สมาธิกับการค้นพบของนักวิทยาศาสตร์

วันที่ 12 พค. พ.ศ.2560

วิทยาศาสตร์ในพระไตรปิฎก
สมาธิกับการค้นพบของนักวิทยาศาสตร์ "


GB 406 สรรพศาสตร์ในพระไตรปิฎก , ความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา , DOU , พระไตรปิฎก , วิทยาศาสตร์ในพระไตรปิฎก , วิทยาศาสตร์ , สมาธิกับการค้นพบของนักวิทยาศาสตร์ ,  อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ , เซอร์ ไอแซ็ค นิวตัน

    ในวงการวิทยาศาสตร์จะแสวงหาความรู้โดยใช้สุตมยปัญญา และ จินตามยปัญญาเป็นหลัก แต่มีข้อน่าสังเกตคือ นักวิทยาศาสตร์ที่ได้ค้นพบกฎและทฤษฎีสำคัญๆ นั้นส่วนใหญ่อาศัยสมาธิช่วยทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ไม่ว่าจะเป็นไอน์สไตน์ และ นิวตัน แม้นักวิทยาศาสตร์เหล่านั้นจะไม่ได้นั่งสมาธิกันอย่างจริงจังเหมือนกับนักปฏิบัติธรรมก็ตาม ด้วยเหตุนี้ จุงส์(Jungs.1963) จึงสรุปถึงขั้นตอนการค้นพบทฤษฎีหรือแนวคิดดีๆ ของนักวิทยาศาสตร์ไว้ 5ประการ ภายใต้ชื่อว่า "ห้าขั้นแห่งการสร้างความคิด" ดังนี้

1. ห้าขั้นแห่งการสร้างความคิด

1) คิดรวบรวมข้อมูล หมายถึง การใช้ใจคิดรวบรวมวัตถุดิบต่างๆ คิดถึงข้อมูลต่างๆ ทุกอย่างที่เรากระทำอย่างกระตือรือร้น คิดให้ข้อมูลเหล่านั้นหลั่งไหลเข้ามาสู่ใจของเรา

2) กระบวนการใช้วัตถุดิบ หมายถึง การคิดถึงข้อมูลต่างๆ ที่ได้รวบรวมอยู่ในใจครั้งแล้วครั้งเล่า แล้วนำมาเปรียบเทียบกับความคิดอันอื่นที่เรารวบรวมอยู่ในใจ หาก มองเหนื่อยก็ให้หยุดพักไว้ชั่วคราว

3) ทำใจให้ว่าง หมายถึง การหยุดคิดแล้วทำจิตใจให้ว่าง ลืมปัญหาต่างๆ แล้วหันเหความสนใจไปยังสิ่งอื่นๆ ปล่อยให้จิตใต้สำนึกของกลไกความคิดทำงานของมันต่อไป

4) ยูรีกา หมายถึง ขั้นเกิดความคิดแวบเข้ามา บางครั้งความคิดอาจหลั่งไหลเข้ามาโดยไม่คาดฝัน อาจเป็นเวลาไหนก็ได้ แต่ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นในตอนเราครึ่งหลับครึ่งตื่นในตอนเช้าเรียกขั้นนี้ว่า ยูรีกา แปลว่า ข้าพเจ้าได้พบแล้ว หรือได้ตัวแล้ว

5) วิพากษ์วิจารณ์ หมายถึง การให้คนอื่นช่วยวิพากษ์วิจารณ์ความคิดใหม่ที่คิดได้ แล้วพยายามจัดความคิดนั้นให้เป็นรูปร่าง เพื่อที่จะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้

       จะเห็นว่าห้าขั้นแห่งการสร้างความคิดนี้ มีขั้นตอนที่เกี่ยวกับการทำสมาธิด้วยคือ ขั้นทำใจให้ว่าง หยุดการใช้ความคิด และยูรีกาคือ ขั้นเกิดความคิดแวบเข้ามา ซึ่งสอดคล้องกับคำสอนของพระราชภาวนาวิสุทธิ์และคุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูงที่กล่าวมาแล้วว่า เมื่อคิดไม่ออกก็ให้ออกจากความคิดทำจิตให้สงบแล้วจะพบทางออก


2. การใช้สมาธิของ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์
      จากประสบการณ์ของไอน์สไตน์ทำให้เขาตระหนักว่า เพียงแค่การอ่านและการคิดนั้นไม่เพียงพอต่อการค้นพบกฎหรือทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ แต่ต้องอาศัยการหยั่งรู้ด้วยจิตคล้ายๆ กับพุทธิปัญญาญาณ

     ครั้งหนึ่งไอน์สไตน์ กล่าวสุนทรพจน์ในที่ประชุมใหญ่ของนักวิทยาศาสตร์โลกว่า "ภารกิจอันสำคัญยิ่งของนักฟิสิกส์ก็คือ การแสวงหากฎหรือทฤษฎีที่ตรงกับความเป็นจริงแห่งสากลมากยิ่งขึ้น มันไม่มีวิธีการทางคำนวณหรือตรรกศาสตร์ใดๆ ที่จะนำไปสู่กฎหรือทฤษฎีสากลเช่นที่ว่านี้ได้ นอกเสียจากการหยั่งรู้ของจิตเท่านั้น ซึ่งมีพื้นฐานคล้ายๆ กับพุทธิปัญญาญาณ" บางครั้งเขาก็บอกว่า "สิ่งมีค่าอย่างจริงแท้ คือ การหยั่งรู้"(The only read valuable thing is ivtuition) ไบรอัน โจเซฟสัน (Briau Josephson) นักฟิสิกส์รางวัลโนเบล ปี พ.ศ. 2516 กล่าวไว้เช่นเดียวกันว่า "ผมได้ค้นพบความลับบางอย่างซึ่งฟิสิกส์ไม่สามารถให้คำตอบได้ ผ่านการนั่งสมาธิ"

      ขณะทำงานไอน์สไตน์จะมีสมาธิสูงมาก มีใจจดจ่ออยู่กับงานโดยไม่วอกแวกไปสนใจสิ่งอื่น มีเรื่องเล่าว่า วันหนึ่งขณะที่ไอน์สไตน์กำลังง่วนอยู่กับการคิดสูตรทางฟิสิกส์ เกิดเสียงระเบิดดังขึ้นอย่างรุนแรงด้านนอก เพื่อนนักวิทยาศาสตร์พากันขวัญเสีย ในขณะที่ไอน์สไตน์บอกว่าไม่ได้ยินเสียงระเบิดนั้นเลย เมื่อครั้งที่ไอน์สไตน์ค้นพบทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป เขาขังตัวเองอยู่ในห้องทำงานถึงสองสัปดาห์ ในที่สุดวันหนึ่งเขาก็เดินลงมาจากชั้นบน ยื่นกระดาษสองแผ่นให้ภรรยาดู แล้วบอกว่า นี่ไง ทฤษฎีสัมพัทธภาพ

      ในเวลาคิดปัญหายากๆ ไอน์สไตน์จะใช้วิธีเดินไปเดินมาอย่างมีสมาธิคล้ายๆ กับการเดินจงกรม บาเนส ฮอฟมันน์ นักฟิสิกส์ที่เคยร่วมงานกับเขาเล่าว่า... ไอน์สไตน์จะเดินกลับไปกลับมา โดยใช้มือบิดผมสีเทาที่ยาวฟูของตัวเองเล่น... ท่าทีเคลิ้มฝันเหมือนกำลังตกห้วงภวังค์จะปรากฏขึ้นในสีหน้าของเขา... คิ้วไม่ขมวดม่น คงมีแต่เพียงการสื่อสารภายในที่สงบเท่านั้นเวลาผ่านไปเรื่อยๆ แล้วทันใดนั้นไอน์สไตน์ก็หยุดเดิน ใบหน้าผ่อนคลายลง ปรากฏเป็นรอยยิ้มอันนุ่มนวล เขาได้พบวิธีการแก้ปัญหาแล้ว


3. การใช้สมาธิของเซอร์ ไอแซ็ค นิวตัน
      นิวตันกล่าวถึงความเป็นมาของกฎแรงโน้มถ่วงว่า ขณะที่เขากำลังนั่งอยู่ใต้ต้นแอปเปิลได้แต่เพียง งสัยว่าอะไรดูดลูกแอปเปิลให้ตกลงมา แต่ยังคิดกฎแรงโน้มถ่วงไม่ได้ กฎนี้คิดขึ้นมาได้ขณะที่เขากำลังทำสมาธิภายหลังจินตนาการถึงภาพแอปเปิลกำลังตกจากต้น แล้วใช้สมาธิไตร่ตรองการตกของลูกแอปเปิลซ้ำแล้วซ้ำเล่า

     บางครั้งนิวตันก็เดินครุ่นคิดถึงปัญหาต่างๆ อย่างมีสมาธิคล้าย กับไอน์สไตน์ คือ จะเดินหมุนไปหมุนมาในสวน และประเดี๋ยวเขาก็ร้องออกมาในทันควันว่า พบแล้ว พบแล้ว ทีนี้เขาก็โดดขึ้นบันไดห้องทำงานทันที เพื่อจะทำการบันทึกข้อคิดบางอย่าง ทั้งที่ตัวเขายังยืนอยู่ข้างโต๊ะโดยไม่นั่งเก้าอี้ให้เรียบร้อย บ่อยครั้งที่นิวตันจะนั่งนิ่งๆ อยู่คนเดียวเป็นเวลาหลาย ชั่วโมง จากนั้นเขาก็จะพรวดพราดไปที่โต๊ะทำงาน แล้วลงมือเขียนสิ่งที่ค้นพบเป็นชั่วโมง โดยไม่ยอม แม้แต่จะลากเก้าอี้มานั่งให้สบาย

    นิวตัน กล่าวถึงการใช้สมาธิในการไตร่ตรองเรื่องต่างๆ ว่า ฉันเฝ้าดูสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ตรงหน้าอย่างไม่ลดละ หรือจับเอาเรื่องที่ศึกษานั้นมาไว้ตรงหน้า และคอยจนกระทั่งแสงแรก(ปัญญา) เริ่มปรากฎช้าๆ ทีละน้อย ทีละน้อย จนกระทั่งเริ่มมองเห็นทางอย่างเลือนรางแล้วมันก็ค่อยๆ ว่างขึ้นทุกทีจนกระทั่งครบบริบูรณ์และชัดเจน

     นอกจากไอน์สไตน์ และนิวตันแล้วยังมีตัวอย่างนักวิทยาศาสตร์หรือนักประดิษฐ์อีกหลายท่านที่ใช้สมาธิช่วยในการทำงานของตน นโปเลียน ฮิลล์ นักเขียนผู้มีชื่อเสียงชาวอเมริกันกล่าวถึงนักวิทยาศาสตร์ผู้หนึ่งชื่อ ดร.เกตส์ ว่า

     วันหนึ่งเขาเดินทางไปเยี่ยม ดร.เกตส์ ด้วยธุระบางอย่าง เมื่อไปถึงเลขานุการส่วนตัวของท่านบอกว่า "เสียใจจริงๆ ค่ะ ดิฉันไม่สามารถอนุญาตให้คุณเข้าไปรบกวน ดร.เกตส์ได้ในตอนนี้"

       เขาถามต่อว่า "คุณคิดว่าจะนานสักเท่าไรครับ กว่าที่ผมจะเข้าพบท่านได้"

      เลขานุการ ตอบว่า "โอ... ดิฉันบอกไม่ได้หรอกค่ะ ว่าจะใช้เวลานานเท่าใด แต่อาจจะนานถึง 3 ชั่วโมงก็ได้นะคะ ดร.เกตส์ กำลังนั่งรอคอยความคิดสร้างสรรค์อยู่ค่ะ"

      เขาถามด้วยอาการยิ้มว่า "คืออะไร"

    เลขานุการ ตอบว่า ให้ ดร.เกตส์อธิบายดีกว่าค่ะ เชิญคุณนั่งรอได้ตามสบายเลยค่ะเขาตัดสินใจนั่งคอยอยู่เป็นเวลานาน ในที่สุด ดร.เกตส์ ก็เข้ามา เขาได้เล่าถึงเรื่องตลกขบขันเกี่ยวกับคำพูดของเลขานุการของท่าน

     ดร.เกตส์ กล่าวว่า "คุณสนใจจะดูบ้างไหมล่ะว่า ผมนั่งรอเพื่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ ณ ที่ไหน และทำมันอย่างไร"

     นโปเลียนบอกว่า "จากนั้นเขาก็นำผมไปยังห้องเก็บเสียงเล็กๆ ห้องหนึ่ง ภายในห้องนั้นมีเพียงโต๊ะและเก้าอี้ธรรมดาอย่างละ 1 ตัว บนโต๊ะมีกระดาษปึกใหญ่สวิตซ์ปิดเปิดไฟอยู่อันหนึ่งและดินสอดำหลายแท่ง"

    ดร.เกตส์ อธิบายว่า "เมื่อใดก็ตามที่เขาไม่สามารถหาคำตอบของปัญหาข้อใดข้อหนึ่งได้ เขาจะเข้ามาในห้องนี้ ปิดประตู นั่งลง และดับไฟ แล้วก็นั่งเข้าสมาธิอย่างล้ำลึก"

      นโปเลียน กล่าวว่า "เขาใช้หลักความสำเร็จแห่งการควบคุมความสนใจ และร้องขอจิตเหนือสำนึกของเขาเพื่อให้ตอบคำถามแก่เขาเกี่ยวกับปัญหาเฉพาะเจาะจงปัญหาใดปัญหาหนึ่งก็ตาม ในขณะเดียวกันนั้น มันก็ดูเหมือนกับว่า แนวความคิดใหม่ๆ ไม่ได้เฉียดผ่านเข้ามาในมองของเขาเลย แต่ว่าพอนานๆ ไป มันหรือความคิดดีๆ จะหลั่งไหลเข้าสู่จิตใจของเขาอย่างฉับพลันในทันทีทันใด บางครั้งกว่ามันจะปรากฏกายและเผยโฉมขึ้นมาก็ต้องใช้เวลานานถึง 2 ชั่วโมงเลยทีเดียว และเมื่อความคิดเห็นใหม่ๆ เริ่มก่อตัวจนกระทั่งเป็นรูปเป็นร่างขึ้นแล้ว เขาก็จะเปิดไฟ และลงมือจดบันทึกลงในกระดาษ" 

     จากที่กล่าวมานี้จะเห็นได้ว่า การค้นพบกฎ ทฤษฎี หรือนวัตกรรมต่างๆ ของนักวิทยาศาสตร์สำคัญๆ ของโลกนั้น ต้องอาศัยสมาธิหรือภาวนามยปัญญาเข้าช่วย แม้จะไม่อาจเทียบได้ กับการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ก็ทำให้เราตระหนักว่าภาวนามยปัญญานั้นมีหลายระดับขึ้นอยู่กับเราปฏิบัติในระดับใดผลที่ได้ก็จะอยู่ในระดับนั้น

 

*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ GB 406 สรรพศาสตร์ในพระไตรปิฎก
กลุ่มวิชาความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0013086517651876 Mins