปกติแล้ว ไม่ว่าจะได้ฟังพระธรรมเทศนาหรือไม่ก็ตาม บุคคลกลุ่มนี้จะช้าจะเร็ว ย่อมสามารถอบรมตนเองให้เข้าถึง "ธรรม (The Unknown Factor) ได้เช่นเดียวกับพระองค์

      กลุ่มที่ 2 มีปกติปล่อยใจให้เที่ยวเตลิดไป ไม่ว่าจะได้ฟังหรือไม่ได้ฟังพระธรรมเทศนาก็ตาม ย่อมไม่สามารถเข้าถึง "ธรรม (The Unknown Factor)"

      กลุ่มที่ 3 มีปกติอบรมตนเองให้ใจหยุดนิ่ง อยู่ภายในได้ในระดับหนึ่งแล้ว หากได้ฟังพระธรรมเทศนา ย่อมสามารถอบรมตน ให้เข้าถึง "ธรรม (The Unknown Factor)" ตามพระองค์ได้ด้วยเหตุแห่งบุคคลกลุ่มที่ 3 นี้เอง พระองค์จึงตัดสินพระทัยตรัสแสดงธรรมสั่งสอนชาวโลก บุคคลอีก 2 กลุ่มแรกจึงพลอยได้รับอานิสงส์จาก พระธรรมเทศนานั้นด้วยบรรดาบุคคลกลุ่มที่ 3 นี้ยังจำแนกได้อีก 3 กลุ่มย่อย คือ

     กลุ่มย่อยที่ 1 จัดเป็นพวกรู้ได้เร็ว หากพระองค์ทรงยกแต่หัวข้อธรรมขึ้นแสดง เขาเหล่านั้นย่อมสามารถรู้และนำไปปฏิบัติให้เข้าถึง "ธรรม (The Unknown Factor)" ได้โดยง่าย

    กลุ่มย่อยที่ 2 จัดเป็นพวกรู้ได้เร็วปานกลาง หากพระองค์ทรงขยายความหัวข้อธรรมที่ทรงยกขึ้นแสดงแล้ว ย่อมสามารถรู้ และนำไปปฏิบัติตามพระองค์ได้

     กลุ่มย่อยที่ 3 จัดเป็นพวกรู้ได้ช้า พระองค์จะต้องทรงยกหัวข้อธรรมและขยายความอย่างละเอียด จึงจะพอเข้าใจและต้องใช้เวลาในการฝึกตนอยู่นาน จึงจะสามารถรู้ และเข้าถึง"ธรรม (The Unknown Factor)" ได้

      3) ความหมายของ "ธรรม (The Unknown Factor)" แบ่งได้ถึง 5 นัย

     นัย 1  ธรรม หมายถึง ธรรมชาติบริสุทธิ์ ( The Pure nature ) ซึ่งอยู่ในตัวมนุษย์ตั้งแต่เกิด หากใครเข้าถึงและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ ใจย่อมสะอาดสว่างสงบ หมดความทุกข์โดยเด็ดขาด และหมดความไม่รู้โดยสิ้นเชิง ประสบแต่ความ งบสุขตลอดกาล

     นัย 2  ธรรม หมายถึง คำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จำนวนทั้ง 84,000 ข้อที่เมื่อใครนำมาปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดถูกวิธี ย่อมเข้าถึงและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้กับ ฯ ฯ เป็นผลให้หมดความทุกข์โดยเด็ดขาดและหมดความไม่รู้โดยสิ้นเชิง และประสบแต่ความสงบสุขตลอดกาล

     นัย 3  ธรรม หมายถึง นิสัยรักศีล รักธรรม รักบุญ กลัวบาปอันเกิดจากการนำคำสั่งสอนของพระองค์ไปปฏิบัติ จนมีศีลธรรมเกิดขึ้นในใจ

      นัย 4  ธรรม หมายถึง จริยธรรม คือ ธรรมแห่งความประพฤติ เช่น พรหมวิหาร 4 อิทธิบาท 4 เป็นต้น

     นัย 5  ธรรม หมายถึง ธรรมจริยา คือ ความประพฤติ มารยาท กิริยาต่างๆ ที่ดีงามอันเกิดจากการปฏิบัติตามจริยธรรม

     ข้อควรระวังในการใช้คำเรียกธรรมะ ก็คือคำว่า "คุณธรรม" เป็นคำนอกพระพุทธศาสนาที่ผู้นับถือศาสนาอื่น นำมาใช้แทนคำว่า "ศีลธรรม" ในพระพุทธศาสนา เพราะว่าในศาสนาของตนเองนั้น ไม่มีคำสอนเรื่องศีล ดังเช่น ในพระพุทธศาสนา

      4) ทรงจำแนก "ธรรม (The Unknown Factor)"
      พระองค์ทรงจำแนก "ธรรม (The Unknown Factor)" ตามนัยที่เป็นคำสั่งสอนที่ทำให้ชาวโลกเข้าใจ และนำไปปฏิบัติให้เข้าถึง "ธรรม ( The Pure nature)" ให้ลุ่มลึกตามลำดับ จากง่ายไปหายากให้พอเหมาะแก่สติปัญญา ความสามารถของผู้เรียน ออกเป็น 84,000 พระธรรมขันธ์ 

      5) ขั้นตอนการสอนชาวโลกของ "บรมครู"

     สรุป  การสร้างการศึกษาเชิงพุทธให้เกิดขึ้นในท้องถิ่นเป็นภารกิจสำคัญที่ต้องอาศัยการร่วมมือกันของบ้าน วัด โรงเรียน เพื่อช่วยกันทำให้ประชาชนในท้องถิ่น นใจศึกษาเรื่องราวตามความเป็นจริงของโลกและชีวิต โดยเริ่มต้นจากการศึกษาประวัติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจนกระทั่งทราบถึงความหมายที่แท้จริงของการเกิดมาเป็นมนุษย์ ยึดถือพระพุทธองค์เป็นต้นแบบในการดำเนินชีวิต ตั้งเป้าหมายชีวิตได้ถูกต้องทั้ง 3 ระดับ และมุ่งมั่นฝึกฝนอบรมตนเองเพื่อบำเพ็ญบารมีตามรอยบาทของพระพุทธองค์ไป ต่อมาเมื่อการศึกษาเชิงพุทธเข้มแข็งขึ้น บ้านวัดโรงเรียนยิ่งกลายเป็นสถาบันที่เข้มแข็งในการสร้างคนดี ย่อมส่งผลให้ท้องถิ่นนั้นเกิดเครือข่ายชาวพุทธที่ตั้งใจฝึกฝนอบรมตนเองอย่างเข้มแข็งมากขึ้นตามลำดับบรรยากาศแห่งการสร้างบุญบารมีทวนกระแสกิเลสเพื่อทำพระนิพพานให้แจ้งย่อมมากยิ่งขึ้นตามลำดับๆ ในที่สุด ย่อมกลายเป็นวิถีชีวิตและเกิดเป็นวันธรรมชาวพุทธที่เข้มแข็ง สืบทอดกันไปเป็นลำดับๆ นับพันนับหมื่นปี โลกใบนี้ย่อมมีคนดีเกิดขึ้นมากมาย

 


GB 304 สูตรสำเร็จการพัฒนาองค์กรและเศรษฐกิจ
กลุ่มวิชาความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0015039006868998 Mins