อานิสงส์ในปัจจุบันของการสร้างตัวสร้างฐานะตามพุทธวิธี

วันที่ 21 ธค. พ.ศ.2559

อานิสงส์ในปัจจุบันของการสร้างตัวสร้างฐานะตามพุทธวิธี

สูตรสำเร็จการพัฒนาองค์กรและเศรษฐกิจ , กลุ่มวิชาความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา , DOU , พระพุทธศาสนา , วัดพระธรรมกาย , เรียนพระพุทธศาสนา , หนังสือเรียน DOU , พระโพธิสัตว์ , ความรู้พื้นฐานทางพระพุทธศาสนา , มงคลชีวิต , พุทธวิธี , อานิสงส์ในปัจจุบันของการสร้างตัวสร้างฐานะตามพุทธวิธี

       ผู้ใดก็ตามที่ได้สร้างตัวสร้างฐานะตามพุทธวิธีอย่างจริงจังดังที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น ย่อมจะได้รับอานิสงส์ในปัจจุบันอย่างน้อย 6 ประการดังนี้

1. รวยปัญญา
2. รวยศีลธรรม
3. รวยเกียรติยศ
4. รวยมิตรดี
5. รวยทรัพย์
6. รวยบุญ

    โดยอานิสงส์ในปัจจุบันแต่ละข้อสามารถพิจารณาดูได้จากตัวอย่างของบุคคลในสมัยพุทธกาลที่ได้รับอานิสงส์ในปัจจุบันเช่นกัน ดังต่อไปนี้


1. รวยปัญญา
      รวยปัญญา คือ เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยวิชาความรู้ปัญญาทางโลกที่จะใช้ประกอบอาชีพ การงาน เพื่อกำจัดความยากจน-เจ็บ-โง่ ให้หมดไป และสมบูรณ์ด้วยปัญญาทางธรรม เพื่อใช้ขจัดความทุกข์ทางใจ จนหมดกิเลสพบสุขถาวร เข้าสู่พระนิพพาน ดังตัวอย่างของ จุลลกเศรษฐี เป็นต้น

จุลลกเศรษฐี ผู้ร่ำรวยด้วยกำลังปัญญา
      ครั้งหนึ่งในอดีตกาล มีเศรษฐีผู้หนึ่งชื่อจุลลกะ เป็นผู้มีความสามารถพยากรณ์เหตุการณ์ล่วงหน้าได้อย่างแม่นยำโดยอาศัยเหตุจากนิมิตต่างๆ วันหนึ่งจุลลกเศรษฐีนั่งรถม้าผ่านมา เห็นหนูตายตัวหนึ่งอยู่บนถนน พิจารณาดูแล้ว ทำนายว่า

        "ถ้าใครมีปัญญา ย่อมสามารถนำหนูตายตัวนี้ไปเป็นทุน ประกอบการค้าให้เจริญรุ่งเรืองเป็นเศรษฐีได้"

     ชายหนุ่มยากจนคนหนึ่งได้ยินเข้า ก็คิดว่าท่านเศรษฐีผู้นี้เป็นบัณฑิตย่อมไม่พูดพล่อยๆถ้าไม่แน่ใจจริงแล้ว คงไม่พูดเช่นนั้นจึงนำหนูตายตัวนั้นไปขายให้ยายแก่ใจบุญคนหนึ่งสำหรับเป็นอาหารแมว ได้เงินมา 1 กากณึก เท่านั้น

     วันรุ่งขึ้นเขาได้นำเงินนั้น ไปซื้อน้ำอ้อยจากต้นแหล่งซึ่งอยู่นอกเมือง (เพราะราคาถูก)แล้วนำไปตั้งไว้ที่ประตูเมืองคู่กับน้ำดื่มอีกหม้อหนึ่ง เมื่อคนเก็บดอกไม้กลับจากป่ากำลังกระหายน้ำเต็มที่ผ่านมา ก็เชิญชวนให้ดื่มน้ำนั้น ครั้นหายเหนื่อยแล้ว คนเหล่านั้นก็ให้ดอกไม้แก่เขาคนละกำเป็นการตอบแทน

      วันต่อมา ชายหนุ่มนั้นก็นำเงินที่ได้จากการขายดอกไม้ไปซื้อน้ำอ้อย และจัดเตรียมน้ำดื่มเช่นเดิมอีก คราวนี้เขานำไปให้คนเก็บดอกไม้ถึงในป่าทีเดียว จึงได้รับดอกไม้ตอบแทนถึงครึ่งหนึ่งของที่เก็บได้ แล้วนำไปขายเช่นเคย เขาทำอยู่อย่างนี้ไม่นานก็สามารถรวบรวมทรัพย์ได้ถึง 8 กหาปณะ

       ต่อมาวันหนึ่งในต้นฤดูฝน ฝนตกหนัก พายุพัดแรง กิ่งไม้ ต้นไม้ ในพระราชอุทยานหักโค่นล้มระเนระนาด ผู้รักษาพระราชอุทยานกำลังหนักใจเพราะไม่รู้ว่าจะขนต้นไม้ กิ่งไม้เหล่านี้ไปทิ้งที่ไหนดี

     ชายหนุ่มจึงรับอาสาทำความสะอาดอุทยาน โดยขอต้นไม้กิ่งไม้เหล่านั้นเป็นของตอบแทน นายอุทยานก็ตกลงทันที เขาจึงไปยังสนามเด็กเล่น ชักชวนเด็กๆ มาดื่มน้ำอ้อย แล้วให้ช่วยกันขนต้นไม้กิ่งไม้ไปกองไว้ที่ประตูพระราชอุทยาน เด็กเหล่านั้นก็ช่วยกันขนอย่างสนุกสนาน ครู่เดียวก็เสร็จส่วนเขาเองไปหาช่างปันหม้อของหลวง เสนอขายไม้เหล่านั้นทำฟืนได้ทรัพย์ถึง 16 กหาปนา และยังได้โอ่งน้ำอีกเนื้อดีใบใหญ่และหม้อไหต่างๆ แถมมาอีก 5 ใบด้วย

   เขานำโอ่งใส่น้ำดื่มไปตั้งไว้ใกล้ปากประตูเมือง เชิญชวนให้คนเกี่ยวหญ้าเหล่านั้นดื่มน้ำแล้ว ก็คิดจะตอบแทนคุณจึงถามว่ามีธุระสิ่งใดจะให้ช่วยบ้าง เขาตอบว่า ขณะนี้ยังไม่มี ต่อเมื่อไรมีจึงจะแจ้งให้ทราบ

     อยู่ต่อมาไม่กี่วัน เข้าได้ข่าวว่าวันรุ่งขึ้นจะมีพ่อค้าม้ามาที่เมืองนี้ถึง 500 ตัว เขาจึงเอ่ยปากขอหญ้าจากคนเกี่ยวหญ้าคนละฟ่อน และขอร้องว่า ถ้าเขายังไม่ได้ขายหญ้าเหล่านั้นแล้ว ก็ขอให้คนเกี่ยวหญ้าอย่าเพิ่งขายหญ้าของตนไปเป็นอันขาด วันนั้นเขาได้หญ้าถึง 500 ฟ่อน เมื่อพ่อค้าม้าหาซื้อหญ้าเลี้ยงม้าจากที่ใดไม่ได้เลย จึงต้องซื้อจากเขาเป็นเงินสูงถึง 1,000 กหาปณะและยังทำให้คนเกี่ยวหญ้า ขายหญ้าได้ราคาตามไปด้วย

     อีก 23 วันต่อมา มีคนส่งข่าวอีกว่า บัดนี้เรือบรรทุกสินค้ามาถึงท่าแล้ว เขาจึงรีบหาเช่ารถม้าซึ่งมีบริวารมาด้วยอย่างโก้หรู ขับไปที่ท่าเรือแล้วมัดจำสินค้าทั้งหมดไว้ เมื่อพ่อค้านับร้อยคนของเมืองพาราณสีมาขอซื้อสินค้า นายเรือก็แจ้งว่ามีพ่อค้าใหญ่มามัดจำสินค้าไปหมดแล้วพ่อค้าเหล่านั้นจึงขอร่วมลงทุนในเรือสินค้ากับเขา คนละ 1,000 กหาปณะ และอีก 1,000 กหาปณะสำหรับเป็นค่าสินค้า เขาจึงขายสินค้านั้นให้ไป ได้กำไรทันที 200,000 กหาปณะ

    ชายหนุ่มมีฐานะร่ำรวยขึ้นทันตาเห็นสมดังคำพยากรณ์ของจุลลกเศรษฐีภายในเวลา 4 เดือนเท่านั้น เขาได้นำทรัพย์จำนวน 100,000 กหาปณะ เป็นเครื่องสักการะต่างดอกไม้ ธูปเทียนไปกราบท่านจุลลกเศรษฐี เป็นการแสดงความกตัญูกตเวที แล้วเล่าเรื่องทั้งปวงของตนให้ฟัง ท่านเศรษฐีเห็นความมีสติปัญญาเฉลียวฉลาด ความอุตสาหะพากเพียรและความกตัญูกตเวทีของเขา จึงยกบุตรีให้พร้อมกับมอบทรัพย์สมบัติให้ครอบครอง

      ต่อมาภายหลังจากที่ท่านเศรษฐีสิ้นชีวิตไปแล้ว ชายหนุ่มผู้นี้ก็ได้ตำแหน่งเศรษฐีของเมืองพาราณสีสืบแทน

 

2. รวยศีลธรรม
     รวยศีลธรรม คือสมบูรณ์ด้วยศีลธรรมที่ได้มาจากการคบบัณฑิต คบกัลยาณมิตร และมาจากการประพฤติธรรม มีการละชั่ว ทำดี ทำใจให้ผ่องใสเมื่อละโลกไปย่อมไปสู่สุคติ ด้วยผลแห่งความดีที่คอยติดตามตัวไปข้ามภพข้ามชาติ ดังตัวอย่างของ บัณฑิตผู้ใจบุญคนหนึ่ง เป็นต้น

บัณฑิตผู้ใจบุญกับเศรษฐีตีนแมว
   ครั้งเมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราทั้งหลายประทับอยู่ที่พระเชตะวัน เมืองสาวัตถีทรงแสดงธรรมแก่มหาชนว่า

     "คนบางคนให้ทานด้วยตนเอง แต่ไม่ชักชวนผู้อื่น ไม่ว่าจะเกิดภพชาติใดๆ ย่อมได้แต่โภคทรัพย์ ไม่ได้บริวารสมบัติ

       คนบางคนไม่ให้ทานด้วยตนเอง แต่ชักชวนผู้อื่น ไม่ว่าจะเกิดภพชาติใดๆ ย่อมไม่ได้โภคทรัพย์สมบัติ แต่ได้บริวารสมบัติ

      คนบางคนไม่ให้ทานด้วยตนเอง และไม่ชักชวนผู้อื่น ไม่ว่าจะเกิดภพชาติใดๆ ย่อมไม่ได้ทั้งโภคทรัพย์สมบัติ และบริวารสมบัติ

     คนบางคนให้ทานด้วยตนเอง และชักชวนผู้อื่นด้วย ไม่ว่าจะเกิดภพชาติใดๆ ย่อมได้ทั้งโภคทรัพย์สมบัติ และบริวารสมบัติ"

      บัณฑิตคนหนึ่ง พอฟังพระธรรมเทศนาจบแล้ว ต้องการจะให้ได้สมบัติทั้งสอง จึงเข้าไปกราบทูลขอถวายภัตตาหารแต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระสาวกทั้งหมดในวันรุ่งขึ้นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับคำอาราธนานั้น เขาดีใจมาก เที่ยวป่าวประกาศไปตามหมู่บ้าน ร้านตลาด ชักชวนให้บริจาคข้าวสาร และสิ่งของต่างๆ ที่จะทำอาหารถวายพระ ตามกำลังศรัทธาอย่าให้เดือดร้อนเขาเที่ยวชักชวนไปเรื่อยๆ

    จนกระทั่งมาถึงบ้านของเศรษฐีคนหนึ่ง พอเศรษฐีได้ยินคำชักชวนก็คิดว่า "เจ้าคนนี้เมื่อไม่สามารถวายภัตตาหารแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหมดได้ ก็น่าจะถวายตามกำลังของตัวเอง ไม่น่าที่จะมาเที่ยวชักชวนคนอื่นทั่วไปอย่างนี้"

      เพราะคิดดังนี้ เวลาให้จึงให้แบบขัดไม่ได้ คือใช้นิ้ว 3 นิ้วหยิบของให้อย่างละนิดอย่างละหน่อย ข้าวสารนิด ถั่วเขียวหน่อย น้ำผึ้ง น้ำอ้อยก็เอียงขวดให้ติดปากหม้อ ให้หยดลงเพียง 2-3 หยดเท่านั้น เพราะเหตุที่เวลาให้มือเบาอย่างนี้ ชาวบ้านจึงตั้งฉายาให้ว่า "เศรษฐีตีนแมว"

     ชายผู้นี้เป็นบัณฑิต เมื่อได้รับของจากเศรษฐี ก็แยกของไว้ต่างหาก ไม่ได้รวมกับของที่รับมาจากคนอื่น เศรษฐีเห็นดังนั้นจึงคิดว่า "ทำไมหนอ เจ้าคนนี้จึงแยกของของเราไว้ คงเอาเราไปเที่ยวประจานเป็นแน่" จึงให้คนใช้ตามไปดูว่าเขาเอาของนั้นไปทำอะไร บัณฑิตนั้นเอาของเศรษฐีผสมลงในภาชนะทุกๆ ภาชนะที่ของเหมือนกัน พร้อมกับกล่าวว่า "ขอผลบุญอันยิ่งใหญ่จงมีแก่เศรษฐีเถิด" คนรับใช้จึงนำเรื่องราวที่เกิดขึ้นไปบอกนาย

     ดังนั้นในวันรุ่งขึ้น เศรษฐีได้เหน็บกริชติดตัวไป ตั้งใจว่าถ้าชายคนนี้กล่าวโทษมาถึงตนก็จะฆ่าชายคนนั้นเสีย เศรษฐีได้ไปแอบยืนอยู่ในที่แห่งหนึ่ง เมื่อถึงเวลาถวายอาหารพระสงฆ์ชายผู้เป็นบัณฑิตได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า

     "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้เที่ยวชักชวนมหาชน ถวายทานในครั้งนี้ ขอให้เจ้าของทานที่ข้าพเจ้าชักชวนแล้ว จะให้มากหรือให้น้อยก็ตาม ขอให้ทุกท่านได้ผลบุญอันไพศาลด้วยเถิด"

    เศรษฐีได้ยินคำนั้นแล้วได้ ติคิดว่า "เราได้คิดร้ายต่อเจ้าคนนี้ตลอดเวลา แต่เขาเป็นคนดีมาก ถ้าเราไม่ขอโทษเขา เราคงรับกรรมหนัก" จึงเข้าไปหมอบขอโทษต่อบัณฑิตนั้น พร้อมทั้งเล่าเรื่องราวทั้งหมดให้ฟัง บัณฑิตนั้นก็ยกโทษให้ พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงทราบเรื่องราวทั้งปวงจึงตรัสว่า

      "บุคคลไม่ควรดูหมิ่นว่าบุญเล็กน้อยจะไม่มาถึง แม้น้ำน้อยๆ แต่หยดย่อยๆ ยังทำให้เต็มหม้อได้ ฉันใด ผู้ฉลาดเมื่อสั่งสมบุญ แม้ทีละน้อยๆ ก็ย่อมเต็มถ้วยบุญ ฉันนั้น"

       พอจบเทศนา เศรษฐีก็มีดวงตาเห็นธรรม เป็นพระโสดาบัน เพราะฉะนั้นเราจึงควรทำบุญบ่อยๆ จะมากหรือน้อยก็ตามบุญย่อมเต็มเปียมได้สักวันเช่นกัน ท่านเศรษฐีแม้ทำทานเพียงเล็กน้อยโดยมิได้เต็มใจยังได้บุญมากและมีดวงตาเห็นธรรม ฉะนั้นบัณฑิตผู้ทำทานด้วยตนเอง และชักชวนให้ผู้อื่นทำด้วย ย่อมเป็นโอกาสให้ได้ฟังพระธรรมเทศนาร่วมกันด้วยจนกระทั่งเศรษฐีได้ดวงตาเห็นธรรมเป็นพระโสดาบันส่วนบัณฑิตนั้นย่อมจะได้บุญมากทับทวีคูณขึ้นไปอีก และย่อมเป็นผู้มีความบริบูรณ์ทั้งโภคทรัพย์สมบัติและบริวารสมบัติไปทุกภพ
ทุกชาติอย่างแน่นอน

 

3. รวยเกียรติยศ
     รวยเกียรติยศ คือ สมบูรณ์ด้วยยศฐาบันดาศักดิ์ ตำแหน่งหน้าที่การงาน และความเป็นหัวหน้า ที่เจริญรุ่งเรือง อันเป็นผลมาจากคุณธรรมในตัวที่เป็นคนปราศจากอคติในการทำงานมีความสันโดษในการดำเนินชีวิต จึงเป็นคนหนักแน่น ไม่โลเล เมื่อจะตัดสินใจก็จะไม่ผิดพลาดมีแต่ความถูกต้องเที่ยงธรรมทุกครั้งไป ดังตัวอย่างของกุมภโฆสกเศรษฐี เป็นต้น

กุมภโฆสกเศรษฐี ผู้สันโดษในการเลี้ยงชีวิต
      ในสมัยพุทธกาล ครั้งหนึ่งนครราชคฤห์เกิดโรคระบาด ผู้คนและสัตว์ล้มตายกันเป็นอันมาก ราชคฤห์เศรษฐีกับภรรยาก็ถูกโรคระบาดนั้นคุกคามเช่นเดียวกัน ท่านเศรษฐีรู้สึกเป็นห่วงบุตรชายคนเดียวของท่านมาก จึงตัดสินใจให้บุตรชายของท่านทำลายฝาเรือนหนีไปอยู่ที่อื่นตามความเชื่อของคนสมัยนั้นว่าจะทำให้ปลอดภัยจากโรคระบาดได้ โดยได้บอกลูกชายว่าได้ฝังทรัพย์ 45 โกฎิไว้ให้ ณ ที่แห่งหนึ่ง เมื่อโรคระบาดนี้หายแล้วจงกลับมาขุดเอาทรัพย์นั้นเลี้ยงชีวิต

     เด็กน้อยได้ยินคำบิดามารดาเช่นนั้นก็เสียใจ ร้องให้น้ำตานองหน้า ต้องฝนใจยกมือไหว้ลาบิดามารดา แล้วหนีเข้าไปอยู่บนภูเขาแห่งหนึ่งจนกระทั่ง 12 ปีผ่านไป จึงกลับมายังที่นั้นอีก

 คราวนี้ไม่มีใครจำเขาได้ด้วยเพราะความเติบโตของร่างกายมากกว่าตอนเขาเป็นเด็กเมื่อเขาได้ไปตรวจดูทรัพย์สมบัติเห็นว่าอยู่ครบถ้วนแล้ว ก็คิดด้วยปัญญาของตนว่า หากเราขุดทรัพย์นี้ขึ้นมาใช้สอย คนที่ไม่รู้ก็จะเล่นงานว่า คนจนคนหนึ่งโชคดีขุดพบทรัพย์สมบัติขึ้นมาได้ก็จะเบียดเบียน แย่งชิงจากเราต่างๆ นานา ตามวิสัยของมนุษย์ปุถุชน ที่ไม่ชอบให้ใครเกินหน้าเราควรทำการรับจ้างเลี้ยงชีวิตดีกว่า

      กุมภโฆสกนับเป็นบุคคลที่ฉลาด และรอบคอบมากผู้หนึ่ง หากเขาได้ขุดทรัพย์สมบัตินี้ขึ้นมา เขาจะมีเงินถึง 40 โกฎิ พอที่จะให้เขาเป็นเศรษฐีได้ทันที แต่เขากลับไปทำงานรับจ้างอยู่ ณ ถนนแห่งหนึ่ง โดยได้รับหน้าที่ให้ปลุกคนลุกขึ้นทำงานแต่เช้า และได้รับมอบเรือนให้อยู่อาศัยหลังหนึ่ง

      ลูกชายเศรษฐีปฏิบัติงานนี้เรื่อยมา ด้วยความขยันหมั่นเพียร ทุกๆ เช้าเขาจะลุกขึ้นเที่ยวปลุกคนไปทำงานจนกระทั่งอยู่มาวันหนึ่ง พระเจ้าพิมพิสารได้ ดับเสียงของเขา จึงตรัสว่า  "นั่นเป็นเสียงของคนมีทรัพย์มาก"

      ขณะนั้น พระสนมของท้าวเธอคนหนึ่ง ยืนเฝ้าอยู่ ณ ที่นั้น คิดว่า พระราชาย่อมไม่ตรัสเหลวไหล เราควรรู้จักชายผู้นี้ให้ได้ จึงส่งคนไปสืบแต่ได้ความว่า นั่นเป็นเสียงของมนุษย์กำพร้าหาเช้ากินค่ำคนหนึ่งเท่านั้น

      พระราชาทรงสดับถ้อยคำของบุรุษนั้นก็ทรงดุษณีภาพในวันที่ 2 ที่ 3 ครั้นได้ทรง ดับเสียงของกุมภโฆสกอีก ก็ตรัสเช่นเดิม

    พระสนมรู้สึกแปลกใจ จึงส่งบุรุษไปอีกแต่ก็ได้ความเช่นเดิม จึงรับอาสากับพระองค์ว่าจะสืบบุรุษนี้และนำทรัพย์มาสู่ราชตระกูลให้ได้ พระราชาทรงพระราชทานทรัพย์หนึ่งพันกหาปนะให้นาง นางพร้อมด้วยธิดาออกจากวัง ทำเหมือนคนเดินทางไปสู่ถนนแห่งนั้น แล้วเข้าไปขอพักอาศัยอยู่ที่นั่นสักสองคืน แต่เจ้าของบ้านชี้ให้ไปพักที่บ้านของนายกุมภโฆสก นางไปที่เรือนของกุมภโฆ กพูดอ้อนวอนขอพักที่บ้านของเขาสัก 2 วัน แต่กุมภโฆ กก็พูดจาบ่ายเบียงไม่ยินยอม ในที่สุดเมื่อนางกล่าวว่า จะขอพักอยู่เพียงคืนเดียว พรุ่งนี้เช้าก็จะเดินทางไป เขาจึงอนุญาตอย่างเสียไม่ได้

      พอรุ่งเช้า เวลาจะเขาจะไปป่า นางได้ขอค่าอาหารไว้แต่เขาอิดเอื้อนไปมาจนนางรบเร้าบ่อยๆ เข้า เขาจึงควักเงินออกมาให้ นางได้เก็บของเขาไว้ แล้วนำโภชนะและสิ่งต่างๆ จากร้านตลาด จัดแจงปรุงอาหารมีรสเลิศไว้สำหรับเขา พอเขากลับมากินอาหารนั้นจนอิ่มหนำสำราญแล้วนางรู้ว่าเขามีจิตใจเบิกบานจึงขอเขาพักต่ออีก 2 วัน ซึ่งเขาก็อนุญาตโดยดี

      ต่อมา นางได้ปรุงอาหารอันเอร็ดอร่อย ทั้งตอนเย็นและตอนเช้า บำรุงเขาอย่างดี จนเขาเบิกบานใจก็วิงวอนขอพักต่ออีก 2 วัน ซึ่งเขาก็อนุญาตแต่โดยดี วันต่อมา นางได้ตัดขาเตียงนอนของเขา เมื่อเขามา พอนั่งลงเท่านั้น เตียงก็ยวบลงเบื้องล่าง

       "ทำไม เตียงจึงขาดไปอย่างนี้" เขาถามอย่างตกใจ

       "นายจ๋า ฉันไม่สามารถจะห้ามหนุ่มๆ ได้ พวกเขามาเล่นกันที่นี่" นางสนมตอบ

     "เพราะอาศัยแก ทั้ง 2 คนนี้ทีเดียว ฉันจึงต้องลำบาก ก่อนนี้ฉันจะไปไหนๆ ก็ปิดประตูแล้วจึงไป ก็ไม่เกิดเหตุอะไรขึ้น

      "จะทำอย่างไรได้ล่ะ พ่อ ฉันห้ามเขาไม่ได้"

    อีกสองสามวัน นางก็ตัดขาเตียงอีก คราวนี้เหลือเพียงเชือกเส้นเล็กๆ สองเส้นเท่านั้นวันนั้นพอเขานั่งลง เตียงทั้งหมดก็พังวบลงมา ศีรษะของเขาฟุบลงรวมกับเขาทั้งสอง เขาลุกขึ้นได้ก็พูดว่า

      "ฉันจะทำอะไรได้ บัดนี้จักไปไหนได้ ฉันถูกพวกแกเล่นงานจนไม่มีเตียงจะนอนเสียแล้ว"

      นางปลอบว่า "จักทำอย่างไรได้เล่า ฉันห้ามเด็กๆ ที่คุ้นเคยไม่ได้ ช่างเถอะอย่าวุ่นวายไปเลย นายจักไปไหนเวลานี้" แล้วเรียกธิดาบอกว่า

     "แม่หนู เจ้าจงให้พี่ชายของเจ้านอนด้วย" ฝ่ายธิดาไม่ขัดข้อง แบ่งเตียงของเธอให้เขานอนอีกข้างหนึ่ง นายกุมภโฆสกไปนอนข้างเธอทั้งสองได้เสียกันในคืนนั้นเอง

    รุ่งขึ้น ธิดานางสนมร้องให้เข้าไปหามารดา ได้เล่าเรื่องทั้งหมดให้ฟัง นางสนมได้รับกุมภโฆสกไว้เป็นบุตรเขยทั้งสองได้อยู่ร่วมกันตั้งแต่วันนั้นมา

      พออุบายของนางสนมได้มาถึงขั้นนี้แล้ว นางก็ได้ทูลให้พระราชาจัดงานนักษัตรขึ้น และให้เก็บเงินจากชาวบ้านแถวนั้นไปจัดการมหรสพ นายกุมภโษสกก็จำต้องจ่ายทรัพย์ของตนถึง 2 ครั้งด้วยกัน นางสนมเก็บไว้แล้วส่งไปถวายพระราชา ครั้งสุดท้าย นางได้ทูลให้พระองค์ส่งคนมาเรียกตัวกุมภโฆสกไป

    เมื่ออยู่เฉพาะพระพักตร์พระราชา แรกๆ กุมภโฆสกก็ให้การปฏิเสธว่าตนไม่มีเงิน แต่เมื่อพระราชาได้ทรงปลอบโยน และถามอีก เขาก็รับสารภาพแต่โดยดี พระองค์จึงได้ส่งเกวียนไปขนทรัพย์มาทั้งหมดมากองไว้ที่หน้าพระลานหลวง ประชุมราษฎร แล้วประทานตำแหน่งเศรษฐีและบุตรีของนางสนมให้แก่เขา

        จากนั้นพระราชาได้เข้าไปเฝ้าพระศาสดาทูลว่า

      "ขอพระองค์จงทอดพระเนตรบุรุษนี้ แม้ว่าเขาจะมีทรัพย์ถึง 40 โกฎิก็ไม่เย่อหยิ่งทะนงตนทำเหมือนหนึ่งว่าคนยากจน นุ่งผ้าเก่าๆ ทำการรับจ้างเลี้ยงชีพ หม่อนฉันรู้ด้วยอุบายนี้จึงสั่งให้เรียกมา ไล่เลียงให้รับว่ามีทรัพย์แล้ว ให้ขนทรัพย์นั้น มอบตำแหน่งเศรษฐีพร้อมทั้งธิดาแก่เขาข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คนมีปัญญาเช่นนี้ หม่อมฉันยังไม่เคยเห็นที่ไหน"

      พระศาสดาทรงสดับเรื่องนั้นแล้วตรัสว่า "มหาบพิตร ชีวิตของบุคคลผู้เป็นอยู่อย่างนี้ชื่อว่าประกอบด้วยธรรม การงานมีโจรกรรมเป็นต้น ย่อมเบียดเบียนบีบคั้นผู้ทำทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ชื่อว่าความสุข จากกรรมนั้นย่อมไม่มีเลย แต่บุรุษทำการรับจ้างก็ดี ทำนาก็ดีเลี้ยงชีวิตในเวลาสิ้นทรัพย์ ชื่อว่าชีวิตประกอบด้วยธรรม อันความเป็นใหญ่ ย่อมเจริญแก่ผู้มีความเพียร บริบูรณ์ด้วยสติ ทำการงานที่บริสุทธิ์สะอาดทั้งกายและวาจา ใคร่ครวญก่อนแล้วจึงทำสำรวมในไตรทวาร เลี้ยงชีวิตโดยธรรมไม่เหินห่างจากสติเห็นป่านนั้น" แล้วตรัสพระคาถาว่า

     "ยศย่อมเจริญแก่คนผู้มีความขยัน มีสติ มีการงานสะอาด ใคร่ครวญก่อนจึงทำสำรวมเลี้ยงชีพโดยธรรมและไม่ประมาท"

 

4. รวยมิตรดี
      รวยมิตรดี คือ สมบูรณ์ด้วยญาติ มิตร เพื่อนสนิท พวกพ้องบริวาร ที่เป็นคนดี ที่เกิดจากการสนับสนุนส่งเสริมให้คนดีมาอยู่รวมกัน ทำงานร่วมกัน ทำความดีพร้อมกัน จึงเป็นพลังหมู่ที่พลังบริสุทธิ์สังคมก็เป็นสุข ครอบครัวก็เป็นสุข ที่ทำงานก็เป็นสุข ประเทศก็เป็นสุข เพราะมีแต่คนดี มิตรดีอยู่รอบตัว ดังตัวอย่างของ กาฬกัณณิ มิตรของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เป็นต้น

กาฬกรรณี มิตรแท้ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี
     ในครั้งพุทธกาล ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีมีสหายคนหนึ่งเป็น หายเล่นฝุ่นกันมา และเคยเล่าเรียนวิชาในสำนักอาจารย์เดียวกันมา ชื่อว่ากาฬกรรณี เมื่อกาลเวลาผ่านไป นายกาฬกรรณี กลายเป็นคนตกยาก ไม่สามารถจะหาเลี้ยงชีวิตได้ จึงไปหาท่านอนาถบิณฑิกะ ท่านก็ปลอบโยนนายกาฬกรรณี ได้ให้ทุนไปช่วยให้ตั้งหลักฐาน

      นายกาฬกรรณีจึงช่วยเหลือทำการงานให้ท่านอนาถบิณฑิกะทุกอย่าง เวลาเขามาหาท่านอนาถบิณฑิกะ ทุกคนที่พูดกับเขาก็จะพูดว่า "หยุดก่อน กาฬกรรณี" "นั่งก่อน กาฬกรรณี" "เชิญรับประทานอาหารเถิด กาฬกรรณี"

     อยู่มาวันหนึ่ง หมู่มิตรสหายของท่านอนาถบิณฑิกะพากันเข้าไปหาท่านอนาถบิณฑิกะแล้วต่างขอร้องว่า "ท่านมหาเศรษฐี ท่านอย่าเลี้ยงนายกาฬกรรณีไว้เลย เพราะได้ยินเสียงพูดว่า"หยุดก่อน กาฬกรรณี" "นั่งก่อน กาฬกรรณี" "เชิญรับประทานอาหารเถิด กาฬกรรณี" แม้ยักษ์ก็ยังหนี เขาเทียบทันไม่ได้ เป็นคนตกยากเข็ญใจ นายคนนี้ไม่มีประโยชน์อะไรสำหรับท่าน"

       ท่านอนาถบิณฑิกะกล่าวว่า "ชื่อก็เป็นเพียงคำเรียกขาน เหล่าบัณฑิตชน ไม่ถือข้อนั้นเป็นสำคัญ คนเราไม่ควรจะถือสุตมังคลิกะ (หมายถึง การถือมงคลจากเสียงที่ได้ยิน ซึ่งความจริงไม่ใช่มงคล มงคลที่แท้จริงมี 38 ประการ) ข้าพเจ้าไม่สามารถจะทอดทิ้งเพื่อนที่เล่นฝุ่นกันมาเพราะเหตุเพียงชื่อ" แล้วมิได้ยึดถือคำของคนเหล่านั้น

         วันหนึ่งท่านอนาถบิณฑิกะ จะไปหมู่บ้านส่วย ของตนจึงมอบหมายให้นายกาฬกรรณีดูแลรักษาเคหสถาน

        พวกโจรได้ยินข่าวว่า ท่านอนาถบิณฑิกะไปหมู่บ้านส่วย คิดจะปล้นบ้านท่านอนาถบิณฑิกะ จึงเตรียมอาวุธครบมือ พากันมาล้อมบ้านท่านอนาถบิณฑิกะในเวลากลางคืน

       ฝ่ายนายกาฬกรรณี ระแวงกลัวพวกโจรจะมาปล้นจึงนั่งเฝ้าไม่ยอมหลับนอน ครั้นรู้ว่าพวกโจรมาล้อมบ้านจึงตะโกนสั่งให้คนเป่าสังข์ ตีกลอง เหมือนจะทำให้ครื้นเครงใหญ่โต กระทำให้นิเวศน์ทั้งหมดมีเสียง นั่นตลอด เพื่อจะปลุกให้ประชาชนพากันตื่น

     พวกโจรปรึกษากันว่า "ข่าวที่ว่าเรือนว่างเปล่าพวกฟังมาเหลวแล้ว ท่านมหาเศรษฐียังอยู่นี่" จึงพากันทิ้งก้อนหินและไม้พลองไว้ในที่นั้นแล้วหนีไป

        รุ่งขึ้นพวกชาวบ้านเห็นก้อนหินและไม้พลองที่พวกโจรทิ้งไว้ ต่างสลดใจไปตามๆ กันปรารภกันว่า "เมื่อคืนนี้ ถ้าไม่มีคนตรวจตราเรือน ผู้สมบูรณ์ด้วยความรู้อย่างนี้แล้วไซร้ พวกโจรคงจักพากันเข้ามาปล้นเรือนทั้งหมดได้ตามใจชอบแล้วเป็นแน่ เพราะได้อาศัยมิตรผู้มั่นคงคนนี้ ความจริงจึงเกิดมีแก่ท่านอนาถบิณฑิกะ" ต่างพากันสรรเสริญนายกาฬกรรณี พอท่านอนาถบิณฑิกะกลับจากบ้านส่วย ก็พากันแจ้งเรื่องราวนั้นให้ทราบทุกประการ

      ท่านอนาถบิณฑิกะ กล่าวว่า "พวกท่านบอกให้ข้าพเจ้าไล่มิตรผู้ดูแลรักษาเรือนคนนี้ออกไป ถ้าข้าพเจ้าไล่เขาไปตามคำของพวกท่านแล้วไซร้ วันนี้ทรัพย์สมบัติของข้าพเจ้าคงไม่เหลืออะไรแล้ว ชื่อนั้น ไม่สำคัญ จิตที่คิดเกื้อกูลกัน เป็นสำคัญ" แล้วได้ให้ทุนทรัพย์แก่นายกาฬกรรณีเพิ่มขึ้นอีก แล้วคิดว่า "บัดนี้ เรามีเรื่องที่เป็นเหตุให้พระพุทธองค์นำธรรมกถามาแสดงแล้ว" จึงไปเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ กราบทูลเรื่องราวให้พระพุทธองค์ทรงทราบทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนจบ

      พระพุทธองค์ตรัสว่า "คหบดี มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้นที่มิตรชื่อกาฬกรรณี รักษาทรัพย์สมบัติในเรือนของมิตรไว้ แม้ในกาลก่อนก็ได้รักษาทรัพย์สมบัติในเรือนของมิตรไว้เหมือนกัน" ท่านอนาถบิณฑิกะ จึงทูลขอให้ทรงเล่าให้ฟัง พระพุทธองค์จึงนำกาฬกรรณีชาดก ซึ่งเป็นเรื่องในอดีตกาลมาเล่าว่า

     ครั้งอดีตกาล พระเจ้าพรหมทัต ครองราชย์สมบัติอยู่ ณ กรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติ เกิดเป็นเศรษฐีมียศมาก มีมิตรชื่อกาฬกรรณี

       เรื่องราวเป็นเหมือนกับที่เกิดขึ้นกับท่านอนาถบิณฑิกะทั้งหมด

      พระโพธิสัตว์กลับมาจากบ้านส่วย ทราบเรื่องราวทั้งหมดจึงกล่าวว่า "ถ้าข้าพเจ้าไล่มิตรคนนี้ตามคำของพวกท่านแล้วไซร้ วันนี้ทรัพย์สมบัติของข้าพเจ้าคงไม่เหลืออะไรแล้ว" ได้กล่าวคาถาว่า

        "คนเป็นมิตรกันได้ 7 ก้าว แต่เป็น หายกันได้ 12 ก้าว และเป็นญาติกันได้ 1 เดือนหรือครึ่งเดือน ยิ่งกว่านั้นก็ต้องยกว่าเป็นผู้เสมอตน ไฉนเรานั้น จะทิ้งนายกาฬกรรณีผู้ร่วมก่อร่างสร้างตนกันมานาน เพราะความสุขของตน"

        พระโพธิสัตว์กล่าวถึงคุณของมิตรนั้นอีกว่า "เราจักทอดทิ้งสหายผู้เช่นนี้ได้อย่างไรเล่า"

        ตั้งแต่นั้นก็มิได้มีใครๆ ที่จะว่ากล่าวละลาบละล้วงนายกาฬกรรณีนั้นอีกเลย

       พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทสสนานี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดกด้วยตรัสว่า "นายกาฬกรรณีในครั้งนั้น ได้มาเป็นพระอานนท์ในครั้งนี้ส่วนพาราณสีเศรษฐี ได้มาเป็นเราตถาคต"

 

5. รวยทรัพย์
        รวยทรัพย์ คือ รวยทรัพย์สมบัติ ได้แก่ แก้ว แหวน เงิน ทอง ข้าทาส บริวาร ต่างๆ ที่ได้มาจากการประกอบการงานไม่มีโทษ จึงใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข และมีอริยทรัพย์ที่เป็นหลักประกันชีวิตว่า จะสามารถเอาชนะอุปสรรคทั้งในโลกนี้และโลกหน้าได้ รวมทั้งเป็นเสบียงบุญในการทำเป้าหมายชีวิตขั้นสูงสุดให้สำเร็จ คือ การบรรลุพระนิพพาน ในวันข้างหน้าอีกด้วย ดังตัวอย่างของ พระอนุรุทธเถระ เป็นต้น

พระอนุรุทธเถระ ผู้ไม่รู้จักคำว่าไม่มี
     ในอดีตกาล เทวกุฎมพีเทวบุตรซึ่งเป็นอดีตชาติของพระอนุรุทธชาติหนึ่ง ได้จุติจากเทวโลกลงมาเกิดในตระกูลขัด นตระกูลหนึ่ง ซึ่งอยู่ในกรุงพาราณสี โดยต้องมาเป็นคนหาหญ้าให้แก่ท่านสุมนเศรษฐี (ชีวิตของมนุษย์ย่อมถูกกำหนดด้วยกฎเกณฑ์ที่มีมาตรฐานและเที่ยงตรงที่สุด คือ "กรรมลิขิต" ซึ่งสุดแท้แต่กรรมนั้นจะดีหรือชั่วเป็นเหตุบันดาล เพราะคนเราผู้ยังมีกิเลส ย่อมจะสร้าง มไว้ทั้งกุศลกรรมและอกุศลกรรม และกรรมเหล่านั้น จะตามให้ผลไปทุกหนทุกแห่ง แล้วแต่กรรมอะไรจะได้ช่องให้ผลก่อน เพราะว่ากรรมเหมือนเงาของเราตามเราไปทุกขณะเช่นกัน แต่บางครั้งก็มองเห็น บางคราวก็มองไม่เห็น)

      เทวกุฎมพีผู้กลับมาเกิดเป็นคนขัดสน โดยได้รับการขนานนามว่า "อันนภาระ" ต้องรับภาระเกี่ยวหญ้าอยู่ในคฤหาสน์ของท่านสุมนเศรษฐีผู้มีน้ำใจเปียมด้วยเมตตากรุณา บริจาคทานแก่คนกำพร้าคนอนาถา คนเดินทางไกลและคนขอทานทุกวันไป

       วันหนึ่ง พระปัจจเจกพุทธเจ้าอุปริฏฐะ ตามปกติท่านพักอาศัยอยู่ที่ภูขาคันธมาทน์ เมื่อท่านออกจากนิโรธสมาบัติ แล้วดำริว่า "วันนี้อาตมาจะไปอนุเคราะห์ใครจึงจะเหมาะสม"

       ธรรมดาพระปัจจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย ชอบอนุเคราะห์คนขัดสนยากจน เพราะฉะนั้นพระปัจเจกพุทธเจ้าอุปริฏฐะ จึงคิดว่า "วันนี้ อาตมาจะอนุเคราะห์อันนภารบุรุษ"

      และพอทราบว่า อันนภาระกลับมาจากป่าแล้ว ก็ครองจีวรคล้องบาตรเหาะจากภูเขาคันธมาทน์ ไปยืนรอท่าอยู่ที่ประตูบ้านของอันนภาระนั้น

    ฝ่ายอันนภาระกลับมาพบพระปัจเจกพุทธเจ้าอุปริฏฐยืนอยู่ที่ประตูบ้าน จึงกราบเรียนถามว่า "พระคุณเจ้าบิณฑบาตได้อาหารแล้วหรือ ขอรับ"

         "ดูก่อนบุรุษผู้มีบุญมาก อาตมายังไม่ได้อาหารเลย" พระปัจเจกพุทธเจ้าอุปริฏฐะตอบ

    "ขอพระคุณเจ้า จงหยุดรออยู่ที่นี่สักครู่หนึ่งเถิดขอรับ" อันนภาระนิมนต์พระปัจเจกพุทธเจ้าให้รอแล้วรีบเข้าไปในบ้านถามภรรยาว่า "อาหารที่เป็นส่วนของฉันมีอยู่หรือเปล่า"

         "อาหารที่เป็นส่วนของพี่ มีอยู่จ๊ะ" ภรรยาตอบ

         อันนภาระไม่รอช้า กลับออกไปรับบาตรจากพระปัจเจกพุทธเจ้ามาแล้วพูดกับภรรยาว่า

       "การที่เราทั้งสองต้องรับจ้างเขามี ภาพยากจนอยู่เช่นนี้ เพราะเราทั้งสองไม่เคยได้กระทำบุญไว้ในชาติก่อน เมื่อเราคิดจะให้ทาน ของที่จะให้ทานก็ไม่มี เมื่อของที่จะให้ทานมีอยู่แต่ผู้ที่จะรับทานไม่มี มาวันนี้เราได้พบพระปัจเจกพุทธเจ้าอุปริฏฐะแล้ว ทั้งอาหารที่เป็นส่วนของฉันก็มีอยู่เธอจงนำอาหารที่เป็นส่วนของฉันใส่ลงในบาตรนี้เถิด"

      ภรรยาของอันนภาระเป็นคนมีปัญญาดี พอฟังสามีพูดดังนั้นแล้วฉุกคิดขึ้นว่า "สามีของเรายินดีถวายอาหารที่เป็นส่วนของเขาแด่พระปัจเจกพุทธเจ้า เราก็ควรจะได้ร่วมถวายทานในครั้งนี้ด้วย" คิดดังนี้แล้ว นางจึงนำอาหารที่เป็นส่วนของตนมาใส่ลงในบาตรนั้น ร่วมกับส่วนของสามี

      ครั้นแล้วอันนภาระได้นำบาตรที่ใส่อาหารสองส่วนนั้นไปถวายแด่พระปัจเจกพุทธเจ้าแล้วตั้งความปรารถนาว่า "ขอให้ข้าพเจ้าทั้งหลายพ้นจากการมีชีวิตอันลำบากยากเข็ญนี้เสียเถิด"และคำว่า "ไม่มีอย่าได้ฟังเลย ขอรับ"

        พระปัจเจกพุทธเจ้าอริฏฐะกล่าวว่า "ดูก่อนบุรุษผู้มีบุญมาก ขอจงสำเร็จดังเธอปรารถนาเถิด"

     อันนภาระจัดแจงปูผ้าขาวลงในสถานที่ที่เห็นสมควรแห่งหนึ่ง แล้วจึงนิมนต์พระปัจเจกพุทธเจ้าให้นั่งลงฉันจังหัน และพระปัจเจกพุทธเจ้าก็นั่งลงฉันจังหันใน ถานที่นั้น

   เวลาพระปัจเจกพุทธเจ้าฉันเสร็จ อันนภาระจึงถวายน้ำสำหรับล้างบาตร แล้วพระปัจเจกพุทธเจ้ากล่าวอนุโมทนาว่า

      "ขออิฏฐผล (ผลสำเร็จ) ที่ท่านปรารถนาแล้ว ตั้งใจแล้วจงสำเร็จโดยฉับพลัน ขอความดำริทั้งปวง จงเต็มที่เหมือนพระจันทร์ในวันเพ็ญ

        เมื่อกล่าวอนุโมทนาจบ พระปัจเจกพุทธเจ้าอุปริฏฐะก็เดินทางกลับไปตามมรรคา

      ในขณะนั้น เทวดาผู้สิงสถิตอยู่ที่กัมพูฉัตรของสุมนเศรษฐีได้ให้ "สาธุการ" คือ การเปล่งวาจาว่า ชอบแล้วในสิ่งที่เห็นสมควร โดยเปล่งขึ้น 3 ครั้งว่า "โอ้! ทานที่ท่านถวายแด่พระปัจเจกพุทธเจ้าอุปริฏฐะนั้น เป็นทานอันยอดเยี่ยม ดังนี้"

      สุมนเศรษฐีได้ยินเสียงสาธุการของเทวดาแล้วเกิดความสงสัย เพราะไม่เคยได้ยินมาก่อนจึงถามว่า "ข้าพเจ้าบริจาคทานมาจนตลอดกาลนานถึงเพียงนี้ ท่านไม่เคยเห็นเลยหรือจึงเพิ่งจะมาให้สาธุการในวันนี้"

      เทวดานั้นตอบว่า "ข้าพเจ้าไม่ได้ให้สาธุการในการบริจาคทานของท่าน ข้าพเจ้าให้สาธุการในการบริจาคอาหารบิณฑบาตแด่พระปัจเจกพุทธเจ้าอุปริฏฐะ ของอันนภาระต่างหาก"

      สุมนเศรษฐีฟังคำบอกเล่าถึงเหตุผลเข้าใจแล้ว จึงคิดว่า "เรื่องนี้เป็นที่น่าอัศจรรย์นักเราให้ทานมาจนตราบสิ้นกาลนานถึงเพียงเท่านี้ ไม่อาจดลบันดาลเทวดานั้นให้เปล่งสาธุการแก่เราได้ อันนภาระผู้อาศัยเราเลี้ยงชีพแต่เขาใส่บาตรพระปัจเจกพุทธเจ้าเพียงครั้งเดียว ยังได้รับการสาธุการจากเทวดา ควรที่เราจะกระทำบิณฑบาตนั้นให้เป็นของเรา" คิดดังนี้แล้ว จึงเรียกอันนภาระมาถามว่า

      "ดูก่อนอันนภาระ วันนี้เธอได้บริจาคทานอะไรแก่ใครหรือไม่"

       "ข้าแต่ท่านเศรษฐี กระผมได้ใส่บาตรแด่พระปัจเจกพุทธเจ้าอุปริฏฐะขอรับ" อันนภาระตอบไปตามจริง

      "ดูก่อนอันนภาระ เราขอซื้อส่วนบุญที่เธอกระทำแล้ววันนี้ด้วยเงิน 1 กหาปนะ" ท่านสุมนเศรษฐีเอ่ยปากขอซื้อส่วนบุญ

       "กระผมไม่ขายส่วนบุญหรอก ขอรับ" อันนภาระตอบปฏิเสธ

      ท่านสุมนเศรษฐี มีความประสงค์จะได้ส่วนบุญนั้น แม้ว่าอันนภาระจะตอบปฏิเสธไม่ยอมขายส่วนบุญ ท่านก็พยายามพูดขอซื้อด้วยการเพิ่มราคาขึ้นไปโดยลำดับ จาก 2 กหาปนะ ขึ้นเรื่อยไปจนถึง หนึ่งพันกหาปนะแต่อันนภาระก็ไม่ยอมขายให้

      เมื่อท่านเศรษฐีเห็นว่า ไม่สามารถจะขอซื้อได้จึงกล่าวว่า "อันนภาระเธอไม่ขายให้ก็ช่างเถิด แต่เธอจงรับเงินหนึ่งพันนี้ของเราไว้ ถ้าเธอไม่ขาย ก็ขอแบ่งส่วนบุญนั้นให้แก่เราบ้าง"

     "ท่านเศรษฐี ขอรับ กระผมยังไม่ทราบว่า จะแบ่งส่วนบุญให้แก่ท่านได้หรือไม่ การที่จะแบ่งได้หรือไม่ กระผมจะไปกราบเรียนถามพระปัจเจกพุทธเจ้าอุปริฏฐะก่อน" อันนภาระพูดแล้ว รีบติดตามพระปัจเจกพุทธเจ้าไป ครั้นพอไปทันแล้วจึงกราบเรียนถามว่า "ข้าแต่พระคุณเจ้า กระผมจะแบ่งส่วนบุญให้แก่ท่านเศรษฐีผู้มาขอแบ่งได้หรือไม่ขอรับ"

        "ส่วนบุญนั้นแบ่งได้ บุรุษผู้เจริญ" เมื่อพระปัจเจกพุทธเจ้ากล่าวดังนี้แล้ว ได้พูดอุปมาให้อันนภาระฟังว่า

      "มีประทีปดวงหนึ่ง จุดอยู่ในเรือนหลังหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่ในหมู่บ้านอันมีอยู่ 100 ตระกูลคนอื่นๆ ต่างคนต่างได้นำเอาตะเกียงดวงอื่นๆ มาจุดต่อจากประทีปดวงที่จุดไว้ก่อนนั้น แสงประทีปดวงก่อนจะหมดไปหรือไม่หมดเล่า บุรุษ"

        อันนภาระกราบเรียนตอบว่า "ไม่หมดไปหรอก มีแต่จะยิ่งส่องแสงสว่างมากขึ้นขอรับ"

      พระปัจเจกพุทธเจ้ากล่าวว่า "ข้ออุปมานี้ ฉันใด เมื่อบุคคลให้ส่วนบุญแก่ผู้อื่น บุญนั้นก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นฉันนั้น"

      อันนภาระทราบความนั้นแล้ว จึงกราบลาพระปัจเจกพุทธเจ้ากลับมาหาท่านสุมนเศรษฐีบอกแบ่งส่วนบุญนั้นให้

       ท่านสุมนเศรษฐีบอกว่า "เธอรับเงินหนึ่งพันกหาปนะนี้ไปเถิด"

     "ท่านเศรษฐี มิใช่กระผมขายบิณฑบาต แต่กระผมให้ส่วนบุญแก่ท่านด้วยศรัทธาต่างหากขอรับ" อันนภาระเรียนถึงเจตนาของตน

     "อันนภาระ เธอให้ส่วนบุญแก่เราด้วยศรัทธา แต่เราขอบูชาคุณความดีของเธอด้วยทรัพย์นี้ เธอจงรับทรัพย์หนึ่งพันกหาปนะนี้ไปเถิด" ท่านเศรษฐีพูดชักจูงเหตุผลเพื่อให้อันนภาระรับทรัพย์จำนวนนี้ไป

       เหตุผลของท่านสุมนเศรษฐี กระทำให้อันนภาระยอมรับเงินจำนวนดังกล่าวนั้น

      ครั้นแล้วท่านสุมนเศรษฐีบอกอันนภาระว่า "ตั้งแต่บัดนี้ไป เธอไม่ต้องกระทำงานใดๆทั้งสิ้น เธอต้องการสิ่งใด เราจะให้สิ่งนั้น เธอประสงค์จะได้อะไรจงให้คนนำเอาไปตามชอบใจเถิด"

      อันคุณความดีที่บุคคลสร้างสมไว้แล้ว เมื่อมีโอกาส่งผลดีให้สามารถช่วยให้คนที่กำลังตกทุกข์ไดยกพ้นจากความลำบากได้ดังอันนภาระ

      หลักธรรมมีอยู่ว่า ผลบุญที่ใส่บาตรพระปัจเจกพุทธเจ้าผู้ออกจากนิโรธสมาบัติใหม่และยังไม่ได้รับทานของใครเลย ย่อมบังเกิดผลดีในปัจจุบันทันตาเห็น

      เพราะเมื่อท่านสุมนเศรษฐี พาอันนภาระไปเข้าเฝ้าพระเจ้ากรุงพาราณสีในวันนั้น พระเจ้ากรุงพาราณสีทรงพอพระทัย ได้ทอดพระเนตรแต่อันนภาระผู้เดียว

      ท่านสุมนเศรษฐีกราบบังคมทูลถามว่า "ขอเดชะ ฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม เพราะเหตุไรใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทจึงทอดพระเนตรอันนภาระผู้นี้มากนักพระพุทธเจ้าข้า"

        พระราชา "เหตุที่ข้าพเจ้าดูบุรุษผู้นี้มาก เพราะวันอื่นๆ ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นเขา"

        ท่านเศรษฐี "บุรุษผู้นี้เป็นผู้ที่พระองค์สมควรทอดพระเนตรพระพุทธเจ้าข้า"

        พระราชา "บุรุษผู้นี้มีคุณความดีอย่างไรหรือ ท่านเศรษฐี"

      ท่านเศรษฐี "ขอเดชะ บุรุษผู้นี้มีคุณความดีที่ผู้อื่นกระทำได้ยาก คือ บุรุษผู้นี้ไม่ยอมบริโภคอาหารอันเป็นส่วนของตน แม้จะหิวอยู่ก็ตาม ได้สละอาหารส่วนนั้นใส่บาตรพระปัจเจกพุทธเจ้าอุปริฏฐะ แล้วได้รับรางวัลทรัพย์หนึ่งพันกหาปนะจากข้าพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าข้า"

        พระราชา "ท่านเศรษฐี บุรุษผู้นี้ชื่ออะไร"

        ท่านเศรษฐี "ชื่อ อันนภาระ พระพุทธเจ้าข้า"

      พระราชาทรงพอพระทัยต่อการกระทำความดีของอันนภาระนั้นจึงตรัสว่า "เมื่ออันนภาระได้ทรัพย์จากท่านเศรษฐีแล้ว เขาควรจะได้ทรัพย์จากข้าพเจ้าเหมือนกัน ข้าพเจ้าควรบูชาความดีของเขา" แล้วตรัสั่งพวกอำมาตย์ว่า "พวกท่านจงไปเลือกดูที่ปลูกบ้านให้แก่บุรุษผู้นี้"

      พวกอำมาตย์รับพระบรมราชโอการแล้ว พากันไปตรวจหาสถานที่ที่เหมาะสมให้แก่อันนภาระนั้น บอกให้คนทั้งหลายช่วยกันโค่นต้นไม้ ขุดและถากถางพื้นที่ที่เลือกจะใช้ปลูกบ้านให้พบขุมทรัพย์ใหญ่ๆ ตั้งเรียงกันอยู่เป็นอันมาก จึงพร้อมกันกลับไปกราบบังคมทูลพระราชให้ทราบ

        พระราชาจึงตรัสสั่งว่า "จงช่วยกันขุดขึ้นมาให้แก่ข้าพเจ้า"

      ครั้นพวกอำมาตย์รับพระราชกระแสรับสั่งแล้ว ต่างพากันกลับไปขุดต่อ แต่ขุมทรัพย์เหล่านั้นก็ค่อยๆ เลื่อนทรุดลงไปทุกทีๆ จึงพากันมากราบบังคมทูลให้ทรงทราบถึงเหตุการณ์นั้นอีก

        พระราชาจึงตรัสั่งใหม่ว่า "พวกท่านจงพากันกลับไปขุดเพื่อให้แก่อันนภาระ"

       เมื่อพวกอำมาตย์ย้อนกลับไปช่วยกันขุดอีกครั้ง ตามพระราชกระแสรับสั่ง ขุมทรัพย์เหล่านั้น ก็ผุดขึ้นมาบนพื้นดินประดุจดอกเห็ดที่ผุดขึ้นมาจากพื้นดิน ฉะนั้น

    ขุมทรัพย์ที่มีจำนวนมากมายเกิดขึ้นมาแล้ว พวกอำมาตย์ได้ช่วยกันขนไปกองลงที่พระลานหลวงเป็นกองมหึมา

      พระราชาทรงเห็นทรัพย์มากมาย รับสั่งให้ประชุมอำมาตย์ราชเสวกแล้วตรัสถามขึ้นว่า "ในเมืองนี้ มีใครมีทรัพย์มากเช่นนี้บ้าง" และเมื่อทรงสดับคำกราบบังคมทูลตอบจากที่ประชุมว่า "ไม่มี พระพุทธเจ้าข้า" จึงประกาศแต่งตั้งอันนภาระให้เป็น "เศรษฐี" มีนามว่า "ธนเศรษฐี" ในวันนั้นนั่นเอง

         อนึ่งการได้รับแต่งตั้งเป็นเศรษฐีนั้น พระราชาจะพระราชทานฉัตรเป็นสัญลักษณ์ของตำแหน่ง

      จำเดิมแต่อันนภาระได้รับพระราชทานเป็น "ธนเศรษฐี" แล้วตั้งใจกระทำกัลยาณกรรมอยู่ตลอดชีวิต เวลาดับจิตได้ขึ้นไปเกิดในเทวโลกท่องเที่ยวเสวยสุขในเทวโลก และมนุษยโลกอยู่เป็นเวลานาน แล้วกลับมาถือปฏิสนธิในราชตระกูลศากยะเป็นพระราชโอร ของเจ้า "อมิโตทนะ" ผู้เป็นพระอนุชาของพระเจ้าสุทโธทนมหาราช ผู้ทรงเป็นกษัตริย์ครองกรุงกบิลพัสดุ์แล้วได้รับการขนานนามพระนามว่า "อนุรุทธ"

      ผู้ประสูติร่วมพระมารดาเดียวกันกับอนุรุทธกุมารมี 3 พระองค์ คือ พระเชษฐา พระนามว่า "มหานามะ" พระกนิษฐภคินีพระนามว่า "โรหิณี" ถ้านับกันตามลำดับพระวงศ์ อนุรุทธกุมารก็เป็นพระอนุชาของพระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลาย

      อนุรุทธกุมารเป็นกษัตริย์สุขุมาลชาติ คือ มีความสุขอย่างเยี่ยมเป็นผู้มีบุญมาก มีปราสาท 3 หลัง เป็นที่อยู่ใน 3 ฤดู สมบูรณ์ด้วยทรัพย์ศฤงคารและบริวารยศ มีอาหารเกิดขึ้นในถาดทองคำเป็นประจำทุกวันแม้ที่สุดคำว่า "ไม่มี" ก็ไม่ทราบและเคยได้สดับเลย เสวยสุขสมบัติประหนึ่งเทพเจ้าในสรวงสวรรค์

      เช่นวันหนึ่ง กษัตริย์ทั้ง 6 พระองค์ คือ ภัททิยะ อนุรุทธ อานนท์ ภัคคุ กิมพิละ เทวทัตทรงเล่นลูกขลุบกันอยู่ อนุรุทธเล่นแพ้ต้องเสียขนมเป็นเดิมพัน จึงใช้ให้มหาดเล็กไปทูลขอขนมจากพระมารดาๆ ได้ทรงจัดขนมส่งไปให้

     กษัตริย์ทั้ง 6 พระองค์เสวยขนมแล้วเริ่มเล่นกันใหม่ อนุรุทธเล่นแพ้อีก จงใช้มหาดเล็กให้ไปขอขนมจากพระมารดา

        พระมารดาทรงจัดขนมส่งไปให้ตามคำขอถึง 3 ครั้ง แต่พอถึงครั้งที่ 4 สั่งมหาดเล็กไปบอกว่า ขนมไม่มี

    อนุรุทธไม่เคยฟังเลย คำว่า "ไม่มี" เข้าใจว่าเป็นขนมที่มีชื่อแปลกชนิดหนึ่ง จึงใช้มหาดเล็กไปบอกให้พระมารดาทรงส่งขนมชื่อไม่มีนั้นมาให้แก่ตน

        มหาดเล็กกลับมาทูลว่า "ข้าแต่พระแม่เจ้า ขอจงประทานขนมไม่มีนั้นเถิด พระเจ้าข้า"

       พระมารดาทรงดำริว่า "อนุรุทธบุตรของเราไม่เคยฟังคำว่าไม่มี วันนี้เราจะให้บุตรของเรารู้จักความหมายคำนี้ด้วยอุบายสักอย่างหนึ่ง" ทรงจัดการครอบถาดทองคำเปล่าใบหนึ่งด้วยถาดทองคำอีกใบหนึ่ง แล้วทรงส่งไป

      พวกเทวดาผู้รักษาพระนครปรึกษากันว่า "อนุรุทธศากยะ ครั้งเกิดเป็นอันนภาระเป็นคนเกี่ยวหญ้า ได้เคยถวายข้าวที่เป็นส่วนของตนแด่พระปัจเจกพุทธเจ้าอุปริฏฐะ แล้วตั้งความปรารถนาว่า

         "การฟังคำว่า ไม่มี ขออย่ามีแก่ข้าพเจ้า การรู้จักที่เกิดแห่งโภชนาหารก็จงอย่ามีแก่ข้าพเจ้าดังนี้"

       ถ้าอนุรุทธนี้จักได้เห็นถาดเปล่า พวกเราจะเข้าสมาคมเทวดาไม่ได้ทั้งศีรษะของพวกเราจะต้องแตกเป็น 7 เสี่ยง แล้วพวกเทวดาเหล่านั้น จึงบันดาลให้เกิดมีขนมทิพย์เต็มถาดทองคำนั้น

       พอพวกมหาดเล็กวางถาดทองคำลงที่สนามเล่นลูกขลุบแล้วเปิดถาดทองคำที่กระทำเป็นฝาออก กลิ่นขนมก็หอมตลบไปทั่วพระนคร

       ครั้นอนุรุทธหยิบขนมบริโภค เมื่อขนมนั้นกระทบกับลิ้น รสของขนมก็ซาบซ่านไปตามเส้นรับรสอาหารตลอดทั้ง 7 พันเส้น ท่านจึงคิดว่า

      "เราคงมิใช่ผู้เป็นที่รักของท่านแม่เสียแล้ว ซึ่งนับเป็นเวลานานมากถึงเพียงนี้ ท่านแม่ไม่เคยทอดขนมไม่มีอย่างนี้ให้แก่เรา ต่อไปนี้เราจะไม่บริโภคขนมอย่างอื่น" แล้วกลับมาวังทูลถามพระมารดาว่า "ข้าแต่ท่านแม่ กระหม่อมเป็นที่รักของท่านแม่หรือเปล่า"

      พระมารดาทรงตอบว่า "ลูกเอ๋ย ลูกนี้เป็นที่รักยิ่งของแม่ เหมือนกับลูกตาของผู้มีตาข้างเดียว และเหมือนกับหัวใจ ฉะนั้น"

     อนุรุทธทูลถามว่า "แต่เหตุไร ท่านแม่จึงไม่ทรงทอดขนมชื่อว่า "ไม่มี" ให้กระหม่อมชั่วระยะเวลานานถึงเพียงนี้"

        พระมารดาทรงนึกแปลกพระทัยเรื่องขนมไม่มี จึงตรัสถามมหาดเล็กว่า "มีอะไรอยู่ในถาดนั้นหรือ"

       มหาดเล็กกราบทูลว่า "ข้าแต่พระแม่เจ้า ถาดนั้นมีขนมเต็มเปียม และขนมนั้นเกล้ากระหม่อมไม่เคยเห็นมาก่อนเลย พ่ะย่ะค่ะ"

       พระมารดาจึงทรงดำริว่า "ชะรอยบุตรของเราจะเป็นผู้มีบุญญาภินิหารกระทำไว้แล้วในอดีตกาล และเทวดาทั้งหลายคงจะเอาขนมใส่ถาดนั้นเพื่อให้แก่บุตรของเราเป็นแน่"

      ครั้นแล้ว อนุรุทธะจึงทูลว่า "ข้าแต่ท่านแม่ นับต่อแต่นี้ไป กระหม่อมจะไม่บริโภคขนมอย่างอื่น ขอท่านแม่ทรงทอดแต่ขนมไม่มีให้กระหม่อมก็แล้วกัน"

      จำเดิมแต่วันนั้นมา เมื่ออนุรุทธทูลว่า "กระหม่อมต้องการบริโภคขนม" พระมารดาจึงทรงครอบถาดเปล่าด้วยถาดเปล่าอีกใบหนึ่งส่งไปให้

       ฝ่ายเทวดาทั้งหลายได้จัดขนมทิพย์ส่งไปให้แก่อนุรุทธตลอดระยะเวลาที่อนุรุทธยังเป็นคฤหัสถ์อยู่นั้น

 

6. รวยบุญ
       รวยบุญ คือ รวยทรัพย์ละเอียดที่มีคุณสมบัตินำติดตัวข้ามภพชาติไปได้ เมื่อไปเกิดในที่ใดบุญก็จะจัดสรรให้เราได้ทั้งรูปทรัพย์ ทรัพย์สมบัติ คุณสมบัติ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข และโอกาสการบรรลุมรรคผลนิพพานมากยิ่งขึ้นไปอีก ยิ่งถ้านำสมบัติในภพใหม่ที่ได้เพราะบุญเก่าในอดีตส่งผลมาสร้างบุญใหม่ต่อไปด้วยแล้ว ก็จะยิ่งทำให้ชีวิตเจริญก้าวหน้ามากยิ่งขึ้นไปอีกจนกระทั่งหลุดพ้นจากวัฏสงสารในที่สุด ดังตัวอย่างของ พระมหากัปปินะ เป็นต้น

พระมหากัปปินะ ผู้เพียบพร้อมด้วยบุญมหาศาล
       ในอดีตกาล พระมหากัปปินะ เกิดเป็นหัวหน้าช่างหูก ในหมู่บ้านใกล้กรุงพาราณสีครั้งนั้นมีพระปัจเจกพุทธเจ้าประมาณพันรูปพักอยู่ไม่ไกลกรุงพาราณสี เมื่อถึงฤดูฝนต้องการทำเสนาสนะที่อยู่อาศัย จึงส่งพระปัจเจกพุทธเจ้า 8 รูป เป็นผู้แทนไปเฝ้าพระราชาเพื่อทูลขอพระบรมราชานุเคราะห์ในการสร้างเสนาสนะ บังเอิญเวลานั้นเป็นเวลามีงานมงคลแรกนาขวัญพระราชาทรงมีพระราชภาระยุ่งอยู่ ถึงกระนั้นก็ตามเมื่อทรงทราบว่าพระปัจเจกพุทธเจ้ามาเฝ้าก็เสด็จออกมาต้อนรับทรงทราบเหตุที่พระปัจเจกพุทธเจ้ามาแล้ว จึงตรัสว่า "วันนี้ไม่มีโอกาไม่มีเวลาเลย เพราะกำลังเตรียมงานแรกนาขวัญ ซึ่งจะมีในวันพรุ่งนี้ ข้าพเจ้าจะจัดการทำ

      เสนาสนะถวายในวันที่ 3" ไม่ได้ทรงอาราธนาพระปัจเจกพุทธเจ้าไว้ พระปัจเจกพุทธเจ้าคิดว่า "จะไปขอความอนุเคราะห์จากที่อื่น" ดังนี้แล้วหลีกไป

       ขณะเดินทางกลับได้พบภรรยาของหัวหน้าช่างหูก นางถามทราบความแล้วมีจิตเลื่อมใสนิมนต์ให้รับอาหารที่บ้านของตนในวันรุ่งขึ้น

          "พวกเรามีมากด้วยกัน น้องหญิง" พระปัจเจกพุทธเจ้าบอก

          "มีประมาณเท่าไร ท่านผู้เจริญ" นางถาม

          "มีประมาณพันรูป"

       "ท่านผู้เจริญ พวกข้าพเจ้ามีประมาณพันคนเหมือนกัน คนหนึ่งจักถวายภิกษาแก่พระคุณเจ้ารูปหนึ่ง ขอท่านจงรับภิกษาที่บ้านของข้าพเจ้าเถิด ข้าพเจ้าผู้เดียวจักทำที่อยู่ถวายท่านทั้งหลาย"

           พระปัจเจกพุทธเจ้ารับอาราธนา

         นางเสร็จธุระแล้ว กลับเข้าไปในบ้าน เที่ยวป่าวประกาศให้เพื่อนบ้านทราบว่าได้นิมนต์พระปัจเจกพุทธเจ้าพันรูปไว้ "ขอท่านทั้งหลายจงจัดแจงที่นั่ง จัดอาหารมีข้าวต้มข้าวสวยเป็นต้น"

       นางได้สร้างปรำใหญ่กลางบ้าน ให้ปูอาสนะไว้เรียบร้อย เลี้ยงพระปัจเจกพุทธเจ้าด้วยโภชนะอันประณีต เมื่อเสร็จภัตตกิจแล้ว นางได้พาหญิงบริวารพันคนนมัสการพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้วขอให้ท่านรับปฏิญญาในการอยู่จำพรรษาที่นั่น เมื่อท่านรับแล้วนางก็ป่าวประกาศขอแรงเพื่อนบ้านให้ช่วยกันสร้างเสนาสนะถวาย

       ในวันออกพรรษา นางได้ชักชวนคนทั้งหลายให้ถวายจีวรแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าที่อยู่ในบรรณศาลาของตนๆ พระปัจเจกพุทธเจ้าอนุโมทนาแล้วลาจากไป

       นางและบริวารทำบุญอย่างนี้ ไปเกิดในภาพดาวดึงส์มีชื่อว่า "คณะเทพบุตร" มาในสมัยพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะ เทพบุตรเทพธิดาเหล่านั้นเกิดในกรุงพาราณสีอีกหัวหน้าช่างหูกเป็นบุตรของกุฎมพีใหญ่ซึ่งมีฐานะมั่งคั่งกว่าชาติก่อนเพราะผลแห่งบุญที่ได้ทำกับพระปัจเจกพุทธเจ้า ภรรยาของเขาได้มาเกิดเป็นธิดาของกุฎมพีใหญ่เหมือนกัน เมื่อเจริญวัยแล้วได้แต่งงานกันส่วนบริวารก็มาเกิดใน กุลกุฎมพีบริวาร และได้แต่งงานกันเหมือนกัน

       วันหนึ่งมีการป่าวร้องให้คนไปฟังธรรมในวัด พวกกุฎมพีเหล่านั้นก็ชวนกันไป เมื่อไปถึงกลางวัด ฝนตกลงมา คนพวกอื่นที่มีภิกษุหรือสามเณรเป็นที่คุ้นเคยก็เข้าไปอาศัยกุฏิของภิกษุหรือสามเณรนั้น แต่พวกกุฎมพีพันคนไม่มีญาติหรือภิกษุสามเณรที่สนิทสนมเลย จึงยืนตากฝนอยู่กลางวัด

       หัวหน้ากุฎมพีรู้สึกละอายในสภาพเช่นนั้นของตน จึงกล่าวกับกุฎมพีทั้งหลายว่า "ท่านทั้งหลายจงดูอาการอันน่าเกลียดของพวกเราเถิด"

        "เราควรจะทำอย่างไรละ นาย" บริวารถาม

        หัวหน้าตอบว่า

     "เราต้องอยู่ในสภาพอันน่าเกลียดนี้ เพราะไม่มีสถานที่อันมีคนคุ้นเคย เรารวบรวมทรัพย์สร้างเสนาสนะกันเถิด"

       บริวารเห็นชอบด้วย จึงเรี่ยรายทรัพย์กัน หัวหน้าออกพันหนึ่ง บริวารออกคนละ 500 พวกผู้หญิงออก 250 ทำที่ประทับของพระศาสดา มีเรือนยอดพันหลังเป็นบริวาร เมื่อทรัพย์ไม่เพียงพอ ได้ออกอีกคนละครึ่งของจำเดิมที่ออกไว้ เมื่อเสนาสนะเสร็จแล้วได้ถวายมหาทานแก่ภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขตลอด 7 วัน จัดจีวรถวายสงฆ์ 2 หมื่นรูป

     ภรรยาของหัวหน้ากุฎมพี ได้ถวายผอบดอกอังกาบและผ้ามีสีดอกอังกาบราคาพันหนึ่งแล้วกราบทูลพระศาสดาว่า

         "ด้วยอานุภาพแห่งทานนี้ ขอหม่อมฉันจงมีสรีระดุจดอกอังกาบในชาติต่อไป และขอมีชื่อว่า อโนชา"

         พระศาสดาทรงอนุโมทนา

       ชนเหล่านั้นทั้งหมดตายแล้วเกิดในเทวโลกด้วยอำนาจแห่งบุญที่ได้กระทำมาตลอดชีวิตในพระศาสนาของพระกัสสปะสัมมาสัมพุทธเจ้า

       ต่อมาในสมัยแห่งพระพุทธเจ้าพระนามว่าโคดมของเรานี้ คนเหล่านั้นมาเกิดเป็นมนุษย์หัวหน้ากุฎมพีมาเกิดในราชตระกูล ต่อมาได้เป็นพระราชาพระองค์หนึ่งทรงพระนามว่า มหากัปปินะ ทุกๆ เช้าพระองค์จะส่งทหารออกไปสืบข่าวว่า ขณะนี้มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์บังเกิดขึ้นแล้วหรือยัง ทรงทำเช่นนี้อยู่เป็นเวลานาน ก็ยังไม่ทราบคำตอบ

        ต่อมาในวันหนึ่ง ขณะที่พระองค์เสด็จประพาสอุทยานพร้อมกับมหาอำมาตย์หนึ่งพันคนเห็นพ่อค้า 500 คนเดินทางผ่านมา จึงตรัสถามว่า

         "ท่านทั้งหลายเดินทางมาจากที่ไหนล่ะ"

         พ่อค้ากราบทูลว่า "ข้าพระองค์มาจากเมืองสาวัตถี ซึ่งอยู่ไกลจากเมืองนี้ 120 โยชน์พระเจ้าข้า"

      พระองค์ตรัสต่อว่า "ในบ้านเมืองของท่าน มีข้าวปลาอาหารบริบูรณ์ดีหรือ พระราชาของพวกท่านตั้งอยู่ในศีลในธรรมดีหรือ"

        "บ้านเมืองของข้าพระองค์สมบูรณ์ทุกอย่าง ทั้งพระราชาก็ทรงตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรมพระเจ้าข้า"

        พระองค์ทรงถามว่า "แล้วมีเรื่องอะไรน่าสนใจเกิดขึ้นในประเทศของพวกท่านบ้างล่ะ"

    พ่อค้ากราบทูลว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นสมมติเทพ บัดนี้พุทธรัตนะบังเกิดขึ้นแล้วในประเทศของข้าพระองค์ พระเจ้าข้า" ทันทีที่พระมหากัปปินะได้ทรงสดับว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นแล้วในโลกทรงเกิดความปีติแผ่ซ่านไปทั่วพระวรกายจนมิอาจจะข่มความปีตินั้นได้ จึงตรัสถามซ้ำไปอีกว่า "พวกท่านกล่าวว่าอะไรนะ"

      "พวกข้าพระพุทธเจ้ากราบบังคมทูลว่า พุทธรัตนะบังเกิดขึ้นแล้วพระเจ้าข้า" ทรงสดับนิ่งอยู่ครู่หนึ่งด้วยปีติอันแรงกล้าแล้วตรัสถามซ้ำเป็นครั้งที่ 3 พวกพ่อก็ยืนยันเช่นเดิมพระองค์ทรงเบิกบานพระทัยเป็นอย่างยิ่งที่ได้ทราบข่าวดีนี้ จึงพระราชทานทรัพย์ 1 แสน เป็นรางวัลแก่พ่อค้า

       พระราชาได้ตรัสถามต่อไปอีกว่า "มีข่าวดีอะไรเกิดขึ้นอีกบ้างไหม" พ่อค้ากราบบังคมทูลว่า "มีพระเจ้าข้า พระธรรมได้บังเกิดขึ้นแล้ว พระเจ้าข้า"

      พระอาการปีติใหญ่หลวงได้เกิดขึ้นแก่พระองค์อีก ทรงนิ่งอยู่ครู่หนึ่งแล้วตรัสถามย้ำถึง 3 ครั้ง พ่อค้าก็ตอบเช่นเดิม ทรงเบิกบานพระทัยเป็นอย่างยิ่ง จึงพระราชทานรางวัลให้แก่พ่อค้าอีก 1 แสน

       พระองค์ได้ตรัสถามต่ออีกว่า "มีข่าวดีอะไรเกิดขึ้นอีกไหม"

       พ่อค้าตอบว่า "มีพระจ้าข้า พระสงฆ์ได้บังเกิดขึ้นแล้วพระเจ้าข้า" พระองค์ทรงมีปีติแผ่ซ่านไปทั่วพระวรกาย แล้วตรัสถามย้ำถึง 3 ครั้ง พระราชาพระราชทานทรัพย์อีก 1 แสน ให้เป็นรางวัล

      พระมหากัปปินะตรัสกับเหล่าอำมาตย์ทั้งหลายว่า "ท่านทั้งหลาย บัดนี้ พระพุทธพระธรรม พระสงฆ์ ได้บังเกิดขึ้นแล้ว เรามิอาจจะครองราชย์ได้อีกต่อไป เราจะออกบวชในวันนี้แหละ" เหล่าอำมาตย์ได้เคยสั่งสมบุญมาร่วมกับพระราชาจึงพากันทูลว่า "พวกข้าพระองค์จะขอบวชกับพระองค์ด้วย พระเจ้าข้า" แล้วทั้งหมดก็มุ่งตรงไปยังสำนักของพระบรมศาสดาทันที

      ในระหว่างทาง พระมหากัปปินะและอำมาตย์พันคน เสด็จมาถึงฝังแม่น้ำอารวปัจฉา มีขนาดกว้าง 2 คาวุต ลึก 1 คาวุต แม่น้ำเต็มฝัง จะหาแพหรือเรือก็ไม่มี พระองค์ทรงดำริว่า "ถ้าจะทรงตระเตรียมเรือแพจะเสียเวลามาก ซึ่งถูกความชรารุกรานอยู่ทุกวินาที นำเราทั้งหลายเข้าไปสู่ความตาย" พระองค์จึงทรงตั้งสัตยาธิษฐานว่า "เราไม่มีความคลางแคลงสงสัยในพระรัตนตรัย และออกบวชอุทิศชีวิตเพื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยอานุภาพแห่งพุทธรัตนะ ขอแม่น้ำนี้จงเป็นเหมือนแผ่นดินเถิด" ตรัสแล้วทรงควบม้าวิ่งไปบนผิวน้ำพร้อมอำมาตย์พันคนม้าเหล่านั้นวิ่งไปบนผิวน้ำดุจวิ่งไปบนแผ่นดิน แม้เพียงปลายกีบก็ไม่เปียกน้ำ

      เมื่อพระองค์เสด็จมาถึงแม่น้ำสายที่ 2 ชื่อ นีลวาหนาซึ่งมีความกว้างและลึกประมาณโยชน์ พระองค์จะหาแพหรือเรือก็ไม่มี พระองค์ดำริถึงการเสียเวลาในการแ วงหา จึงตั้งสัตยาธิษฐานว่า "เราไม่มีความคลางแคลงสงสัยในพระรัตนตรัย และออกบวชอุทิศชีวิตเพื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยอานุภาพแห่งธรรมรัตนะ ขอแม่น้ำนี้จงเป็นเหมือนแผ่นดินเถิด" ตรัสแล้วทรงควบม้าไปบนผิวน้ำได้อย่างอัศจรรย์

      เมื่อมาถึงแม่น้ำสายที 3 ชื่อ จันทภาคา กว้างและลึกประมาณ 1 โยชน์ แม้น้ำนั้นเต็มเปียม จะหาแพหรือเรือก็ไม่มีพระองค์ทรงดำริเช่นเดิม และตั้งสัตยาธิษฐาน "ระลึกถึงคุณของพระสงฆ์" แล้วได้เสด็จไปบนผิวน้ำได้อย่างอัศจรรย์เช่นเดียวกัน

      ในเวลาย่ำรุ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรวจดูสัตวโลกว่าผู้มีบุญท่านใดหนอ จะเข้ามาในข่ายพระญาณ ทรงทราบว่าพระมหากัปปินะออกผนวชอุทิศเฉพาะพระองค์ จึงทรงเหาะไปประทับรออยู่ใต้ต้นไทรใหญ่ ทรงนั่งสมาธิคู้บัลลังก์ แล้วเปล่งฉัพพรรณรังสีไปหาพระราชา จนทำให้บริเวณนั้นมีสีเหลืองทองอร่ามเปล่งปลั่งดังทองคำ

      พระมหากัปปินะพร้อมอำมาตย์เห็นฉัพพรรณรังสีส่องสว่างนำทาง จึงดำริว่า แสงสว่างนี้ไม่ใช่แสงของดวงจันทร์ไม่ใช่แสงของดวงอาทิตย์ ไม่ใช่รัศมีของเทวดา พรหม อรูปพรหม จะต้องเป็นแสงแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าแน่นอน ทรงเสด็จตามแสงนั้นไป แล้วน้อมพระวรกายเข้าเฝ้าพระบรมศาสดา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมอันไพเราะ บริสุทธิ์บริบูรณ์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ งดงามในเบื้องต้น ท่ามกลาง และเบื้องปลาย โปรดพระราชาและอำมาตย์ทั้งหลาย ทำให้พระมหากัปปินะพร้อมอำมาตย์ มีใจสงบ หยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกายได้เข้าถึงพระรัตนตรัยภายใน บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันและได้รับการอุปสมบทจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

      ฝ่ายพระมเหสีพร้อมด้วยภรรยาของเหล่าอำมาตย์เมื่อได้ทราบข่าวการบังเกิดขึ้นของพระรัตนตรัยจากพ่อค้าแล้วทรงปีติยินดี ได้พระราชทานทรัพย์ถึง 9 แสน เป็นรางวัลให้แก่พ่อค้าแล้วตรัสว่า "บัดนี้ พระรัตนตรัยบังเกิดขึ้นแล้ว พระราชาทิ้งสมบัติให้เรา ทำให้เราเป็นทุกข์สมบัตินี้อุปมาเหมือนพระเขฬะ หรือน้ำลายที่พระองค์ทรงบ้วนทิ้งแล้ว เราไม่อาจจะรับไว้ได้ เราจะออกบวชเช่นกัน" บรรดาภรรยาอำมาตย์ก็ขอออกบวชตามด้วย แล้วทั้งหมดก็ออกเดินทางไปเข้าเฝ้าพระบรมศาสดา

         พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงทราบด้วยญาณทัสสนะถึงการเสด็จมาของพระมเหสี และภรรยาอำมาตย์ เพื่อให้ใจของทุกคนคลายจากความตื่นเต้น แล้วมีใจสงบพร้อมที่จะรองรับธรรมะอันบริสุทธิ์ได้ จึงทรงแสดงปาฏิหาริย์ด้วยพุทธานุภาพไม่ให้พระมเหสีและคณะ มองเห็นพระราชาและเหล่าอำมาตย์เมื่อพระมเหสีพร้อมคณะเสด็จมาถึง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมให้ฟัง ทำให้พระมเหสีและคณะมีใจสงบหยุดนิ่งเข้าถึงพระรัตนตรัย บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน ในขณะเดียวกันพระมหากัปปินะและอำมาตย์หนึ่งพัน ได้ฟังพระธรรมเทศนาซ้ำอีกรอบหนึ่ง จึงได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ในที่นั้นเอง

       พระมหากัปปินะเมื่อเข้าถึงกายธรรมอรหัตแล้ว ไม่ว่าพระองค์จะประทับนั่ง นอน ยืนหรือจะพำนักใต้โคนไม้ บนกองฟาง หรือที่ใดก็ตาม พระองค์มักจะเปล่งพระอุทานว่า "สุขจริงหนอสุขจริงหนอ" อยู่เสมอๆ พระภิกษุทั้งหลายที่ยังเป็นพระปุถุชน หรือเป็นสมมุติสงฆ์อยู่ ยังไม่รู้จักความสุขอันประณีตที่เกิดจากการเข้าถึงธรรม ต่างก็คิดว่า พระองค์ยังทรงรำพึงถึงความสุขเมื่อครั้งยังเป็นพระราชาอยู่

       พระบรมศาสดาทรงทราบเรื่องนั้น จึงตรัสว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุตรของเราไม่ได้เปล่งอุทานถึงความสุขในครั้งที่เคยเสวยราชสมบัติ แต่ว่ามีความสุขจากการได้เข้าถึงธรรมที่บังเกิดขึ้น บัดนี้ เธอได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์แล้ว" ครั้นตรัสรับรองดังนี้แล้ว จึงตรัสต่อไปว่า

       "บุคคลผู้เอิบอิ่มในธรรม มีใจผ่องใสย่อมนอนเป็นสุข บัณฑิตย่อมยินดีในธรรมที่พระอริยเจ้าประกาศแล้วทุกเมื่อ"

 


GB 304 สูตรสำเร็จการพัฒนาองค์กรและเศรษฐกิจ
กลุ่มวิชาความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.001533834139506 Mins