ภาพรวมวาทศาสตร์ในพระไตรปิฎก

วันที่ 12 พค. พ.ศ.2560

วาทศาสตร์ในพระไตรปิฎก
" ภาพรวมวาทศาสตร์ในพระไตรปิฎก "

GB 406 สรรพศาสตร์ในพระไตรปิฎก , ความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา , DOU , พระไตรปิฎก , วาทศาสตร์ในพระไตรปิฎก , วาทศาสตร์ , ภาพรวมวาทศาสตร์ในพระไตรปิฎก ,  วาจาสุภาษิต , พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

      ในบทนี้จะกล่าวถึงหลักการพูดของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพุทธบริษัทซึ่งถือเป็นหลักวาทศาสตร์ที่ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก โดยแบ่งเนื้อหาออกเป็น 6 ประเด็นหลัก คือ วาจาสุภาษิตหลักพื้นฐานของการพูด, อานิสงส์การกล่าววาจาสุภาษิต, โทษของการกล่าววาจาทุพภาษิต, หลักการแสดงธรรม, หลักการตอบปัญหาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และการโต้วาทธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพุทธบริษัท

        วาจาสุภาษิตอันเป็นหลักพื้นฐานของการพูดนั้นมีอยู่ 5 ประการ คือ เป็นคำจริง เป็นคำสุภาพ พูดแล้วก่อให้เกิดประโยชน์ พูดด้วยจิตเมตตา และพูดถูกกาลเทศะ

      อานิสงส์แห่งวาจาสุภาษิตนั้นได้ยกตัวอย่างลักษณะมหาบุรุษที่เป็นผลจากการกล่าววาจาสุภาษิตมาข้ามภพข้ามชาติของพระโพธิสัตว์และบัณฑิตอื่นๆ ในกาลก่อน ได้แก่ อดีตชาติของพระสาวก เป็นต้นส่วนโทษของวาจาทุพภาษิตนั้นก็จะเป็นตัวอย่างโทษที่พระโพธิสัตว์ได้รับอันเป็นผลจากการกล่าววาจาทุพภาษิต

         หลักการแสดงธรรมนั้นแบ่งออกเป็น 2 หัวข้อ คือ องค์แห่งธรรมกถึกหลักพื้นฐานของการแสดงธรรม และ หลักการแสดงธรรมให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ในหัวข้อหลังนี้เรียบเรียงขึ้นจากการสังเกตการแสดงธรรมแต่ละครั้งของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า พระองค์มีหลักอยู่อย่างน้อย 4 ประการ คือ แสดงธรรมโดยยึดผู้ฟังเป็นศูนย์กลาง, แสดงธรรมโดยยกหลักการ และตัวอย่างประกอบ, แสดงธรรมโดยใช้อุปมาอุปไมย และแสดงธรรมโดยใช้ สื่อการสอน ด้วยหลักทั้ง 4 ประการนี้ทำให้การแสดงธรรมแต่ละครั้งของพระองค์เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงยิ่ง คือ มีผู้ศรัทธาเลื่อมใสปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะจำนวนมาก และมีผู้บรรลุธรรมเป็นพระอริยบุคคลกันมากมาย

      หลักการตอบปัญหาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นมี 4 ประการ คือ เอกังสพยากรณียปัญหา ปัญหาที่พึงตอบโดยนัยเดียว, ปฏิปุจฉาพยากรณียปัญหา ปัญหาที่พึงย้อนถามแล้วจึงตอบ, วิภัชชพยากรณียปัญหา ปัญหาที่พึงจำแนกแล้วจึงตอบ และฐปนียปัญหา ปัญหาที่พึงงดตอบ

   ส่วนการโต้วาทธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพุทธบริษัทนั้นได้ชี้ให้เห็นความสำคัญของการศึกษาธรรมะให้แตกฉานทั้งปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ เพื่อประโยชน์แก่ตนเองและเพื่อประโยชน์แก่พระศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสามารถปกป้องความมัวหมองของคำสอนในพระพุทธศาสนาได้ เมื่อมีนักบวชหรือศาสนิกอื่นมาจาบจ้วง ในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนานั้นมีเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นเป็นระยะๆ ซึ่งต้องอาศัยพุทธบริษัทที่รู้จริงแตกฉานในพุทธธรรมมาช่วยแก้ต่างให้พระศาสนา เช่น ท่านคุณานันทเถระ แห่งปะเทศศรีลังกา เป็นต้น

 

*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ GB 406 สรรพศาสตร์ในพระไตรปิฎก
กลุ่มวิชาความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.003259813785553 Mins