การบังเกิดขึ้นของพระพุทธศาสนา กับการเปลี่ยนแปลงความเชื่อ และวัฒนธรรมในสังคมอินเดีย

วันที่ 20 เมย. พ.ศ.2560

การบังเกิดขึ้นของพระพุทธศาสนา
กับการเปลี่ยนแปลงความเชื่อ และวัฒนธรรมในสังคมอินเดีย

การบังเกิดขึ้นของพระพุทธศาสนา, DOU, ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา, พระพุทธศาสนา, ความรู้พระพุทธศาสนา, วัฒนธรรมในสังคมอินเดีย

     การบังเกิดขึ้นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นเหตุการณ์อันยิ่งใหญ่ ซึ่งเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ ความเชื่อ และวัฒนธรรมของชาวอินเดียในยุคนั้นอย่างใหญ่หลวง จากที่กล่าวแล้วในบทที่ 2 ว่าสังคมอินเดียก่อนยุคพุทธกาลและในยุคพุทธกาลตกอยู่ในอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ ซึ่งหยั่งรากฝังลึกลงในสังคมและสืบทอดกันมากหลายพันปี โดยเฉพาะการแบ่งคนออกเป็น 4 วรรณะนั้น เป็นวันธรรมที่เหนียวแน่นมาก พราหมณ์ทั้งหลายเชื่อว่า วรรณะพราหมณ์เท่านั้นเป็นวรรณะที่ประเสริฐที่สุด วรรณะอื่นเลวทรามและทุกๆ คนจะต้องเคารพพราหมณ์ ดังที่ปรากฏในอัคคัญสูตร พราหมณ์ทั้งหลายได้ด่าบริภาษวาเสฏฐะและภารทวาชะผู้ออกจากตระกูลพราหมณ์ไปบวชเป็นสามเณรในพระพุทธศาสนาว่า

     "พราหมณ์เท่านั้นเป็นวรรณะประเสริฐที่สุด วรรณะอื่นเลวทราม พราหมณ์เท่านั้นเป็นวรรณะขาว วรรณะอื่นดำ พวกพราหมณ์ทั้งหลายเท่านั้นบริสุทธิ์ คนที่ไม่ใช่พราหมณ์หาบริสุทธิ์ไม่ พวกพราหมณ์ทั้งหลายเป็นบุตรเกิดจากอุระ เกิดจากปากของพระพรหม พวกท่านมาละเสียจากวรรณะที่ประเสริฐที่สุด เข้าไปอยู่ในวรรณะที่เลวทรามคือพวก มณะโล้น เป็นพวกคหบดี เป็นพวกดำ เกิดจากเท้าของพระพรหม การที่พวกท่านมาละเสียจากวรรณะประเสริฐสุดเช่นนี้ ไม่เป็นการดี ไม่เป็นการสมควรเลย"

   แม้แต่ผู้ที่เกิดในวรรณะกษัตริย์ก็ยังต้องเคารพพราหมณ์ เช่น เมื่อครั้งที่พระเจ้าสุทโธทนะทรงประสงค์จะขนานพระนามพระโพธิสัตว์ พระประยูรญาติทั้งหลายได้เชิญพราหมณ์มาในวันนั้นถึง 108 ท่าน โดยคัดเลือกเหลือ 8 ท่านเพื่อให้ทำหน้าที่ขนานพระนามพระโพธิสัตว์ เมื่อพระโพธิสัตว์ออกบวชและได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ในเวลาที่พระพุทธองค์เสด็จจาริกไปเผยแผ่นั้น มีปรากฏอยู่บ่อยครั้งที่ได้รับการต่อต้าน ถูกลบหลู่ดูหมิ่น เช่น ในอุทปานสูตร "สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จจาริกไปในมัลลชนบทพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จถึงพราหมณคามหรือหมู่บ้านพราหมณ์ชื่อถูนะของมัลลกษัตริย์ ครั้งนั้นพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลายเอาหญ้าและแกลบถมบ่อน้ำจนเต็มถึงปากบ่อ ด้วยตั้งใจว่าสมณะโล้นทั้งหลายอย่าได้ดื่มน้ำ"

    หรือดังที่ปรากฏในธนัญชานีสูตร นางพราหมณีชื่อธนัญชานีแห่งพราหมณ์ผู้ภารทวาชโคตรคนหนึ่ง เป็นผู้เลื่อมใสยิ่งในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ วันหนึ่งขณะที่นางกำลังนำภัตเข้าไปเพื่อพราหมณ์ผู้สามี นางก้าวเท้าพลาดจึงเปล่งอุทาน 3 ครั้งว่า ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น เมื่อนางพราหมณีกล่าวอย่างนี้แล้ว พราหมณ์ผู้สามีได้กล่าวกะนางว่า "ก็หญิงถ่อยนี้กล่าวคุณของสมณะโล้นอย่างนี้อย่างนี้ไม่ว่าที่ไหนๆ แน่ะหญิงถ่อย บัดนี้เราจักยกวาทะต่อพระศาสดานั้นของเจ้า."

    ในอรรถกถากล่าวถึงธนัญชานีสูตรเพิ่มเติมว่า วันหนึ่งพราหมณ์ผู้สามีได้ปรึกษากับพราหมณีว่า แน่ะแม่จำเริญ พรุ่งนี้พราหมณ์ 500 คน จักบริโภคในเรือนของเรานะ นางถามว่าฉันจะช่วยอะไรได้บ้างละพราหมณ์ พราหมณ์กล่าวว่า ไม่มีกิจอะไรอื่นที่เจ้าจะต้องช่วยดอกคนเหล่าอื่นจักกระทำการหุงต้มและอังคา ทั้งหมด ข้อที่เจ้ายืนก็ดี นั่งก็ดี จามก็ดี ไอก็ดี ทำการนอบน้อมแก่สมณะโล้นนั้นว่า นโม พุทฺธสฺส นั้น พรุ่งนี้ เจ้าอย่าทำสิ่งนั้นสักวันหนึ่งเถิด ด้วยว่าพราหมณ์ทั้งหลายได้ยินดังนั้นแล้วจะไม่พอใจ เจ้าอย่าทำเราให้แตกจากพราหมณ์ทั้งหลายเลย

     นางพรามณีกล่าวว่า ท่านจะแตกจากพราหมณ์ก็ดี จากเทวดาก็ดีส่วนฉันระลึกถึงพระศาสดา ไม่นอบน้อม ไม่สามารถที่จะอดกลั้นอยู่ได้ พราหมณ์กล่าวว่า แน่ะแม่มหาจำเริญก่อนอื่นเจ้าต้องพยายามปิดประตูบ้านในบ้าน 100 ตระกูล เมื่อไม่สามารถจะปิดปากที่จะพึงปิดด้วยนิ้วทั้ง 2 ชั่วเวลาที่พวกพราหมณ์บริโภค พราหมณ์นั้นแม้พูดซ้ำซากอย่างนี้ก็ไม่อาจห้ามได้ด้วยความรัก จึงถือเอาพระขรรค์ที่วางไว้บนหัวนอนกล่าวว่า "แม่มหาจำเริญ เมื่อพราหมณ์นั่งประชุมกันพรุ่งนี้ ถ้าเจ้านมัสการสมณะโล้นนั้นไซร้ เราจะเอาพระขรรค์เล่มนี้สับเจ้า ตั้งแต่พื้นเท้าจนถึงปลายผมทำให้เป็นกองเหมือนหน่อไม้"

    แม้ศาสนาพราหมณ์จะหยั่งรากฝังลึกในสังคมอินเดียมานานหลายพันปีดังกล่าวแล้วแต่ด้วยระยะเวลาเพียง 45 ปีแห่งการบังเกิดขึ้นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์เสด็จออกเผยแผ่พระธรรมคำสอนนำพามหาชนให้เปลี่ยนความเชื่อและวันธรรมดั้งเดิม มานับถือพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งที่ระลึกได้จำนวนมาก ชนทุกชั้นทุกวรรณะหันมานับถือพระพุทธศาสนาตั้งแต่พระราชามหากษัตริย์ เศรษฐีมหาเศรษฐี พ่อค้าประชาชนทั่วไป และแม้แต่พราหมณ์ผู้เป็นเจ้าลัทธิเองและพราหมณ์ชาวบ้านทั่วไปก็ละทิ้งคำสอนเดิมมานับถือพระพุทธศาสนาจำนวนมาก เมื่อพระพุทธองค์ทรงจาริกไปเทศน์สอนในพราหมณคามหรือหมู่บ้านพราหมณ์ เช่น สาละ ศาลา โอปาสาทะ เวฬุทวาร เวนาคปุระ อิจฉานังคละ และขานุมัตตะ เป็นต้น พราหมณ์และคฤหบดีในหมู่บ้านเหล่านั้นได้ ดับว่า

    พระสมณโคดมศากยบุตร... เสด็จถึงบ้านขานุมัตตะประทับอยู่ในสวนอัมพลัฏฐิกา...เกียรติศัพท์อันงามของพระสมณโคดมพระองค์นั้นขจรไปแล้วอย่างนี้ว่า...พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกคนที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า... ก็การเห็นพระอรหันต์ทั้งหลายเห็นปานนั้นย่อมเป็นการดีแลดังนี้. ครั้งนั้นพราหมณ์และคฤหบดีชาวบ้านขานุมัตตะออกจากบ้านขานุมัตตะเป็นหมู่ๆ พากันไปยังสวนอัมพลัฏฐิกา

     เมื่อไปถึงแล้วก็ได้ฟังธรรมจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บางพวกก็บรรลุธรรมและได้ขอถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งที่ระลึกกันจำนวนมาก ในการแสดงธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแต่ละครั้งจะมีผู้ตรัสรู้ธรรมกันมากมาย ซึ่งจะยกตัวอย่างกษัตริย์ พราหมณ์ผู้ปกครองเมืองและพราหมณ์เจ้าลัทธิต่างๆ ในยุคนั้นที่หันมาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาดังต่อไปนี้

กษัตริย์ที่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา


พราหมณ์ผู้ปกครอง เจ้าลัทธิ และผู้มีชื่อเสียงที่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา

     ตัวอย่างที่ยกมานี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นที่ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก นอกจากนี้ยังมีเศรษฐีมหาเศรษฐีจำนวนมากที่เลื่อมใสและเป็นกำลังสำคัญในพระพุทธศาสนา เช่น โชติกเศรษฐี เมณฑกเศรษฐี ชฎิลเศรษฐี อนาถบิณฑิกเศรษฐี มหาอุบาสิกาวิสาขา เป็นต้น และยังมีประชาชนพลเมืองทั่วไปอีกมากมาย เฉพาะในแคว้นมคธเพียงแคว้นเดียวก็มีราษฎรจำนวนมากใน 80,000 ตำบล ที่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา โดยครั้งหนึ่ง พระเจ้าพิมพิสารเรียกประชุมราษฎรทั้ง 80,000 ตำบล ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของพระองค์ จากนั้นก็ให้ราษฎรทั้งหมดไปฟังธรรมจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในครั้งนั้นมีผู้ได้ตรัสรู้ธรรมกันจำนวนมาก

     จากตัวอย่างที่ยกมานี้จึงกล่าวได้ว่าเวลาเพียง 45 ปีแห่งการประกาศพระพุทธศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ความเชื่อและวันธรรมในสังคมอินเดียได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมาย ศาสนาพราหมณ์ได้เสื่อมความนับถือลงและต้องปรับตัวขนานใหญ่จนกลายเป็นศาสนาฮินดูในเวลาต่อมา

     ทั้งนี้เพราะแคว้นใหญ่ๆ ในอินเดียสมัยพุทธกาลมีทั้งหมด 16 แคว้น ตามที่ปรากฏในพระไตรปิฎก ดังตารางที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นว่า มีกษัตริย์พราหมณ์ผู้ปกครองและพราหมณ์เจ้าลัทธิรวมทั้งมหาเศรษฐีในแคว้นต่างๆ จำนวนมากที่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา เมื่อชนชั้นผู้ปกครองศรัทธาในพระพุทธศาสนาแล้วประชาชนทั่วไปก็จะศรัทธาตามด้วย

    สาเหตุแห่งความเปลี่ยนแปลงความเชื่อและวัฒนธรรมในสังคมอินเดียอย่างรวดเร็วในครั้งนั้นมีสาเหตุหลายประการที่สำคัญที่สุดคือ คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นสัจธรรมอันจริงแท้แน่นอนที่ผู้ปฏิบัติสามารถพิสูจน์ได้ด้วยตนเอง และมีผู้ปฏิบัติจนเข้าถึงธรรม บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ พระอริยบุคคลเป็นพยานให้พระพุทธศาสนามากมาย เขาเหล่านั้นมีทั้งพระราชามหากษัตริย์ มหาเศรษฐี เสนาบดี มหาอำมาตย์ แม้แต่เจ้าลัทธิใหญ่ที่มีศิษย์จำนวนมากก็หันมานับถือและเป็นพยานให้พระพุทธศาสนาด้วย

    นอกจากนี้ พราหมณ์โดยทั่วไปให้การยอมรับพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามากเพราะพระองค์ทรงได้ลักษณะกายมหาบุรุษ ทั้งนี้เพราะมีกล่าวไว้ในมนต์ของพราหมณ์มาตั้งแต่ยุคโบราณว่า ผู้ที่ได้กายมหาบุรุษหากอยู่เป็นฆราวา จะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ แต่ถ้าออกบวชจะได้ตรัสรู้ธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศา ดาเอกในโลก แม้อสิตดาบ ผู้เป็นอาจารย์ของพระเจ้าสุทโธทนะยังประนมหัตถ์ก้มกราบแทบเท้าของพระโพธิสัตว์ซึ่งประสูติได้ไม่กี่วัน เพราะตนทราบดีถึงคำทำนายในตำรามหาปุริสลักษณะของพราหมณ์ดังกล่าวแล้ว

     อีกประการหนึ่งคำสอนของพราหมณ์ก็มีความขัดแย้งกันเอง ผู้ที่มีปัญญาจึงพยายามหาคำตอบที่ถูกต้อง เมื่อเหล่าพราหมณ์ตอบไม่ได้จึงมาทูลถามพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งพระพุทธองค์ก็ทรงเทศน์สอนชี้หนทางสว่างให้ เขาเหล่านั้นจึงออกบวชตามบ้าง ขอถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งที่ระลึกบ้าง เช่น กรณีของวาเสฏฐะและภารทวาชะ เป็นต้น โดยครั้งหนึ่งวาเสฏฐมาณพและภารทวาชมาณพได้พูดกันถึงเรื่องทางและมิใช่ทาง วาเสฏฐมาณพพูดอย่างนี้ว่า

    ทางที่ท่านโปกขรสาติพราหมณ์บอกไว้นี้เท่านั้นเป็นทางตรง เป็นเส้นทางเดิน เป็นทางนำออก ย่อมนำผู้ดำเนินไปตามทางนั้นเพื่อความอยู่ร่วมกับพรหม ฝ่ายภารทวาชมาณพพูดอย่างนี้ว่า ทางที่ท่านตารุกขพราหมณ์บอกไว้นี้เท่านั้นเป็นทางตรง เป็นเส้นทางเดิน เป็นทางนำออก ย่อมนำผู้ดำเนินไปตามทางนั้น เพื่อความอยู่ร่วมกับพรหมได้ วาเสฏฐมาณพไม่อาจให้ภารทวาชมาณพยินยอมได้ ฝ่ายภารทวาชมาณพก็ไม่อาจให้วาเสฏฐมาณพยินยอมได้

       เมื่อมานพทั้งสองคนไม่อาจจะยังอีกฝ่ายหนึ่งให้ยินยอมได้ จึงไปกราบทูลถามพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในครั้งนั้นพระพุทธองค์ตรัสถามว่า วาเสฏฐะ บรรดาพราหมณ์ผู้จบไตรเพทพราหมณ์แม้คนหนึ่ง ที่เห็นพรหมมีเป็นพยานอยู่หรือ วาเสฏฐะตอบว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญไม่มีพระเจ้าข้า วาเสฏฐะ อาจารย์ที่สืบเนื่องมาเจ็ดชั่วอาจารย์ของพราหมณ์ผู้จบไตรเพทที่เห็นพรหมเป็นพยานไม่มีเลยหรือ วาเสฏฐะตอบว่า ไม่มีเลยพระเจ้าข้า จากนั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสว่า

      วาเสฏฐะ ดีละ พวกพราหมณ์ผู้จบไตรเพท ไม่รู้จักพรหม ไม่เห็นพรหม แต่แสดงหนทางเพื่อความอยู่ร่วมกับพรหมว่าหนทางนี้แหละเป็นทางตรง เป็นสายทางเดิน เป็นทางนำออกนำผู้ดำเนินไปตามทางนั้นเพื่อความอยู่ร่วมกับพรหมได้ ข้อนี้ไม่ใช่ฐานะที่จะมีได้ วาเสฏฐะเหมือนแถวคนตาบอดเกาะหลังกันและกัน คนต้นก็ไม่เห็น คนกลางก็ไม่เห็น แม้คนหลังก็ไม่เห็น ภาษิตของพราหมณ์ผู้จบไตรเพทเหล่านั้น จึงเป็นคำน่าหัวเราะทีเดียว เป็นคำต่ำช้าเป็นคำว่าง เป็นคำเปล่า...

      เมื่อวาเสฏฐมาณพและภารทวาชมาณพฟังพระธรรมเทศนาจบแล้ว ได้กราบทูลว่าข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์ไพเราะยิ่งนัก เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำเปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทางหรือส่องประทีปในที่มืด ด้วยคิดว่า ผู้มีจักษุจักเห็นรูป ดังนี้ฉันใด พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประกาศพระธรรมโดยอเนกปริยายก็ฉันนั้นเหมือนกันข้าพระองค์ทั้งสองนี้ ขอถึงพระองค์กับทั้งพระธรรมและพระสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอพระองค์จงทรงจำข้าพระองค์ทั้งสองว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะอย่างมอบกายถวายชีวิตตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

     นอกจากพราหมณ์ทั้งหลายจะให้การยอมรับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะพระองค์ทรงมีกายมหาบุรุษ และเพราะคำสอนพราหมณ์ขัดแย้งกันเอง เป็นคำสอนไม่เป็นเหตุเป็นผลแล้วพุทธวิธีการสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็มีส่วนเป็นอย่างมาก ทรงเทศน์สอนโดยยึดตามจริตผู้ฟัง ทรงยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ หรือในปัจจุบันใช้ศัพท์ว่า   จึงเป็นเหตุให้พราหมณ์ทั้งหลาย มีความรู้ความเข้าใจ มีความเลื่อมใสจนกระทั่งยอมละทิ้งความเชื่อดั้งเดิมที่นับถือกันมาหลายพันปี มาขอถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งที่ระลึกและยอมละทิ้งวันธรรมเก่าๆ ทุกอย่าง โดยเฉพาะระบบวรรณะ ทั้งนี้เพราะผู้ที่เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา จะมีความเสมอภาคกันไม่ว่าจะมาจากวรรณะกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ หรือศูทรก็ตาม ดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ในปหาราทสูตรว่า

     ดูก่อนปหาราทะ แม่น้ำสายใหญ่ๆ บางสาย คือ แม่น้ำคงคา ยมุนา อจิรวดีสรภูมิ แม่น้ำเหล่านั้นไหลไปถึงมหาสมุทรแล้วย่อมละนามและโคตรเดิมหมด ถึงความนับว่ามหาสมุทรนั่นเอง ฉันใด... วรรณะ 4 เหล่านี้ คือกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ และศูทร ออกบวชเป็นบรรพชิตในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว ย่อมละนามและโคตรเดิมเสีย ถึงความนับว่าศากยบุตรทั้งนั้น

 

 

*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ GB 405 ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา
กลุ่มวิชาความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.006688400109609 Mins